เพลง Sang Rehna
เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Ajeeb Daastaans” (เรื่องราวพิศวง) ผลิตโดยกรัณ โจฮาร์ (Karan Johar) กำกับโดยนีราช ฆัยวาน (Neeraj Ghaywan) ผู้กำกับมือทองที่สร้างหนังสะท้อนสังคมจนได้รับรางวัลมาแล้วหลายรางวัล ออกอากาศทางเน็ตฟลิกซ์ในปี ค.ศ. 2021
ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งออกเป็นสี่เรื่องราวย่อยที่มีตัวละครและฉากเป็นเอกเทศจากกัน ภาษาอังกฤษเรียกภาพยนตร์ลักษณะนี้ว่า Anthology
สำหรับเพลง “Sang Rehna” ที่เราเปิดนี้คือเพลงประกอบตอนที่ชื่อ “Geeli Pucchi” มีปมเรื่องที่น่าสนใจมาก กล่าวคือ ภารตี (Bharti) สาวคนงานทลิตคนหนึ่ง ตกหลุมรักกับปรียา (Priya) หญิงสาวผู้ทำงานเป็นผู้จัดการข้อมูลในโรงงานเดียวกัน และมีพื้นเพจากตระกูลวรรณะพราหมณ์ แต่เธอไม่เปิดเผยต่อปรียาว่าเธอเป็นทลิต จนกระทั่งต่อมามีเหตุผลที่ทำให้เธอต้องเปิดเผยในที่สุด และความรู้สึกของปรียาก็เปลี่ยนไป
ผู้ฟังคงจะสังเกตได้ทันทีว่า สิ่งที่พูดมานี้มีปมที่เป็นที่ยอมรับได้ยากในสังคมอินเดียถึงสองจุด กล่าวคือ เรื่องที่ทั้งสองเป็นเพศเดียวกัน และเรื่องที่ทั้งสองมาจากวรรณะที่ต่างกันสุดขั้ว
ความชาญฉลาดของผู้กำกับคือ ที่จริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดร่วมกันในสังคมอินเดียเป็นปกติ แต่เราถูกสื่อภาพยนตร์ต่าง ๆ ทำให้คิดไปเองว่ามันไม่ปกติที่ปมทั้งสองจะเกิดขึ้นในคู่รักคู่เดียวกัน คือบนจอภาพยนตร์แทบจะไม่เกิดปมทั้งสองนี้พร้อมกันเลย จะมีแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวรรณะ แต่แน่นอนครับ ความเป็นจริงคือ มนุษย์ทุกรูปนามเกิดความรักกันได้ไม่ว่ากฎเกณฑ์สังคมจะเป็นอย่างไร
Pride Month เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ (นาที 5.55)
เหตุผลที่เราจำเป็นต้องพูดประเด็นความหลากหลายทางเพศคือ เดือนนี้เป็นเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pride Month (เดือนแห่งความภาคภูมิใจ)เหตุที่เดือนมิถุนายนได้รับสถานะดังกล่าว หลายคนคงทราบดีแล้วว่า เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ อินน์ ในนิวยอร์กซิตี้ วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของสิทธิกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกาและในโลก แน่นอนว่า ประเทศไทยก็ร่วมฉลองเดือนนี้ด้วย
กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย
สำหรับปี 2024 มีความพิเศษเพราะเกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศในไทย ดังนั้นก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องของอินเดีย เราทั้งสองต้องขอกล่าวแสดงความยินดีกับคู่รักทุกคู่ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย ที่เพิ่งจะผ่านออกไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาคำว่า สมรสเท่าเทียม หมายความว่าบุคคลสองฝ่ายไม่ว่าจะมีเพศใด ๆ สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมาย และมีสิทธิ์เท่าเทียมกันทุกประการไม่ว่าจะในกรณีที่คู่สมรสเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศกัน
