หนึ่งทศวรรษแห่งนโยบายต่างประเทศของโมดี

- ปกิณกะอินเดีย

รับฟังเสียง


หนึ่งทศวรรษแห่งนโยบายต่างประเทศของโมดี

เพลง Yeh Kahaan Aa Gaye Hum
เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Silsila ฉายในปี ค.ศ. 1981 คำว่า “silsila” แปลว่า การเชื่อมโยง ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับและผลิตโดยยศ โจปฑา (Yash Chopra) ดารานำก็เช่น ศศิ กะปูร์ (Shashi Kapoor) อมิตาภ ภัจจัน (Amitabh Bachchan) ชยา ภัจจัน (Jaya Bachchan) และ เรขา (Rekha) เพลงนี้ขับร้องโดยลตา มังเคศการ์ (Lata Mangeshkar) และอมิตาภ ภัจจัน

จริง ๆ แล้วอมิตาภ ภัจจัน ได้แค่พูด แต่เป็นการพูดในลักษณะศิลปะที่สอดคล้องกับเพลง เสียงของอมิตาภ ภัจจัน มีเสน่ห์มากเลย เนื่องจากเวลาของเรามีน้อย เลยต้องตัดเสียงอมิตาภ ภัจจันออกไป

สิ่งหนึ่งที่เราสองคนมักไม่ได้พูดถึงเวลาเราเปิดเพลงคือผู้แต่งเนื้อร้อง ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างเช่นเนื้อร้องที่สละสลวยแบบเพลงนี้ประพันธ์โดยกวีผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียชื่อชเวท อัคตาร์ (Javed Akhtar) หากมีโอกาสก็จะขออุทิศบางตอนของรายการปกิณกะอินเดียให้กวีอินเดียหลายคนที่น่าจดจำ

ดังที่บอกไปแล้วว่า เนื้อเพลงช่างสละสลวยกินใจ จึงขออนุญาตแปลท่อนที่เราเปิดไป

Yeh kahan aa gaye hum
นี่เรามาอยู่ ณ จุดใดแล้ว
Yunhi saath saath chalte
เดินด้วยกันมานานแล้ว
Teri baahon mein hai jaanam
ในอ้อมแขนที่รักของฉัน
Mere jism-o-jaan pighalte
ร่างกายและจิตหลอมละลาย

ทำไมต้องเปิดเพลงนี้ ไม่มีเหตุผลอะไรเลย เว้นแต่ชอบเท่านั้น

งานปาฐกถาโดยนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน (นาที 5)
แม้วันนี้หัวข้อของเราคือ “หนึ่งทศวรรษแห่งนโยบายต่างประเทศของโมดี” แต่ผมว่าเราควรพูดถึงงานปาฐกถาโดยนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมาก่อน คือผมมองว่าเหตุที่ต้องพูดถึงงานปาฐกถาก่อน ก็เพราะว่างานนี้ประสบความสำเร็จมาก

ปาฐกถาครั้งนี้จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตภูฏานประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศไทย

ในส่วนของจุฬาฯ แม่งานคือสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ นำโดย รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ งานนี้ผู้บริหาร 2 คนสำคัญของจุฬาฯ ก็เข้าร่วมด้วย สองคนที่ว่านี้คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ

ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จได้ ต้องชื่นชมการทำงานของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และชาวจุฬาฯ ทุกคนที่ช่วยกันจัดงาน คือผมเห็นทุกคนอุทิศตนให้งานนี้อย่างเต็มที่

อีกส่วนหนึ่งผมว่าก็เพราะเนื้อหาที่ท่านดาโช เชริง โตบเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีภูฏานได้กล่าวไว้ในปาฐกถาครั้งนี้ดีมาก ๆ สำหรับผม นี่คือปาฐกถาที่สำคัญมาก อย่างน้อยที่สุดก็กระตุ้นให้เราต้องพินิจพิเคราะห์การดำเนินงานหรือแม้แต่กระทั่งการดำเนินชีวิตของเรา
สรุปเนื้อหาสำคัญของท่านนายกภูฏานในหัวข้อ “Enlightened Leadership” หรือ “ภาวะผู้นำที่รู้แจ้ง”
มุ่งเน้นส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติสำคัญที่จำเป็นต้องมีในภาวะผู้นำ กล่าวคือ ภูมิปัญญา ความกล้าหาญ และความเมตตากรุณา นายกรัฐมนตรีโตบเกย์ย้ำเตือนว่าภาวะผู้นำคือภูมิปัญญาและวิสัยทัศน์ในการมองเห็นสิ่งที่ดีกว่าเป็นอยู่ในปัจจุบัน และมีความกล้าหาญที่จะก้าวเดินไปยังจุดที่ดีกว่านั้น พร้อมทั้งมีความเมตตากรุณาที่จะพาทุกคนไปพร้อมกัน ด้วยความเสียสละและปราศจากความเห็นแก่ตัว

