บรมครูสิตาร์ บัณฑิตรวิ ศังกร
356 views
0
0

เพลง Ravi’s Shankar Final Performance
เนื่องจากพรุ่งนี้ (28 กรกฎาคม) เป็นวันสำคัญ เราทั้งสองในฐานะผู้จัดรายการปกิณกะอินเดีย จึงขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ

ในโอกาสมหามงคลดังกล่าว ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิอินเดียศึกษา (ประเทศไทย) และนายสุนิว โคธารี จึงได้จัดโครงการพิพิธภารัต 2567 อันเป็นโครงการอบรมครูเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับอินเดีย โดยผู้เข้าร่วมไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

คงจะจำกันได้ดีว่าเมื่อสองสัปดาห์ก่อนเราได้พูดถึงเครื่องดนตรีชิ้นต่าง ๆ ที่ใช้บรรเลงดนตรีคลาสสิกอินเดียให้ฟังพอสังเขป และเราได้กล่าวถึง ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งในวงการสิตาร์คือท่านบัณฑิตรวิ ศังกร (Pt Ravi Shankar) ผู้ได้รับเกียรติสูงสุดถึงขั้นอิสริยาภรณ์ภารตรัตนะ เพลงที่เราเปิดให้ฟังนั้นรวมอยู่ในการแสดงคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของท่าน ซึ่งบรรเลงไว้ ณ โรงละครเทอเรซ (Terrace Theater) ลองบีช (Long Beach) แคลิฟอร์เนีย (California) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012 ในขณะที่ท่านมีอายุได้ 92 ปี การแสดงครั้งนั้นยังคงตราตรึงในจิตใจของผู้คนทั่วโลกไปอีกนานแสนนาน และหลังจากคอนเสิร์ตดังกล่าวนั้นเพียงเดือนเศษ บัณฑิตรวิ ศังกร ก็อำลาจากโลกนี้ไปในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 2012

รวิ ศังกร (นาที 5.30)

รายการในวันนี้คล้ายกับเป็นภาคต่อของตอนที่ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ทั้งนี้เพราะในรายการวันนั้นเราได้เปิดเพลงของบัณฑิตรวิ ศังกร ในช่วงนำรายการ และได้กล่าวถึงตัวท่านไว้พอสังเขป แต่เราก็เห็นว่านักดนตรีท่านนี้สมควรที่จะต้องนำเสนอเรื่องราวให้ผู้ฟังทราบโดยละเอียด เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า รวิ ศังกร จัดได้ว่าเป็นมือสิตาร์ที่ยิ่งใหญ่และโดดเด่นเหนือผู้อื่นในอินเดีย เป็นที่รู้จักในระดับสากล ก็ควรต้องกล่าวถึงพอ ๆ กับในคราวที่เราระลึกถึงลตา มังเคศการ์ เมื่อตอนที่ท่านถึงแก่กรรม

เราจึงขออุทิศปกิณกะอินเดียตอนนี้ให้แก่บัณฑิตรวิ ศังกร และมรดกที่ท่านได้ฝากไว้ในวงการดนตรีอินเดีย

ก่อนอื่นเรามารู้จักนามเต็มของท่านก่อน

หลายคนเข้าใจว่า รวิ ศังกร คือชื่อจริง แต่ที่แท้แล้วเป็นชื่อในการแสดงเพื่อให้จดจำง่ายเท่านั้น

รวิ ศังกร มีสายเลือดชาวเบงกอลตะวันตก นามเดิมว่า รพินทระ ศังกร จอธุรี (Rabindra Shankar Chowdhury) หรือออกเสียงเป็นภาษาเบงกาลีว่า โรบินโดร ชองกอร์ โจว์ธุรี (Robindro Shaunkor Chowdhury)

หลายคนคงคุ้นเคยกับนาม รพินทระ เป็นอย่างดี เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชื่อท่านรพินทรนาถ ฐากูร ที่เราเอ่ยถึงเป็นประจำ ความหมายคือดวงอาทิตย์ และเป็นชื่อที่เรานิยมใช้ในภาษาไทยไม่น้อย ปรากฏในหลายรูปทั้ง รวี รพี รวินทร์ รพินทร์ ฯลฯ

ส่วนคำว่า บัณฑิต ที่เราเติมหน้าชื่อของรวิ ศังกร เป็นคำยกย่องนักดนตรีหรือศิลปินระดับสูงที่มีพื้นเพเป็นชาวฮินดู หากเป็นชาวมุสลิมก็จะใช้อีกคำหนึ่งว่า อุสตาด (Ustad)