เหตุการณ์นี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ออกกฎหมายอนุญาตการสมรสในเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีสำหรับบรรดาผู้หลากหลายทางเพศวิถี ที่เรียกว่า LGBTQIA+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer, Intersex, Asexual etc. ต่อไปนี้จะเรียกย่อว่า LGBT) ในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นก้าวแห่งความสำเร็จหลังจากต่อสู้เรียกร้องกันมายาวนานพอสมควร
ประเด็นเกี่ยวกับ LGBT ของอินเดีย
อย่างที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินเดียนั้น วิถีของสังคมอินเดียมิได้รองรับหรือเอื้ออำนวยเท่าไรนัก กล่าวได้ว่า แม้แต่ทุกวันนี้สังคมอินเดียก็มีค่านิยมยอมรับความเป็นชายจริงหญิงแท้ตามขนบมากกว่าฉะนั้นบุคคลที่ปฏิบัติผิดแปลกไปจากความคาดหวังของครอบครัวหรือคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศชาย โอกาสที่ครอบครัวจะรับไม่ได้ก็มีมาก เช่น ชายที่มีคู่รักเป็นชายด้วยกัน หรือแต่งตัวเป็นหญิง มีกิริยาท่าทางเป็นหญิง ก็มีแนวโน้มจะถูกคนรอบข้างปฏิบัติในเชิงเหยียดหยาม เนื่องจากค่านิยมของสังคมอินเดียมองว่าชายมีหน้าที่ในการแต่งงานสืบทอดวงศ์ตระกูลและรักษาเผ่าพันธุ์ ส่วนใหญ่จึงไม่ยอมรับหากลูกชายของครอบครัวตนเป็นเกย์ และคิดว่าเป็นความผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ต้องบำบัดหรือแก้ไข
สถานการณ์เกี่ยวกับบุคคลรักร่วมเพศของอินเดียเพิ่งจะพัฒนาไปในทางดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ เหตุการณ์ที่บ่งชี้ได้อย่างชัดแจ้งคือ การทำให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันพ้นจากการเป็นความผิดทางกฎหมาย (decriminalized) เพิ่งจะเกิดไปเมื่อ ค.ศ. 2018 นี่เอง จากที่ก่อนหน้านั้นเป็นความผิดทางกฎหมายมาโดยตลอด ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นมรดกยุควิคตอเรียโดยตรง
คติดั้งเดิมของชาวฮินดูว่าด้วยการมีลักษณะของบุรุษและสตรีอยู่ในบุคคลเดียวกัน
อันที่จริงใคร่อยากจะอธิบายให้ผู้ฟังได้ทราบไว้ด้วยว่า คติดั้งเดิมของชาวฮินดูนั้น การมีลักษณะของบุรุษและสตรีอยู่ในบุคคลเดียวกันทั้งสองขั้ว หรือที่ศัพท์ทางการเรียกว่า “กะเทย” แท้จริงไม่ใช่เรื่องผิดบาป เพราะปรัชญาฮินดูมองว่า ธรรมชาติของขั้วทั้งสองนี้ย่อมต้องดำรงอยู่ไปพร้อม ๆ กันและเอื้ออำนวยต่อกัน ซึ่งขั้วทั้งสองนี้จะเรียกว่า “บุรุษ” และ “ศักติ” หรือ “ประกฤติ”ตัวอย่างสำคัญที่เราน่าจะรู้จักกันดีคือมี เทพฮินดูองค์หนึ่งที่มีนามว่า อรรธนารีศวร (Ardhanarisvara) มีร่างกายซีกหนึ่งเป็นพระศิวะ อีกซีกเป็นพระแม่ปารวตี ผู้เป็นศักติของพระองค์ เทพองค์นี้เป็นที่เคารพนับถือของผู้หลากหลายทางเพศเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างเพศเดียวกัน ประติมากรรมเชิงวิจิตรกามาบนวัดหลายวัดเช่นที่มีชื่อเสียงที่สุดคือขชุรโห ก็มีสำแดงไว้ไม่น้อย
