เมื่อปี พ.ศ. 2501 สถานีวิทยุจุฬาฯ ถือกำเนิดจากการเป็นสถานีทดลองของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อใช้ในกิจการภายในมหาวิทยาลัย และได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2508 เพื่อรับใช้สังคมภายนอกมากขึ้น
เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 วิทยุจุฬาฯได้แสดงบทบาทสื่อมวลชน ที่กล้าชี้นำความถูกต้อง ทำให้มีผู้ฟังเพิ่มมากขึ้น และได้รับรางวัลให้เป็น “สื่อดีเด่นประเภทรายการวิทยุ” ภายใต้สโลแกน “คลื่นความรู้ สู่ประชาชน” กระจายเสียงผ่าน FM 101.5 MHz ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 6.00 – 24.00 น. ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคกลาง 16 จังหวัด แต่ในช่วงเวลา 12.00 – 13.00 น. จะครอบคลุมเพิ่มขึ้นเป็น 54 จังหวัด ผ่านเครือข่ายพันธมิตรวิทยุสถาบันการศึกษา 8 สถานี ในรายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน
ผังรายการของวิทยุจุฬาฯ อยู่ในประเภทสถานีวิทยุเพื่อบริการสาธารณะ รายการส่วนใหญ่ร้อยละ 68 จึงเป็นรายการประเภทสาระความรู้ / รายการสาระบันเทิง ร้อยละ 9 / รายการข่าว ร้อยละ 9 / รายการเพลง ร้อยละ 14 โดยรายการส่วนใหญ่ร้อยละ 50 ผลิตโดยบุคลากรของสถานี / อาจารย์และนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้อยละ 43 และบุคคลภายนอก ร้อยละ 7
สถานีวิทยุจุฬาฯ ได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่องจากหลากหลายองค์กร โดยรางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุดคือ รางวัล The Best University in Broadcasting จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และมอบให้โดยกระทรวง ICT ในปีพ.ศ.2547 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลด้านวิทยุกระจายเสียงจากมูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ และหน่วยงานอื่นๆตลอดมา
และยังเป็นสถานีวิทยุแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001-2008 จาก BVQI ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน
บทบาททั้งหมดนี้เป็นผลจากที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนโยบายบริหารวิทยุจุฬาในรูปแบบวิสาหกิจ ที่ไม่แสวงหากำไร แต่สามารถจัดหารรายได้ให้เพียงพอต่อการพัฒนาและปรับปรุงตัวเอง ส่งผลให้สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างเป็นอิสระ มีความคล่องตัว และสามารถปฏิบัติงานภายใต้กรอบจริยธรรมได้เป็นอย่างดี
นอกจากการรับฟังทางวิทยุแล้ว ยังสามารถรับฟังรายการสดและย้อนหลังผ่านเว็บไซต์ www.curadio.chula.ac.th และ Mobile Application ทุกระบบ ทุกช่องทาง บนสื่อออนไลน์ในชื่อ CU Radio
วิทยุจุฬาฯยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างหลากหลาย
1. กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ คอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติคำพ่อสอน คอนเสิร์ตประโคมเพลง ประเลงถวาย
2. กิจกรรมขยายโอกาสด้านการศึกษา ได้แก่ กิจกรรมเปิดประตูสัญจรตะลอน School Tour กิจกรรมสรุปเข้มฯ
3. กิจกรรมเพื่อสถาบันหลักของชาติ ได้แก่ กิจกรรมตามรอยพ่อ วิถีการเรียนรู้สู่เยาวชน
4. กิจกรรมเพื่อสังคม ได้แก่ กิจกรรมแจกผ้าห่มกันหนาว ช่วยน้ำท่วม
5. กิจกรรมส่งเสริมวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ กิจกรรมฝึกอบรมทักษะการเป็นผู้ประกาศ
6. กิจกรรมเพื่อพบปะผู้ฟังในโอกาสต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมพาแม่แลหุ่น กิจกรรมฟังดีดีมีรางวัล
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ระบบโทรทัศน์ของประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล วิทยุจุฬาฯได้รับมอบหมายบทบาทที่สำคัญอีกวาระหนึ่ง คือการเป็นผู้ประสานงานเพื่อผลักดันให้เกิดช่องทีวีด้านการศึกษา ประเภทบริการสาธารณะ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้ง 33 แห่ง และมีการเตรียมการเพื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และผลิตรายการโทรทัศน์ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มไปพร้อมกัน ได้แก่ รายการฟาร์มสนุก รายการคิดอยู่ได้ รายการยังไหวไปต่อ รายการถึงรสถึงชาติ ในชื่อของ MoreTV Channel
นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มผลิตรายการโทรทัศน์ต้นแบบเพื่อเด็กและเยาวชน ในการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีชื่อว่า รายการเปิดประตูสู่มหาวิทยาลัย Teen Style on TV ออกอากาศทาง MCOT Family ดิจิทัลทีวี ช่อง 14
จากประสบการณ์ด้านประสบการณ์วิทยุ สู่รายการโทรทัศน์ที่ใช้ฐานคิดจากองค์ความรู้และงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างสรรค์ด้วยบุคลากรคุณภาพ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และความพร้อมในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ทั้งการถ่ายทำจนถึงการออกอากาศสด ทั้งภาพและเสียง
วันนี้สถานีวิทยุจุฬาฯ ยังคงต้องก้าวไป เพื่อยืนหยัดเป็นสื่อมวลชนที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นผู้นำทางปัญญาแก่สังคม เป็นกลไกในการสร้างคุณค่าร่วม และความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยที่พึงมีต่อสังคม และกำลังจะก้าวข้ามจากสื่อเดิมที่เป็น “คลื่นความรู้ สู่ประชาชน” สู่การเป็นสื่อผสมหลายช่องทาง “คลังความรู้ สู่ประชาชน” เพื่อประกาศความเป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างอัจฉริยภาพสู่สังคม ในภาพลักษณ์ใหม่ที่ชื่อว่า CUMC (Chulalongkorn University Media Center)
ติดตามรับฟังรายการสดและย้อนหลัง ข้อมูล ข่าวสารจากวิทยุจุฬาฯ ได้ทาง
1. Website : https://www.curadio.chula.ac.th
2. Mobile Application : CU radio ทั้งในระบบ iOS และ Android
3. Facebook : https://www.facebook.com/curadio
4. Twitter : https://twitter.com/curadio
5. Instagram : https://www.instagram.com/curadio
6. YouTube : https://www.youtube.com/curadiochannel