ตัวอย่างคือ อุสตาด อัลลา ราขา (Ustad Alla Rakha) มือกลองตัพลาผู้แสดงร่วมกับบัณฑิต รวิ ศังกร บ่อย ๆ ตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม ๆ นั่นเอง ซึ่งเนื้อหาในตอนนี้เราก็จำเป็นต้องกล่าวถึงท่านผู้นี้ด้วย

ชีวิตในวัยเด็กและวัยหนุ่มของรวิ ศังกร

เราจะขอเรียกว่ารพินทร์ตามชื่อเดิมก่อน เพราะว่าชื่อ รวิ ศังกร ยังไม่เกิดขึ้น

เด็กชายรพินทร์เกิดในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1920 ในครอบครัวพราหมณ์ชาวเบงกอลที่อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี (Benares) บิดาของรพินทร์ชื่อว่า ศยาม ศังกร (Shyam Shankar) และมารดาชื่อว่า เหมังคินี เทวี (Hemangini Devi)

หลายท่านคงเดาว่าศยาม ศังกร เป็นนักดนตรีผู้มีชื่อเสียง และคงให้การศึกษาด้านดนตรีแก่บุตรชายของเขา เปล่าเลยครับ เขาเป็นทนายความอยู่ในอังกฤษและแยกทางกับแม่เหมังคินีตั้งแต่รพินทร์ยังจำความไม่ได้และไปแต่งงานใหม่ เพิ่งจะได้มาเห็นหน้ารพินทร์ก็เมื่ออายุแปดขวบแล้ว ฉะนั้นเราจึงไม่ค่อยได้รับทราบข้อมูลพ่อคนนี้มากนัก แต่เรียกว่าเริ่มต้นเรื่องมาก็น่าอัศจรรย์แล้ว เพราะโดยปกตินักดนตรีระดับมือพระกาฬของอินเดียส่วนใหญ่มักจะสืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลนักดนตรีมายาวนาน กรณีของรวิ ศังกร จึงนับได้ว่าค่อนข้างพิเศษอยู่พอสมควร

รพินทร์มีพี่ชายร่วมสายโลหิตหนึ่งคนชื่อ อุทัย ศังกร (Uday Shankar) ผู้ซึ่งนับได้ว่าสนิทสนมกับเขามากในช่วงวัยเด็ก ทั้งนี้เพราะเด็กชายรพินทร์ได้ติดตามอุทัยพี่ชายของเขาไปแสดงนาฏศิลป์ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในอินเดียและในทวีปยุโรปด้วย โดยเฉพาะทวีปยุโรปนั้น ครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียงสิบขวบ เขาได้ไปเยือนปารีสพร้อมกับคณะนาฏศิลป์ที่อุทัยสังกัดอยู่ มีชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า กงปัญญี เดอ ดองซ์ เอต์ มือสิก แองดู (Compagnie de Danse et Musique Hindou) (คณะนาฏศิลป์และดนตรีฮินดู) จากนั้นสองสามปีต่อมาเด็กชายรพินทร์ก็ได้กลายเป็นสมาชิกคณะ เขาฝึกเต้นจนเชี่ยวชาญและยังได้หัดเล่นเครื่องดนตรีหลายชนิด

สรุปว่าการที่พรสวรรค์ของเขาฉายแววออกมาตั้งแต่เด็กนั้นก็เพราะพี่ชายอุทัยเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนนั่นเอง และช่วงชีวิตวัยเยาว์ของเขาก็มีอิทธิพลต่อตัวเขาอย่างมากอีกประการหนึ่งคือการมีโอกาสได้เปิดรับและชื่นชมกับดนตรีตะวันตกมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งสะท้อนออกมาในผลงานประพันธ์ภายหลังของท่านบัณฑิตรวิ ศังกร อย่างมีนัยสำคัญ

หนุ่มรพินทร์ยังคงแสดงนาฏศิลป์อยู่พักใหญ่ ๆ หลังจากนั้น แต่แล้วในปี ค.ศ. 1938 เขาก็ยุติอาชีพการแสดง เหตุผลมีหลายประการ นอกเหนือจากการที่เขาเองอาจมองว่านาฏศิลป์ไม่ใช่ทางของตน เขาก็ได้ค้นพบพรสวรรค์ตัวเองในการแสดงดนตรี

อีกทั้งในขณะนั้นการตระเวนแสดงในทวีปยุโรปก็ลำบากยากเย็น เพราะขณะนั้นยุโรปกำลังเกิดความขัดแย้งที่ก่อตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่สองในเวลาต่อมา ขณะที่รพินทร์เดินทางกลับมายังอินเดียในช่วงนั้น ทั้งพ่อและแม่ของเขาได้ถึงแก่กรรมแล้วทั้งคู่