ฉะนั้นการมองเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องผิดธรรมชาติหรือเป็นบาป เป็นไปได้ว่ามีที่มาจากความคิดยุคหลังที่มีอิทธิพลจากศาสนาฝั่งโลกตะวันตกมาผสมผสานบ้างแล้ว
การเดินขบวนไพรด์ครั้งแรกของอินเดียปี 1999
เมื่อเรามองพลังของกลุ่ม LGBT ในสังคมอินเดียปัจจุบัน จะพบว่ามีการจัดกิจกรรมรณรงค์และเคลื่อนไหวแสดงพลังกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น เช่นการจัดขบวนพาเหรดแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Parade) ก็ทำได้อย่างมีสีสันครึกครื้น และมีผู้ร่วมนับหมื่นแต่หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต การเดินขบวนไพรด์ครั้งแรกของอินเดียที่เกิดขึ้นในมลรัฐเบงกอลตะวันตกปี ค.ศ. 1999 หรือ 25 ปีมาแล้ว มีความแตกต่างกับยุคนี้มาก
กิจกรรมนี้เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1999 ณ เมืองโกลกาตา ริเริ่มโดย โอวาอิส ข่าน (Owais Khan) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และผู้เข้าร่วมเพียง 15 คนเท่านั้น แม้แต่ชื่อของกิจกรรมก็ไม่ได้เรียกว่า Pride March ตามความนิยม แต่ใช้คำว่า Friendship Walk แทนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา
งานนี้จงใจกำหนดเวลาให้ใกล้เคียงกับการเฉลิมฉลองระดับโลกเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการจลาจลที่สโตนวอลล์อินน์ในนิวยอร์ก ซึ่งจุดประกายการเคลื่อนไหวของ LGBT ในสหรัฐอเมริกา ทว่าความที่เดือนกรกฎาคมเป็นฤดูมรสุมในอินเดีย เมื่อเดินขบวนไปไม่นานฝนก็ตกลงมา ผู้ร่วมขบวน 15 คนในเสื้อยืดสีเหลืองสดใสที่มีรูปสามเหลี่ยมสีชมพูสั่งทำพิเศษก็เปียกชุ่มไปด้วยน้ำฝน
ในปี ค.ศ. 1999 การรักร่วมเพศยังคงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย เกย์ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ คือปิดบังอัตลักษณ์หรือรสนิยมของตนไว้ แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่อุทิศตนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งชุมชนขึ้นในบางเมือง
วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1999 โอวาอิส ข่านได้เสนอแนะท่ามกลางที่ประชุมว่าควรมีกิจกรรมบางอย่างเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์ในนิวยอร์ก เขาเสนอให้ตั้งขบวน “ปทยาตรา” (Padayatra - เดินเท้า) เล็ก ๆ ขึ้นมา
ข่านเผยว่า แรงบันดาลใจของเขาจากขบวนพาเหรดไพรด์ในเมืองต่างๆ เช่น นิวยอร์ก รวมทั้งการเดินขบวนเกลือ (Salt March) อันโด่งดังของมหาตมาคานธี ในช่วงการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียด้วย
เพื่อน ๆ สมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วยกับข่าน บางคนก็บอกว่า ตัวเองเคยถูกโจมตีว่าเป็นพวก “Attention Seeker” หรือที่ภาษาไทยตอนนี้มีศัพท์สแลงว่า “พวกหิวแสง” หรือเป็นพวกเอาแต่ลอกความคิดตะวันตก แน่นอนว่าหากเข้าร่วมขบวนลักษณะนี้ก็จะต้องมีเสียงไปในทางนั้นอีกเช่นกัน
