เพลง Koi Bole Ram Ram
หลายท่านอาจจำเพลงนี้ได้แบบคลับคล้ายคลับคลา ขอบอกว่าใครจำได้ว่าเพลงนี้เคยเปิดมาก่อนแล้ว ต้องขอแสดงความชื่นชมมากครับ ท่านคือแฟนรายการปกิณกะอินเดียตัวจริง เพราะเราเปิดเพลงเดียวกันนี้ในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งไปเมื่อ 5 ปีก่อน ในตอนที่ออกอากาศเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2562
ในตอนนั้นเป็นปีครบรอบ 550 ปีคุรุนานักสมภพ เพลงที่เราเปิดเป็นเวอร์ชั่นคุรบานี ที่ขับร้องแบบดั้งเดิม ประกอบเครื่องดนตรีปัญจาบดั้งเดิม สมัยนั้นเราเปิดเพลงกันยาวมากจนจบเพลง มาทุกวันนี้เราลดทอนเพลงลงมาเปิดแค่ประมาณตอนละ 1 นาที เพราะเราพบว่าการเปิดเพลงยาวเกินไปทำให้เรามีเวลาพูดเนื้อหาสาระน้อยไปหน่อย
เวอร์ชั่นที่เราเปิดในวันนี้เป็นแบบใหม่ขึ้นมาอีก คือประกอบเครื่องดนตรีไวโอลินที่บรรเลงโดยนาสตยะ สรัสวตี (Nastya Saraswati) ขับร้องโดยหัรคุณ กอร์ (Hargun Kaur) เป็นการผสมผสานที่ลงตัวสวยงาม เพราะเสียงไวโอลินก็แว่วหวาน เสียงขับร้องก็กลมกล่อมไพเราะยิ่ง ที่จริงถ้าเรามีเวลาเปิดยาวต่อไปอีกจะได้ฟังท่อนโซโลไวโอลิน ประสานคลอกับเชลโล่ และฮาร์ปด้วย โดยนาสตยะ สรัสวตีเหมาเล่นทุกอย่างเลย นับว่าเธอมีพรสวรรค์มาก
อยากให้ผู้ฟังรับรู้ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งด้วยว่า ดนตรีเป็นมิติสำคัญยิ่งทางศาสนาซิกข์ เป็นเหมือนชีวิตจิตวิญญาณของชาวซิกข์เลยก็ว่าได้ การขับร้องคุรบานี อันหมายถึงบทเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าคือวิถีประจำศาสนา ซึ่งศาสดาของซิกข์ทุกองค์ก็ล้วนแต่ทรงชื่นชมดนตรีทั้งสิ้น
สำหรับเนื้อหาเพลง Koi Bole Ram Ram นั้นเราอธิบายไว้ละเอียดเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งผมแปลไว้เป็นคำประพันธ์กาพย์ยานีด้วย แต่ ณ ที่นี้ขออธิบายแต่เพียงสังเขปว่า เพลงนี้สื่อถึงการที่มนุษย์เรามีรูปแบบการบูชาที่หลากหลาย บ้างก็เรียกนามพระเจ้าว่าราม บ้างก็เรียกว่าพระอัลลอฮ์ บ้างก็ไปแสวงบุญที่คงคา บ้างก็ไปเมกกะ บ้างก็สวดพระเวท บ้างก็สวดอัลกุรอาน แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็พระเจ้าแท้จริงแห่งสกลจักรวาลองค์เดียวกันทั้งสิ้น
[ท่านผู้ฟังคงจำได้ดีว่าเมื่อตอนจบรายการคราวที่แล้วพวกเราได้ประชาสัมพันธ์งาน “555 พรรษา คุรุนานักสมภพ” ในช่วงท้ายรายการ คงไม่มีหัวข้อใดเหมาะกับการนำเสนอในรายการมากกว่าเรื่องของท่านศาสดาคุรุนานัก แต่เนื่องจากในรายการ 5 ปีก่อนเราได้พูดถึงเรื่องของท่านไปแล้วโดยสังเขป ซึ่งสามารถย้อนกลับไปฟังได้ คลิก https://curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=8981 ดังนั้นในวันนี้เราก็คงไม่ต้องกล่าวซ้ำถึงชีวประวัติของท่านคุรุนานัก แต่ก็จะนำเรื่องราวบางเรื่องที่เล่าขานกันมาในหมู่ชาวซิกข์เกี่ยวกับท่านศาสดามาเล่าให้ฟัง]
