วันที่ 3 สิงหาคม 2567
เพลง Mehndi laga ke rakhna
แปลเป็นไทยคือ เพ้นท์เฮนน่ารอเลยนะ หลังจากนั้นก็ร้องต่อว่า “doli saja ke rakhna” คือตกแต่งเกี้ยวไว้ด้วยนะ เดี๋ยวฉันจะมารับเธอไป เพลงนี้ขับร้องโดย ลตา มังเคศการ์ (Lata Mangeshkar) และอุทิต นารายัณ (Udit Narayan) เราได้ยินเสียงท่านลตานิดเดียว เพราะถ้าเปิดให้ฟังหมดจะยาวแน่
เพลง “Mehndi laga ke rakhna” เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Dilwale Dulhania Le Jayenge หรือที่เรียกชื่อย่อว่า DDLJ แปลเป็นไทยก็จะประมาณว่า ชายผู้เปี่ยมด้วยใจรักจะเป็นผู้มารับเจ้าสาวไป ภาพยนตร์ DDLJ ฉายในปี ค.ศ. 1995 กำกับและเขียนบทโดยอาทิตยะ โจปฑา (Aditya Chopra) ผลิตโดยยศ โจปฑา (Yash Chopra) ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดยชาห์ รุค ข่าน (Shah Rukh Khan) และกาโจล (Kajol) นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย
เว็บไซต์แห่งหนึ่งให้ความรู้ว่า ศิลปะการเพ้นท์เฮนน่าพบได้ในหลายส่วนของอนุทวีปอินเดียหรือภูมิภาคเอเชียใต้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบการเพ้นท์เฮนน่าในแอฟริกาและตะวันออกกลางมานานกว่า 5,000 ปีแล้ว
เชื่อกันว่า เดิมทีเฮนน่าถูกใช้เพราะคุณสมบัติระบายความร้อนตามธรรมชาติ ผู้คนที่นิยมใช้ก็จะอาศัยอยู่ในภูมิอากาศร้อน โดยเฉพาะแถว ๆ ทะเลทรายที่มีอากาศร้อน วิธีที่ทำกันคือพอกฝ่ามือและฝ่าเท้าให้เปียก
เชื่อกันด้วยว่า มีการนำเฮนน่ามาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และทาบนผิวหนังเพื่อรักษาโรค เช่น แผลเปิด แผลไหม้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ ฯลฯ
เว็บไซต์อีกแห่งหนึ่งระบุว่า เฮนน่ามีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า “Lawsonia inermis” หรือเทียนกิ่งขาว เป็นไม้พุ่มเปลือกเรียบ สีน้ำตาล ใบเดี่ยวเป็นรูปรีและแตกใบตรงข้ามกัน โคนใบมีรูปลิ่ม ต้นเทียนกิ่งขาวมีดอกช่อออกตามปลายกิ่ง ดอกขาวเรียกว่าเทียนกิ่งขาว ถ้าดอกแดง ก็จะเรียกว่าเทียนกิ่งแดง ผลกลมสีเขียวแก่แล้วก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ที่นิยมนำมาใช้ก็เพราะเป็นสีย้อม ใช้ย้อมสีผมหรือผิวหนัง นับว่าเป็นทางเลือกจากธรรมชาติแทนสีย้อมสังเคราะห์ เนื่องจากมีประโยชน์ในการรักษาและสุขภาพที่น่าทึ่งต่อเส้นผมและผิวหนัง
ใบของพืชชนิดนี้จะถูกร่อนและตากแห้งก่อนจะนำมาบดเป็นผง ผงนี้แหละที่เรียกกันว่า เฮนน่า
แต่ยังมีขั้นตอนอีกไม่น้อย ขึ้นอยู่กับสูตรต่าง ๆ เช่นที่นิยมกันอีกคือ นำมาผงเฮนน่าผสมกับน้ำ น้ำตาล และน้ำมันหอมระเหย แล้วคนให้เข้ากันจนจับตัวเป็นก้อน ก็จะได้เนื้อครีมข้นที่มีลักษณะคล้ายนมเปรี้ยวซึ่งก็เรียกว่าเฮนน่า
ในโลกปัจจุบันที่การแพทย์แผนปัจจุบันก้าวหน้ามาก เฮนน่าก็ลดบทบาทในการนำมาใช้เพื่อรักษาโรค แต่ที่นิยมกันมากโดยเฉพาะในอินเดียก็คือ การนำเฮนน่ามาใช้เพ้นท์เพื่อการตกแต่งสถานที่ และเพื่อเหตุผลทางประเพณีและวัฒนธรรม
ที่เห็นเยอะมากในอินเดียก็คือการนำเฮนน่ามาใช้เพื่อฉลองในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน วันเกิด หรือแม้กระทั่งการเฉลิมฉลองการรวมตัวของผู้คน
ที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษคือ ผู้นิยมใช้เฮนน่าเพ้นท์มือหรือตามร่างกายที่เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งเขาคงไม่ได้สนใจว่า เฮนน่ามีต้นกำเนิดและความสำคัญทางวัฒนธรรมอย่างไร
