เพลง Ajitha Hare
ความหมายคือ “พระผู้ไม่มีใครเอาชนะได้” เป็นเพลงภาษามลยาฬัม (Malayalam) ซึ่งเป็นภาษาราชการของมลรัฐเกรละ (Kerala) มีความใกล้เคียงกับภาษาทมิฬมาก
เพลงนี้มีที่มาจากการแสดงกถกฬิชุด กุเจลวริตัม (Kuchelavritham) เป็นชุดการแสดงที่มีชื่อเสียงมากชุดหนึ่งของกถกฬิ ที่เล่าเรื่องราวมิตรภาพระหว่างสุทามะ (Sudama) พราหมณ์ผู้ยากจน กับพระกฤษณะ (Krishna) อวตารของพระวิษณุผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุดในนิกายไวษณพ
ตำนานเล่าว่าสุทามะมาจากครอบครัวที่ยากจนมาก แต่ว่าในวัยเด็ก เขาได้มีโอกาสไปศึกษาในคุรุกุลคือสำนักครูแห่งเดียวกับพระกฤษณะ สุทามะรักและบูชาพระกฤษณะมาก เมื่อทั้งสองแยกย้ายกันไปเติบโตตามเส้นทางของตน สุทามะยังคงยากจนข้นแค้นเหมือนเดิม ขณะที่พระกฤษณะได้เป็นกษัตริย์ครองกรุงทวารกา ภรรยาของสุทามะได้แนะนำให้เขาเดินทางไปหาพระกฤษณะเพื่อขอความช่วยเหลือ เมื่อทั้งสองพบหน้ากันก็ได้สวมกอดกันด้วยความระลึกถึงมิตรภาพในวัยเด็ก
เพลงดังกล่าวออกอากาศครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 ผลิตโดยวงดนตรีชื่อ อาโรหะ (Aaroha) เนื้อเพลงเป็นบทประพันธ์ของ มุริงกูร์ สังกะรัณ โปตติ (Muringoor Sankaran Potti) ขับร้องโดย อรุณ บาบู (Arun Babu) และ รัซซา เราะห์มาน (Razza Rahman)
กถัก (Kathak) และ กถกฬิ (Kathakali) (นาที 5)
เมื่อนานมาแล้ว เราเคยนำเสนอเรื่องของนาฏศิลป์แขนงหนึ่งเรียกว่า “กถัก” (Kathak) โดยเล่าผ่านศิลปินกถักชาวไทยที่ชื่อ น้องแพร หรืออิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ กระนั้นก็ตาม เมื่อเรากล่าวถึงนาฏศิลป์อินเดียแบบคลาสสิก ก็ยังมีอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อคล้ายกัน ชวนให้ผู้ฟังเข้าใจผิดว่าหมายถึงชนิดเดียวกันได้ คือ กถกฬิ (Kathakali) ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ประจำมลรัฐเกรละนั่นเองกถักกับกถกฬิแม้จะชื่อคล้ายกัน แต่รูปลักษณ์และรูปแบบการนำเสนอแตกต่างกันอย่างมากมาย
กถัก เป็นนาฏศิลป์อินเดียเหนือที่ผสมผสานอิทธิพลของราชสำนักโมกุล เอกลักษณ์คือการเคาะเท้าที่พันสายกระพรวนหนาหนักทำให้เกิดเสียงดัง และการหมุนตัวอันรวดเร็วต่อเนื่อง
กถกฬิ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือการแต่งหน้าที่สีสันสดใส ผู้แสดงอยู่ในชุดที่มีลักษณะโป่งพอง
ข้อแตกต่างประการสำคัญคือ กถักมีผู้แสดงหญิงรวมอยู่แต่เดิม ขณะที่กถกฬิตามขนบจะใช้นักแสดงชายล้วน
การออกท่าทางต่าง ๆ ของกถกฬิใช้ท่ามือเป็นหลัก ซึ่งมีระบบสมบูรณ์ถึงขนาดที่ว่าผู้แสดงกถกฬิสามารถใช้ท่ามือคุยสื่อสารระหว่างกันได้โดยง่าย เสมือนเป็นภาษามืออีกระบบหนึ่งเลยทีเดียว
