รูปแบบและการผลิตรายการ


สถานีวิทยุจุฬาฯ กระจายเสียงผ่านคลื่นความถี่ในระบบ FM Stereo Multiplex 101.5 MHz. กำลังส่ง 5 Kilowatts เสาอากาศแบบ Guyed Mast Tower สูง 151.5 เมตร สายอากาศแบบ Vertical รัศมีการกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 16 จังหวัด ในภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี นครนายก ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี กาญจนบุรี (ความชัดเจนจะแตกต่างและผันแปรไปตามลักษณะการใช้คลื่นความถี่และกำลังส่งของสถานีวิทยุชุมชนในแต่ละพื้นที่) ด้วยความร่วมมือกับ "เครือข่ายสถานีวิทยุสถาบันการศึกษา" ในช่วงเวลา 12.00 – 13.00 น. สถานีวิทยุจุฬาฯ สามารถขยายขอบเขตครอบคลุมทุกภูมิภาคในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 54 จังหวัด นอกจากนี้ยังสามารถรับฟังผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทาง www.curadio.chula.ac.th ทั้งในแบบรับฟังการกระจายเสียงสด (Live Radio) ด้วยระบบคุณภาพเสียงดิจิตอล 128 Kbps และแบบเลือกรับฟังย้อนหลัง (Radio on Demand) ได้นานถึง 10 ปี ด้วยระบบการจัดเรียงข้อมูลเพื่อการสืบค้นอ้างอิงได้สะดวก สอดคล้องกับแนวคิดการเผยแพร่ความรู้ของสถาบันการศึกษาไปสู่สังคม และสามารถเลือกรับชมภาพการนำเสนอข่าวและสารคดีข่าว การเข้าถึงระบบสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบที่ทันสมัย (E-learning) คลิปวิดีโอ และรายการทีวี ที่สามารถรับชมรับฟังได้จากทุกแห่งทั่วโลก มีการพัฒนาข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆที่หลากหลาย เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้ฟังที่หลากหลาย ตามเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ได้แก่ Mobile Application, Facebook, Twitter, Instagram, line@ และ Youtube และยังมีแผนงานรองรับการพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างต่อเนื่อง























ความก้าวหน้าด้านงานควบคุมการออกอากาศและบันทึกเสียง

ปัจจุบัน สถานีวิทยุจุฬาฯมีห้องจัดรายการสดและควบคุมการออกอากาศที่มีคุณภาพเสียงระบบดิจิตอลสมบูรณ์แบบ พร้อมด้วยอุปกรณ์ควบคุมการออกอากาศและระบบเครือข่ายที่ทันสมัย และมีห้องบันทึกเสียงที่มีมาตรฐาน รองรับระบบดิจิตอลในอนาคต 4 ห้อง สามารถให้บริการและรองรับความต้องการของผู้ผลิตรายการของสถานี คณาจารย์ และบุคคลภายนอก อย่างเต็มรูปแบบ โดยสรุปคือ

1. มีห้องจัดรายการสดและควบคุมการออกอากาศใหม่ทั้งระบบ ด้วยเครื่อง Klotz Digital Mixer ที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จ่ายสัญญาณเสียงประเภทต่างๆในระบบดิจิตอลได้ เช่น CD/DVD Player, Mini Disk Player และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Soundcard แบบดิจิตอล จำนวน 2 เครื่อง และสามารถทำการส่งสัญญาณเสียงไปยังเครื่องส่งกระจายเสียง และ Streaming Server (ที่ให้บริการทางเว็บไซต์) ในรูปแบบดิจิตอลที่มีความคมชัดสูง ปราศจากสัญญาณรบกวน มีการออกแบบให้ผู้ดำเนินรายการสามารถควบคุมเสียง พร้อมกับการจัดรายการได้ด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการออกอากาศคอยให้ความช่วยเหลือจากภายนอกเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้ติดต่อสื่อสารในทุกระบบ เช่น ระบบโทรศัพท์บ้าน และอุปกรณ์โทรศัพท์แบบใช้ Sim Card สำหรับติดต่อกับวิทยากรหรือผู้ดำเนินรายการจากภายนอกในคุณภาพเสียงที่ชัดเจนที่สุด มีอุปกรณ์ Telephone Hybrid คุณภาพสูงที่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์จากภายนอกได้พร้อมกันถึง 6 คู่สาย และส่งสัญญาณเสียงออกอากาศได้พร้อมกันถึง 3 คู่สาย