จากนั้นท่านนายกฯ ภูฏานก็ได้ถ่ายทอดคติความเชื่อของชาวภูฏานเกี่ยวกับบรรดาพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นผู้นำในอุดมคติที่จะพาสรรพสัตว์ออกจากวัฏสงสาร ลำดับต่อมาได้ยกย่องภาวะผู้นำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 แห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ทรงนำพาประเทศชาติและประชาชนไทยพ้นวิกฤติหลายครั้งหลายครา และสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ผู้ทรงเป็นผู้นำความคิดในการพัฒนาที่ยั่งยืน พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงทำเพื่อประเทศชาติโดยปราศจากความเห็นแก่ความสุขส่วนพระองค์ นับว่าเป็นผู้นำผู้รู้แจ้งอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏานได้เน้นย้ำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักและภาคภูมิใจความเป็นผู้นำประชาคมโลก หลังจากจบปาฐกถาแล้ว นายกรัฐมนตรีโตบเกย์จึงได้ตอบคำถามจากผู้ฟังเกี่ยวกับภาวะผู้นำอีกหลายข้อ ซึ่งผมมองว่าท่านเป็นผู้นำที่ใจกว้าง และมีความรู้ความสามารถที่โดดเด่นมาก
นโยบายต่างประเทศของโมดีในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (นาที 10.45)
[หัวข้อของเราในวันนี้มาจากผู้ฟังของเรา คือมีนายทหารจากวิทยาลัยเสนาธิการทหารบกขออาจารย์มา]

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปฏิเสธมิได้ว่า เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าอัศจรรย์ทั้งในด้านขนาดและขอบเขตของการเมืองโลก ในอินเดียก็เช่นกัน การเมืองก็ประสบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศของอินเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่เพียงนั้น นายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ยังมองเห็นว่าเรื่องภายนอกนั้นสัมพันธ์กับอินเดียโดยตรง ดังนั้นการนำพาอินเดียที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การเลือก ดร. เอส ชัยศังกร (Dr. S. Jaishankar) อดีตนักการทูต เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนที่สองของเขาในปี ค.ศ. 2019 ทำให้อินเดียสามารถฝ่าฟันสภาพแวดล้อมโลกที่มีปัญหาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้

เมื่อโมดีเข้ารับตำแหน่งในปี ค.ศ. 2014 บรรดาคอการเมืองจำนวนหนึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงตำหนิว่าเขาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ที่ขาดประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศ วิพากษ์กันด้วยว่าภูมิหลัง “ชาตินิยมฮินดู” ของโมดีจะเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ของอินเดียกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกับโลกอิสลาม ทว่าในความเป็นจริงแล้ว โมดีได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้วิพากษ์วิจารณ์เขา โดยการนำนโยบายต่างประเทศเชิงปฏิบัติที่มีศูนย์กลางอยู่ที่หลัก “อินเดียต้องมาก่อน” มาใช้

แน่นอนว่าการผงาดขึ้นของอินเดียในฐานะตัวแสดงที่น่าเกรงขามในการเมืองโลกนั้นส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระเบียบระหว่างประเทศเช่นกัน ความสมดุลของอำนาจที่เปลี่ยนไปและความท้อแท้ที่เพิ่มมากขึ้นกับจีนในโลกตะวันตกได้หันความสนใจของทั่วโลกไปยังอินเดีย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ผนวกกับจำนวนประชากรที่มากและตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ในอินโดแปซิฟิกจึงทำให้ผู้คนพูดกันเยอะมากว่าอินเดียจะเป็นทางเลือกแทนจีน

ซึ่งผมไม่มองแบบนั้นทั้งหมด ส่วนหนึ่งเพราะขนาดเศรษฐกิจของจีนยังใหญ่กว่าอินเดียมาก อีกส่วนหนึ่งก็มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า การผงาดขึ้นมาของประเทศใดประเทศหนึ่งก็มิได้หมายความว่าอีกประเทศต้องตกต่ำลงไป ในประวัติศาสตร์มีการผงาดขึ้นมาเป็นคู่ขนานด้วย
สารัตถะสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของโมดีในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
ผมมองว่าจริง ๆ แล้วมีแค่ประเด็นเดียวเท่านั้น นั่นคือ อินเดียมีนโยบายการต่างประเทศเชิงปฏิบัติอย่างชัดเจน ขอพูดเป็นข้อ ๆ เพื่ออธิบายว่า นโยบายการต่างประเทศเชิงปฏิบัติของอินเดียคืออะไร

ข้อแรกคือ ความมุ่งมั่นของอินเดียภายใต้โมดีที่จะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น

อาจสรุปโดยภาษาที่เรียบง่ายว่า อินเดียไม่ประสงค์ที่จะมีบทบาททำตามกฎกติการะหว่างประเทศเท่านั้น อินเดียประสงค์อย่างชัดเจนที่จะมีบทบาทในการกำหนดกฎเกณฑ์ของโลกด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต กล่าวได้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียได้สลัดภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ปฏิเสธอย่างไม่สิ้นสุดในการเมืองระดับโลก ปัจจุบันโลกมองอินเดียเป็นประเทศที่เต็มใจอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโลก

ใคร่ขยายความตรงนี้ด้วยว่า เวลาพูดถึงนโยบายเชิงปฏิบัติหมายถึงอะไร ในทศวรรษที่ผ่านมา ความแตกแยกระหว่างนโยบายภายในประเทศกับนโยบายต่างประเทศได้พร่าเลือนลง จุดสนใจหลักของอินเดียยังคงเป็นการพัฒนาภายในประเทศ ซึ่งต้องใช้แนวทางการทำงานร่วมกันที่ครอบคลุม การทูตของอินเดียจึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเหล่านี้ โดยส่งเสริมจุดยืนเชิงปฏิบัติในการเข้าถึงภายนอกของนิวเดลี แม้ว่าความร่วมมือจะมีความสำคัญ แต่ใคร่เน้นว่าความต้องการของอินเดียกลับเป็นตัวกำหนดการมีส่วนร่วมมากกว่าอุดมการณ์ แนวทางเชิงปฏิบัตินี้เห็นได้ชัดเจนจากความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งของอินเดียกับตะวันตก และความร่วมมือที่ยั่งยืนกับรัสเซีย ท่ามกลางวิกฤตยูเครนที่ซับซ้อน แท้จริงแล้ว อินเดียได้ป้องกันการมีส่วนร่วมทั่วโลกของตนจากความวุ่นวายโดยรอบได้อย่างดี

ข้อที่สองคือ “เพื่อนบ้านต้องมาก่อน” หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Neighborhood First”

สะท้อนมุมมองระดับภูมิภาคของรัฐบาลโมดีที่พยายามส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค โดยตระหนักถึงความสำคัญของละแวกใกล้เคียงที่ปลอดภัย และให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาและความมั่นคงโดยรวมของอินเดีย การเข้าถึงประเทศเพื่อนบ้านของโมดีมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมายาวนาน และส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ตรงนี้ทั้งหมดย่อมเห็นได้จากหลายเรื่องในร่มนโยบาย “Act East” ซึ่งพยายามกระชับความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลพลอยได้ประการหนึ่งก็คือการตอบโต้อิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้

ข้อที่สามซึ่งสัมพันธ์กับข้อที่สองคือ จุดเน้นของนโยบายเอเชียใต้ของนิวเดลี

คือเปลี่ยนจากประเด็นปากีสถานที่ครอบงำมาเป็นเวลานานไปสู่ภูมิศาสตร์ทางทะเลของอ่าวเบงกอลที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ทำให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้นระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตรงนี้ผู้ฟังทั้งหลายอย่าละเลยความสำคัญของบิมสเทค

เผื่อผู้ฟังยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า “บิมสเทค” คือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ บิมสเทคเป็นองค์การภูมิภาค มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ 1. บังคลาเทศ 2. ภูฏาน 3. อินเดีย 4. พม่า 5. เนปาล 6. ศรีลังกา 7. ไทย ปี 2024 ประเทศไทยเป็นประธาน น่าจะสักเดือนกันยายนปีนี้ที่เราจะเห็นการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำที่ประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศไทยก็ดูจะแข็งขันกับเรื่องบิมสเทคอยู่ไม่น้อย แต่ผมยังอยากเห็นกระทรวงการต่างประเทศไทยแข็งขันมากกว่านี้ ข่าวดีข้อหนึ่งก็คือ ดร. สุนทร ชัยยินดีภูมิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากไทย ซึ่งเป็นอดีตนักการทูตไทย ก็จริงจังกับการเป็นประธานในการประชุมหลายต่อหลายครั้ง เพื่อช่วยทำให้บิมสเทคเป็นที่พึ่งพาของเราได้

วกกลับมาที่นโยบายการต่างประเทศของโมดีอีกครั้ง ผมมองว่าการขจัดปากีสถานออกจากสมการอินเดียนับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลโมดีในทศวรรษที่ผ่านมา เพราะทำให้อินเดียมุ่งเน้นไปที่ความท้าทายเชิงยุทธสาสตร์ที่สะท้อนผลประโยชน์แห่งชาติของอินเดีย

ข้อที่สี่ ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียยืนหยัดเพียงลำพังในการไม่ยอมรับโครงการ BRI ของจีน และตอบโต้การรุกรานทางทหารของจีนอย่างแข็งขัน

อินเดียร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่ไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรเต็มรูปแบบ ในเวลาเดียวกัน อินเดียได้ร่วมมือกับชาติตะวันตกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถภายในประเทศ แนวทางเชิงปฏิบัตินี้ได้ใช้ประโยชน์จากความสมดุลของอำนาจที่มีอยู่เพื่อความได้เปรียบของอินเดีย ในปัจจุบัน เป้าหมายหลักของอินเดียคือการเสริมสร้างขีดความสามารถในทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความชัดเจนกับพันธมิตรทั่วโลก

รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ

(Live) รายการ ยิ้มแย้มแก้มใส