การเดินขบวนไพรด์ครั้งแรกในอินเดีย ค.ศ. 1999
294 views
0
0

เพลง Sang Rehna
เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Ajeeb Daastaans” (เรื่องราวพิศวง) ผลิตโดยกรัณ โจฮาร์ (Karan Johar) กำกับโดยนีราช ฆัยวาน (Neeraj Ghaywan) ผู้กำกับมือทองที่สร้างหนังสะท้อนสังคมจนได้รับรางวัลมาแล้วหลายรางวัล ออกอากาศทางเน็ตฟลิกซ์ในปี ค.ศ. 2021

ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งออกเป็นสี่เรื่องราวย่อยที่มีตัวละครและฉากเป็นเอกเทศจากกัน ภาษาอังกฤษเรียกภาพยนตร์ลักษณะนี้ว่า Anthology

สำหรับเพลง “Sang Rehna” ที่เราเปิดนี้คือเพลงประกอบตอนที่ชื่อ “Geeli Pucchi” มีปมเรื่องที่น่าสนใจมาก กล่าวคือ ภารตี (Bharti) สาวคนงานทลิตคนหนึ่ง ตกหลุมรักกับปรียา (Priya) หญิงสาวผู้ทำงานเป็นผู้จัดการข้อมูลในโรงงานเดียวกัน และมีพื้นเพจากตระกูลวรรณะพราหมณ์ แต่เธอไม่เปิดเผยต่อปรียาว่าเธอเป็นทลิต จนกระทั่งต่อมามีเหตุผลที่ทำให้เธอต้องเปิดเผยในที่สุด และความรู้สึกของปรียาก็เปลี่ยนไป

ผู้ฟังคงจะสังเกตได้ทันทีว่า สิ่งที่พูดมานี้มีปมที่เป็นที่ยอมรับได้ยากในสังคมอินเดียถึงสองจุด กล่าวคือ เรื่องที่ทั้งสองเป็นเพศเดียวกัน และเรื่องที่ทั้งสองมาจากวรรณะที่ต่างกันสุดขั้ว

ความชาญฉลาดของผู้กำกับคือ ที่จริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดร่วมกันในสังคมอินเดียเป็นปกติ แต่เราถูกสื่อภาพยนตร์ต่าง ๆ ทำให้คิดไปเองว่ามันไม่ปกติที่ปมทั้งสองจะเกิดขึ้นในคู่รักคู่เดียวกัน คือบนจอภาพยนตร์แทบจะไม่เกิดปมทั้งสองนี้พร้อมกันเลย จะมีแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวรรณะ แต่แน่นอนครับ ความเป็นจริงคือ มนุษย์ทุกรูปนามเกิดความรักกันได้ไม่ว่ากฎเกณฑ์สังคมจะเป็นอย่างไร

Pride Month เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ (นาที 5.55)

เหตุผลที่เราจำเป็นต้องพูดประเด็นความหลากหลายทางเพศคือ เดือนนี้เป็นเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pride Month (เดือนแห่งความภาคภูมิใจ)

เหตุที่เดือนมิถุนายนได้รับสถานะดังกล่าว หลายคนคงทราบดีแล้วว่า เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ อินน์ ในนิวยอร์กซิตี้ วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของสิทธิกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกาและในโลก แน่นอนว่า ประเทศไทยก็ร่วมฉลองเดือนนี้ด้วย

กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย

สำหรับปี 2024 มีความพิเศษเพราะเกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศในไทย ดังนั้นก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องของอินเดีย เราทั้งสองต้องขอกล่าวแสดงความยินดีกับคู่รักทุกคู่ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย ที่เพิ่งจะผ่านออกไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา

คำว่า สมรสเท่าเทียม หมายความว่าบุคคลสองฝ่ายไม่ว่าจะมีเพศใด ๆ สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมาย และมีสิทธิ์เท่าเทียมกันทุกประการไม่ว่าจะในกรณีที่คู่สมรสเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศกัน

เหตุการณ์นี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ออกกฎหมายอนุญาตการสมรสในเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีสำหรับบรรดาผู้หลากหลายทางเพศวิถี ที่เรียกว่า LGBTQIA+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer, Intersex, Asexual etc. ต่อไปนี้จะเรียกย่อว่า LGBT) ในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นก้าวแห่งความสำเร็จหลังจากต่อสู้เรียกร้องกันมายาวนานพอสมควร

ประเด็นเกี่ยวกับ LGBT ของอินเดีย

อย่างที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินเดียนั้น วิถีของสังคมอินเดียมิได้รองรับหรือเอื้ออำนวยเท่าไรนัก กล่าวได้ว่า แม้แต่ทุกวันนี้สังคมอินเดียก็มีค่านิยมยอมรับความเป็นชายจริงหญิงแท้ตามขนบมากกว่า

ฉะนั้นบุคคลที่ปฏิบัติผิดแปลกไปจากความคาดหวังของครอบครัวหรือคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศชาย โอกาสที่ครอบครัวจะรับไม่ได้ก็มีมาก เช่น ชายที่มีคู่รักเป็นชายด้วยกัน หรือแต่งตัวเป็นหญิง มีกิริยาท่าทางเป็นหญิง ก็มีแนวโน้มจะถูกคนรอบข้างปฏิบัติในเชิงเหยียดหยาม เนื่องจากค่านิยมของสังคมอินเดียมองว่าชายมีหน้าที่ในการแต่งงานสืบทอดวงศ์ตระกูลและรักษาเผ่าพันธุ์ ส่วนใหญ่จึงไม่ยอมรับหากลูกชายของครอบครัวตนเป็นเกย์ และคิดว่าเป็นความผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ต้องบำบัดหรือแก้ไข

สถานการณ์เกี่ยวกับบุคคลรักร่วมเพศของอินเดียเพิ่งจะพัฒนาไปในทางดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ เหตุการณ์ที่บ่งชี้ได้อย่างชัดแจ้งคือ การทำให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันพ้นจากการเป็นความผิดทางกฎหมาย (decriminalized) เพิ่งจะเกิดไปเมื่อ ค.ศ. 2018 นี่เอง จากที่ก่อนหน้านั้นเป็นความผิดทางกฎหมายมาโดยตลอด ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นมรดกยุควิคตอเรียโดยตรง

คติดั้งเดิมของชาวฮินดูว่าด้วยการมีลักษณะของบุรุษและสตรีอยู่ในบุคคลเดียวกัน

อันที่จริงใคร่อยากจะอธิบายให้ผู้ฟังได้ทราบไว้ด้วยว่า คติดั้งเดิมของชาวฮินดูนั้น การมีลักษณะของบุรุษและสตรีอยู่ในบุคคลเดียวกันทั้งสองขั้ว หรือที่ศัพท์ทางการเรียกว่า “กะเทย” แท้จริงไม่ใช่เรื่องผิดบาป เพราะปรัชญาฮินดูมองว่า ธรรมชาติของขั้วทั้งสองนี้ย่อมต้องดำรงอยู่ไปพร้อม ๆ กันและเอื้ออำนวยต่อกัน ซึ่งขั้วทั้งสองนี้จะเรียกว่า “บุรุษ” และ “ศักติ” หรือ “ประกฤติ”

ตัวอย่างสำคัญที่เราน่าจะรู้จักกันดีคือมี เทพฮินดูองค์หนึ่งที่มีนามว่า อรรธนารีศวร (Ardhanarisvara) มีร่างกายซีกหนึ่งเป็นพระศิวะ อีกซีกเป็นพระแม่ปารวตี ผู้เป็นศักติของพระองค์ เทพองค์นี้เป็นที่เคารพนับถือของผู้หลากหลายทางเพศเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างเพศเดียวกัน ประติมากรรมเชิงวิจิตรกามาบนวัดหลายวัดเช่นที่มีชื่อเสียงที่สุดคือขชุรโห ก็มีสำแดงไว้ไม่น้อย