ที่นิยมกันแพร่หลายไกลเกินกว่าอินเดียน่าจะเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 เฮนน่าดึงดูดความสนใจของผู้คนไม่น้อย โดยเฉพาะในฐานะศิลปะการสักชั่วคราวในโลกตะวันตก ศิลปะในตะวันตกเรื่องการตกแต่งร่างกายก็มีมานานแล้ว แต่การหันมาใช้เฮนน่าด้วยก็เพราะปลอดภัย เป็นธรรมชาติ และไม่ได้อยู่ถาวร
จริง ๆ ทางตะวันตกเขาก็มีเพ้นท์ของเขานะ ซึ่งใช้แล้วไม่อันตรายและลบง่ายด้วย แต่ก็ยังนิยมใช้เฮนน่ากันไม่น้อย ส่วนหนึ่งก็ดังที่เพื่อนชาวตะวันตกเคยบอกผมคือ เฮนน่าเป็นอะไรที่มาจากธรรมชาติล้วน ๆ ไม่ถาวร แต่คงอยู่พักหนึ่ง ซึ่งก็แลดูเหมือนเป็นการสัก พูดง่าย ๆ คือ เพื่อนคนนี้ไม่ประสงค์ที่จะสัก เปลี่ยนแบบไปเรื่อย ๆ
เดี๋ยวนี้ที่อินเดียผมก็เห็นวัยรุ่นหลายคนที่พ่อแม่ไม่ต้องการให้ลูกสัก คือใช้เฮนน่าแทนได้ แต่ก็ต้องหลบนะ ไม่งั้นเดี๋ยวครูที่โรงเรียนเอาเรื่อง ตรงนี้อาจจะต้องขยายความสักนิด บางทีครูก็ไม่ว่าเด็กผู้หญิงที่เพ้นท์เฮนน่าตรงฝ่ามือ เพราะเด็กอาจจะไปงานแต่งงานคนสนิทก็ได้ แต่จู่ ๆ ก็เดินมาโรงเรียนแล้วเพ้นท์คำว่า “Justin Bieber” หรือ “Ed" Sheeran” อันนี้ก็ตามเวรตามกรรมก็แล้วกัน
โดยรวมแล้ว เฮนน่าเป็นที่นิยมชมชอบกันทั่วโลกก็เพราะการเพ้นท์เฮนน่าไม่เจ็บปวด หลาย ๆ คนที่ไม่กล้าสักถาวรตลอดชีวิต เฮนน่าเป็นทางเลือกที่ดีเลยก็ว่าได้
เพราะการเพ้นท์เฮนน่าเป็นการเพ้นท์ที่ด้านนอกของผิวหนัง ต่างจากรอยสักถาวรซึ่งต้องเจาะผิวหนังด้วยเข็ม ซึ่งหลายคนก็กังวลไม่ใช่แค่เรื่องรอยที่จะอยู่กับตัวเราแบบถาวรแล้ว ยังกังวลด้วยว่าเข็มนั้นปลอดภัยหรือเปล่า
เฮนน่ามีความสำคัญมากในหลายศาสนา เช่น ศาสนาฮินดู พุทธศาสนา ศาสนาเชน ศาสนายิว และศาสนาอิสลาม แต่ที่โดดเด่นมากคือการใช้เฮนน่าในประเพณีการแต่งงานของชาวฮินดูและมุสลิม
สิ่งที่น่าสนใจที่ผมเคยถามผู้คนจำนวนหนึ่งเวลาผมไปงานแต่งงานของชาวอินเดีย คือก่อนแต่งงานจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่เจ้าสาวและครอบครัวของเธอมารวมตัวกันเพื่อรับการเพ้นท์เฮนนาจากศิลปินเฮนนามืออาชีพ เผื่อท่านผู้ฟังบางคนไม่ทราบ หลายพื้นที่ในอินเดียจะมีศิลปินเพ้นท์เฮนน่า หลายคนใช้วิธีสื่อสังคมออนไลน์ประกาศรับเพ้นท์ แต่ก็มีบางคนที่แทบจะไม่ต้องใช้สื่อเลย เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว ครอบครัวเจ้าสาวจำนวนไม่น้อยใช้วิธีคัดสรรศิลปินเพ้นท์เฮนน่าแบบบอกต่อกันมา บางคนรู้สึกประทับใจตอนที่ไปร่วมงานบ้านอื่นก็ขอเบอร์เก็บไว้ เผื่อลูกสาวตนต้องแต่งงานบ้างก็จะได้เรียกใช้บริการ
ศิลปินเพ้นท์เฮนน่าบางคนมีค่าบริการที่แพงมาก เพราะลวดลายที่เพ้นท์ออกมาช่างสวยงามยิ่ง เส้นลวดลายตัดกันอย่างลงตัว ที่สำคัญศิลปินเหล่านี้ต้อใช้เวลาหลายชั่วโมง หลายชั่วโมงที่ว่านี้คือสำหรับเจ้าสาวนะ ส่วนคนอื่น ๆ ศิลปินก็จะใช้เวลาอย่างรวดเร็วออกแบบอย่างเรียบง่าย
ที่ผมได้คำตอบจากบางคนที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเพ้นท์เฮนน่าคือ การเพ้นท์เฮนน่าที่ปกคลุมแขนขาของเจ้าสาวนอกจากจะทำให้เธอสวยงามแล้ว ยังจะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลในงานแต่งงานด้วย