หนุ่มรพินทร์ได้ไปฝากตนเป็นศิษย์นักดนตรีคลาสสิกอินเดียคนหนึ่ง ชื่อว่า อัลลาอุดดิน ข่าน (Allauddin Khan)

หนุ่มรพินทร์ในวัย 18 เริ่มต้นเส้นทางดนตรีในสำนักของอัลลาอุดดิน ข่าน

การที่รพินทร์ไปเป็นศิษย์ของข่านนั้น ต้องเท้าความไปตอนที่เขายังทัวร์ยุโรปอยู่ มีครั้งหนึ่งอุทัย ศังกร ได้ไปทาบทามขอนักดนตรีชั้นนำในราชสำนักของมหาราชาแห่งไมหาร (Maharaja of Maihar) ซึ่งนักดนตรีผู้นั้นคืออัลลาอุดดิน ข่าน ให้มาแสดงร่วมคณะของเขาในยุโรป มหาราชาก็ประทานให้ ขณะที่ตระเวนแสดงอยู่นั้น ข่านก็ได้ฝึกหัดรพินทร์ให้เล่นดนตรี และคงจะถูกคอกันมาก ถึงกระทั่งข่านเสนอว่าตนจะสอนรพินทร์ให้เป็นนักดนตรีอย่างจริงจัง โดยมีเงื่อนไขหนึ่งข้อ คือรพินทร์จะต้องเลิกแสดงนาฏศิลป์มาอยู่ในสำนักของเขาที่ไมหาร และเมื่อหนุ่มรพินทร์กลับมายังอินเดีย เขาก็ทำเช่นนั้นจริง ๆ

หนุ่มรพินทร์ในวัย 18 เริ่มต้นเส้นทางดนตรีในสำนักของอัลลาอุดดิน ข่าน จากการศึกษาในระบบที่เรียกว่า คุรุกุล (Gurukul) หมายถึง การไปอาศัยกินอยู่ในบ้านครูเลย

ซึ่งครูข่านก็ตั้งอกตั้งใจสอนหนุ่มรพินทร์อย่างทุ่มเทวิชาทั้งหมด รพินทร์เองก็กระตือรือร้นในการเรียนรู้ จนเก็บวิชาจากครูได้หลายอย่าง ทั้งการบรรเลงสิตาร์และพิณชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด รวมถึง ราบาบ (Rabab) รุทรวีณา (Rudra Veena) และสุรศฤงคาร (Surshringar) เป็นต้น แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เขาถนัดและนำมาใช้ประกอบอาชีพจนชั่วชีวิตก็คือพิณสิตาร์

รพินทร์เรียนดนตรีร่วมกับเพื่อน ๆ ในสำนักเดียวกัน และคนสำคัญที่สุดที่ร่วมรุ่นกับเขามีสองคน หนึ่งคืออะลี อักบาร์ ข่าน (Ali Akbar Khan) ลูกชายของอุสตาดอัลลาอุดดิน ข่าน ผู้เป็นครู และอีกหนึ่งก็คือลูกสาวของอัลลาอุดดิน น้องสาวของอะลี ชื่อ โรชานารา ข่าน (Roshanara Khan) ในเวลาต่อมาเธอได้กลายมาเป็นภรรยาคนแรกของรวิ ศังกร เธอเกิดในราชสำนักของมหาราชาแห่งไมหาร ตอนที่เธอเกิดนั้น อัลลาอุดดินผู้พ่อไม่อยู่ด้วย มหาราชาทรงเป็นผู้ประทานนามแรกเกิดให้ว่า อันนาปูรณะ (Annapurna) แต่ด้วยความที่เธอเป็นมุสลิม จึงมีชื่อแบบมุสลิมว่าโรชานารา ส่วนชื่ออันนาปูรณะใช้เป็นชื่อเล่น และในเวลาต่อมาเมื่อเธอแต่งงานกับรวิ ศังกร ผู้เป็นฮินดู เธอจึงเปลี่ยนเป็นฮินดูตามและใช้ชื่อทางการว่า อันนาปูรณะ เทวี เธอไม่ชอบความโด่งดังจึงไม่แสดงบนเวที ใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ เป็นครูสอนดนตรี มีบุตรกับรวิ ศังกรหนึ่งคนชื่อศุเภนทระ ศังกร (Shubhendra Shankar) ผู้ในเวลาต่อมาก็กลายเป็นนักดนตรีและประพันธกร อันนาปูรณะหย่าขาดกับรวิ ศังกรเมื่อ ค.ศ. 1982 และเพิ่งจะถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 2018 ด้วยวัย 91 ปี

