การนำเสนอของนิสิตวิชาอินเดียร่วมสมัย ปี 2567 (ตอนที่ 1)

- ปกิณกะอินเดีย

รับฟังเสียง


การนำเสนอของนิสิตวิชาอินเดียร่วมสมัย ปี 2567 (ตอนที่ 1)

เพลง Jap Pyar Kiya Hai To Darna Kya
เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Mughal-e-Azam แปลเป็นไทยก็จะประมาณว่า มุฆัลที่ยิ่งใหญ่ มุฆัลก็คือโมกุลที่ชาวไทยนิยมเรียกมากกว่า แต่จริง ๆ แล้วควรเป็นมุฆัล

ถ้าว่าตามตัวสะกดเดิมที่ใช้อักษรเทวนาครีก็ต้องเป็นเช่นนั้น เขาจะใช้ตัว ग़ แบบมีจุดข้างใต้ ซึ่งออกเสียงแบบตัว غ ในภาษาอาหรับ เพราะเป็นคำที่รับจากภาษาเปอร์เซีย แต่การที่หลายคนสับสนเพราะอักษรภาษาอังกฤษที่ใช้ Mogul หรือ Mughal สับเปลี่ยนกันตามสมัยนิยม Mogul เป็นตัวสะกดแบบเก่า ซึ่งจริง ๆ ฝรั่งก็ไม่ได้ออกเสียงเป็นสระอุแต่อย่างใด จะอ่านเป็น โม-เกิ้ล มากกว่า

ภาพยนตร์ Mughal-e-Azam ออกฉายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1960 ภาพยนตร์เรื่องนี้อำนวยการผลิตและกำกับโดยเค. อะซีฟ (K. Asif) ดารานำก็ระดับแนวหน้าทั้งนั้น เช่น ปฤถวิราช กะปูร์ (Prithviraj Kapoor) ทิลิป กุมาร (Dilip Kumar) มธุพาลา (Madhubala) และทุรคา โขเฏ (Durga Khote)

ภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นภาพยนตร์คลาสสิกเรื่องสำคัญของอินเดียเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญคือทำรายได้ได้อย่างมากมายนับเป็นประวัติการณ์เลย ถ้าผมจำไม่ผิด ภาพยนตร์ Mughal-e-Azam น่าจะเป็นภาพยนตร์ฮินดีขาวดำเรื่องแรกที่นำมาทำเป็นภาพยนตร์สีโดยระบบดิจิทัล เวอร์ชันสีน่านำมาฉายในปี ค.ศ. 2004 ประมาณ 44 หลังเวอร์ชันขาวดำออกฉาย

เพลงที่เรานำมาเปิดมีชื่อว่า “Jap Pyar Kiya Hai To Darna Kya” ขับร้องโดยลตา มังเคศการ์ (Lata Mangeshkar) นี่ก็จะน่าจะเป็นเพลงที่สุดคลาสสิกเพลงหนึ่ง ทุกวันนี้ก็ยังนิยมชมชอบกันมาก

พอแปลแบบหอมปากหอมคอให้ผู้ฟังกันสักหน่อย
Pyar kiya toh darna kya
จะกลัวทำไมถ้าเรารักใคร
Jab pyar kiya toh darna kya
จะกลัวทำไมถ้ากำลังมีความรัก
Pyar kiya koi chori nahi ki, pyar kiya
กำลังมีความรัก มันไม่ใช่อาชญากรรม
Chup chup aahein bharna kya
ทำไมเราถึงต้องหลบซ่อนและอึดอัดละ
Aaj kahenge dil ka fasana
วันนี้จะมาเล่าเรื่องราวของหัวใจ
Jaan bhi lele chahe zamana
แม้ว่าโลกจะพรากชีวิตฉันไปก็ตาม

วิชา "อินเดียร่วมสมัย" (นาที 6)
วันนี้เรามาแปลกครับ เพราะหัวข้อของเราเกี่ยวกับการนำเสนอของนิสิตในรายวิชาหนึ่ง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เราไม่เคยนำเรื่องนี้มาเสนอให้ผู้ฟังเลย ก่อนอื่นใด คงต้องอธิบายให้ทราบก่อนว่า ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เปิดสอนวิชาหนึ่งในระบบการศึกษาของจุฬาฯ วิชานี้ชื่อว่า “อินเดียร่วมสมัย” ซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่การศึกษาทั่วไป นิสิตจะชอบเรียกการศึกษาทั่วไปอย่างติดปากว่า Gen Ed ซึ่งมาจากคำว่า General Education

