วัดศรีสิทธิวินายกแห่งมหานครมุมไบ
368 views
0
0

เพลง Shree Siddhivinayak Mantra
เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงคุ้นเคยกับเพลงที่เราเปิดให้ฟัง เพราะเป็นเพลงที่เปิดบ่อยมากในโอกาสต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระคเณศ หรือในสถานที่ประทับของพระคเณศ ในประเทศไทยพระคเณศจัดว่าเป็นเทพฮินดูที่ผู้คนนิยมมากที่สุดองค์หนึ่ง มีสถานที่บูชามากมาย เช่น ในกรุงเทพฯ ก็มีทั้งที่สี่แยกราชประสงค์ สี่แยกรัชดา วัดวิษณุ วัดเทพมนเทียรเสาชิงช้า เป็นต้น ที่ต่างจังหวัดก็มีวัดสมานรัตนาราม และอุทยานพระพิฆเนศองค์ยืน ทั้งสองแห่งนี้อยู่ที่ฉะเชิงเทรา อุทยานพระพิฆเนศจังหวัดนครนายก ที่เชียงใหม่ก็มีอยู่องค์หนึ่งตั้งอยู่ใกล้คูเมือง

เพลงนี้เรียกว่า สิทธิวินายกมันตระ หรือมนตร์บูชาพระผู้นำความสำเร็จ คือพระคเณศนั่นเอง เพลงนี้ไม่รู้ว่าทั่วอินเดียมีอยู่กี่เวอร์ชั่น มีคนร้องกี่พันกี่หมื่นคน แต่ที่เราเปิดให้ฟังนี้คือเวอร์ชั่นเสียงร้องของอมิตาภ พัจจัน (Amitabh Bachchan) จริง ๆ แล้วถ้าเราเปิดฟังไปเรื่อย ๆ จะพบว่ามีมนตร์อารตีอยู่ภายหลังอีกยาวมาก แต่เฉพาะส่วนแรกของเพลงที่เราเปิดให้ฟังนั้น มีลักษณะเป็นเพลงภชัน ร้องทวนซ้ำไปมา เนื้อเพลงมีเพียงไม่กี่ประโยค ขอให้คุณณัฐอธิบายให้ฟังหน่อยครับ

Om Gam Ganapataye namo namah
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระคณบดี (เจ้าแห่งหมู่คณะ) ผู้ทรงพระนามว่า “คัม” (พยางค์ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นอักษรย่อชื่อพระคเณศ)

Shri Siddhivanayaka namo namah
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระสิทธิวินายก (ผู้นำความสำเร็จ)

Ashtavinayaka namo namah
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระอัษฎาวินายก กล่าวคือรูปเคารพพระคเณศทั้งแปด ที่ตั้งอยู่ในมลรัฐมหาราษฏระ รอบเมืองปูเณ

Ganapati bappa morya, mangalamurti morya!
เสด็จพ่อคณบดี ขอทรงประทานพรแก่เรา รูปเคารพอันเป็นมงคล ขอทรงประทานพรแก่เรา

มันดีร์ (Mandir) วัดแบบฮินดูที่สร้างอุทิศจำเพาะเทพองค์ใดองค์หนึ่ง (นาที 6.45)

เนื้อหาวันนี้สืบเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้นำเสนอเรื่องราวของมหานครมุมไบไปแล้วโดยสังเขป ในตอนท้ายรายการเราก็ได้สัญญากับท่านผู้ฟังว่าจะทยอยเล่าเรื่องสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของมุมไบให้ฟัง วันนี้เราจึงขอนำเสนอสถานที่แรกคือ

ศรีสิทธิวินายกมนเทียร หรือวัดศรีสิทธิวินายก (Shree Siddhivinayak Temple) วัดสำคัญที่สร้างอุทิศพระคเณศ ตั้งอยู่ ณ ย่านประภาเทวี (Prabhadevi) ทางตอนใต้ของมหานครมุมไบ