แต่ข่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้การเดินขบวนเกิดขึ้น ในหนังสือ “Gulabi Baghi” ซึ่งรวบรวมบทความเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของบรรดา LGBT ในอินเดีย ข่านได้เขียนไว้ว่า ตอนนั้นเขากล่าวกับเพื่อน ๆ ว่า “เพื่อนเอ๋ย ยังไงการเดินขบวนก็ต้องเกิดขึ้น ต่อให้ฉันต้องเดินคนเดียว ฉันก็จะเดิน”
แต่การเดินขบวนโดยไม่มีเงินสนับสนุนเลยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ข่านตื่นขึ้นมาในเช้าวันนั้นด้วยจิตใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ เป็นกังวลว่าจะมีใครมาร่วมเดินขบวนหรือไม่ ในที่สุดก็ปรากฏว่ามีผู้สปิริตแรงกล้ามาเข้าร่วม 15 คน โดย 7 คนมาจากโกลกาตา และที่เหลือจากเดลีและมุมไบ และจากเมืองเล็ก ๆ เช่น บอนเกาน์ (Bongaon) และกูร์ซอง (Kurseong) ในมลรัฐเบงกอลตะวันตก แน่นอนว่าในเวลานั้นการเดินขบวนลักษณะนี้ไม่เป็นที่รู้จักในอินเดีย หญิงสูงอายุคนหนึ่งซึ่งเดินผ่านมาถามผู้เข้าร่วมคนหนึ่งว่าทำไมพวกเขาถึงเดินขบวน เขาบอกว่าพวกเขากำลังเรียกร้องสิทธิของตน หญิงชราได้แต่ส่ายหัวและกล่าวดัง ๆ ว่า รัฐไม่มีอะไรจะทำแล้วหรือจึงเอาแต่สอดมือเข้ามาสอดส่องควบคุมชีวิตส่วนตัวของผู้คน
หลังจากเดินขบวนครั้งแรก ผู้เดินขบวนก็แยกออกเป็นสองกลุ่ม และเข้าไปเยี่ยมชมองค์กรพัฒนาเอกชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของมลรัฐ เพื่อแจกโบรชัวร์ข้อมูล ปาวัน ธาล (Pawan Dhall) หนึ่งใน 15 คนที่เข้าร่วมขบวนเผยว่า พวกเขาได้พบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยคนหนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งรู้สึกงุนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในช่วงเวลาตอนบ่ายซึ่งมีสื่อมวลชนมาทำข่าว ก็ปรากฏว่า ในช่วงระหว่างการเดินนั้น ไม่มีผู้บันทึกภาพเอาไว้เลย เพราะไม่มีทุนทรัพย์จ้างตากล้องมาถ่าย ตกลงว่าผู้ร่วมขบวนไพรด์ทั้ง 15 คน จำต้องออกไปเดินซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้นักข่าวถ่ายรูป และรูปที่ออกมานี่แหละถึงได้นำไปลงในหนังสือพิมพ์
ในเวลานั้นไม่ใช่ว่าผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้เผยตัวตนกับครอบครัวและญาติของตนมาก่อน นวรุณ คุปตะ (Navarun Gupta) ซึ่งอาศัยอยู่ในแอตแลนตา แต่ไปเยี่ยมญาติที่โกลกาตาในวันนั้นเผยว่าตนแอบย่องมาร่วมเดินขบวน ญาติไม่รู้เลยว่าในวันนั้นตนหายไปไหน อีกรายหนึ่งคือ อาทิตยา โมห์โนต (Aditya Mohnot) ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ กล่าวว่า ที่วันนั้นเขาร่วมขบวนได้ก็เพราะพ่อแม่ไม่อยู่ แต่เขาไม่รู้เลยว่าภาพตัวเองจะไปปรากฏบนหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น พร้อมพาดหัวตัวโต ๆ ทำนองว่า “กลุ่มเพื่อน 15 คนร่วมเดินขบวนเกย์” นับว่าโมห์โนตยังโชคดีเพราะกลุ่มญาติและพ่อแม่ของเพื่อน ๆ ได้อ่านเรื่องราวของหนังสือพิมพ์แล้วถึงแม้จะรู้สึกตกใจบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ภาคภูมิใจในตัวเขา
