จุดเริ่มต้นสถานีวิทยุทดลองของนิสิตจุฬาฯ
สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ วิทยุจุฬาฯ ก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2501 จากนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ต้องการใช้ความรู้ด้านการกระจายเสียงในภาคทฤษฎีไปสู่ภาคปฏิบัติ จึงได้ทดลองทำเครื่องส่งขึ้นแล้วพัฒนาจนส่งกระจายเสียงได้จริงแล้วนำมาใช้แทนการส่งด้วยเสียงตามสายได้ในที่สุด ในระยะแรกของการก่อตั้งนั้น วิทยุจุฬาฯเป็นเพียงชมรมแสงและเสียงขึ้นอยู่กับสโมสรนิสิตจุฬาฯ ภายใต้การดูแลของอาจารย์และคณะที่ปรึกษา โดยมีประธานสโมสรนิสิตจุฬาฯ ทำหน้าที่บริหาร ไม่มีโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจน นิสิตเป็นผู้จัดและควบคุมการส่งกระจายเสียง ไม่มีกำหนดเวลาการออกอากาศแน่นอน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของนิสิต เพราะเป็นเพียง "สถานีวิทยุทดลอง" ที่ยังไม่อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 ได้รับงบประมาณการดำเนินงานจากค่าบำรุงสโมสรฯ และเงินช่วยเหลือจากอาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน มีสถานที่ทำการอยู่ที่ตึกจักรพงษ์ ชั้น 2
ต่อมาสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้แสดงจุดยืนทางการเมือง และติดต่อกับองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USOM เพื่อขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆในการกระจายเสียงจาก USIS (United State Information Service) ทำให้ได้เครื่องส่งกระจายเสียงที่ใช้ในกิจการทหาร คือ เครื่องส่ง Medium Wave ระบบ AM แบบ BC-610 กำลังส่ง 250 วัตต์ ความถี่ 1080 กิโลไซเคิล มาใช้งาน ด้วยสัญญาเช่าที่มีกำหนดเวลา 99 ปี และค่าเช่าเครื่องปีละ 1 เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ขอบเขตการกระจายเสียงขยายกว้างออกไปสู่ภายนอกมหาวิทยาลัย แต่เมื่อดำเนินการไปได้ในระยะหนึ่ง วิทยุจุฬาฯเผยแพร่เนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในวงกว้างขึ้น ผู้บริหารระดับสูงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้น จึงเข้ามาควบคุมการบริหารและจำกัดเวลาการส่งกระจายเสียงให้ออกอากาศได้แต่เฉพาะช่วงกลางวัน ส่วนในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ฟังค่อนข้างมากนั้นห้ามออกอากาศ และมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินงานโดยปิดสถานีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2505 ในที่สุด
กว่าจะเป็นวิทยุจุฬาฯ
ปี พ.ศ.2508 เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอเรื่องสถานีวิทยุจุฬาฯให้มหาวิทยาลัยทบทวน ส่งผลให้วิทยุจุฬาฯ สามารถส่งกระจายเสียงอย่างเป็นทางการได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2508 โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้ควบคุมและดำเนินงานเอง ภายใต้หน่วยโสตทัศนศึกษากลาง สำนักเลขาธิการมหาวิทยาลัย มีศาสตราจารย์สำเภา วรางกูร เป็นหัวหน้าสถานีคนแรก วัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ตลอดจนความบันเทิง การดำเนินการเน้นหนักเพื่อกิจการภายในชุมชนของมหาวิทยาลัย เริ่มมีโครงสร้างการบริหารงานอย่างเป็นทางการ และได้รับการอนุมัติให้ใช้คลื่นความถี่ด้วยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในระบบ FM Stereo Multiplex ความถี่ 101.5 MHz. กำลังส่ง 1 kilowatt เสาอากาศสูง 48 เมตร ตั้งอยู่ที่คณะครุศาสตร์ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี พ.ศ.2520 วิทยุจุฬาฯโอนมาสังกัดฝ่ายวิชาการ เพื่อให้การปฏิบัติงานสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เน้นการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม โดยมี ศาสตราจารย์อาภรณ์ เก่งพล เป็นหัวหน้าสถานีคนที่ 2 มหาวิทยาลัยเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการบริหารสถานี มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารให้เป็นระบบมากขึ้น ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินงานจากงบประมาณแผ่นดิน และเงินผลประโยชน์ เริ่มมีรายได้จากผู้อุปถัมภ์รายการซึ่งต่อมาขยายเป็นการโฆษณาและการให้บริการธุรกิจ การบริหารงานของวิทยุจุฬาฯ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ ซึ่งในบางครั้งก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ต่างๆตลอดเวลาด้วยการปรับโอนไปสังกัดฝ่ายการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหน่วยงานฝ่ายวิชาการ มีการกำหนดนโยบายของวิทยุจุฬาฯว่า ควรมีบทบาทในสังคมให้มากขึ้น และดำเนินบทบาทของการเป็นสถานีวิทยุสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้ และแสดงบทบาทเป็นสื่อมวลชนที่ชี้นำสังคม มีการจัดหาเครื่องส่งใหม่ ที่มีกำลังส่ง 5 Kilowatts และปรับปรุงเสาสูงเป็น 120 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายเสียง ย้ายสถานที่ตั้งมาที่อาคาร วิทยพัฒนา ชั้น 7 จวบจนปี พ.ศ.2534 รองศาสตราจารย์ จุมพล รอดคำดี จึงได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานีคนที่ 3 จนถึงปี พ.ศ.2559 และนางสาวสิริลักษณ์ พัฒนลีลาวงศ์ ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถานี (หัวหน้าสถานี คนที่ 4) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 จนถึงปัจจุบัน
ก้าวที่กล้าและท้าทาย
ปี พ.ศ.2535 หลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" วิทยุจุฬาฯ ได้รับคัดเลือกจากมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ให้เป็น "สื่อดีเด่นประเภทรายการวิทยุ" อันเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนที่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง จนปัญหาของบ้านเมืองได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อธิการบดีในขณะนั้น ได้สนับสนุนให้สภามหาวิทยาลัยอนุมัติปรับปรุงการบริหารงานวิทยุจุฬาฯ ในการประชุมครั้งที่ 520 วันที่ 6 ตุลาคม 2535 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวด้านการบริหารจัดการในรูปแบบ "วิสาหกิจ" ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย และขยายกิจการที่ดำเนินการอยู่ให้สามารถรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ตามบทบาทของสถานีวิทยุการศึกษาและข่าวสาร สะท้อนบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคมให้เด่นชัดขึ้น โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการ เพื่อปรับปรุงการบริหารและการจัดการของสถานีวิทยุจุฬาฯ จากระบบราชการเป็นวิสาหกิจ ขยายเวลาส่งกระจายเสียงเริ่มตั้งแต่ 6.00-24.00 น. ทุกวัน เพิ่มการผลิตรายการด้านการศึกษา ข่าว สารคดี และการถ่ายทอดสดนอกสถานี พร้อมทั้งมีการปรับปรุงคุณภาพของการผลิตรายการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และเริ่มทำความร่วมมือกับสถานีวิทยุต่างประเทศคือ Voice of America (VOA) ในปี พ.ศ.2536 ช่วงรายงานข่าวจากต่างประเทศ
ต่อมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์ให้วิทยุจุฬาฯ สามารถนำรายได้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานไปปรับปรุงและพัฒนาสถานีได้ด้วยตนเอง จึงกำหนดให้ "สถานีวิทยุสามารถมีรายได้ของตนเอง โดยไม่เป็นหน่วยงานที่แสวงหากำไร" ใน ปี พ.ศ.2540 วิทยุจุฬาฯ ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานไปสู่ "วิสาหกิจเต็มรูปแบบ" ซึ่งการบริหารงานในรูปแบบนี้ทำให้ขั้นตอนการสั่งการต่างๆ ลดลง เกิดความเป็นอิสระในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่สื่อมวลชนเพิ่มมากขึ้น มีคณะกรรมการบริหารเพียงชุดเดียวเป็นผู้กำหนดนโยบายและงบประมาณ และทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารสถานี ผ่านกรรมการผู้อำนวยการซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง และใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งหมายความถึง สถานีวิทยุของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ วิทยุจุฬาฯยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ปรับปรุงเสาส่งกระจายเสียงให้มีความสูงเพิ่มขึ้นจาก 120 เมตร เป็น 150 เมตร
ก้าวกล้าอย่างต่อเนื่อง