ฉะนั้นการมองเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องผิดธรรมชาติหรือเป็นบาป เป็นไปได้ว่ามีที่มาจากความคิดยุคหลังที่มีอิทธิพลจากศาสนาฝั่งโลกตะวันตกมาผสมผสานบ้างแล้ว

การเดินขบวนไพรด์ครั้งแรกของอินเดียปี 1999

เมื่อเรามองพลังของกลุ่ม LGBT ในสังคมอินเดียปัจจุบัน จะพบว่ามีการจัดกิจกรรมรณรงค์และเคลื่อนไหวแสดงพลังกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น เช่นการจัดขบวนพาเหรดแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Parade) ก็ทำได้อย่างมีสีสันครึกครื้น และมีผู้ร่วมนับหมื่น

แต่หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต การเดินขบวนไพรด์ครั้งแรกของอินเดียที่เกิดขึ้นในมลรัฐเบงกอลตะวันตกปี ค.ศ. 1999 หรือ 25 ปีมาแล้ว มีความแตกต่างกับยุคนี้มาก

กิจกรรมนี้เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1999 ณ เมืองโกลกาตา ริเริ่มโดย โอวาอิส ข่าน (Owais Khan) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และผู้เข้าร่วมเพียง 15 คนเท่านั้น แม้แต่ชื่อของกิจกรรมก็ไม่ได้เรียกว่า Pride March ตามความนิยม แต่ใช้คำว่า Friendship Walk แทนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา

งานนี้จงใจกำหนดเวลาให้ใกล้เคียงกับการเฉลิมฉลองระดับโลกเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการจลาจลที่สโตนวอลล์อินน์ในนิวยอร์ก ซึ่งจุดประกายการเคลื่อนไหวของ LGBT ในสหรัฐอเมริกา ทว่าความที่เดือนกรกฎาคมเป็นฤดูมรสุมในอินเดีย เมื่อเดินขบวนไปไม่นานฝนก็ตกลงมา ผู้ร่วมขบวน 15 คนในเสื้อยืดสีเหลืองสดใสที่มีรูปสามเหลี่ยมสีชมพูสั่งทำพิเศษก็เปียกชุ่มไปด้วยน้ำฝน

ในปี ค.ศ. 1999 การรักร่วมเพศยังคงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย เกย์ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ คือปิดบังอัตลักษณ์หรือรสนิยมของตนไว้ แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่อุทิศตนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งชุมชนขึ้นในบางเมือง

วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1999 โอวาอิส ข่านได้เสนอแนะท่ามกลางที่ประชุมว่าควรมีกิจกรรมบางอย่างเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์ในนิวยอร์ก เขาเสนอให้ตั้งขบวน “ปทยาตรา” (Padayatra - เดินเท้า) เล็ก ๆ ขึ้นมา

ข่านเผยว่า แรงบันดาลใจของเขาจากขบวนพาเหรดไพรด์ในเมืองต่างๆ เช่น นิวยอร์ก รวมทั้งการเดินขบวนเกลือ (Salt March) อันโด่งดังของมหาตมาคานธี ในช่วงการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียด้วย

เพื่อน ๆ สมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วยกับข่าน บางคนก็บอกว่า ตัวเองเคยถูกโจมตีว่าเป็นพวก “Attention Seeker” หรือที่ภาษาไทยตอนนี้มีศัพท์สแลงว่า “พวกหิวแสง” หรือเป็นพวกเอาแต่ลอกความคิดตะวันตก แน่นอนว่าหากเข้าร่วมขบวนลักษณะนี้ก็จะต้องมีเสียงไปในทางนั้นอีกเช่นกัน

แต่ข่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้การเดินขบวนเกิดขึ้น ในหนังสือ “Gulabi Baghi” ซึ่งรวบรวมบทความเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของบรรดา LGBT ในอินเดีย ข่านได้เขียนไว้ว่า ตอนนั้นเขากล่าวกับเพื่อน ๆ ว่า “เพื่อนเอ๋ย ยังไงการเดินขบวนก็ต้องเกิดขึ้น ต่อให้ฉันต้องเดินคนเดียว ฉันก็จะเดิน”