เรื่องที่เล่าขานกันมาในหมู่ชาวซิกข์เกี่ยวกับท่านศาสดาคุรุนานัก (นาที 6)
เรื่องแรกเป็นเหตุการณ์สมัยคุรุนานักอายุได้ 18 ปี
บิดาของท่านคือเมห์ตา กาลู (Mehta Kalu) ส่งท่านเข้าไปทำค้าขายในเมือง เพราะบิดาท่านเห็นว่าหนุ่มน้อยนานักไม่ค่อยชื่นชอบการไถหว่านพรวนดินในนาเท่าไรนัก ถ้าส่งไปค้าขาย พบปะเจรจากับผู้คนน่าจะดีกว่า ครั้นเมื่อเลือกฤกษ์งานยามดีได้แล้ว บิดาก็ส่งท่านนานักออกไป โดยใช้ให้ไป๋มัรดานายี (Bhai Mardana ji) เป็นเพื่อนร่วมทางบุตรชายไปด้วย ไป๋มัรดานายีคนนี้ก็คือเด็กที่โตมาในหมู่บ้านเดียวกัน อายุมากกว่าคุรุนานักสิบปี และเป็นผู้ติดตามท่านนานักไปไหนมาไหนเสมอ เรามักเห็นภาพเขาบ่อยๆ เคียงคู่กับท่านนานัก โดยที่เขาเป็นผู้บรรเลงพิณรอบาบบิดาส่งเงินให้ทั้งคู่จำนวนยี่สิบรูปี กำชับกำชาด้วยว่า “พวกเจ้าจงออกไปซื้อหาสินค้าดี ๆ มาขายทำกำไร ถ้าทำกำไรดี ครั้งหน้าพ่อจะให้ทุนซื้อของมากขึ้นอีก” ทั้งคู่ก็รับคำสั่ง เดินทางออกไปจากตัลวันดี (Talwandi) สู่จูฮาร์ขานา (Chooharkhana) ออกจากหมู่บ้านไม่ทันไร ยังไม่ทันสิ้นระยะหนึ่งโยชน์ ก็ไปพบกับหมู่บ้านเข้าแห่งหนึ่ง คนในหมู่บ้านกำลังอดอยากหิวโหย ขาดน้ำ และเผชิญภัยจากโรคติดต่อ
คุรุนานักที่เพิ่งอยู่ในวัย 18 ปีกล่าวกับไป๋มัรดานายีว่า “คุณพ่อกำชับมาว่าให้พวกเราไปค้าขายทำกำไร ไม่มีอะไรที่จะกำไรดีไปกว่าการให้อาหารและเสื้อผ้าแก่ผู้ขาดแคลนอีกแล้วล่ะ โอกาสนี้เป็นโอกาสตักตวงกำไรที่หาได้ยากยิ่งนัก”
สรุปแล้วในวันนั้น หนุ่มน้อยนานักกับไป๋มัรดานายีก็เลยไปจัดแจงหาอาหารหาน้ำมาจากหมู่บ้านอื่นอย่างเต็มที่เท่าที่จะหาได้ เงินส่วนที่เหลือจากซื้ออาหารและน้ำก็ยังไปซื้อเสื้อผ้ามาอีก เงินยี่สิบรูปีซึ่งสมัยนั้นนับว่ามากพอประมาณก็เลยหมดเกลี้ยงไปกับการซื้ออาหาร น้ำ และเสื้อผ้ามาแจกจ่ายชาวบ้านที่ประสบทุพภิกขภัย โดยไม่ได้อะไรตอบแทนคืนมาแม้แต่สักแปสา (สตางค์แดง) เดียว
สิ่งที่คุรุนานักทำในตอนนั้น ถ้าจะให้เทียบกับแนวคิดในภายหลัง ก็ไม่ต่างอะไรกับคุรุลังคาร (Guru ka langar) นั่นเอง
ครั้นเมื่อกลับมาถึงใกล้หมู่บ้านตนเองที่ตัลวันดี ท่านคุรุก็คงจะเกรงท่านบิดาหัวเสียมากเกินไปถึงขั้นลงไม้ลงมือ ก็เลยบอกให้ไป๋มัรดานายีไปรายงานคนเดียว ตัวท่านเองจะนั่งคอยที่บ่อน้ำนอกหมู่บ้าน คงจะหวังว่าระยะทางจากบ้านมาที่บ่อน้ำจะช่วยให้บิดาใจเย็นลงบ้าง ตามที่ท่านคาด บิดาโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงทีเดียว มีอย่างที่ไหน ให้เงินไปตั้งยี่สิบรูปี แต่กลับเอาไปแจกจ่ายคนอื่นจนกลับมามือเปล่าเสียได้ ในสายตาของเมห์ตา กาลู เขาไม่เข้าใจ “กำไร” ใด ๆ นอกเหนือจากผลตอบแทนเป็นตัวเงินหรอก
