วันที่ 25 พฤษภาคม 2567
เพลง Come See the Wonder
เพลงที่ทุกท่านได้รับฟังไปนั้นเป็นเพลงภาษาอังกฤษ ดังนั้นเชื่อว่าทุกท่านคงเข้าใจเนื้อหาอย่างดี มีชื่อเพลงว่า “Come See the Wonder” ผลิตโดยค่ายดนตรีที่ชื่อว่า Cavendish ในปี ค.ศ. 2018 และได้นำมาออกอากาศสำหรับเป็นเพลงเปิดแมตช์คริกเก็ตระหว่างอินเดียกับอังกฤษในปีเดียวกัน ซึ่งทำให้แฟนคริกเก็ตในอินเดียร้องเพลงนี้กันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง
เหตุผลที่เลือกเพลงนี้มาเปิด เพราะถึงแม้ว่าเนื้อหาจะไม่เกี่ยวกับคริกเก็ต แต่มีประโยคหนึ่งในเพลงที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับหัวข้อคือ “Come see the wonder.” ก็คือ “จงมาดูสิ่งมหัศจรรย์สิ” และมีเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ว่า
“There is a new path waiting for you where your heart can explore. So, come along and take your step on this magical tour.”
“มีเส้นทางใหม่กำลังรอคอยคุณ ที่ซึ่งคุณใช้หัวใจสำรวจได้ ดังนั้นจงมาเถิด ก้าวไปบนเส้นทางอันมหัศจรรย์สายนี้”
ที่กล่าวว่าเข้ากับเนื้อหาของวันนี้ก็เพราะอินเดียทุกวันนี้กำลังพัฒนาไปไกลและรวดเร็ว มีความแตกต่างกับภาพจำในสมัยก่อนอย่างมาก ซึ่งจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมาสัมผัสด้วยตาตนเอง
ข้อเท็จจริงดังกล่าวยืนยันได้โดยนายบิล เกตส์ มหาเศรษฐีโลกผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ เชื่อว่าในหมู่ผู้ฟังคงไม่มีใครไม่รู้จักเขา บิล เกตส์ เพิ่งไปเยือนอินเดียมาในช่วงปลายกุมภาพันธ์ถึงต้นมีนาคม 2024 และมีเรื่องน่าสนใจกลับมาเล่าให้ฟังมากมาย
สาเหตุที่บิล เกตส์ไปเยือนอินเดียคราวที่แล้วก็มิใช่เรื่องอื่นใด ต้องย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องงานพรีเวดดิ้งของบุตรชายอภิมหาเศรษฐีมุเกศ อัมบานี ที่เราได้ออกอากาศไปในวันที่ 16 มีนาคม 2567 หากผู้ฟังต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับงานนี้ สามารถย้อนกลับไปฟังบนเว็บไซต์ของเราได้ที่ https://curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=13215
เรื่องของเรื่องคือ บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ เป็นหนึ่งในบรรดาแขกผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานพรีเวดดิ้งดังกล่าวด้วย ซึ่งเขาก็คงคิดว่าการเดินทางไปอินเดียแล้วไปร่วมกินดื่มในงานปาร์ตี้อย่างเดียวเป็นเรื่องน่าเสียดาย ก็เลยถือโอกาสเยี่ยมชมเมืองหลายเมือง และยังเข้าพบบุคคลสำคัญระดับแนวหน้าของอินเดียอีกหลายคน
เกตส์เริ่มต้นการเดินทางในอินเดียจากไฮเดอราบาด (Hyderabad) เมืองหลวงของมลรัฐเตลังคานะ ไปยังภูวเนศวร (Bhubaneswar) เมืองหลวงของมลรัฐโอริสสา ในระหว่างการเยือนอินเดียเกือบหนึ่งสัปดาห์ เกตส์ได้พบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เอส. ชัยสังกร (S. Jaishankar) เขายังได้ไปเยือน IIT Delhi และเข้าพบนวีน ปัฏนายัก (Naveen Patnaik) มุขมนตรีแห่งมลรัฐโอริสสาด้วย
ก่อนที่จะเดินทางครั้งนี้ เขาได้ไปเยือนอินเดียเมื่อเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2023 มาแล้ว หลังจากกลับมาครั้งนั้น เขาได้ลงข้อความในอินสตาแกรมว่า
“ผมเพิ่งกลับมาจากการเยือนอินเดีย และแทบรอไม่ไหวที่จะกลับไปอีกครั้ง ผมชอบไปเที่ยวอินเดียเพราะการเดินทางทุกครั้งเป็นโอกาสอันวิเศษในการเรียนรู้”
พร้อมกันนั้นเขาได้ลงภาพตนเองกับครอบครัวรวมทั้งพ่อของเขาด้วย ถ่ายหน้าทัชมาฮาลในปี ค.ศ. 2008 ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สำหรับบิล เกตส์แล้ว อินเดียเป็นสถานที่ที่เขาเคยมีความทรงจำมากมาย