ก่อนอื่นจำต้องชี้แจงก่อนว่า เทพในฮินดูมีหลายองค์ และวัดแบบฮินดูที่เรียกว่ามันดีร์ (Mandir) หรือแผลงเสียงไทยว่ามนเทียร (คำไทยมักสะกด มณเฑียร) หลายที่ก็จะสร้างอุทิศจำเพาะเทพองค์ใดองค์หนึ่งเป็นสำคัญ มีเทพองค์นั้นเป็นประธาน เช่น พระศิวะ พระวิษณุ พระแม่ลักษมี พระแม่ทุรคา พระมุรุกัน (หรือพระการติเกยะในอินเดียเหนือ) หนุมาน ในวัดเหล่านี้บางทีก็อาจมีแท่นบูชาเทพองค์อื่นด้วย แต่ก็จะเป็นที่รู้จักกันว่าสร้างอุทิศองค์ใดเป็นหลัก

ที่สำคัญคือเทพที่คนไทยเราบูชากันอย่างแพร่หลายอย่างพระพรหม ในอินเดียกลับแทบไม่มีเลย แห่งที่รู้จักกันมากหน่อยก็คือวัดพระพรหมในเมืองปุษการ (Pushkar) มลรัฐราชสถาน (Rajasthan) ดังนั้นคนอินเดียที่มาเที่ยวไทยบางคนก็อาจจะรู้สึกทึ่งเหมือนกันที่พระพรหมมีอยู่ทุกตึกในเมืองไทย ส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับคติความเชื่อการบูชาพระพรหมในไทย ก็เห็นจะเพราะไทยมีการนำคติพรหมสอดแทรกลงไปในพระพุทธศาสนาในฐานะเทพผู้มาอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรม

ส่วนวัดที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้คือวัดศรีสิทธิวินายก สร้างอุทิศพระคเณศ สิทธิวินายกก็คือพระนามหนึ่งของพระคเณศนั่นเอง

วัดศรีสิทธิวินายก (Shree Siddhivinayak Temple)

ตั้งอยู่ที่ย่านประภาเทวี มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในฐานะวัดแห่งความปรารถนาของมหานครมุมไบ เป็นสถานที่สักการะบูชาสำหรับผู้ศรัทธาและผู้แสวงบุญจากทั่วโลก

วัดแห่งนี้สถาปนาเป็นครั้งแรกในวันการติกศุทธจาตุรทศี (Kartik Shuddha Chaturdashi) ศาลิวาหนศก 1723 ตามปฏิทินฮินดู ถ้าจะแปลงเป็นปฏิทินสากลให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายกคือวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1801 ผู้สถาปนาคือ ลักษมัน วิฐู (Laxman Vithu) และ เทวบาย ปฏีล (Deubai Patil)

จากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ พบว่าเดิมทีจุดดังกล่าวมีแท่นบูชาโบราณอยู่ตั้งแต่ 200 ปีก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ยังมีมูรติหรือรูปเคารพที่ลักษณะหน้าตาเหมือนกับองค์สิทธิวินายกนี้อีกองค์หนึ่ง ทำจากหินอ่อนอยู่ในกลุ่มวิหารพังคังคา (Banganga) ที่ตั้งอยู่ในมุมไบตอนใต้ รูปเคารพทั้งสองนี้ดูแล้วน่าจะแกะสลักโดยช่างฝีมือคนเดียวกัน เมื่อพิจารณาว่ากลุ่มวิหารพังคังคานั้นเก่ามีอายุมากกว่า 500 ปีแล้ว จึงกล่าวได้ว่าโครงสร้างเดิมของวัดที่ประภาเทวีก่อนจะสถาปนาวัดศรีสิทธิวินายกก็น่าจะเก่าไม่แพ้กัน