คำถามก็อาจเกิดขึ้นได้ว่าทั้งสองคำนี้คือ กถัก และ กถกฬิ มีที่มาเกี่ยวพันกันหรือไม่อย่างไร ถ้าย้อนกลับไปฟังรายการเราตอนที่ออกอากาศเรื่องกถัก เราจะทราบว่า ที่มาของคำ กถัก มาจาก กถา ที่แปลว่าเรื่องราว เติม -ก เข้าไปด้านท้าย เป็นการบ่งบอกถึงบุคคลผู้กระทำสิ่งนั้น เช่น คำว่า กถัก แปลว่า ผู้เล่าเรื่องราว เป็นต้น ในขณะที่คำว่า กถกฬิ มีที่มาจากคำว่ากถาหรือเรื่องเล่าเช่นกัน ผนวกกับ กฬิ ซึ่งแปลว่าละคร รวมความแล้วแปลได้ว่า “ละครเล่าเรื่อง” ทั้งนี้การเรียกชื่อดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการแสดงกถกฬิส่วนใหญ่มุ่งถ่ายทอดเรื่องราวในปกรณัมฮินดู
กถกฬิ นาฏกรรมประจำมลรัฐเกรละ
กถกฬิเป็นสัญลักษณ์แห่งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของรัฐเกรละ ได้รับการยกย่องในด้านความงามอันล้ำลึก เทคนิคการแสดงที่ซับซ้อน รูปแบบการฝึกและการนำเสนอที่ทรงพลัง อันรวมถึงการแสดงอารมณ์อันซับซ้อนผ่านทางสีหน้าและท่ามือองค์ประกอบทางนาฏยศาสตร์ในกถกฬิก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน ทั้งดนตรีประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งช่วยเสริมการสื่อสารที่แสดงออกถึงอารมณ์ได้
อาจกล่าวได้ว่าทุกแง่มุมของกถกฬิ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการเต้นรำ การแสดงออกทางสีหน้า เครื่องแต่งกาย และดนตรี ล้วนมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และมีส่วนทำให้การนำเสนอเป็นแบบเฉพาะ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างเข้มข้นเพื่อให้เชี่ยวชาญ
กถกฬิในสายตาของชาวเกรละจึงมีสถานะไม่ต่างจากโขนในสายตาของชาวไทย คือเป็นที่รวมศิลปะวิทยาการชั้นสูงหลากหลายแขนง

ที่มาและพัฒนาการ
เชื่อกันแพร่หลายว่ากถกฬิพัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ภายในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือมลรัฐเกรละ โดยคลี่คลายรูปแบบมาจากนาฏศิลป์โบราณแขนงหนึ่งชื่อว่า รามนัฏฏัม (Ramanattam) ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยกษัตริย์แห่งเมืองโกตตารักการะ (Kottarakkara) ในเกรละตอนใต้ สำหรับใช้แสดงมหากาพย์รามายณะ ในรูปแบบการแสดงเฉพาะตัว (เช่นเดียวกับโขนไทยที่พัฒนาขึ้นเพื่อแสดงเรื่องรามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียว)แต่ในส่วนพัฒนาการของรามนัฏฏัมนั้นมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันหลายสาย สายหนึ่งมีความเห็นว่ารามนัฏฏัมได้รับแรงบันดาลใจจากกฤษณะนัฏฏัม (Krishnanattam) ซึ่งเป็นละครเต้นรำที่เล่าเรื่องราวของพระกฤษณะที่ราชวงศ์ซามูธีรีหรือซามอรินแห่งเกรละตอนเหนือเป็นผู้อุปถัมภ์ ทว่านักวิชาการอีกกลุ่มก็โต้แย้งว่า การแสดงรามนัฏฏัมมีมาก่อนกฤษณะนัฏฏัม