ตรงนี้ผมขอขยายความแบบนี้ เวลาผู้หญิงโดยเฉพาะที่นับถือศาสนาฮินดูหรืออิสลามแต่งงาน เมื่อเธอแต่งงานแล้ว เธอก็จะย้ายไปอยู่บ้านสามี ซึ่งที่นั่นเธอก็ต้องเจอครอบครัวของว่าที่สามี แม้เธอใคร่จะแต่งงาน แต่ก็มีความกังวลอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ทั้งนั้นปฏิเสธมิได้ว่า เธอจะจากบ้านไปจากสิ่งที่เธอคุ้นเคย ดังนั้นการเพ้นท์เฮนน่าที่ให้ความเย็น นอกจากจะช่วยให้เธอไม่หงุดหงิดแล้วยังเบี่ยงเบนความกังวลไปสู่ความสวยงามด้วย นี่ก็น่าจะเป็นกุศโลบายประเภทหนึ่งในการจรรโลงไว้ซึ่งขนบแบบนี้
นอกจากนี้ผมยังเคยได้คำตอบที่สัมพันธ์กับความเชื่อโชคลางบางอย่างด้วย ศิลปินเพ้นท์เฮนน่าคนหนึ่งเคยบอกผมว่า ยิ่งคราบเฮนน่าบนผิวของเจ้าสาวเข้มเท่าไร เธอก็จะยิ่งได้รับความรักที่ลึกซึ้งจากชีวิตแต่งงานมากขึ้นเท่านั้น
บางที่เราเห็นคนทาเฮนน่าที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ก็อย่าเพิ่งไปสันนิษฐานว่าเขาเพิ่งไปงานแต่งงานมานะ เพราะมีชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อว่า ฝ่ามือและฝ่าเท้าของเรามีปลายประสาทเชื่อมต่อกันทั่วร่างกาย เมื่อทาเฮนน่าทาบริเวณดังกล่าว เฮนน่าจะดึงความร้อนส่วนเกินออกจากเส้นประสาท ลดการอักเสบ และบรรเทาอาการปวดตามข้ออักเสบ อันนี้คือความเชื่อของเขา
ในประเด็นนี้ สำหรับชาวอินเดียจำนวนไม่น้อย เฮนน่าเคลือบหนังกำพร้าเส้นผม ซึ่งเป็นชั้นนอกของเส้นผม มันไม่ได้เข้าไปในเปลือกผมซึ่งเป็นที่เก็บโปรตีนและความชื้นไว้ ดังนั้นเฮนน่าจึงทำหน้าที่เป็นชั้นป้องกันและเสริมสร้างความแข็งแรงให้เส้นผม
หลายคนเชื่อด้วยว่า การทำทรีตเมนต์ผมหลายครั้ง เช่น การยืดผม การเป่าแห้ง การม้วนผม อาจจะทำให้เส้นผมแห้ง เสียหายจนทำให้ผมแตกปลายได้ เฮนน่าซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินอี โปรตีน และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปรับสภาพและบำรุงเส้นผมจากภายใน ทำให้ไม่มีเส้นผมแตกปลาย
เชื่อกันด้วยว่า น้ำมันส่วนเกินจะถูกหลั่งออกมาจากต่อม ส่งผลให้เกิดรอยแดง หนังศีรษะเป็นขุย แห้งกร้าน ฯลฯ เฮนน่าจึงช่วยบรรเทาต่อมที่หลั่งน้ำมันและคืนค่า pH ตามธรรมชาติของหนังศีรษะ ส่งผลให้เส้นผมมีน้ำหนักแข็งแรง หลายคนมองว่าเฮนน่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มีคุณสมบัติต้านเชื้อราและปรสิตที่ช่วยป้องกันเหาและป้องกันโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ
เราทั้งสองไม่ขอยืนยันว่าจริงดังความเชื่อเหล่านี้หรือไม่ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เป็นคนไขปริศนาในเรื่องนี้
อินเดียส่งออกเฮนน่าค่อนข้างเยอะมาก หาตัวเลขไม่เจอ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตัวเลขอยู่ที่ประมาณหนึ่งหมื่นกว่าตัน
ประชาสัมพันธ์โครงการสำคัญของศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
ศูนย์อินเดียฯ ร่วมกับมูลนิธิอินเดียศึกษา (ประเทศไทย) ได้จัดพิพิธภารัต 2567 อบรมครูเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับอินเดีย
การอบรมนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ถึง 19 ตุลาคม 2567 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การอบรมนี้สำหรับครูเท่านั้น สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม ถึง 20 สิงหาคม 2567 หากใครสนใจก็ลองเข้าไปดูโปสเตอร์ในเฟซบุ๊กชื่อ Surat Horachaikul หรืออีเมลไปที่ sirikorn.t@chula.ac.th ก็ได้ครับ
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