วัดแห่งนี้มีมณฑปขนาดเล็กที่มีแท่นบูชาองค์สิทธิวินายก (พระคเณศผู้ประทานความสำเร็จ) ทวารหรือประตูไม้ของวิหารซึ่งนำสู่ครรภคฤหะ (ห้องบูชาด้านในสุด) รวมทั้งเสาของวิหารนี้แกะสลักเป็นรูปอัษฎาวินายก (พระคเณศแปดองค์ในมหาราษฏระ) ศิขระหรือหลังคาด้านในของวิหารนั้นบุด้วยทองคำ ประดิษฐานพระคเณศปางสิทธิวินายกเป็นองค์ประธาน ในบริเวณรอบนอกยังมีวิหารหนุมานอีกด้วย ส่วนภายนอกของวิหารประกอบด้วยโดมซึ่งส่องสว่างด้วยสีสันต่าง ๆ ในช่วงค่ำคืน และสีสันจะเปลี่ยนไปทุก ๆ สองสามชั่วโมง ซึ่งองค์พระคเณศประดิษฐานอยู่ใจกลางโดมนี้พอดี

แรกเริ่มเดิมที โครงสร้างเดิมของวัดมีขนาดเล็กมาก และนับวันจำนวนผู้ศรัทธาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็กลายเป็นเรื่องลำบากต่อการที่ผู้ศรัทธาจะได้รับศรีทรรศนะ หรือที่เรียกกันว่าการได้เห็นองค์พระคเณศอย่างมีความสุข เพราะรองรับผู้ศรัทธาได้สูงสุดเพียง 15-20 คนเท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้มาสักการะบูชา ทางวัดจึงมีแผนที่จะขยายและปรับปรุงโครงสร้าง

และแล้วในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1990 ก็มีการวางศิลาฤกษ์สำหรับโครงการดังกล่าวที่เสนอโดยศรี ศรัทจันทรจี ปาวาร์ (Shri Sharad chandraji Pawar) มุขมนตรีราชสถานในขณะนั้น ในที่สุดอาคารที่งดงามและโอ่อ่าหลังปัจจุบันก็สร้างเสร็จหลังจากผ่านพ้นความยากลำบากต่างๆ มากมาย รวมใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี จากนั้นจึงมีการประกอบพิธีสถาปนาและเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ซึ่งมุขมนตรีปาวาร์ก็มาเปิดงานด้วยตนเอง

ในวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1994 นับได้ว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์กว่า 200 ปีของวัดศรีสิทธิวินายกเลยก็ว่าได้ อาคารหลังปัจจุบันของวัดมีความสูงถึงห้าชั้น ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดอันทันสมัย และมีสำนักงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการอยู่ภายในตัวอาคาร

องค์สิทธิวินายกที่ประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ จัดเป็นหนึ่งในรูปเคารพพระคเณศที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในอินเดีย

ลักษณะคือแกะสลักจากหินก้อนเดียว เดิมทีเป็นหินสีดำ แต่เคลือบด้วยสีแสดทั่วทั้งองค์ เว้นแต่เครื่องประดับเป็นสีทอง

มีสัณฐานสูง 2.5 ฟุต กว้าง 2 ฟุต พระตุณฑะกล่าวคืองวงไขว้ไปทางด้านขวา ด้านเดียวกับพระทนต์คืองา ซึ่งจัดว่าเป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่รูปพระคเณศองค์อื่นมักเห็นงวงไขว้ซ้าย พระหัตถ์ขวาบนถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายบนทรงขวาน พระหัตถ์ขวาล่างถือชัปมาลา คือลูกประคำ พระหัตถ์ซ้ายล่างถือขนมลัดดูกะ มีงูเป็นสังวาลย์

ด้านซ้ายขวาขององค์สิทธิวินายก มีรูปเคารพของเทวีนามว่า ฤทธิ (Riddhi) และสิทธิ (Siddhi) อยู่ด้วย เทวีทั้งสององค์นี้คือชายาพระคเณศ คำว่า ฤทธิ หมายถึงความรุ่งเรือง และสิทธิ หมายถึงความสำเร็จ