เส้นทางดนตรีของหนุ่มรพินทร์

ย้อนกลับมาสู่เส้นทางดนตรีของหนุ่มรพินทร์ ซึ่งต่อไปนี้เราจะเรียกเขาว่า รวิ ศังกร ตามชื่อที่ใช้แสดง

เขาขึ้นแสดงต่อสาธารณะครั้งแรกในปี ค.ศ. 1939 คู่กับอะลี อักบาร์ ข่าน ผู้เล่นพิณสโรท (Sarod) อะลีกลายเป็นพี่เขยของเขาเมื่อรวิ ศังกร แต่งงานกับอันนาปูรณะในปี ค.ศ. 1941 จากนั้นรวิ ศังกร ก็เรียนดนตรีในสำนักของอัลลาอุดดินต่อไปจนถึง ค.ศ. 1944 และแล้วจึงอำลาครูออกมาหางานทำในบอมเบย์ (มุมไบปัจจุบัน) เริ่มงานแรกที่ Indian People’s Theatre Association ในฐานะผู้ประพันธ์ดนตรีสำหรับบัลเลต์

รวิ ศังกร ย้ายมาทำงานที่เดลีในปี ค.ศ. 1949 เป็นผู้อำนวยการดนตรีของสถานีวิทยุ All India Radio (AIR) และได้ก่อตั้งวงออเคสตร้าขึ้นที่สถานีวิทยุแห่งนี้ รวมทั้งเป็นผู้ประพันธ์เพลงสำหรับวงด้วย เราต้องอย่าลืมว่ารวิ ศังกร มิใช่เพียงนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ยังเป็นนักประพันธ์ดนตรีมือฉมังด้วย สไตล์การประพันธ์เป็นแบบอินเดียกับตะวันตกผสมผสานกัน ผลงานที่สำคัญชิ้นหนึ่งของรวิ ศังกร คือการประพันธ์บทเพลงที่ใช้ในภาพยนตร์ Apu Trilogy ของสัตยชิต ราย (Satyajit Ray)

ในช่วงปี ค.ศ. 1956 ชื่อเสียงของรวิ ศังกร ก็ปรากฏขึ้นในโลกตะวันตก เริ่มจากการแสดงคู่กับนักไวโอลิน เยฮูดี เมนูฮิน (Yehudi Menuhin) ซึ่งได้เชื้อเชิญเขาไปสาธิตดนตรีอินเดียที่นิวยอร์กซิตี้ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก ช่วงต้นทศวรรษ 1960 เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ทัวร์แสดงในต่างประเทศ ทั้งยุโรป สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ในนาม “The Incredible Ravi Shankar” ร่วมกับคู่หูมือกลองตัพลา อุสตาด อัลลา ราขา ชื่อเสียงของเขาโด่งดังในโลกตะวันตกจนได้ร่วมงานกับนักดนตรีระดับแนวหน้าหลายคน หนึ่งในนั้นที่ใคร ๆ ก็รู้จักคือ จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) มือกีตาร์แห่งวงเดอะบีเทิลส์อันลือลั่น ผู้สนใจดนตรีอินเดียถึงกับนำมาสอดแทรกลงในงานเพลงหลายชิ้น และได้เรียนสิตาร์กับรวิ ศังกร เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ด้วย

ในปี ค.ศ. 1967 ได้รับอิสริยาภรณ์ ปัทมภูษัณ (Padma Bushan) จากนี้ไปเราจะเรียกท่านว่าบัณฑิตรวิ ศังกร เป็นการให้เกียรติ

บัณฑิตรวิ ศังกร ยังคงตระเวนแสดงในประเทศตะวันตกเป็นส่วนมากในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ซึ่งในช่วงนั้นชื่อเสียงท่านโด่งดังมาก ในปี ค.ศ. 1981 ได้ประพันธ์ผลงานเพลงชิ้นโบแดงที่ชื่อว่า ราค มาลา (Raga Mala) ซึ่งได้สุบิน เมห์ตา (Zubin Mehta) มาเป็นวาทยากร จากนั้นท่านก็ยังคงแสดงดนตรีเรื่อยไปอีกหลายสิบปี โดยในแต่ละปีแสดงคอนเสิร์ตถึง 30-40 ครั้ง

ในระหว่างเส้นทางแห่งชื่อเสียง บัณฑิตรวิ ศังกร ไม่ได้เป็นเพียงนักดนตรี แต่ยังเป็นนักรักตัวยง