สำหรับการเยือนอินเดียในปี ค.ศ. 2023 ของบิล เกตส์ กล่าวได้ว่าเป็นครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของเขา ซึ่งตัวเขาเองได้สรุปไว้ในบล็อกของเขาชื่อ GatesNotes ว่าเขาได้ไปเยือนมุมไบ เดลี และบังกาลอร์ ไปพบปะโมดีและสนทนาเกี่ยวกับวิธีที่อินเดียสนับสนุนความก้าวหน้าในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรี และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
ในการเดินทางครั้งเดียวกันนี้เขาได้ไปเยี่ยมชมศูนย์สุขภาพที่กำลังรับภาระหนักในการต่อต้าน TB ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากในอินเดีย ได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยเกษตร ได้ไปแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับความท้าทายในโลกด้านพลังงาน โภชนาการ สาธารณสุข เป็นต้น
หากผู้ฟังสนใจอาจไปหาอ่านได้ใน GatesNotes หัวข้อ My Trip to India in Pictures เพราะในรายการวันนี้เราจะเน้นเล่าถึงการเยือนครั้งล่าสุดของเขา
วันแรกของการเดินทางเป็นวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ เกตส์เริ่มต้นการเดินทางในไฮเดอราบาด
เขาได้ไปเยี่ยมเยือนแผงชาข้างถนนของดอลลี จายวาลา (Dolly Chaiwala) หนุ่มขายชาชื่อดังในโลกโซเชียล ผู้มีชื่อจริงว่า สุนีล ปาฏิล (Sunil Patil) มาจากนาคปูร์ เปิดแผงขายชาที่ชื่อว่า ดอลลี กี ตาปรี (Dolly ki Tapri) คนไทยหลายคนที่ติดตามโซเชียลเน็ตเวิร์คและได้รับชมคลิปสั้นของเขาบ่อย ๆ ก็เข้าใจผิดว่าดอลลี กี ตาปรี คือชื่อตัวของเขา การที่บิล เกตส์ มุ่งหน้าไปเยือนเขาก็คงเพราะความโด่งดังจากคลิปสั้นที่แสดงลีลาการชงชาอันเป็นเอกลักษณ์ของเขานั่นเอง บิล เกตส์บอกว่า การไปเยือนแผงชาของดอลลีและได้จิบชาร้อน ๆ ที่เขาทำให้นั้น “เป็นการรักษาเจ็ตแล็กได้อย่างดีวิเศษ”
ในไฮเดอราบาด เกตส์ยังได้พบกับ นันทัน นีเลกานี (Nandan Nilekani) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Infosys ซึ่งเขารู้จักมานานหลายปี รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ที่ทำให้เกตส์ได้ทราบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะดิจิทัลหรือ DPI นั่นคือ ระบบที่ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริการทุกประเภท รวมถึงการชำระเงินดิจิทัล การให้คำแนะนำแก่เกษตรกร บริการการศึกษา และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งนี้เกตส์ยังได้เสริมด้วยว่า ความก้าวหน้าของ DPI ของอินเดียเป็นแบบจำลองที่ประเทศอื่น ๆ กำลังเรียนรู้
วันต่อมาคือพุธที่ 28 เกตส์ได้เดินทางต่อไปยังภูพเนศวร มลรัฐโอริสสา
ที่นั่นเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการของรัฐบาลที่จัดหาสิ่งต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ถนนลาดยาง สนามเด็กเล่น ในชุมชนผู้มีรายได้น้อยของมลรัฐโอริสสา เขาได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับผู้หญิงในท้องถิ่นหลายคน ซึ่งเคยได้รับการฝึกอบรมด้านวิศวกรรมและทักษะอื่น ๆ มาแล้ว และปัจจุบันกำลังเป็นผู้นำโครงการก่อสร้าง เพื่อนำบริการดังกล่าวข้างต้นมาสู่ชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้บิล เกตส์ทึ่งมาก เขากล่าวว่าตนชอบฟังเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับความท้าทายที่หญิงเหล่านั้นฟันฝ่าจนพิชิตมาได้ ทั้งนี้เราย่อมปฏิเสธมิได้ว่าโอกาสและสิทธิของสตรีในอินเดียเป็นเรื่องที่เราเผชิญความท้าทายมาโดยตลอด การที่สตรีมีบทบาทสำคัญในเชิงวิศวกรรมจึงกล่าวได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดี
เกตส์ได้ศึกษาการเกษตรก้าวหน้าของอินเดียในภูพเนศวรนี่เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่เรียกว่า DPI (Digital Public Infrastructure) เขารู้สึกชื่นชมที่ในภูพเนศวรมีศูนย์กลางสื่อสารไปยังเกษตรกรจำนวนกว่า 6.5 ล้านคนของมลรัฐโอริสสาโดยผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำและอัปเดตสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านแอพพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ศูนย์ดังกล่าวเปิดดำเนินการ เกษตรกรของมลรัฐโอริสสาก็สามารถลดปัญหาศัตรูพืชได้ถึงร้อยละ 90 เขายังได้ไปพบปะนายนวีน ปัฏนายก ผู้ดำรงตำแหน่งมุขมนตรีของโอริสสามายาวนานถึง 24 ปี เขาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในมลรัฐ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตและความยากจนลดลง ทั้งคู่สนทนากันถึงความสำเร็จของโอริสสาในด้านการเกษตร สุขาภิบาล และด้านอื่น ๆ
วันต่อมา พฤหัสที่ 29 เขาเดินทางไปเดลีเพื่อเข้าร่วมเซสชั่นการเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์และพืชผล
อนึ่งเนื่องจากมูลนิธิภายใต้ชื่อของเขาเองก็มีส่วนสนับสนุนงานด้านการเกษตรในอินเดียไม่น้อย เกตส์จึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้นวัตกรรมล่าสุดของอินเดียด้านการผสมเทียม การเพาะพันธุ์ควาย เมล็ดพันธุ์ที่คำนึงถึงสภาพอากาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย
เกตส์ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานโปษัณอุตสวะ (Poshan Utsav) โดยคำเชื้อเชิญจากนางสมฤดี อีรานี (Smriti Irani) รัฐมนตรีกระทรวงสตรีและการพัฒนาเด็กของอินเดีย งานดังกล่าวเน้นย้ำถึงปัญหาภาวะทุพโภชนาการ และมีการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านโภชนาการของอินเดีย เกตส์ได้ร่วมอภิปรายด้วยว่ามูลนิธิของเขาจะสนับสนุนความพยายามในการปรับปรุงชีวิตของสตรีและเด็กทั่วประเทศอินเดียได้อย่างไร
จากนั้นเขาได้ไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (IIT) วิทยาเขตนิวเดลี เขาได้สรุปความเห็นไว้สั้น ๆ ว่า “นักศึกษาและคณาจารย์เต็มไปด้วยแนวคิดและการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ปัญหาความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก”
ต่อมาเขาจึงได้มีโอกาสพบปะกับนายกรัฐมนตรีโมดีกับรัฐมนตรีบางท่านเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง ซึ่งในครั้งนี้ การพูดคุยระหว่างทั้งสองมีใจความเกี่ยวกับการที่มูลนิธิของเกตส์จะยังคงสานต่อความสนับสนุนในการพัฒนาเป้าหมายของอินเดียด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาที่นำโดยสตรี และนวัตกรรมด้านการเกษตรและสาธารณสุข ตลอดจนปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ในวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม บิล เกตส์ได้ไปเยี่ยมเยียนอนุสาวรีย์แห่งเอกภาพ (The Statue of Unity) ในมลรัฐคุชราต ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีโมดี
อนุสาวรีย์ดังกล่าวคือรูปปั้นเต็มตัวของสารทาร์ วัลลภภาย ปเฏล (Sardar Vallabhbhai Patel) ท่านผู้นี้คือหนึ่งในบุคคลสำคัญในขบวนการเรียกร้องเอกราชของอินเดีย รูปปั้นดังกล่าวมีความสูงกว่า 597 ฟุตหรือ 182 เมตร เป็นรูปปั้นที่สูงที่สุดในโลก เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี ค.ศ. 2013 และเสร็จในปี ค.ศ. 2018 ถ้าจะเทียบความใหญ่โตมโหฬารของรูปปั้นนี้ให้ผู้ฟังพอนึกภาพออกก็คือ ความสูงประมาณอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพของสหรัฐฯ ซ้อนกันสองชั้น บิล เกตส์ได้กล่าวสรุปว่า เขาประทับใจกับความพยายามของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวโดยรอบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชากรในท้องถิ่น ในช่วงฤดูท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมากกว่า 60,000 คนมาเยี่ยมชมรูปปั้นนี้ทุกวัน