ทั้งนี้ทั้งนั้น บางคติก็มิได้ถือว่าเทวีทั้งสององค์เป็นชายาพระคเณศ เพราะในบางตำนานก็นับถือกันว่าพระคเณศทรงเป็นเทพพรหมจรรย์ ไม่ได้แต่งงาน เทวีทั้งสองนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของคุณสมบัติในพระองค์ที่ปรากฏออกมาเป็นรูปบุคคล ในบางท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดียใต้ก็เรียกเทวีสององค์นี้ว่า สิทธิ และ พุทธิ (Buddhi) ซึ่งประการหลังหมายถึงความตื่นรู้หรือภูมิปัญญา

พิธีบูชาของวัดได้เริ่มปฏิบัติในปี ค.ศ. 1936

นำโดยฆราวาสคนหนึ่งนามว่า ศรี โควินทราว ผฏัก (Shree Govindrao Phatak) ภายใต้คำแนะนำของนักบวชองค์หนึ่งคือ ศรี ชัมเภกร มหาราช (Shri Jambhekar Maharaj) ฆราวาสผู้นี้รับผิดชอบงานนี้ด้วยความทุ่มเท นอกเหนือจากงานประจำในโรงสีท้องถิ่น ต่อมาเนื่องจากอายุที่มากขึ้นและครบวาระ เขาจึงวางมือจากตำแหน่งดังกล่าวในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1973 ซึ่งเท่ากับว่าผฏักรับผิดชอบการบูชาของวัดศรีสิทธิวินายกมา 27 ปี

ในระหว่างช่วงเวลานี้ ได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการบริหารวัดขึ้น การบริหารจัดการวัดได้ตกอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่จากกองทุนของรัฐบาลเพื่อดูแลการดำเนินงาน ซึ่งกองทุนดังกล่าวแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการมาประจำในวัด รวมทั้งปูชารี (Pujari) ซึ่งเป็นนักบวชของวัด เพื่อประกอบพิธีบูชา และช่วยเหลือคณะกรรมการด้วย

ทว่าวัดศรีสิทธิวินายกก็เคยมีเหตุการณ์ที่เป็นที่ถกเถียงเช่นกัน

ค.ศ. 1954 ทะเลสาบที่อยู่ภายในพื้นที่ทั้งหมดของที่ดินที่เปิดให้วัดใช้ประโยชน์ได้ถูกถมไป และที่ดินที่พัฒนาแล้วดังกล่าวได้ถูกปล่อยเช่าให้แก่ Shree Siddhivinayak Co-operative Housing Society

เห็นได้ชัดว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อเสริมรายได้อันน้อยนิดของวัดในสมัยนั้น และเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในวัด ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกวัน รายจ่ายในการบริหารจัดการก็ย่อมสูงขึ้นด้วย

สิ่งที่ตามมาคือ มีบทความวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนเกี่ยวกับการจัดการของผู้ดูแลวัดได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มีข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้นว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นของวัดศรีสิทธิวินายกและเงินที่ระดมได้นั้นไม่ได้ถูกใช้ไปอย่างเหมาะสม

และเนื่องจากวัดแห่งนี้เป็นสถานที่รวมความศรัทธาอันอย่างแรงกล้าของบรรดาผู้เคารพนับถือ รัฐบาลในขณะนั้นจึงสังเกตเห็นข้อเท็จจริงที่ว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำลายความเคารพนับถือของวัดเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อจำนวนคนที่เข้ามาสักการะบูชาวัดศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ด้วย

รัฐบาลจึงจัดตั้งหน่วยงานจัดการผู้ดูแลวัดชุดใหม่และตัดสินใจกำหนดกฎหมายอิสระเพื่อบริหารจัดการด้านการดำเนินงานของวัดผ่านคณะกรรมการชุดเดียว