ผู้ฟังคงจำได้ว่าท่านหย่าขาดกับภรรยาใน ค.ศ. 1982 แต่จริง ๆ ทั้งคู่แยกกันอยู่ตั้งนานแล้วก่อนที่บัณฑิตรวิ ศังกรจะออกมาอยู่อาศัยในสหรัฐฯ ซึ่งก่อนจะหย่ากับอันนาปูรณะอย่างเป็นทางการ ท่านบัณฑิตก็คบหาสาวอื่นไปพลาง ๆ ประมาณสองสามคน เช่น กมลา ศาสตรี (Kamala Shastri) นาฏศิลปิน ซึ่งคนนี้เลิกรากันไปโดยไม่มีลูกด้วยกัน อีกคนคือ ซู โจนส์ (Sue Jones) โปรดิวเซอร์คอนเสิร์ตชาวนิวยอร์ก มีลูกด้วยกันคนหนึ่งชื่อว่า นอรา โจนส์ (Norah Jones) ในปี ค.ศ. 1979 ซึ่งโตขึ้นมาเป็นนักร้องและนักเปียโน และสุดท้ายท่านก็พบรักกับ สุกันยา ราชัน (Sukanya Rajan) นักเล่นตันปุระ ซึ่งความจริงก็เคยแต่งงานแล้ว ทั้งคู่คบหากันตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1978 (ทับซ้อนกับซู โจนส์) และสุกันยาให้กำเนิดบุตรีชื่อ อนุษกา ศังกร (Anoushka Shankar) ในปี ค.ศ. 1981 (ก่อนรวิ ศังกรหย่ากับอันนาปูรณะ)

ซึ่ง อนุษกา ศังกร ผู้นี้แหละจะได้สืบทอดศิลปะสิตาร์ของบิดา และได้ร่วมเวทีกับบัณฑิตรวิ ศังกร บ่อยครั้งในช่วงท้าย ๆ ชีวิตของท่าน รวมถึงเวทีสุดท้ายที่โรงละครเทอเรซ ดังที่กล่าวถึงในช่วงต้นรายการด้วย หลังจากการแสดงครั้งนั้นเพียงเดือนเดียวท่านก็ถึงแก่กรรมที่ซานดิเอโก้ แคลิฟอร์เนีย หลังจากเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหายใจติดขัด และรับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ สิริอายุ 92 ปี

เพราะอะไรบัณฑิต รวิ ศังกร จึงโดดเด่นกว่านักดนตรีสิตาร์ทั่วไป

คงไม่ใช่เหตุอื่นใดนอกจากการที่ท่านรู้จักผสมผสานดนตรีตะวันตกเข้ากับดนตรีอินเดียอย่างมีสีสัน เพราะการที่ท่านได้เปิดรับดนตรีตะวันตกเช่นดนตรีแจ๊สมาตั้งแต่วัยเด็ก จึงสามารถเรียบเรียงดนตรีออกมาได้มีพลัง มีพลวัต และโดนใจผู้ฟังชาวตะวันตกส่วนใหญ่

การบรรเลงของบัณฑิตรวิ ศังกร เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ แม้แต่ใน ค.ศ. 2011 ซึ่งอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตแล้ว ท่านก็ยังคิดค้นเทคนิคใหม่ขึ้นมาในการแสดงที่เอสกอนดิโด (Escondido) แคลิฟอร์เนีย ด้วยการนำผ้านุ่มไปสอดรองสายสิตาร์ด้านหัว ทำให้เวลาดีด เสียงถูกดูดซับจนขาดห้วน ได้สำเนียงคล้ายแบนโจแต่นุ่มละมุนกว่ามาก ซึ่งท่านเรียกเทคนิคนี้ว่า กุงกาสิตาร์ (Goonga Sitar)

ตลอดชีวิตศิลปินของบัณฑิตรวิ ศังกร ได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลแมกไซไซ รางวัลแกรมมีอวอร์ดถึงสี่ครั้ง สำหรับอิสริยาภรณ์ของอินเดีย หลังจากปัทมภูษัณในปี 1967 ก็ได้รับปัทมวิภูษัณในปี 1981 และสุดท้ายภารตรัตนะในปี 1999 นับเป็นเกียรติยศระดับสูงสุดที่พลเมืองอินเดียคนหนึ่งจะพึงได้รับ และนอกจากนี้บัณฑิตรวิ ศังกรยังเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกราชยสภาอินเดียช่วงปี 1986-1992 ได้รับอิสริยาภรณ์พลเรือนสูงสุดของฝรั่งเศสในปี 2000 และได้รับตำแหน่งอัศวินจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2001 ด้วย

รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