นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข ถึงผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอนว่า ได้มีการทดสอบด้วยวิธีการ PRNT คือใช้เชื้อไวรัสที่มีชีวิตและนำมาทดสอบกับตัวอย่างเลือดของคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งได้ทำการทดสอบในหลากหลายสูตรที่ฉีดวัคซีนในประเทศไทย ทั้งการฉีดสูตรไขว้ หรือการฉีดด้วยเข็มกระตุ้น พบว่า ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต่อต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลตาแล้วลดลงในทุกสูตร โดยในกลุ่มที่ฉีด 2 เข็มจะมีจำนวนการป้องกันโอมิครอนได้น้อยหรือไม่มากนัก แต่ในกลุ่มที่ฉีด 3 เข็มที่เป็นเข็มกระตุ้น ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นสูงมาก ไม่ว่าเข็มสามจะเป็นของแอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์ก็ตาม
การทดลองนี้สะท้อนถึงความจำเป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดส แต่สิ่งที่ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวัคซีนคือ ทุกสูตรช่วยลดอัตราความรุนแรงและเสียชีวิตได้ในทุกสายพันธุ์ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดแบบบูสเตอร์โดสให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า วิธีการทดสอบดังกล่าวเป็นวิธีที่ใช้ในมาตรฐานโลก ให้การยอมรับ ซึ่งผลการทดสอบครั้งนี้ถือว่าเป็นการทดสอบใน 8 สูตรประเทศไทยถือว่าเป็นความครอบคลุม จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจกับวัคซีน
ขณะที่ ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ทำการทดสอบเพาะเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในเซลล์ก็พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของเชื้อไวรัสที่ช้ามาก ซึ่งอาจจะเป็นคุณลักษณะที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อมีการติดเชื้อแล้วทำให้แสดงอาการได้น้อยและส่งผลให้อาการไม่รุนแรง