เมื่ออยู่ในหมวดการศึกษาทั่วไปก็หมายความว่า นิสิตที่ลงเรียนวิชานี้มาจากหลากหลายคณะ ทำให้ผู้สอนรู้สึกสนุกกับการสอนไปด้วย ส่วนหนึ่งก็เพราะคำถามจะหลายหลากมาก อีกส่วนหนึ่งก็เพราะนิสิตที่สังกัดอยู่ตามคณะของตน บางทีก็อยากจะลองนำเสนอในสิ่งที่ตนชอบแต่ไม่อยู่ในขอบเขตการเรียนการสอนของคณะที่ตนสังกัด

นิสิตที่เข้าเรียนวิชานี้ต้องได้ความรู้สำคัญเกี่ยวกับอินเดียร่วมสมัยอย่างแน่นอน แต่ที่ท้าทายไม่น้อยเลย และเป็นไปตามที่ผมคาดหวังคือ แต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกนิสิตที่มักจะมาจากหลายคณะ ดังนั้นแล้ว เขาจึงต้องเรียนรู้ที่จะอภิปราย เจรจาต่อรอง เพื่อหาหัวข้อพียงหัวข้อเดียวที่จะนำเสนอ หลังจากนั้นก็หมายถึงความรับผิดชอบร่วมกัน จะมาบอกไม่ได้ว่าส่วนนี้ใครทำ ส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบของคนนั้นคนนี้ไม่ได้ ต้องเป็นความรับผิดชอบของกลุ่ม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าเป็นทักษะที่จำเป็นก่อนนิสิตจะออกจากรั้วจุฬาฯ ไปเผชิญอีกโลกหนึ่ง

เราทั้งชื่นชมและวิจารณ์การนำเสนอของนิสิตอย่างละเอียด สำหรับผมแล้ว นิสิตต้องคุ้นเคยกับการถูกวิจารณ์ด้วย ไม่งั้นแล้ว เขาจะไม่เข้มแข็ง แต่ปีนี้ต้องขอยอมรับว่า นิสิตนำเสนอได้ดีมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะผมเอง คือที่ผ่านมาอาจจะยังจับจุดนิสิตไม่ได้ ปีนี้เริ่มเห็นทางที่ชัดขึ้น

วิชานี้เปิดสอนมาก็น่าจะ 3–4 ปีแล้ว เปิดเฉพาะเทอมต้น ปีละครั้งเท่านั้น ส่วนอาจารย์ที่มาสอนก็จะมีอย่างน้อย 3–4 คน ที่อยู่ในทีมอินเดีย จุฬาฯ

การประเมินผลวิชานี้ จะมีคะแนนเข้าเรียนและการนำเสนอแบ่งออกเป็นกลุ่ม ปีนี้มีทั้งหมด 9 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกประมาณ 4–7 คน การนำเสนอทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลา 2 วัน คือวันที่ 12 และ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
หัวข้อการนำเสนอจากทั้งหมด 9 กลุ่ม (เรียงหัวข้อตามตัวอักษร)
1. ความคล้ายคลึงระหว่างประเพณีอินเดียกับไทย
2. ทำไมพระพุทธศาสนาจึงเสื่อมลงในอินเดีย
3. เทศกาลโฮลี
4. บทบาททางเพศในสังคมอินเดียปัจจุบันและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง
5. เปิดกรุความงามสาวอินเดีย
6. รูปแบบการปกปิกเนื้อหนังของเสื้อผ้าสตรีอินเดีย
7. สังคมอินเดียและดอกไม้สด
8. อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย เหมือนหรือต่าง?
9. เอ็ม. เอฟ. ฮุสเซน กับการก้าวข้ามค่านิยมดั้งเดิมและการตีความทางศิลปะในอินเดีย

เราจะเล่าให้ผู้ฟังว่าแต่ละกลุ่มนำเสนออะไรได้อย่างน่าสนใจบ้าง
กลุ่มที่ 1 เรื่อง ความคล้ายคลึงระหว่างประเพณีอินเดียกับไทย
กลุ่มนี้มีคำถามวิจัยหลักว่า เทศกาลของอินเดีย–ไทย มีจุดร่วมกันอย่างไร และการมีจุดร่วมกันนั้นส่งผลต่อชาวอินเดียเข้ามาท่องเที่ยวในไทยหรือไม่

สารัตถะสำคัญที่เราสกัดได้จากการนำเสนอคือ อินเดียกับไทยมีจุดร่วมทางวัฒนธรรมและประเพณีอย่างแน่นอน ทว่าไทยก็เลือกมา ปรับเปลี่ยนใช้ไปตามบริบทของตน ด้วยนิสิตกลุ่มนี้ชวนให้คิดเรื่อง Hybridity ซึ่งในที่นี้ไม่ขอลงรายละเอียดมาก ขอแปลเป็นไทยอย่างเรียบง่ายว่าการผสมผสาน