หนุ่มน้อยนานักพยายามขอให้ท่านพ่อสงบสติอารมณ์ลง อย่าโกรธท่านเลย เพราะว่าสิ่งที่ท่านได้ทำไปนั้น ท่านขอเรียกมันว่า “สัจจาสอทา” (Sacha Sauda) กล่าวคือ “การค้ากำไรที่แท้จริง” กำไรที่ได้มานั้นไม่ใช่ตัวเงินอย่างที่พ่อหวัง แต่คือการให้ผู้คนหิวโหยได้อิ่มท้อง ให้ผู้คนขาดแคลนได้มีพอประทังชีวิต ไม่มีกำไรอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่านี้แล้ว
เรื่องที่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงมากอีกเรื่องหนึ่ง
ในคราวหนึ่ง ท่านคุรุนานักผู้ได้จาริกแสวงบุญไปทั่วดินแดนและเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ได้ไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในที่นั้นมีช่างไม้ยากจนคนหนึ่งชื่อ ไป๋ลาโล (Bhai Lalo) ได้เชื้อเชิญให้ท่านไปพำนักอยู่ที่กระท่อมของตน ซึ่งท่านก็ไปด้วยความเต็มใจยิ่ง ไป๋ลาโลมีแต่โรตีหยาบ ๆ ไม่ได้มีอาหารหรูหราอะไรเลย แต่ท่านนานักก็ยังรับประทานอย่างชื่นบานคราวนี้มีข้าราชการร่ำรวยคนหนึ่งชื่อ มาลิกป๋าโค (Malik Bhago) เป็นคนที่ได้ทรัพย์สินเงินทองมาจากการขูดรีด เขามักจะเอาหน้าด้วยการที่เวลามีนักบวชสำคัญ ๆ มาเยือนท้องถิ่น เขาจะเชื้อเชิญไปที่บ้านและจัดอาหารอย่างหรูหราถวาย กล่าวอย่างเข้าใจง่ายก็คือเป็นคนมือถือสากปากถือศีล ในวันนั้นเมื่อทราบข่าวคุรุนานักมาที่หมู่บ้าน มาลิกป๋าโคก็ให้ข้ารับใช้ไปเชิญท่านจากกระท่อมไป๋ลาโล โดยเชื่อว่าท่านคุรุนานักคงพอใจอยู่บ้านเขามากกว่ากระท่อมโทรม ๆ ปรากฏว่าผิดคาด ท่านนานักปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
มาลิกป๋าโคโกรธมาก เพราะเขามีอหังการอยู่เต็มเปี่ยม ท่านนานักทำให้เขาเสียหน้าด้วยเพราะมีคนมารอพบท่านอยู่ที่บ้านเต็มไปหมดเพื่อสนทนาปราศรัยกับท่าน มาลิกป๋าโคเลยส่งคนรับใช้ไปตามท่านนานักมาให้ได้ คราวนี้ท่านยอมมาพร้อมกับไป๋ลาโล พอพบหน้า มาลิกป๋าโคก็ถามอย่างไม่พอใจทันทีว่า “ไฉนท่านครูปฏิเสธงานเลี้ยงของผม บ้านผมมีอาหารดี ๆ มากมาย แต่ท่านไปพอใจรับประทานโรตีหยาบ ๆ”
คุรุนานักจึงเอ่ยปากขอขนมแป้งจี่อันอ่อนนุ่มจากในบ้านมาลิกป๋าโคมาชิ้นหนึ่ง ต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก ท่านได้ถือขนมนั้นไว้ในมือข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งถือโรตีหยาบ ๆ ที่ท่านพกมาจากกระท่อมไป๋ลาโล ท่านใช้มือบีบคั้นขนมทั้งสองชิ้นนั้น ปรากฏว่า ในมือข้างที่ถือขนมของมาลิกป๋าโค