สถานีวิทยุจุฬาฯ ผลิตรายการด้วยรูปแบบแนวคิด "สถานีวิทยุสถาบันการศึกษา" วัตถุประสงค์เพื่อนำเผยแพร่ความรู้ของสถาบันการศึกษาไปสู่สังคม ด้วยรูปแบบรายการที่หลากหลาย รองรับกลุ่มผู้ฟังที่มีอยู่ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา และทุกระดับรายได้ ออกอากาศทุกวัน ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ถึง 24.00 น. หรือ 18 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 540 ชั่วโมงต่อเดือน หรือ 6,570 ชั่วโมงต่อปี

รูปแบบการผลิตรายการ

สถานีวิทยุจุฬาฯ มีรูปแบบรายการที่มีความหลากหลาย ทั้งที่เป็นความรู้จากคณะ สถาบัน ทั้งจากภายในและภายนอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยจำนวนรายการที่มากกว่า 50 รายการ ต่อสัปดาห์ การจัดผังรายการในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ผังรายการของสถานีวิทยุจุฬาฯ จัดเป็นผังรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 70 ซึ่งการจัดผังในลักษณะดังกล่าวมีการดำเนินงานต่อเนื่องมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นการจัดผังรายการที่มีสัดส่วนเป็น "กิจการบริการสาธารณะ" ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ปี โดยสามารถจัดแบ่งรายการเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รายการสาระความรู้ รายการสาระบันเทิง รายการบันเทิง (เพลง) และรายการข่าวสาร

สัดส่วนรายการของสถานีวิทยุจุฬาฯในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2550 – 2554 ส่วนใหญ่เป็นรายการสาระความรู้ร้อยละ 71 – 75 | รายการบันเทิง (เพลง) ร้อยละ 11 – 13 | รายการสาระบันเทิงร้อยละ 7 – 10 และรายการข่าวร้อยละ 5 – 6

สัดส่วนผู้ผลิตรายการ

จากนโยบายและเป้าหมายการผลิตรายการในรูปแบบที่หลากหลายข้างต้นส่งผลให้สถานีวิทยุจุฬาฯมีความจำเป็นต้องจัดหา พัฒนา และสนับสนุนให้เกิดผู้ผลิตหรือผู้ดำเนินรายการที่มีความสามารถที่หลากหลายไปพร้อมกันด้วย จุดเด่นของการผลิตรายการในรูปแบบที่หลากหลายดังกล่าวอยู่ที่การได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ของคณะ/สถาบันต่างๆของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เล็งเห็นความสำคัญของการถ่ายโอนความรู้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสู่สังคม และให้ความร่วมมือในการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบรายการตามผลจากการสำรวจผู้ฟัง ทำให้รายการที่ผลิตโดยคณาจารย์จากคณะสถาบันต่างๆได้รับความสนใจจากผู้ฟังเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้สถานีวิทยุจุฬาฯยังมีการจัดสรรเวลาให้บุคคลภายนอก ที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและความชำนาญเฉพาะด้าน ร่วมผลิตรายการที่สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสถานี เพื่อทำให้รายการมีความแตกต่างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการจัดสรรเวลาดังกล่าวยังเป็นไปเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาใช้ทรัพยากรสื่อสารเพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันในสัดส่วนที่เหมาะสมตามแนวคิดการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงเพื่อให้ "บริการสาธารณะ" อีกด้วย

ปัจจัยชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้สถานีวิทยุจุฬาฯ มีบทบาทที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในฐานะสื่อมวลชนมืออาชีพ และมีความสามารถในการแข่งขันด้านการบริหารจัดการผังรายการได้เทียบเท่ากับสถานีวิทยุระดับชาติ คือ การมีบุคลากรประจำรับผิดชอบทำหน้าที่เป็น บรรณาธิการข่าว ผู้สื่อข่าว ผู้ผลิตหรือผู้ดำเนินรายการ เพื่อสนับสนุนให้รายการของสถานีมีความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถผลิตข่าวต้นชั่วโมง สารคดีข่าว ข่าวประกอบเสียง และรายการข่าวต่างๆ จนได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนผู้ผลิตรายการระหว่างปี พ.ศ.2550 – 2554 เป็นบุคลากรของสถานี (ภายใน) ร้อยละ 50 – 55 | บุคลากรจากคณะ สถาบัน ร้อยละ 39 – 43 และบุคคลภายนอก ร้อยละ 6 – 8

จากสัดส่วนรายการที่มีบุคลากรสถานีเป็นผู้รับผิดชอบผลิตรายการเป็นหลักเมื่อเปรียบเทียบกับ คณะ/สถาบันและหน่วยงานต่างๆของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการจัดสรรเวลาให้บุคคลภายนอกร่วมผลิตรายการเพื่อความหลากหลาย นั้น เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าที่ได้ให้บริการแก่หน่วยงานทั้งภายในที่สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตภายนอก และบุคลากรของสถานี แล้ว จะมีสัดส่วนดังนี้