ที่กลุ่มนี้ทิ้งไว้เป็นข้อคิดอีกคือ เราจำเป็นต้องคิดเรื่องประชาสัมพันธ์ อธิบายให้นักท่องเที่ยวอินเดียเข้าใจด้วยว่า การผสมผสานที่มีต้นตอมาจากอินเดียหมายถึงอะไร เพราะจะทำให้ชาวอินเดียสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและชมประเพณีต่าง ๆ ของเรา

ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง โขนของไทย ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่สุดยอดมาก ผมเคยแนะนำให้เพื่อนชาวอินเดียไปดูโขน ปรากฏว่า เขาชอบมาก เพื่อนคนนี้ไม่ใช่นักวิชาการ คือชอบมาเที่ยวไทย ชอบมาซื้อของ ชอบมาทะเล แต่ผมอยากเติมเต็มให้โปรแกรมท่องเที่ยวเขาเปี่ยมไปด้วยความทรงจำที่มีคุณค่าแบบไทย ผมจึงแนะนำให้เขาไปดูโขน ตอนนี้เพื่อนคนนี้ติดใจมาก ก็เลยบอกเขาว่า คราวหน้ามาก็มาช่วงสงกรานต์ หรือลอยกระทง เขาก็จะได้เห็นอะไรที่สัมพันธ์กับอินเดียในแบบของไทยเรา

คนอินเดียที่ไปดูโขนไทยมา นิยมที่จะหาซื้อของที่ระลึกเกี่ยวกับโขน คุณณัฐลองทายดูสิว่า เขาชอบซื้ออะไรเกี่ยวกับตัวละครโขนใดมากที่สุด | ผมว่าน่าจะหนุมานนะครับ | ถูกต้องครับ

ที่ผมเห็นก็คือ บางคนหาซื้อเสื้อที่มีหนุมานอยู่ตรงด้านหน้าหรือด้านหลังของเสื้อ บางคนก็ซื้อหน้ากากหนุมานกลับไป หลายคนด้วยนะที่ชอบตั้งคำถามว่า ทำไมหนุมานของเราจึงเจ้าชู้ เพราะหนุมานที่อินเดียโดยเฉพาะทางตอนเหนือของอินเดีย จะเป็นหนุมานที่ครองพรหมจรรย์ มุ่งมั่นที่จะมีใจบริสุทธิ์ ภักดีต่อพระรามและนางสีดาเป็นล้นพ้น

จากการนำเสนอของกลุ่มนี้ ทำให้เราคิดต่อไปได้ว่า เราควรจะเสริมเพิ่มเติมข้อมูลเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับประเพณีหรือเทศกาลอันมีต้นตอมาจากอินเดีย เพราะชาวอินเดียชอบเวลาที่มีอะไรโยงไปหาอารยธรรมอินเดีย การช้อปก็เป็นเรื่องปกติ การไปเที่ยวทะเลก็เป็นเรื่องปกติ คนมาเที่ยวทั้งทีก็อยากจะกินอยากจะใช้เงินซื้อของ ซึ่งก็ดีมาก แต่ถ้าเราเสริมเรื่องวัฒนธรรมประเพณีให้เขา ก็จะทำให้การกลับมาไทยซ้ำ เป็นเรื่องไม่น่าเบื่อมีอะไรทำมากมาย
กลุ่มที่ 2 เรื่อง ทำไมพระพุทธศาสนาจึงเสื่อมลงในอินเดีย
จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ไทยก็พูดถึงเรื่องนี้มายาวนานมาก นี่ย่อมทำให้กลุ่มนี้ต้องทำงานหนักมากเป็นพิเศษ กล่าวคือ ถ้าเรื่องไหนกล่าวกันมาเยอะแล้ว ก็มักจะไม่มีอะไรใหม่ ๆ ให้เสนอได้มากนัก แต่ผมว่ากลุ่มนี้ทำการบ้านกันมาได้ดีพอสมควรเลย

เริ่มจากการพรรณนาให้ทราบถึงหนังสือ 2 เล่มสำคัญก่อน เล่มแรกคือ Ashoka and the Decline of the Mauryas โดย โรมิลา ฐาปัร (Romila Thapar) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1961 ตามด้วยเล่มที่สองที่มีชื่อว่า The Decline of Buddhism in India โดย เค.ที.เอส. สาราว (K.T.S. Sarao) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2009

