วันที่ 15 มิถุนายน 2567
เพลง Feeling Hot Hot Hot
เพลงประกอบภาพยนตร์สหราชอาณาจักรเรื่อง Bend It Like Beckham ออกฉายในปี ค.ศ. 2002 ผลิตและกำกับโดยกุรินเดอร์ กอร์ จัดดา (Gurinder Kaur Chadha) ผู้กำกับหญิงเชื้อสายอินเดียในสหราชอาณาจักร ส่วนเพลงที่เปิดนั้นเป็นเสียงร้องของบีณา มิสทรี (Bina Mistry)
ภาพยนตร์ดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจไม่น้อย เป็นเรื่องของเจส ภามรา (Jess Bhamra) เด็กสาวเชื้อสายปัญจาบวัย 18 ปีที่อาศัยอยู่กับครอบครัวในย่านเฮาน์สโลว์ (Hounslow) กรุงลอนดอน เธอชื่นชอบฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ แต่ทางบ้านไม่สนับสนุน เพราะพ่อของเธอสมัยก่อนเคยถูกกีดกันจากสโมสรคริกเก็ตด้วยเหตุของการเหยียดคนอินเดีย นายภามราจึงไม่อยากให้ลูกสาวเขาต้องพบเจอเรื่องเดียวกัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประเภทเบาสมอง ที่มีเสียงตอบรับดีมาก ได้รับรีวิวว่าเป็นภาพยนตร์เบาสมองที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของสหราชอาณาจักร ผู้แสดงเป็นเจส ภามราคือ ปาร์มินเดอร์ นากรา (Parminder Nagra) ดาราหญิงชาวบริติชอินเดียคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จสูงมาก
จริง ๆ แล้วเรื่องราววันนี้ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลหรือสหราชอาณาจักร ที่เลือกเพลงนี้ก็เพียงเพราะจะเล่นคำว่า Feeling Hot Hot Hot เท่านั้น คือในภาพยนตร์จะหมายถึงความรู้สึกไฟลุกโชนที่จะทำอะไรสักอย่าง แต่รายการวันนี้เราจะกล่าวถึงคำว่า hot ที่หมายถึงอากาศร้อนทางกายภาพจริง ๆ ซึ่งเป็นข่าวสำคัญในอินเดียมาได้พักหนึ่งแล้ว ตอนนี้ก็ยังคงร้อนอยู่แม้จะผ่านช่วงพีคไปแล้วก็ตามที
เราทั้งสองคนมีคนรู้จักในอินเดียมากมาย ช่วงก่อนหน้านี้ตอนที่ความร้อนขึ้นสูงมาก ผมถามไถ่ไปทางนักเรียนบางคนที่ไปศึกษาที่อินเดีย ก็ได้ยินเสียงบ่นตรงกันเป็นเสียงเดียวคืออากาศร้อนมาก ร้อนจนกระทั่งแทบจะทนไม่ได้
อย่างเช่นบุคคลหนึ่งที่พวกเราเคยสัมภาษณ์มาหลายครั้งแล้วคือน้องแพร อิงครัตน์ ศิลปินกถักที่ผู้ฟังหลายท่านรู้จักดีและติดตามผลงานอยู่ ก็บ่นว่าร้อนจนเลือดกำเดาไหลไปหลายยก คนไทยหลายคนที่ไปเที่ยวอินเดียก็บ่นลงในสื่อโซเชียลอย่างไม่หยุดหย่อนถึงความร้อนอันแสนสาหัสดังกล่าว อย่างที่ในสำนวนไทยเรามีคำพูดกันว่า “ร้อนจนตับแตก” (หมายถึงตับจากบนหลังคาบ้าน ไม่ใช่ตับในท้อง)
ถามว่าร้อนแค่ไหน ฟังตัวเลขแล้วอย่าเพิ่งตกใจ ข่าวออกมาเมื่อวันพุธที่ 29 พ.ค. 2024 จุดที่ร้อนที่สุดคือบริเวณมุงเคศปูร์ (Mungeshpur) ชานเมืองเดลีทางฝั่งเหนือ ติดกับมลรัฐหรยาณา มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 52.3 องศาเซลเซียส โดยมีตัวเลขอ้างอิงจากเอกสารตารางแสดงอุณหภูมิที่วัดจากสถานีอากาศจุดต่าง ๆ ของกรุงเดลี จัดทำโดย India Meteorological Department หรือประมาณกรมอุตุฯ อินเดียนั่นเอง
เดิมทีรายงานจากมุงเคศปูร์ตัวเลขขึ้นสูงถึง 52.9 ด้วยซ้ำ บางสำนักข่าวก็ได้รายงานตัวเลขนี้ไปแล้ว แต่ในภายหลังเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นค่าความคลาดเคลื่อนของอุปกรณ์การวัดซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ตัวเลขทางการจึงได้แก้ไขออกมาเป็น 52.3 ซึ่งก็ยังนับว่าสูงมากจนน่าตกใจอยู่ดี และในวันเดียวกันที่อุณหภูมิขึ้นถึงจุดสูงสุดนี่เอง ที่สถานีอื่น ๆ ก็วัดได้ในช่วง 45-49 องศาทั้งสิ้น