ในกรณีที่ห้องจัดรายการสดขัดข้องก็มีการจัดเตรียมห้องสำรองไว้เพื่อทดแทนให้การออกอากาศเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรฐานการควบคุมคุณภาพการออกอากาศของสถานีวิทยุจุฬาฯด้วย

2. มีห้องบันทึกเสียงให้บริการแก่ผู้จัดรายการทางสถานี คณาจารย์ และบุคคลภายนอก ได้อย่างเพียงพอจำนวน 4 ห้อง ประกอบด้วย
ห้องบันทึกเสียง 1 ได้รับการออกแบบให้มี Digital Mixer, Telephone Hybrid, คอมพิวเตอร์ที่บันทึกเสียงในระบบดิจิตอล และอุปกรณ์อื่นๆ ในมาตรฐานเดียวกันกับห้องควบคุมการออกอากาศ ที่นอกจากจะใช้เป็นห้องบันทึกเสียงระบบดิจิตอลคุณภาพสูงแล้ว ยังใช้เป็นห้องควบคุมการออกอากาศสำรองเพื่อจัดรายการสดๆในกรณีห้องควบคุมการออกอากาศหลักขัดข้ได้แก่ด้วย

ห้องบันทึกเสียง 2 ได้รับการออกแบบเครื่องมือและอุปกรณ์ เช่น Mixer, เครื่องคอมพิวเตอร์, Telephone Hybrid ให้ผู้ดำเนินรายการสามารถบันทึกเสียง นำวิทยากรเข้าสายโทรศัพท์ ตัดต่อเสียง ผสมสัญญาณเสียง และส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในสถานีได้ผ่านเครือข่ายความเร็วสูงได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีช่างควบคุมการบันทึกเสียงคอยให้ความช่วยเหลือ

ห้องบันทึกเสียง 3 ได้รับการออกแบบให้รองรับการบันทึกเสียงแบบแยก Channels โดยใช้ Digital Mixer ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ท Firewire ความเร็วสูง และ Software ที่ใช้ควบคุมการทำงานในระบบดิจิตอล สามารถเชื่อมต่อไมโครโฟนได้ถึง 4 ชุด แยกจากกันเป็นอิสระ สามารถปรับแต่งเพิ่มลดระดับสัญญาณเสียงของผู้พูดประจำแต่ละไมโครโฟนได้อย่างอิสระ เหมะแก่การบันทึกเสียงรายการ ละครพูด หรือสารคดีเสียง ที่ต้องบันทึกเสียงหลายคนพร้อมกัน

ห้องบันทึกเสียง 4 ได้รับการออกแบบให้เป็นห้องที่สามารถบันทึกเสียงและภาพไปพร้อมกันได้ มีการติดตั้งกล้องวิดิโอ อุปกรณ์ Visualizer และอุปกรณ์ตัดต่อและบันทึกภาพ เพิ่มเติม เพื่อใช้ในการบันทึกการบรรยายความรู้จากอาจารย์ในรายการเปิดประตูสู่มหาวิทยาลัย

3. มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานบันทึกเสียงและควบคุมการออกอากาศ เพื่อให้การให้บริการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ใช้คอมพิวเตอร์ในการบันทึก ตัดต่อ และผสมสัญญาณเสียงในแต่ละห้องบันทึกเสียงให้มีความรวดเร็วและมีมาตรฐานการบันทึกเสียงที่มีคุณภาพ ในการโอนย้ายไฟล์เสียงระหว่างห้องบันทึกเสียงและห้องควบคุมการออกอากาศ การใช้พื้นที่เก็บข้อมูลส่วนกลางในการตรวจสอบรายการและเรียงลำดับเวลาในการเปิดออกอากาศอย่างเป็นระบบ รวมถึงการใช้โปรแกรมจองห้องบันทึกเสียงในการตรวจสอบความพร้อมของห้องบันทึกเสียงและจัดสรรช่างควบคุมการบันทึกเสียงในการให้บริการแก้ผู้ดำเนินรายการของสถานี คณาจารย์ และบุคลากรจากภายนอกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเป็นระบบ




















ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

สถานีวิทยุจุฬาฯมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลด้านการกระจายเสียง การบันทึกเสียง การติดต่อสื่อสาร การรับส่งข้อมูลเสียงทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก รวมถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีในการถ่ายทอดภาพและเสียงนอกสถานที่เพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสถานีในหลากหลายรูปแบบ จัดเป็นสถานีวิทยุของสถาบันการศึกษาที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสถานีหนึ่ง ได้รับการยอมรับว่ามีบุคลากรที่มีความรู้ และสามารถรับผิดชอบเป็นสถานีแม่ข่ายของเครือข่ายสถานีวิทยุสถาบันการศึกษามานับตั้งแต่ พ.ศ.2548 เป็นผู้ดูแลเครื่องแม่ข่ายที่จัดเก็บข้อมูล กระจายข้อมูลผลงานความร่วมมือของศูนย์ข่าว Thai University News Network ตั้งแต่ พ.ศ.2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีผลงานความก้าวหน้าสรุปได้คือ

1. ระบบการรับฟังรายการสด (Live Radio) เพื่อขยายช่องทางการรับฟังรายการจากการรับฟังผ่านทางวิทยุ FM เป็นรับฟังได้จากทั่วโลก ผ่านทางเว็บไซต์และ Mobile Application ด้วยคุณภาพเสียงที่ชัดเจน 128 Kbps

2. ระบบรับฟังรายการย้อนหลัง (Radio on Demand) เพื่อรองรับการรับฟังและดาวน์โหลดรายการแบบย้อนหลังได้ทุกวันและเวลาตามความต้องการ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี

3. ระบบการเผยแพร่ภาพ เสียง และสื่อวิดีโอบนเว็บไซต์ ได้แก่ รายการเปิดประตูสู่มหาวิทยาลัย ช่วงห้องเรียนออนแอร์ สำหรับนักเรียนมัธยมปลายเพื่อการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยมีคลิปวิดีโอเผยแพร่บนเว็บไซต์มากกว่า 3,000 คลิป นอกจากนี้ยังมี สารคดีข่าวภาพ และรายการต่างๆของทางสถานีกว่า 20 รายการ ได้แก่ รายการพูดจาประสาช่าง / รายการรอบตัวเรา / รายการ Innovative Wisdom / รายการสัตวแพทย์สนทนา / รายการ Pet Care Onair / รายการ Biz Genius / รายการรัฐศาสตร์สู่สังคม / รายการ Envi Insider / รายการไทยศึกษา / รายการพินิจเศรษฐกิจการเมือง / รายการ We are Asean+ / รายการคลินิก 101.5 / รายการนิติมิติ / รายการวิทยาสามนาที / รายการเจาะข่าวเช้านี้ / รายการการเมืองเรื่องน่ารู้ ฯลฯ

4. การให้บริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครื่องแม่ข่าย เครือข่ายความเร็วสูง และระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลาง สถานีวิทยุจุฬาฯ ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มรูปแบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ มีความรวดเร็วในการสื่อสารข้อมูล และมีความปลอดภัยสูง สามารถให้บริการด้านมีเดียที่มีความหลากหลาย รองรับกับรูปแบบการเข้าถึงสื่อดิจิตอลในปัจจุบัน เพื่อให้ขยายการให้บริการทางเว็บไซต์สู่การเป็นศูนย์กลางข้อมูล ข่าวสาร และคลังความรู้ขนาดใหญ่ สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ อ้างอิง สืบค้น เผยแพร่สู่สังคมในวงกว้างได้ต่อไป

5. การให้บริการข้อมูลและข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์และ Social Media สถานีวิทยุจุฬาฯ ได้เปิดให้บริการข้อมูล ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์รายการ สื่อ และกิจกรรมที่น่าสนใจ ผ่านทุกช่องทาง ได้แก่ Facebook / Twitter / Instagram / Youtube / Line@ เพื่อให้ท่านไม่พลาดโอกาสรับชม/ฟัง รายการดีๆ กิจกรรม และข่าวสารจากจากสถานีิวิทยุจุฬาฯ







0 results

(Live)