หลังจากนั้นกลุ่มนี้ก็พาเราไปดูคำตอบที่กล่าวกันมากคือ ปัจจัยภายนอก กล่าวคือ การรุกรานของกองทัพมุสลิมที่เข้ามา ตรงนี้ก็พูดถึงหนังสือ 2–3 เล่ม ซึ่งมองว่าเป็นเพราะกองทัพมุสลิมรุกรานอินเดีย และที่คัดค้านแนวคิดนี้ ซึ่งมองว่าการเสื่อมของพระพุทธศาสนามิได้มาจากปัจจัยภายนอก หากแต่มาจากปัจจัยภายใน โดยยกตัวอย่างจากหนังสือเล่มหนึ่งด้วยว่า มีศาสนาสถานของพุทธเพียง 80 แห่งเท่านั้น ที่ถูกทำลายในช่วงกองทัพมุสลิมรุกรานอินเดีย

อีกสำนักหนึ่งที่สำคัญมากต่อการอธิบายความเสื่อมของศาสนาพุทธคงหนีไม่พ้น สำนักที่มุมมองว่า ศังกราจารย์ทำ เช่น ตั้งอาราม สำนักหรือปรัชญา แบบอไทวตะเวทานตะ เป็นปัจจัยการนำมาสู่ความเสื่อมของศาสนาพุทธ กล่าวคือทำให้ชาวพุทธในอินเดียขณะนั้นเกิดความสับสน และนำไปสู่การค่อย ๆ เสื่อมศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชนในที่สุด

นิสิตกลุ่มนี้มีความเห็นว่า การเสื่อมของศาสนาพุทธในอินเดียไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอกแบบทั้งสองปัจจัยที่กล่าวมา สิ่งที่กองทัพมุสลิมทำลายก็ไม่ได้มากนัก สิ่งที่ศังกราจารย์ได้ทำไว้ก็เป็นธรรมชาติของวัฒนธรรมศาสนาในอินเดียมาอยู่แล้ว ปัจจัยภายนอกไม่น่าจะใช่สิ่งที่ทำให้ศาสนาพุทธเสื่อม นิสิตกลุ่มนี้ยกตัวอย่างหลักฐานของศรีลังกาให้เห็นภาพด้วย โดยเน้นให้เห็นว่า แม้ชาวโปรตุเกสได้ทำลายพระพุทธศาสนาในวิธีต่าง ๆ แต่ทำไมศรีลังกายังฟื้นฟูพุทธศาสนาได้

คราวนี้นิสิตก็วกกลับมาตรงปัจจัยภายในที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อม โดยเน้นไปยังงานวิชาการของลาร์ส โฟเยอลิน (Lars Fogelin) นักมานุษยวิทยาสังกัดมหาวิทยาลัยอริโซน่า (University of Arizona) ที่เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากสถูปกลางแจ้งไปสู่สถูปในถ้ำและวิหารที่มีกำแพงปิดล้อมอย่างมิดชิด “ภิกษุเริ่มหันเข้าสู่วิธีคิดทางปรัชญาที่ซับซ้อนขึ้น เริ่มหมกมุ่นอยู่กับหลักการที่เข้าใจยาก เช่น กิริยาตันตระ ซึ่งมักเกิดขึ้นในที่ลับ”

ต้องขอชื่นชมนิสิตกลุ่มนี้มาก แม้ผมจะไม่ได้เห็นด้วยกับนิสิตทั้งหมด แต่เขาทำการบ้านมาอย่างดีเยี่ยม พยายามค้นหาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง และมีมุมมองนำเสนอที่หนักแน่น ขอชื่นชมจากใจจริง เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ไม่สำคัญ ความพยายามในการนำเสนอพร้อมข้อมูลที่ครบครันทำให้ประทับใจมาก

[วันนี้เวลาของเราเหลือน้อยเต็มทีแล้ว สำหรับการนำเสนอกลุ่มอื่น ๆ จะขอยกไปไว้ในตอนต่อไป]
[ประชาสัมพันธ์]
งานของศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ชื่องานว่า “75 ปี รัฐธรรมนูญอินเดีย: สดมภ์แห่งเอกภาพและความเจริญรุ่งเรือง”

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00-12.00 น. จัดที่ชั้นล่างอาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในงานนี้จะมีปาฐกถาเรื่องรัฐธรรมนูญอินเดียโดยชาวไทย มีการแสดงทางวัฒนธรรมไทย และมีรัฐธรรมนูญอินเดียแปลเป็นไทยแจกให้ทุกคนที่เข้าร่วมด้วย ที่สำคัญมีอาหารอินเดียให้ผู้เข้าร่วมคนละ 1 กล่อง

รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ

(Live) รายการ สานสัมพันธ์ไทย-จีน