สิ่งที่ไหลออกมาคือหยาดโลหิต แต่ข้างที่ถือโรตีหยาบ ๆ นั้น สิ่งที่ไหลออกมาคือน้ำนมบริสุทธิ์ มาลิกป๋าโคตกใจมาก หาว่าท่านเล่นกลให้เขาดู ท่านคุรุตอบว่า “เงินของท่านได้มาจากการสูบเลือดสูบเนื้อคนอื่น ส่วนของไป๋ลาโลมาจากหยาดเหงื่อแรงงานอันบริสุทธิ์ของเขาเอง อาหารอันประณีตของท่านแปดเปื้อนด้วยโลหิต เราสู้กินอาหารง่าย ๆ ที่ได้มาจากแรงงานบริสุทธิ์เสียดีกว่า” ตั้งแต่นั้นมา มาลิกป๋าโคก็กลับใจ กลับสู่หนทางที่ถูกต้อง
เรื่องที่สาม เป็นเรื่องเมื่อท่านคุรุนานักจาริกไปสู่ทุ่งราบกุรุเกษตร ซึ่งเป็นสมรภูมิครั้งมหาภารตะ
ในขณะนั้นพวกฮินดูมีความเชื่อกันว่าเมื่อมีสุริยคราสและจันทรคราส เป็นโอกาสที่ต้องไปรวมตัวกันอาบน้ำคงคาและบำเพ็ญทาน เพื่อจะให้ราหูปลดปล่อยพระอาทิตย์และพระจันทร์ ช่วงนั้นเกิดสุริยคราสพอดี ก็มีนักจาริกแสวงบุญไปรวมตัวกันมากที่กุรุเกษตร ท่านคุรุนานักก็เจตนาไปปรากฏตัวที่นั่นด้วยในขณะนั้น มีกษัตริย์องค์หนึ่งผ่านทางมาพร้อมด้วยบริวาร ทรงเห็นคุรุนานักนั่งขับบทกีรตันอยู่พร้อมด้วยไป๋มัรดานายีที่เล่นรอบาบ กษัตริย์องค์นั้นเกิดความเลื่อมใสก็เลยบัญชาให้มหาดเล็กจัดแจงย่างกวางที่ล่ามาระหว่างทางเพื่อถวายให้ท่านคุรุนานัก คราวนี้เลยเกิดเรื่อง เพราะพวกนักแสวงบุญที่มารวมตัวกันในที่นั้นได้กลิ่นเนื้อย่างและเห็นควันโขมง รู้ว่ามีคนมาปรุงเนื้อสัตว์ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ต่างคนต่างก็ไม่พอใจ รวมตัวกันจับมีดพร้ากะท้าขวานมาตามหาคนที่บังอาจทำเรื่องไม่ดีไม่งามเช่นนี้ พอพบท่านคุรุนั่งอยู่ข้างกองไฟที่ย่างกวาง พวกเขาก็ขู่ว่าจะฆ่าท่านเสีย
ท่านคุรุนานักไม่รู้สึกหวาดกลัวเลย ท่านตอบไปว่า “ก็ในเมื่อการปรุงเนื้อสัตว์ในช่วงสุริยคราสเป็นบาป แล้วการฆ่าคนจะเป็นการกระทำบุญได้หรือ” พวกนักแสวงบุญก็อึ้งไป คุรุนานักจึงกล่าวว่า “หากพวกท่านประสงค์จะอภิปรายเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์ ก็จงไปเชิญพวกบัณฑิตและสันยาสีของพวกท่านมา” พวกเขาก็ไปเชิญมาตามที่ท่านขอ แล้วการโต้วาทะเกี่ยวกับเรื่องเนื้อสัตว์ก็เกิดขึ้น
พวกบัณฑิตและพวกสันยาสียืนกรานว่า คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของฮินดูห้ามการรับประทานเนื้อสัตว์ และบรรพบุรุษของชาวฮินดูก็ไม่กินเนื้อสัตว์กันมานาน แต่ท่านคุรุนานักเคยศึกษาศาสนาฮินดูมาในระดับลึก ท่านบอกว่า ในคัมภีร์พระเวทของชาวอารยันโบราณ ระบุถึงการเชือดสัตว์ถวายในพิธียัชญ์ (yajna) หรือที่คนไทยชอบเรียกกันว่าการบูชายัญ พวกบัณฑิตและสันยาสีก็ต้องยอมจำนนด้วยหลักฐานเพราะคัมภีร์กล่าวไว้เช่นนั้นจริง