ด้วยเหตุนี้ จึงออกมาเป็นรัฐบัญญัติสำนักงานทรัพย์สินศรีสิทธิวินายกคณปติมนเทียร (ประภาเทวี) ค.ศ. 1980 (Shree Siddhivinayak Ganapati Temple Trust (Prabhadevi) act, 1980)

โดยภายใต้รัฐบัญญัติดังกล่าว รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ซึ่งประกอบด้วยประธาน เหรัญญิก และสมาชิกอีก 7 ถึง 9 คน โดยเจ้าหน้าที่บริหารของคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่เป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง

ในเวลาต่อมา คณะกรรมการนี้เองที่ถูกร้องเรียนไปยังศาลสูงบอมเบย์ในปี ค.ศ. 2004 ว่าใช้เงินบริจาคของวัดที่ได้รับปีละไม่ต่ำกว่า 100-150 ล้านรูปีไปในทางไม่เหมาะสม ผู้พิพากษาเกษียณ วี.พี. ติปนิส (V P Tipnis) ได้รับมอบหมายจากศาลสูงบอมเบย์ให้เป็นผู้ตรวจสอบเงินบริจาคของมนเทียร คณะกรรมการตรวจสอบได้รายงานว่า "ส่วนที่น่าตกใจที่สุดคือไม่มีวิธีการหรือหลักการที่ใช้ในหน่วยงานเฉพาะ เกณฑ์เดียวที่ใช่ในการคัดเลือกนั้นมาจากการแนะนำของคนที่ไว้ใจหรือจากการเมือง ซึ่งมักมาจากพรรคการเมืองที่กุมอำนาจอยู่”

ดังนั้นในปี ค.ศ. 2006 ศาลสูงบอมเบย์จึงมีคำสั่งให้รัฐบาลมลรัฐจัดทำแนวทางการใช้เงินบริจาคให้รัดกุมขึ้น

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พันธกิจของวัดศรีสิทธิวินายกก็นับว่าเป็นไปเพื่อสังคมอยู่ไม่น้อย

โดยสำนักบริหารทรัพย์สินของวัดได้จัดตั้งสถานที่บริจาคอวัยวะภายในวัด สร้างห้องสมุดที่มีหนังสือประมาณ 8,000 เล่มครอบคลุมสาขาวิชาต่าง ๆ ตั้งแต่ปรัชญาศาสนาไปจนกระทั่งบริหารธุรกิจหรือคอมพิวเตอร์ และสร้างห้องเรียนหนังสือที่มีอินเตอร์เน็ตให้บริการ มีผู้เข้าไปใช้บริการวันละประมาณ 600-700 คน นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 2007 ยังเริ่มสร้างห้องสมุดดิจิทัลด้วย

นอกเหนือไปจากนั้น วัดศรีสิทธิวินายกยังมีบทบาทสำคัญมากในการสนับสนุนการสาธารณสุข โดยให้เงินช่วยเหลือผู้ป่วยอนาถาถึงรายละ 25,000 รูปี และสนับสนุนการผ่าตัดประสาทหูเทียมในเด็กถึงรายละ 100,000 รูปี จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพภายในบริเวณวัด ซึ่งในศูนย์ดังกล่าวมีบริการฟอกไตด้วย รองรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตประมาณวันละ 40 คน และยังบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐหรือกึ่งรัฐอีกเป็นจำนวนกว่า 100 ล้านรูปีในแต่ละปี

การเดินทางไปวัดศรีสิทธิวินายก นั่งรถไฟท้องถิ่นไปลงสถานีดาดาร์ (Dadar) ซึ่งอยู่บนเส้นทางรถไฟชานเมืองสายตะวันตกและกลาง จากนั้นนั่งรถแท็กซี่หรือรถเมล์ต่อไปอีกประมาณ 10-15 นาที หรือถ้าอยากออกกำลังกายก็เดินไปเป็นระยะทาง 2.5 กม. ใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมง

รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio [8 ก.พ.68]
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