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือการเดินทางของบิล เกตส์ อย่างคร่าว ๆ นอกเหนือจากกำหนดการที่เขาต้องเข้าร่วมงานพรีเวดดิ้งของลูกชายนายมุเกศ อัมบานี
จะเห็นได้ว่า แม้บิล เกตส์ จะเป็นนักธุรกิจด้านไอที แต่เขาก็มีความสนใจไม่น้อยเลยในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เราสรุปได้อย่างชัดเจนคือเขาสนใจเกี่ยวกับความมั่นคงพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร เรื่องการศึกษา และเรื่องสิทธิสตรีด้วย นี่เป็นเหตุผลที่การเดินทางไปเยือนอินเดียของเขาแต่ละครั้งต้องมีประโยชน์ ทำให้เขาได้อัปเดตความก้าวหน้าและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เกี่ยวกับอินเดียอยู่เสมอ
ได้สรุปไว้อย่างครอบคลุมในข้อเขียนของเขาก่อนที่จะไปอินเดียครั้งล่าสุดเพียงหนึ่งสัปดาห์ เราขออนุญาตคัดบางตอนออกมาแปลให้ฟังดังนี้
“ผมได้ไปเที่ยวอินเดียมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 และกำลังจะไปเที่ยวอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หลายปีที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศนี้ ได้เยี่ยมชมอนุสรณ์สถานอันน่าทึ่งหลายแห่ง รวมถึงทัชมาฮาลด้วย ทว่าเมื่อผมนึกถึงคุณูปการที่สำคัญที่สุดของอินเดียต่อโลก สิ่งต่าง ๆ ที่ว่ามากลับมิใช่สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียคือความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ต่างหาก”
“ประเทศนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานด้านความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ๆ (นักคณิตศาสตร์ในอินเดียโบราณได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในเรื่องการนำระบบทศนิยมมาใช้) ไม่นานมานี้ อินเดียได้สร้างความก้าวหน้าในการช่วยชีวิตและปรับปรุงชีวิตผู้คนนับล้านในอินเดียและทั่วโลก มูลนิธิเกตส์เป็นพันธมิตรในความพยายามเหล่านี้ และผมจะไปเยี่ยมชมในสัปดาห์นี้เพื่อเรียนรู้ว่าเราจะทำงานร่วมกับอินเดียต่อไปได้อย่างไร...”
“...ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก... บริษัทในอินเดียบุกเบิกการสร้างสรรค์วัคซีนและยาคุณภาพสูงราคาประหยัด โดยเป็นผู้นำของโลกในการรักษาโรคต่างๆ เช่น เอชไอวี/เอดส์ รวมถึงวัคซีนสำหรับโรตาไวรัส โรคปอดบวม และโรคโควิด... ส่วนใหญ่เป็นเพราะอินเดียนี่เองที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับยาและวัคซีนใหม่ ๆ ได้เร็วกว่าเมื่อก่อนมาก ผมขอจัดอันดับความพยายามนี้เป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านสุขภาพที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา…”
“...ชาวอินเดียกำลังได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และการกำจัดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของปัญหานี้ถือเป็นความท้าทายทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ เป็นเรื่องดีที่อินเดียเพิ่มความสามารถในการประดิษฐ์ ผลิต และปรับใช้ความก้าวหน้าด้านสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลกำลังลงทุนในการวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตของพืชผลและปศุสัตว์แม้ในสภาพอากาศที่อบอุ่น และกำลังขยายแผนสำหรับพลังงานสะอาด”
ในที่สุดเกตส์ได้ทิ้งท้ายว่า “ประเทศนี้มีสิ่งให้นำเสนอต่อโลกมากมาย และผมมองในแง่ดีว่า ประเทศนี้จะยังคงเป็นผู้นำในการสร้างโลกที่เท่าเทียมยิ่งขึ้นต่อไป”
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