ทว่าผู้ร่วมขบวนก็มิได้โชคดีทุกคน กรณีของ รอฟีเกล เดาจญะห์ (Rawfiquel Dowjah) เขามีเพื่อนบ้านคนหนึ่งเป็นสตรี ได้รู้จักครอบครัวของเขามาเนิ่นนานตั้งแต่ก่อนเขาเกิด ปรากฏว่าเมื่อเธอทราบเรื่อง เธอก็ตัดสายสัมพันธ์กับเขาทุกทาง เดาจญะห์เผยว่าเขารู้สึกเจ็บปวดมาก ทว่าเมื่อเขาได้เผยตัวออกมาแล้ว ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป
สำหรับข่านผู้ริเริ่มความคิด เขากล่าวว่าการเดินขบวนครั้งนี้เขาเคยรู้สึกว่าจะเป็นเพียงระลอกเล็ก ๆ ที่จางหายไปโดยไม่มีคนสังเกต แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็รู้สึกได้ถึงกระแสตอบรับ เขาพูดอย่างติดตลกว่า “15 คนนี่ก็พอใช้ได้แล้วนะ อย่างน้อยก็นับด้วยนิ้วมือไม่ถ้วน”
ปฏิกิริยาในทางบวกเริ่มเข้ามาจากหลากหลายประเทศ มีผู้เขียนจดหมายชื่นชมมาจากอเมริกา นอกจากนี้ในอินเดียก็มีกระแสชื่นชมเช่นกัน ปารเมศ ชาฮานี (Parmesh Shahani) นักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง Queeristan - LGBTQ Inclusion in the Workplace กล่าวว่า “การเดินขบวนครั้งนี้เผยให้เห็นว่าเราสามารถต่อสู้เพื่ออินเดียที่ดีกว่า และเป็นมิตรกับเพศทางเลือกมากกว่า อย่างเป็นที่ประจักษ์ ภาคภูมิใจ และเปิดเผยต่อสาธารณะ มันแสดงให้เราเห็นว่าการดำเนินกิจกรรมของเพศทางเลือกเป็นไปได้จริงในประเทศของเรา ไม่ใช่แค่เชิงนามธรรมเท่านั้น”
ครบรอบ 20 ปีของการเดินขบวนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999
ปี ค.ศ. 2019 ข่าน, ธาล, เดาจญะห์ และผองเพื่อน ได้จัดการเดินขบวนมิตรภาพแบบเดียวกันขึ้นอีกครั้ง เพื่อระลึกครบรอบ 20 ปีของการเดินขบวนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999 ทว่าในครั้งนี้ พวกเขารู้สึกเหมือนกับว่าตนเดินอยู่ในอีกประเทศหนึ่งเลย อินเดียต่างไปจากในเวลานั้นแล้วนับตั้งแต่ ค.ศ. 2018 การรักร่วมเพศไม่ใช่อาชญากรรมอีกต่อไป และไม่กี่ปีหลังจากนั้นศาลสูงสุดของอินเดียก็จะวินิจฉัยเรื่องกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าผลจะออกมาว่าศาลไม่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกันก็ตาม แต่ก็นับว่าอินเดียยังคงมีความหวัง หากมีการเคลื่อนไหวต่อไป
กรณีศาลสูงสุดของอินเดียกับกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน เราจะนำเสนอในรายการครั้งหน้า เพราะมีรายละเอียดมากพอสมควร
ส่วนบทสรุปของการเดินขบวนของข่านและผองเพื่อน ต้องนับว่าเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างแท้จริงเพราะพวกเขาต้องเดินท่ามกลางสายฝนเช่นเคย ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือสายตาของผู้คนที่มองเขา จากความงุนงงสงสัยเปลี่ยนเป็นความเข้าใจและยอมรับ เรื่องที่น่ายินดีอีกเรื่องคือ เพื่อนบ้านของเดาจญะห์ที่เคยตัดสัมพันธ์กับเขา ได้มาเคาะหน้าประตูบ้าน และกล่าวขอโทษเขาแล้ว หลังเฉยชากันมา 20 ปีเต็ม
เดาจญะห์กล่าวว่า “นี่แสดงให้เห็นว่า เราจะต้องยืนหยัดทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป แล้วผู้คนจะเข้ามาหาเราเอง ไม่วันนี้ก็ในอีก 20 ปีข้างหน้า”
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