ถ้ายังนึกไม่ออกว่าร้อนขนาดไหน สำหรับสถิติหน้าร้อนเมืองไทยปี 2567 ที่พวกเราเพิ่งจะเจอมา กรมอุตุฯของไทยเผยว่า อุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในไทยคือเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ณ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อยู่ที่ 44.2 องศาเซลเซียส
จะเห็นได้ว่า ตัวเลขของทางอินเดียสูงกว่าของเรามากกว่า 8 องศาเซลเซียส ถึงกระนั้นก็ตามพวกเราหลายคนก็บ่นว่าร้อนมากแล้ว ดังนั้นก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอากาศร้อนที่อินเดียจะทรมานคนที่อยู่อินเดียสักเพียงใด
นี่ถือเป็นวาระระดับชาติเลยก็ว่าได้ เพราะว่าไม่เคยปรากฏเลยว่ากรุงเดลีจะมีอากาศร้อนถึงกว่า 50 องศาเซลเซียส นี่เป็นครั้งแรกเท่าที่มีบันทึกมา จึงจัดว่าเป็นอากาศร้อนครั้งประวัติการณ์ของอินเดีย
ทางการอินเดียรู้สึกหนักใจไม่น้อยกับคลื่นอากาศร้อนหรือที่เรียกว่า Heat Wave ครั้งนี้ เพราะร้อนในระดับที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต อากาศร้อนในระดับที่กล่าวมาถือว่าเสี่ยงกับการเป็นลมแดด (heatstroke) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดทำให้ผู้คนเสียชีวิตช่วงหน้าร้อน
ถึงจะเสี่ยงสักเพียงใด พลเมืองอินเดียจำนวนมากก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องประกอบอาชีพกลางแดด เช่น เกษตรกร ค้าขาย กรรมกรก่อสร้าง ตำรวจจราจร
และในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของอินเดียที่เพิ่งผ่านมาคือการเลือกตั้งทั่วไป ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2024 เว็บไซต์ของ CNN World ก็ได้รายงานเหตุน่าเศร้าสลดว่า ช่วง 10 วันก่อนหน้านั้นมีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อน 77 คน จำนวน 33 คนในนั้นคือคนงานที่ทำหน้าที่ประจำจุดเลือกตั้งที่มลรัฐอุตตรประเทศ อีก 20 คนเป็นคนงานเลือกตั้งและผู้ลงคะแนนเสียงในมลรัฐโอริสสา ซึ่งแม้ว่าอากาศจะไม่ร้อนเท่ากับเดลี แต่ก็มีความชื้นสูง ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 24 คน อยู่ในแถบเดลี พิหาร ฌารขัณฑ์ และราชสถาน
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งเสียชีวิตมากนัก
ต้องเข้าใจก่อนว่า ในจำนวนประชากรอินเดียกว่า 1.4 พันล้าน มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงอยู่ประมาณ 969 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวมากกว่าจำนวนประชากรอเมริกาเหนือกับสหภาพยุโรปรวมกัน นี่คือเหตุที่การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียต้องจัดยาวนานมากตั้งแต่ 19 เมษายน จนปิดรับลงคะแนนไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน และการจัดเลือกตั้งอย่างมโหฬารนี้ ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วประเทศจำนวน 15 ล้านคน ในบรรดาเจ้าหน้าที่เหล่านี้ หลายคนก็ต้องเดินทางอย่างวิบากทุรกันดาร ขึ้นรถไฟ ลงเรือ หรือแม้กระทั่งขี่อูฐเข้าไปจัดหน่วยเลือกตั้งในชนบทห่างไกล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากที่สุด