แต่การเดินขบวนโดยไม่มีเงินสนับสนุนเลยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ข่านตื่นขึ้นมาในเช้าวันนั้นด้วยจิตใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ เป็นกังวลว่าจะมีใครมาร่วมเดินขบวนหรือไม่ ในที่สุดก็ปรากฏว่ามีผู้สปิริตแรงกล้ามาเข้าร่วม 15 คน โดย 7 คนมาจากโกลกาตา และที่เหลือจากเดลีและมุมไบ และจากเมืองเล็ก ๆ เช่น บอนเกาน์ (Bongaon) และกูร์ซอง (Kurseong) ในมลรัฐเบงกอลตะวันตก แน่นอนว่าในเวลานั้นการเดินขบวนลักษณะนี้ไม่เป็นที่รู้จักในอินเดีย หญิงสูงอายุคนหนึ่งซึ่งเดินผ่านมาถามผู้เข้าร่วมคนหนึ่งว่าทำไมพวกเขาถึงเดินขบวน เขาบอกว่าพวกเขากำลังเรียกร้องสิทธิของตน หญิงชราได้แต่ส่ายหัวและกล่าวดัง ๆ ว่า รัฐไม่มีอะไรจะทำแล้วหรือจึงเอาแต่สอดมือเข้ามาสอดส่องควบคุมชีวิตส่วนตัวของผู้คน

หลังจากเดินขบวนครั้งแรก ผู้เดินขบวนก็แยกออกเป็นสองกลุ่ม และเข้าไปเยี่ยมชมองค์กรพัฒนาเอกชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของมลรัฐ เพื่อแจกโบรชัวร์ข้อมูล ปาวัน ธาล (Pawan Dhall) หนึ่งใน 15 คนที่เข้าร่วมขบวนเผยว่า พวกเขาได้พบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยคนหนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งรู้สึกงุนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในช่วงเวลาตอนบ่ายซึ่งมีสื่อมวลชนมาทำข่าว ก็ปรากฏว่า ในช่วงระหว่างการเดินนั้น ไม่มีผู้บันทึกภาพเอาไว้เลย เพราะไม่มีทุนทรัพย์จ้างตากล้องมาถ่าย ตกลงว่าผู้ร่วมขบวนไพรด์ทั้ง 15 คน จำต้องออกไปเดินซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้นักข่าวถ่ายรูป และรูปที่ออกมานี่แหละถึงได้นำไปลงในหนังสือพิมพ์

ในเวลานั้นไม่ใช่ว่าผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้เผยตัวตนกับครอบครัวและญาติของตนมาก่อน นวรุณ คุปตะ (Navarun Gupta) ซึ่งอาศัยอยู่ในแอตแลนตา แต่ไปเยี่ยมญาติที่โกลกาตาในวันนั้นเผยว่าตนแอบย่องมาร่วมเดินขบวน ญาติไม่รู้เลยว่าในวันนั้นตนหายไปไหน อีกรายหนึ่งคือ อาทิตยา โมห์โนต (Aditya Mohnot) ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ กล่าวว่า ที่วันนั้นเขาร่วมขบวนได้ก็เพราะพ่อแม่ไม่อยู่ แต่เขาไม่รู้เลยว่าภาพตัวเองจะไปปรากฏบนหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น พร้อมพาดหัวตัวโต ๆ ทำนองว่า “กลุ่มเพื่อน 15 คนร่วมเดินขบวนเกย์” นับว่าโมห์โนตยังโชคดีเพราะกลุ่มญาติและพ่อแม่ของเพื่อน ๆ ได้อ่านเรื่องราวของหนังสือพิมพ์แล้วถึงแม้จะรู้สึกตกใจบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ภาคภูมิใจในตัวเขา