ตรงนี้ขอให้ทุกท่านเข้าใจด้วยว่า ท่านคุรุนานักไม่ได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ต้องกินเนื้อสัตว์กันนะครับ ท่านเพียงแต่ต้องการวิพากษ์ความมือถือสากปากถือศีล หรือความหน้าซื่อใจคด (ที่ภาษาอังกฤษเรียก hypocrisy) ก็เท่านั้นแหละ ในทัศนะของท่านคุรุนานัก การกินมังสวิรัติหรือการกินเนื้อสัตว์นั้นก็ดีเท่า ๆ กัน ตราบใดที่อาหารนั้นได้มาอย่างชอบธรรม แน่นอน การกินมังสวิรัติก็ดีต่อสุขภาพ ดีต่อระบบการย่อย แต่เราจะไม่กล่าวว่าผู้กินมังสวิรัตินั้นบริสุทธิ์กว่าผู้กินเนื้อ หรือในทางกลับกันแต่อย่างใด
ขอเสริมในประเด็นนี้ด้วยว่า ในกลุ่มชาวซิกข์เองก็มีความเชื่ออย่างหลากหลาย บางกลุ่มก็เคร่งครัดกับการรับประทานมังสวิรัติก็มี แต่โดยทั่วไปมักไม่ได้ถือเคร่งอะไร ยกเว้นเพียงประการเดียวที่ปฏิบัติกันทั่วหน้าคือ อาหารในโรงครัวพระศาสดาต้องเป็นอาหารมังสวิรัติเสมอ ที่เป็นเช่นนี้มีเหตุผลสำคัญเพียงประการเดียวเท่านั้นคือ โรงครัวพระศาสดามีเพื่อผู้คนทุกเพศทุกวัยทุกชาติทุกศาสนา บางศาสนาก็มีข้อห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะทุกชนิดหรือจำเพาะบางชนิด การที่โรงครัวพระศาสดาบริการอาหารมังสวิรัติก็เพื่อที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องหลักความเชื่อใด ๆ นั่นเอง
[ประชาสัมพันธ์] งาน 555 พรรษา คุรุนานักสมภพ
จะมีงานสำคัญเกี่ยวกับศาสนาซิกข์ งานนี้มีชื่อว่า “555 พรรษา คุรุนานักสมภพ” ในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน และวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2567 จัดโดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา, ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567 เวลา 08.30 – 16.00 น. พิธีเปิดนิทรรศการ และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมชาวซิกข์ พร้อมรับประทานอาหารกลางวันแบบอินเดีย
วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 – 12.00 น. การเสวนาในหัวข้อ “ซิกข์คืออะไรที่ไทยยังไม่รู้จัก” โดยคณะวิทยากรจากสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา และคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้อง 707 ชั้น 7 อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมรับประทานอาหารว่างแบบอินเดีย
วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.00 – 17.00 น. ชมภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Kesari และร่วมเสวนา ณ ห้อง 301 ชั้น 3 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมรับประทานอาหารว่างแบบอินเดีย
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