คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประณามรัฐบาลทาลิบัน ออกนโยบายห้ามสตรีเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

- ข่าวต้นชั่วโมง


สำนักข่าวบีบีซีและเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 28 ธันวาคมว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ได้ออกมาประณามรัฐบาลทาลิบัน ผู้ปกครองประเทศอัฟกานิสถาน ที่ออกนโยบายห้ามสตรีเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และทำงานให้กับองค์กรไม่แสวงผลกำไร (เอ็นจีโอ) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวควรถูกระงับ

สมาชิกยูเอ็นเอสซีทั้ง 15 ชาติกล่าวในแถลงการณ์ว่า รู้สึกตื่นตระหนกกับข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นต่อการศึกษาของสตรี อีกทั้งเรียกร้องให้สตรีและเด็กผู้หญิงในอัฟกานิสถานสามารถมีส่วนร่วมในการศึกษาอย่างเท่าเทียม รวมถึงขอให้มีการกลับมาเปิดโรงเรียน และยกเลิกนโยบายดังกล่าวให้เร็วที่สุด ซึ่งนโยบายนี้แสดงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ลดน้อยลง

นอกจากนั้นแล้ว ยูเอ็นได้กล่าวประณามนโยบายที่ห้ามผู้หญิงในอัฟกานิสถานทำงานในองค์กรเอ็นจีโอ โดยเตือนว่านโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งมีคนนับล้านที่กำลังรอความช่วยเหลือจากองค์กรเหล่านั้น ยูเอ็นกล่าวว่า “นโยบายเหล่านี้ขัดแย้งกับพันธสัญญาที่ทาลิบันได้ให้ไว้กับชาวอัฟกัน และขัดกับความคาดหวังของประชาคมโลก”

ด้านนายกุแตเรซ กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลทาลิบันเช่นกันว่าเป็นนโยบายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่เหมาะสม และควรถูกยกเลิก พร้อมกับกล่าวเตือนเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมว่าจะมีผลกระทบตามมาที่ร้ายแรงจากนโยบายของรัฐบาลทาลิบัน

ด้านนายโฟลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ไม่มีชาติไหนจะสามารถพัฒนา หรืออยู่รอดได้ทางสังคมและเศรษฐกิจ เมื่อประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศถูกกีดกัน” และกล่าวอีกว่า นโยบายที่ว่านี้อาจทำลายเสถียรภาพทางสังคมในประเทศอัฟกานิสถาน “สตรีและเด็กผู้หญิงไม่ควรถูกกีดกันจากสิทธิพื้นฐาน” เติร์กกล่าว
ผู้หญิงชาวอัฟกันต้องเผชิญกับการกีดกันจากรัฐบาลทาลิบันในหลายเรื่อง อาทิ การสั่งห้ามเด็กผู้หญิงเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย ถูกบีบให้ออกจากงานราชการหลายตำแหน่ง สั่งห้ามไม่ให้เดินทางไปไหนคนเดียวหากไม่มีผู้ชายไปด้วย สั่งให้สตรีอัฟกันสวมผ้าบุรเกาะอ์เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ และสั่งห้ามผู้หญิงไม่ให้เข้าสวนสาธารณะ

0 results

(Live)