ซึ่งไม่ว่าจะฝ่ายใดจะถูกจะผิดก็ตาม พอสรุปได้ว่ารามนัฎฎัมเป็นต้นสายของกถกฬิอย่างค่อนข้างแน่นอน
พัฒนาการในชั้นหลังของกถกฬิ
มีความเชื่อมโยงกับราชวงศ์ที่ปกครองดินแดนโกฏฏะยัม (Kottayam) ซึ่งเป็นภูมิภาคในมาลาบาร์ (Malabar) เก่าใกล้กับเมืองกานนูร์ (Kannur) ในปัจจุบันกษัตริย์แห่งโกฏฏะยัมผู้ทรงพระนามว่า โกฏฏะยาตุ ตัมปุรัน (Kottayathu Thampuran) ได้ทรงพระนิพนธ์ผลงานหลักสี่เรื่องสำหรับใช้ในการแสดงกถกกฬิ
ผลงานทั้งสี่เรื่อง ได้แก่
(1) กิรมีราวตัม (Kirmeeravadham)
(2) ภาควตัม (Bakavadham)
(3) นิวาตกวจะ กลาเกยวตัม (Nivathakavacha Kalakeyavadham)
(4) กัลยาณโสคันธิกัม (Kalyanasougandhikam)
ผลงานเหล่านี้อิงจากเรื่องราวในมหากาพย์มหาภารตะ และการแสดงแขนงนี้ก็รู้จักกันในชื่อโกฏฏะยัม กถกฬิ (Kottayam Kathakali) ซึ่งเป็นรากฐานให้กถกกฬิในปัจจุบัน ทั้งในด้านการออกแบบท่าเต้น บทละคร และระบบการแสดง
ในศตวรรษที่ 18 กถกกฬิได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกชั้นหนึ่ง โดยกาปลิงคฑุ นารายณัน นัมภูติริ (Kaplingadu Narayanan Namboothiri) ซึ่งเป็นนักสุนทรียศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนากถกฬิ รูปแบบนี้ต่อมาในภายหลังได้รับการยกย่องว่าเป็นรูปแบบของเขาโดยเฉพาะ ในช่วงเวลาดังกล่าว รูปแบบศิลปะเริ่มเฟื่องฟูอีกครั้งในภาคใต้และภาคกลางของเกรละ โดยบรรดาผู้ปกครองในภูมิภาค ราชวงศ์ และตระกูลนัมภูติริ ได้อุปถัมภ์กถกฬิโดยจัดการแสดงและจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม
บุคคลสำคัญในศตวรรษที่ 20 นามว่า ปัฏฏิกัมโตฑิ ราวุณิ เมนอน (Pattikamthodi Ravunni Menon) มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมระบบกถกฬิที่กระจัดกระจาย ส่วนโอลัปปมันนา (Olappamanna) จากสกุลพราหมณ์นัมภูติริแห่งหมู่บ้านเวลลิเนฬิ (Vellinezhi) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการฝึกอบรมกถกฬิตามรูปแบบของเมนอน และต่อมาก็เฟื่องฟูแพร่หลายผ่านทางลูกศิษย์รุ่นต่อ ๆ มา
วิวัฒนาการอันต่อเนื่องยาวนานของกถกฬิ ปัจจุบันได้รับการอุปถัมภ์และปรับแต่งเพื่อความสมบูรณ์แบบโดย เกรละกลามัณฑลัม (Kerala Kalamandalam) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะและวัฒนธรรมของเกรละ
ด้านการแสดงและเทคนิค
มีศัพท์เฉพาะภาษามลยาฬัมที่เรียกว่า “อัตตะกถะ” (Attakatha) ส่วน “อัตตะ” ด้านหน้า หมายถึงการเต้นรำหรือการแสดงท่าทาง และ “กถะ” หมายถึงส่วนของเรื่องราวกถกฬิในรูปแบบที่พัฒนาถึงจุดสูงสุด มีลักษณะเด่นที่การใช้สายตา การก้าวเท้าและการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่แข็งแรงและมีจังหวะ ตัวละครหญิงแสดงการเต้นรำในรูปแบบที่นุ่มนวลกว่า แต่ใช้เทคนิคการแสดงออกที่คล้ายคลึงกัน