ความร่วมมือในการผลิตรายการภายนอก

นอกจากความร่วมมือการผลิตรายการที่ได้รับทั้งจากคณาจารย์จากคณะ/สถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผู้ผลิตรายการภายนอกแล้ว สถานีวิทยุจุฬาฯยังได้รับความร่วมมือกับสถานีวิทยุต่างๆในรูปแบบความร่วมมือเพื่อการพัฒนารายการทั้งในประเทศและระดับชาติ คือ

1. ความร่วมมือ "เครือข่ายพันธมิตรสถานีวิทยุสถาบันการศึกษา" ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวม 11 สถาบัน 12 สถานี ในนาม "เครือข่ายพันธมิตรสถานีวิทยุสถาบันการศึกษา" ผลิตรายการ "เครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน" ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 12.00 – 13.00 น. โดยรายการมีเนื้อหาเน้นหนักด้านข้อมูลข่าวสาร ความรู้จากคณะ/สถาบัน ผลงานวิจัยและกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือในการออกอากาศจากสถานีวิทยุสถาบันการศึกษาในภูมิภาคทุกแห่ง ทำให้รายการดังกล่าวได้รับการกระจายเสียงเผยแพร่ไปในพื้นที่กระจายเสียงของสถานีวิทยุต่างๆที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 54 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

2. ความร่วมมือกับสถานีวิทยุ VQA ภาคภาษาไทย จากประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตรายการ "ข่าวสดสายตรงจาก VQA ภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน" ซึ่งประกอบไปด้วยข่าว สารคดีข่าว รายงานพิเศษ และการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ดำเนินรายการทั้งสองแห่ง ออกอากาศสดทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 6.30 – 6.55 น. โดยมีเนื้อหาการนำเสนอเน้นหนักด้านสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ข่าวต่างประเทศ และข่าวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความเป็นไปทั่วโลกในมุมมองของประเทศทางซีกโลกตะวันตก

3. ความร่วมมือกับสถานีวิทยุ CRI ภาคภาษาไทย จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ผลิตรายการ "สานสัมพันธ์ไทยจีน" ซึ่งประกอบไปด้วยข่าว สารคดีข่าว รายงานพิเศษ และการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ดำเนินรายการทั้งสองแห่งเช่นเดียวกันกับการผลิตรายการจากประเทศสหรัฐอเมริกา ออกอากาศสดทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 16.05 – 16.30 น. โดยมีเนื้อหาการนำเสนอเน้นหนักด้านสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และข่าวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความเป็นไปทั่วโลกในมุมมองของประเทศทางซีกโลกตะวันออก

ก้าวใหม่และการเปลี่ยนแปลง

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ระบบโทรทัศน์ของประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล วิทยุจุฬาฯได้รับมอบหมายบทบาทที่สำคัญอีกวาระหนึ่ง คือการเป็นผู้ประสานงานเพื่อผลักดันให้เกิดช่องทีวีด้านการศึกษา ประเภทบริการสาธารณะ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้ง 33 แห่ง และมีการเตรียมการเพื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และผลิตรายการโทรทัศน์ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มไปพร้อมกัน ได้แก่ รายการฟาร์มสนุก รายการคิดอยู่ได้ รายการยังไหวไปต่อ รายการถึงรสถึงชาติ ในชื่อของ MoreTV Channel

นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มผลิตรายการโทรทัศน์ต้นแบบเพื่อเด็กและเยาวชน ในการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีชื่อว่า รายการเปิดประตูสู่มหาวิทยาลัย Teen Style on TV ออกอากาศทาง MCOT Family ดิจิทัลทีวี ช่อง 14

จากประสบการณ์ด้านประสบการณ์วิทยุ สู่รายการโทรทัศน์ที่ใช้ฐานคิดจากองค์ความรู้และงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างสรรค์ด้วยบุคลากรคุณภาพ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และความพร้อมในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ทั้งการถ่ายทำจนถึงการออกอากาศสด ทั้งภาพและเสียง

ปัจจุบันสถานีวิทยุจุฬาฯ มีสตูดิโอสำหรับถ่ายทำและผลิตรายการภาพ จำนวน 2 สตูดิโอ ที่สามารถออกแบบ จัดแสง ถ่ายทำรายการด้วยกล้องวิดีโอและอุปกรณ์ที่ทันสมัย หรือ ระบบ Visualization ที่มีเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ ทำให้สามารถถ่ายทำรายการแบบเลือกเปลี่ยนฉากหลังได้

วันนี้สถานีวิทยุจุฬาฯ ยังคงต้องก้าวไป เพื่อยืนหยัดเป็นสื่อมวลชนที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นผู้นำทางปัญญาแก่สังคม เป็นกลไกในการสร้างคุณค่าร่วม และความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยที่พึงมีต่อสังคม และกำลังจะก้าวข้ามจากสื่อเดิมที่เป็น “คลื่นความรู้ สู่ประชาชน” สู่การเป็นสื่อผสมหลายช่องทาง “คลังความรู้ สู่ประชาชน” เพื่อประกาศความเป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างอัจฉริยภาพสู่สังคม ในภาพลักษณ์ใหม่ที่ชื่อว่า CUMC (Chulalongkorn University Media Center)