ที่น่าสรรเสริญยิ่งคือเจ้าหน้าที่พวกนี้ต้องทำงานตรากตรำประจำอยู่ที่หน่วยเลือกตั้งท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน สำหรับคนที่มาเลือกตั้ง หลังจากที่ลงคะแนนเสร็จแล้วก็อาจไปหลบร้อนได้บ้าง แต่เจ้าหน้าที่ไปไหนไม่ได้ ไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากลมแดดมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง แน่นอนว่าการเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทางการก็คงต้องมีการชดเชยให้บ้าง ในกรณีมลรัฐโอริสสา ข่าวออกมาว่าเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตได้รับเงินชดเชยครอบครัวละ 18,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่คุ้มค่ากับชีวิตที่เสียไปหรอก แต่ก็ยังดีกว่ารัฐไม่รับผิดชอบ
ตรงนี้ก็อยากชวนให้พวกเรามองด้วยว่า อินเดียมองการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงขนาดปกป้องสิทธิดังกล่าวด้วยชีวิต ต้องเสี่ยงตายกับความร้อนกันทั้งผู้ใช้สิทธิและเจ้าหน้าที่ ยิ่งในบริเวณหน่วยเลือกตั้งที่แออัดด้วยแล้ว ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น แต่ชาวอินเดียก็ยังยืนยันจะออกมาเลือกตั้งให้ได้
รายงานของ CNN กล่าวถึงหนุ่มคนหนึ่งชื่อฮาซีม ที่ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า “การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานและเป็นหน้าที่ประการแรกของพลเมืองทุกคนในประเทศใด ๆ ก็ตามที่เป็นประชาธิปไตย พวกเราจะต้องออกมาใช้สิทธิ ไม่ว่าอากาศจะเป็นอย่างไรก็ตาม”
ผู้ฟังหลายคนคงสนใจใคร่รู้ อินเดียทำไมถึงร้อนนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ตอนเหนือของประเทศ เพราะตามความรู้ภูมิศาสตร์พื้นฐานที่เรียนกันมา ยิ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรภูมิอากาศก็ยิ่งร้อน อาศัยทฤษฎีนี้ มลรัฐทางใต้อย่างทมิฬนาฑูก็ควรจะร้อนที่สุดไม่ใช่หรือ
ขออธิบายว่า ที่เดลีร้อนมากก็เพราะว่าเป็นพื้นที่ภายใต้อิทธิพลลมร้อนที่พัดมาจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าคลื่นอากาศร้อนหรือ Heat Wave ซึ่งจะมีเข้ามาเป็นปกติ แต่ในปีนี้เข้ามาเร็วเป็นพิเศษและร้อนมากเป็นพิเศษ จากที่เคยเป็นช่วงพฤษภาคมและมิถุนายน ก็เข้ามาตั้งแต่ช่วงเมษายนและกินเวลายาวนานกว่าเดิม
จากถ้อยคำของนายประทีป กุมาร ครูใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในเดลี บอกว่า “มันร้อนเสียเหลือเกินจนเหมือนกับฝนตกลงมาเป็นไฟ ปีที่แล้วในช่วงร้อนที่สุดของฤดูร้อนก็ยังไม่มีคลื่นความร้อน และแม้แต่ปีก่อนหน้านั้นฤดูร้อนก็ไม่ทุกข์ทรมานเท่ากับปีนี้”
ในกรณีของมุงเคศปูร์ซึ่งเป็นพื้นที่อุณหภูมิสูงสุดในเดลี ที่ร้อนกว่าจุดอื่นก็เพราะเป็นด่านหน้าสุดที่กระทบลมร้อนจากแถบราชสถานและหรยาณา
มุงเคศปูร์เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ผู้คนประกอบอาชีพเพาะปลูกเป็นหลัก แน่นอนว่าอาชีพนี้รับผลกระทบจากอากาศร้อนเต็ม ๆ อากาศของที่นี่ร้อนจัดเป็นสถิติสูงสุดในแถบนั้นติดต่อกันหลายวัน
กสิกรรายหนึ่งชื่อ อโศก กุมาร ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่มีทางจะยืนกลางแจ้งได้เกิน 15 นาทีเลย ชาวนาส่วนใหญ่ก็หยุดเพาะปลูกธัญพืชรอบต่อไปแล้ว ซึ่งหมายถึงข้าวฟ่างโจวาร์ เพราะไม่น่าจะอยู่รอดในความร้อนนี้ได้” เขาคุยไปอาบน้ำให้ลูกวัวไป พลางกล่าวว่า “วันนี้เป็นหนที่สามแล้วที่ผมอาบน้ำให้วัว เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พวกมันเย็นขึ้นได้ พวกลูกวัวมักจะเริ่มน้ำลายฟูมปากเวลาอยู่กลางแจ้งนาน ๆ”