ระบบดนตรีของกถกฬิผสมผสานรูปแบบจังหวะพื้นเมืองของเกรละ โดยมีเพลงที่ร้องในรูปแบบอภินยะสังคีตัม (Abhinaya Sangeetham) ซึ่งหมายถึงดนตรีสำหรับการแสดง เครื่องดนตรีหลักที่ใช้ตีประกอบจังหวะ ได้แก่ เครื่องดนตรีทองเหลืองกลมที่เล่นด้วยแท่งไม้และฉาบ บางครั้งมีการเป่าหอยสังข์ประกอบ ระหว่างการแสดงจะมีนักร้องสองคนยืนอยู่ด้านหลังนักเต้น นักร้องหลักเรียกว่าโปนนานี (Ponnani) และนักร้องรองซึ่งร้องซ้ำบท เรียกว่าศิงกิดีหรือศังกิดี (Shinkidi/Shankidi)
ตามธรรมเนียมแล้ว กถกฬิจะแสดงเป็นละครกลางคืน โดยมีการนำเสนอเรื่องราวเป็นเวลาหลายคืนติดต่อกัน ในตอนเย็นก่อนการแสดงจะมีการป่าวร้องด้วยการตีกลองพิเศษที่เรียกว่าเกลิโกฏฏุ (Kelikottu) สำหรับยุคปัจจุบัน กถกฬิมักจะแสดงเป็นเวลาหลายชั่วโมงในโรงละครพิเศษแบบมีเวทีกลางและห้องโถงขนาดใหญ่
การฝึกกถกฬิเป็นไปตามระบบอันเคร่งครัดและมีระเบียบวินัย ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่ศิลปินจะสามารถแสดงบนเวทีได้เป็นครั้งแรก กถกฬิในยุคใหม่ได้รับการผสมผสานอิทธิพลจากรูปแบบศิลปะอื่นๆ เช่น กลาริปายัตตุ (Kalaripayattu) และกูดิยัตตัม (Kudiyattam) โดยยืมการเคลื่อนไหวของร่างกายจากรูปแบบแรก และเทคนิคท่าทางและการแสดงออกจากรูปแบบหลัง และดังที่กล่าวไว้เมื่อต้นรายการ ในยุคแรกเริ่ม กถกฬิแสดงโดยนักแสดงชายล้วน แต่ในช่วงหลังนี้ ศิลปินหญิงได้เข้ามามีบทบาทในทุกระดับของการแสดงกถกฬิ
เครื่องแต่งกายและการแต่งหน้าเป็นลักษณะเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของกถกฬิ
โดยหลักแล้วตัวละครจะมี 5 ประเภท ได้แก่ ปาจะ (Pacha) กาถิ (Kathi) การิ (Kari) ตาฑิ (Thadi) และมินุกกุ (Minukku) เครื่องแต่งกายและการแต่งหน้าของตัวละครแต่ละตัวจะสะท้อนถึงธรรมชาติพื้นฐานของตนปาจะ เป็นตัวละครที่เป็นวีรบุรุษ ผู้สูงศักดิ์ และมีความใจกว้าง จะสวมชุดโดยทาหน้าเป็นสีเขียวเป็นหลักเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์
กาถิ คือพวกแอนตี้ฮีโร่ หมายถึงวีรบุรุษที่มีบุคลิกไปในทางร้าย ซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องพลังอำนาจและมักมีส่วนร่วมในฉากต่อสู้ สวมชุดที่เรียกกันว่าชุดกาถิ
การิ หมายถึงตัวละครที่ทาหน้าสีดำ โดยทั่วไปเป็นนักล่าหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในป่า สวมชุดที่เรียกว่าชุดการิ
ตาฑิ หรือตัวละครที่มีเครา จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) จุวันนตาฑิ (Chuvanna Thadi) มีเคราสีแดง สำหรับตัวละครที่ชั่วร้ายมาก (2) เวลลตาฑิ (Vellathadi) มีเคราสีขาว สำหรับตัวละครฝ่ายดี อย่างเช่นหนุมาน (3) การุตะตาฑิ (Karutha Thadi) มีเคราสีดำ