ปี พ.ศ.2547 คณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุจุฬาฯ ได้มีมติเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงการดำเนินงานของสถานีอีกครั้งหนึ่งใน 3 ด้านคือ ด้านโครงสร้างองค์กร ด้านบุคลากร และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการสามารถรองรับภารกิจการเป็นสถานีวิทยุที่สามารถส่งกระจายเสียงได้ทั้งทางอากาศ และระบบทางสายด้วยระบบมัลติมีเดียครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และมีบทบาทการเป็นผู้นำสถานีวิทยุในเครือข่ายสถาบันการศึกษา สามารถให้ความรู้ทางวิชาการไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยรูปแบบรายการที่เหมาะสม และมีเนื้อหาที่เป็นองค์ความรู้จากคณะและสถาบันในมหาวิทยาลัย ผลการปรับปรุงทำให้เกิดช่องทางการรับฟังเพิ่มขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ของสถานี www.curadio.chula.ac.th และมีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการผลิตรายการร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เช่น "เครือข่ายพันธมิตรสถานีวิทยุสถาบันการศึกษา" จากการรวมตัวกัน 11 มหาวิทยาลัยและสถานีวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ผลิตรายการและออกอากาศในชื่อ "รายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน" ทำให้สามารถขยายพื้นที่การออกอากาศของสถานีวิทยุของสถาบันการศึกษาต่างๆไปทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 54 จังหวัด นอกจากนี้สถานีวิทยุจุฬาฯยังได้ร่วมมือกับ "สถานีวิทยุ CRI ปักกิ่ง ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน" ผลิตรายการ "สานสัมพันธ์ไทยจีน" ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ทำให้สถานีวิทยุจุฬาฯเป็นสถานีวิทยุการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการผลิตและออกอากาศรายการวิทยุร่วมกับสถานีวิทยุแห่งชาติของประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน
ปี พ.ศ.2549 วิทยุจุฬาฯ ปรับปรุงห้องออกอากาศเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการส่งกระจายเสียงในระบบดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และในปี พ.ศ.2550 จัดหาเครื่องส่งใหม่ กำลังส่ง 5 Kilowatts แบบ Solid State ทดแทนเครื่องส่งเดิมที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 17 ปี
ปี พ.ศ.2551–2552 วิทยุจุฬาฯปรับปรุงเสาส่งกระจายเสียงเป็นแบบ Guyed Mast Tower ความสูง 151.5 เมตร และสายอากาศแบบ Vertical ทำให้คุณภาพการกระจายเสียงมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากรายงานผลการวัดและทดสอบการแพร่กระจายคลื่นของวิทยุจุฬาฯในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายพบว่า วิทยุจุฬาฯสามารถรับฟังได้ดีถึงดีมากในแทบทุกพื้นที่ด้วยประสิทธิภาพความชัดเจนในระดับประมาณร้อยละ 80-90 ในขณะที่พื้นที่รับฟังในต่างจังหวัดมีรัศมีการกระจายเสียงลดลงจาก 25 จังหวัดเป็น 16 จังหวัด จากสาเหตุการรบกวนของสถานีวิทยุชุมชนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วนับแต่ พ.ศ.2548 เป็นต้นมา
สถานีวิทยุมาตรฐานคุณภาพสากล ISO 9001 แห่งแรกในประเทศไทย
นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีผลใช้บังคับ ส่งผลให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม กลายเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ การใช้คลื่นความถี่ของหน่วยงานภาครัฐที่เคยเป็นผู้ผูกขาดการใช้และการหาประโยชน์จากการใช้คลื่นความถี่แต่เพียงกลุ่มเดียวอาจต้องสิ้นสุดลงในอนาคตอันใกล้ ประกอบกับมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ต่อเนื่องกันมา กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการต้องมีการประเมินคุณภาพและเป็นเงื่อนไขในการต่ออายุใบอนุญาตด้วย วิทยุจุฬาฯ ในฐานะสถานีวิทยุของสถาบันการศึกษา ตระหนักถึงผลกระทบที่จะต้องได้รับจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรองรับเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต การเตรียมความพร้อมที่สำคัญด้านหนึ่งคือ การบริหารจัดการภายในที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล
วิทยุจุฬาฯ จึงได้เริ่มปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล ด้วยการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 9001:2000 ตั้งแต่ พ.ศ.2543 โดยสามารถผ่านการตรวจรับรอง จาก Bureau Veritas หรือ BVQI ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2546 และพัฒนาจนผ่านการตรวจรับรองการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 9001: 2008 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ.2560