เรื่องที่น่าหวั่นวิตกคงหนีไม่พ้นสภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกะทันหัน คือเพิ่มทีเดียวหลายองศา ร่างกายของหลายคนก็รับมือไม่ทันจนเกิดเหตุเศร้าสลดอย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อครู่ นับว่าเป็นสัญญาณฉุกเฉินที่ทำให้รัฐบาลต้องเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเพื่อหาวิธีบรรเทาทุกข์
เพราะอากาศร้อนในระดับนี้คุกคามการพัฒนาประเทศ ทำให้พืชผลการเกษตรเหี่ยวเฉาตายหมด เสี่ยงที่จะชะลอความคืบหน้าหรือแม้แต่สร้างความถดถอยในการบรรเทาความยากจน สุขภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ท่ามกลางอากาศร้อนแสนสาหัสนี้ ความท้าทายอีกประการหนึ่งที่เลี่ยงได้ยากคือการขาดแคลนน้ำนั่นเอง
เพราะผู้คนต้องการน้ำเพื่อบรรเทาความร้อนตลอดเวลา คนที่ทำงานกลางแจ้งนอกจากต้องดื่มน้ำประจำแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะต้องใช้น้ำรดชะโลมศีรษะเพื่อบรรเทาอุณหภูมิร่างกาย ปศุสัตว์เองก็ต้องอาบน้ำบ่อย ๆ และทุกคนก็รู้ดีอยู่แล้วว่าในอินเดีย ประชากรวัวควายมีมากมายมหาศาล ลองจินตนาการว่าจะต้องใช้น้ำสักเพียงใดให้พวกมันมีชีวิตรอดอยู่ได้
เทศบาลเดลีถึงกับออกประกาศในวันพุธที่ 29 พฤษภาคมว่าด้วยการประหยัดน้ำใช้ โดยมีค่าปรับถึง 2,000 รูปีสำหรับคนที่ล้างรถด้วยสายยาง (ถือว่าเปลืองน้ำโดยใช่เหตุ เพราะสามารถใช้ถังน้ำแล้วเอาฟองน้ำจุ่มเช็ดได้) หรือคนที่เติมน้ำก๊อกแล้วปล่อยให้น้ำล้นถัง ขณะเดียวกันก็ตั้งทีมงานเจ้าหน้าที่ขึ้นกว่า 200 ทีม เพื่อสอดส่องตรวจตราทั่วเมืองเดลีว่ามีการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อว่า India’s Self-Employed Woman Association หรือ SEWA จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ประกอบอาชีพส่วนตัว มีสมาชิกองค์กรกว่าสามล้ามคน ได้ออกโปรแกรมประกันความเสี่ยงจากอากาศร้อนขึ้นมาเป็นครั้งแรก
กล่าวคือ ผู้หญิงที่ไม่สามารถออกไปทำงานได้ก็จะได้รับเงินชดเชยโดยตรงเป็นมูลค่า 5 เหรียญสหรัฐ ประมาณ 417 รูปี ซึ่งไม่มาก แต่ก็ช่วยบรรเทาความจำเป็นบางอย่างเช่นค่ายาได้บ้าง อนึ่ง รายได้เฉลี่ยของผู้หญิงที่ทำงานในภาคการเกษตรอยู่ที่ประมาณ 300 รูปีต่อวัน ดังนั้นเงิน 400 กว่ารูปีก็จัดว่ามีความหมาย มีผู้หญิงได้รับเงินจากโครงการนี้ของ SEWA ไปราว ๆ ห้าหมื่นคน
ยังดีอยู่บ้างที่ในเวลาที่เรากำลังพูดกันอยู่ตอนนี้ ช่วงอากาศร้อนสูงสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว สองสัปดาห์ก่อน มีข่าวว่าฝนตกในเดลี ฝนดังกล่าวก็ช่วยผ่อนความร้อนไปได้พอสมควร เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่ออากาศร้อนจัดฝนก็จะต้องตามมา เพราะความร้อนต้องทำให้น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติระเหยขึ้นไปเป็นก้อนเมฆ ในที่สุดฝนก็จะตก ซึ่งในสภาวะดังกล่าว คงเปรียบได้กับน้ำอมฤตเลยทีเดียว
งานสำคัญและน่ายินดีมากคือปาฐกถาจากนายกรัฐมนตรีภูฏาน ท่านดาโช เชริง ต็อปเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) กรุณาให้เกียรติมากล่าวปาฐกถาเรื่อง “Enlightened Leadership”
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2024 เวลา 8.30 – 12.00 น.
เป็นโอกาสดีสำหรับพวกเราทุกคนที่จะได้เข้าฟังปาฐกถาจากบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปในเฟซบุ๊คของผมและลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ดได้เลย
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