สำหรับตัวละครที่ค่อนข้างชั่วร้ายอีกประเภทหนึ่งคือ มินุกกุ หมายถึงตัวละครหญิงและตัวละครที่สำคัญรองลงไป เช่น นักปราชญ์ ผู้ส่งสาร และคนขับรถม้า สวมชุดมินุกกุโดยทาหน้าด้วยสีเหลืองหรือเหลืองส้ม ตัวละครหญิงมักจะมีผมมวยข้างที่คลุมด้วยผ้าคลุมหน้า
ส่วนสำคัญของการแต่งหน้าแบบกถกฬิคือ จุตติ (Chutti) ซึ่งเป็นโครงสร้างสีขาวที่ยกขึ้นเหนือกรามสำหรับตัวละครบางตัว จุตติจะช่วยเสริมโครงหน้า ทำให้แสดงอารมณ์ได้ชัดเจนในระหว่างการแสดงหน้าแสงไฟจากตะเกียงน้ำมัน การสวมจุตติต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และศิลปินกถกฬิมักจะต้องนอนลงเพื่อให้ศิลปินจุตติทำการติดตั้ง
เทคนิคการทาสีบนหน้า ซึ่งเรียกว่า “เตปปุ” (theppu) และการทำให้ตาแดงจัดเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการแสดงกถกฬิ โดยปกติแล้วจะทำโดยใช้สมุนไพรธรรมชาติเพื่อเพิ่มการมองเห็นการเคลื่อนไหวของดวงตา ส่วนล่างของเครื่องแต่งกายมีขนาดและรูปแบบแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของตัวละคร ตัวละครบางตัวยังมีมงกุฎเฉพาะ แต่บางตัวไม่มี องค์ประกอบของเครื่องแต่งกายต่างๆ เรียกรวมกันว่า โกปปุ (Koppu) และผู้ที่รับผิดชอบในการถือและจัดเรียงเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์เสริมเรียกว่า เปฏฏิกกะรัน (Pettikkaran)
กถกฬิเป็นมากกว่าแค่การแสดงเต้นรำ แต่ยังมีระบบที่ประสานงานกันอย่างดีในการนำเสนอละคร โดยต้องใช้ทีมงานขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงนักแสดง นักร้อง นักดนตรีกำกับจังหวะ ช่างแต่งหน้า ช่างตัดเสื้อ และผู้จัดการละคร แต่ละคนมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอกถกฬิทั้งสิ้น รูปแบบศิลปะนี้ได้รับการพัฒนาและนวัตกรรมต่างๆ มากมาย ในขณะที่ยึดมั่นอย่างเคร่งครัดต่อประเพณีและระบบการฝึกอบรมและการแสดงที่เป็นระเบียบ
ปัจจุบันเกรละกลามัณฑลัมถือเป็นวิทยาลัยที่เสนอโปรแกรมระดับปริญญาทางวิชาการและการวิจัยด้านกถกฬิ ศูนย์ฝึกอบรมแบบดั้งเดิมที่สำคัญแห่งอื่น ๆ ได้แก่ คานธีเสวสาธนัม (Gandhi Seva Sadanam) ที่ปาลักกัด (Palakkad) โคฏฏักกัล กถกฬิ สังฆัม (Kottakkal Kathakali Sangham) ที่โกฏฏักกัล (Kottakkal) กลานิลยัม (Kalanilayam) ที่ อิริญชลกูฎ (Irinjalakuda) และมาร์คี (Margi) ที่ติรุวนันทปุรัม (Thiruvananthapuram) โดยทั่วไปแล้ว ศิลปินกถกฬิและผู้ฝึกสอนอาวุโสยังเสนอการฝึกอบรมทั่วทั้งอินเดียด้วย
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio [8 มี.ค.68]
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