ทว่าผู้ร่วมขบวนก็มิได้โชคดีทุกคน กรณีของ รอฟีเกล เดาจญะห์ (Rawfiquel Dowjah) เขามีเพื่อนบ้านคนหนึ่งเป็นสตรี ได้รู้จักครอบครัวของเขามาเนิ่นนานตั้งแต่ก่อนเขาเกิด ปรากฏว่าเมื่อเธอทราบเรื่อง เธอก็ตัดสายสัมพันธ์กับเขาทุกทาง เดาจญะห์เผยว่าเขารู้สึกเจ็บปวดมาก ทว่าเมื่อเขาได้เผยตัวออกมาแล้ว ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

สำหรับข่านผู้ริเริ่มความคิด เขากล่าวว่าการเดินขบวนครั้งนี้เขาเคยรู้สึกว่าจะเป็นเพียงระลอกเล็ก ๆ ที่จางหายไปโดยไม่มีคนสังเกต แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็รู้สึกได้ถึงกระแสตอบรับ เขาพูดอย่างติดตลกว่า “15 คนนี่ก็พอใช้ได้แล้วนะ อย่างน้อยก็นับด้วยนิ้วมือไม่ถ้วน”

ปฏิกิริยาในทางบวกเริ่มเข้ามาจากหลากหลายประเทศ มีผู้เขียนจดหมายชื่นชมมาจากอเมริกา นอกจากนี้ในอินเดียก็มีกระแสชื่นชมเช่นกัน ปารเมศ ชาฮานี (Parmesh Shahani) นักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง Queeristan - LGBTQ Inclusion in the Workplace กล่าวว่า “การเดินขบวนครั้งนี้เผยให้เห็นว่าเราสามารถต่อสู้เพื่ออินเดียที่ดีกว่า และเป็นมิตรกับเพศทางเลือกมากกว่า อย่างเป็นที่ประจักษ์ ภาคภูมิใจ และเปิดเผยต่อสาธารณะ มันแสดงให้เราเห็นว่าการดำเนินกิจกรรมของเพศทางเลือกเป็นไปได้จริงในประเทศของเรา ไม่ใช่แค่เชิงนามธรรมเท่านั้น”

ครบรอบ 20 ปีของการเดินขบวนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999

ปี ค.ศ. 2019 ข่าน, ธาล, เดาจญะห์ และผองเพื่อน ได้จัดการเดินขบวนมิตรภาพแบบเดียวกันขึ้นอีกครั้ง เพื่อระลึกครบรอบ 20 ปีของการเดินขบวนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999 ทว่าในครั้งนี้ พวกเขารู้สึกเหมือนกับว่าตนเดินอยู่ในอีกประเทศหนึ่งเลย อินเดียต่างไปจากในเวลานั้นแล้ว

นับตั้งแต่ ค.ศ. 2018 การรักร่วมเพศไม่ใช่อาชญากรรมอีกต่อไป และไม่กี่ปีหลังจากนั้นศาลสูงสุดของอินเดียก็จะวินิจฉัยเรื่องกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าผลจะออกมาว่าศาลไม่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกันก็ตาม แต่ก็นับว่าอินเดียยังคงมีความหวัง หากมีการเคลื่อนไหวต่อไป

กรณีศาลสูงสุดของอินเดียกับกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน เราจะนำเสนอในรายการครั้งหน้า เพราะมีรายละเอียดมากพอสมควร

ส่วนบทสรุปของการเดินขบวนของข่านและผองเพื่อน ต้องนับว่าเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างแท้จริงเพราะพวกเขาต้องเดินท่ามกลางสายฝนเช่นเคย ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือสายตาของผู้คนที่มองเขา จากความงุนงงสงสัยเปลี่ยนเป็นความเข้าใจและยอมรับ เรื่องที่น่ายินดีอีกเรื่องคือ เพื่อนบ้านของเดาจญะห์ที่เคยตัดสัมพันธ์กับเขา ได้มาเคาะหน้าประตูบ้าน และกล่าวขอโทษเขาแล้ว หลังเฉยชากันมา 20 ปีเต็ม

เดาจญะห์กล่าวว่า “นี่แสดงให้เห็นว่า เราจะต้องยืนหยัดทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป แล้วผู้คนจะเข้ามาหาเราเอง ไม่วันนี้ก็ในอีก 20 ปีข้างหน้า”

รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