เพลง Abhi Na Jao Chhod Kar
เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Hum Dono ฉายในปี ค.ศ. 1961 ขับร้องโดยโมฮัมเหม็ด เราะฟี (Mohammed Rafi) และอาศา โภสเล (Asha Bhosle) ฉบับที่เปิดให้ฟังเป็นฉบับของ World Music Day Concert 24 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2024 ดังนั้นฉบับนี้จึงเป็นการร้องเพลงร่วมกันของศิลปินหลายคน
ขออนุญาตแปลเนื้อเพลงให้ฟัง
abhi na jaao chhod kar ke dil abhi bhara nahi
โปรดอย่าเพิ่งจากไป ฉันยังไม่อิ่มใจเลย
abhi abhi to aayi ho bahaar ban ke chaayi ho
เธอเพิ่งมาถึง เปรียบเสมือนฤดูใบไม้ผลิที่แพร่กระจาย
hawa zara mahek to le nazar zara bahek to le
ปล่อยให้อากาศได้จับกลิ่นหอมของคุณ ปล่อยให้สายตาของฉันคลั่งไคล้เธอเถิด
yeh shaam dhal to le zara yeh dil sambhal to le zara
ให้ค่ำคืนนี้ลึกซึ้งอีกหน่อย ให้ใจฉันมั่นคงอีกหน่อย
main thodi der jee to loon nashe ke ghoont pi to loon
ให้ฉันมีชีวิตอยู่อีกสักหน่อย ให้ฉันจิบความมึนเมาสักหน่อยเถิด
abhi to kuch kaha nahi abhi to kuch suna nahi
ยังไม่ได้พูดอะไรเลย ยังไม่ได้ยินอะไรเลย โปรดอย่าเพิ่งจากไป ฉันยังไม่อิ่มใจเลย
พ่อผู้สูญเสียลูกชายไปเพราะถนนที่เป็นหลุม (นาที 4.45)
แม้เนื้อหาเพลงจะเป็นเรื่องของความรักระหว่างหนุ่มสาว แต่ก็สามารถหมายถึงพ่อที่ร้องเพลงนี้เพื่อบอกลูกของตนว่า อย่าเพิ่งจากไปเลย พ่อยังไม่อิ่มใจเลยพ่อคนนี้คือดาดาราว บิลโฮร์ (Dadarao Bilhore) ผู้สูญเสียลูกชายไปในช่วงฤดูฝนเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2015 ในเวลานั้นลูกชายของบิลโฮร์วัย 16 ปี มีนามว่าประกาศ (Prakash) กำลังขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนท้าย แล่นไปตามถนนที่วุ่นวายของมุมไบ ฝนที่ตกหนักได้ทำให้เมืองมุมไบเปรียบเสมือนเขาวงกตที่ไม่อาจคาดเดาอะไรได้ สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครรู้ได้คือถนนที่สึกหรอเป็นหลุมก็ถูกน้ำฝนท่วมเต็ม ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นหลุมบ่อ ถนนดูเรียบลื่นแต่จริง ๆ แล้วมีหลุมอยู่
และแล้วมอเตอร์ไซค์ที่ประกาศซ้อนท้ายมาก็ขับทับหลุมหนึ่งโดยไม่รู้ว่าหลุมนั้นลึกประมาณ 2 ฟุต
คนขับสูญเสียการควบคุม ประกาศที่ซ้อนท้ายแต่ไม่ได้สวมหมวกกันน็อคก็ปลิวลงจากรถอย่างแรง ปลิวไปประมาณ 10 ฟุตก่อนจะตกบนถนนโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อเขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์บอกว่าเขามีอาการเลือดออกในสมอง ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่สมอง อีกไม่นานนักประกาศก็เสียชีวิต อนาคตอันสดใสดับลง ไม่ใช่ด้วยโชคชะตา แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อ
ประกาศเป็นลูกคนที่สองของครอบครัว ประกาศเป็นนักเรียนที่มีอนาคตดีไม่น้อยเลย บิลโฮร์ผู้พ่อทุ่มเงินออมจากร้านขายของชำเล็ก ๆ เพื่อให้ประกาศได้ลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษสำหรับการเรียนการสอน ไม่กี่วันก่อนประกาศจะเสียชีวิต เขาเพิ่งซื้อเสื้อผ้าใหม่ทางออนไลน์เพื่อจะใส่ไปเรียนที่วิทยาลัย
ที่น่าเศร้าใจก็คือเสื้อผ้าที่ซื้อทางออนไลน์มาถึงบ้านหลังจากเขาเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน
บิลโฮร์ไม่ปล่อยให้ความโกรธมาครอบงำ เขาปฏิเสธที่จะให้ลูกชายของเขาเป็นเพียงสถิติรายชื่อผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
โดยปกติแล้ว เวลาพ่อแม่สูญเสียลูกในลักษณะแบบนี้ ทั้งความโกรธและความโศกเศร้าก็จะกัดกร่อนชีวิตไม่น้อยเลยสำหรับบิลโฮร์พ่อของประกาศก็เช่นเดียวกับพ่อหลายคนที่สูญเสียลูกในลักษณะนี้ มันคือความเจ็บปวดที่ไม่เคยจางหายไป แต่ที่บิลโฮร์แตกต่างจากคนอื่นคือ เขาไม่ปล่อยให้ความโกรธมาครอบงำ บิลโฮร์กลับเลือกวิธีอื่น เขาปฏิเสธที่จะให้ลูกชายของเขาเป็นเพียงสถิติรายชื่อผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
เขาเลือกที่จะซ่อมถนนเอง หากทางการยังไม่มาซ่อมถนน นี่คือที่มาของหัวข้อของเราในวันนี้ที่ว่า “ทำไมดาดาราว บิลโฮร์ ต้องซ่อมถนน”

ดาดาราว บิลโฮร์ มุ่งมั่นซ่อมถนน
เวลาที่เขายืนอยู่ใกล้ร้านของชำของเขา บิลโฮร์นอกจากจะขายของแล้ว ตาของเขาจะจ้องมองถนนว่ามีหลุมหรือไม่ และหากมีหลุม แทนที่บิลโฮร์จะรอให้เจ้าหน้าที่มาดำเนินการ เขากลับหยิบพลั่วไปเก็บเศษกรวดทรายจากสถานที่ก่อสร้างใกล้เคียงมาเติมเองสิ่งที่บิลโฮร์ทำไม่ได้มาจากการวางแผนใด ๆ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวด้วย เป็นเพียงสิ่งที่พ่อคนหนึ่งเห็นว่าต้องทำ
จากหนึ่งหลุม กลายเป็นสิบหลุม จากหลายสิบหลุมกลายเป็นร้อยหลุม ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก นอกจากจะขายผักแล้ว บิลโฮร์ยังเดินไปตามถนนในมุมไบ ค้นหาหลุมหรือฆาตกรเงียบเหล่านี้ และหาเศษต่าง ๆ เพื่อถมหลุมบนถนนด้วยตนเอง
บิลโฮร์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากใครอย่างเป็นทางการ เขาไม่มีเงินทุน ไม่มีเครื่องจักร มีเพียงความมุ่งมั่นที่แลดูคล้ายว่าจะมาจากสิ่งที่ตนได้ให้สัญญาในใจไว้กับลูก
ในตอนแรกผู้คนจ้องมอง บางคนตั้งคำถามว่าทำไมผู้ชายธรรมดาๆ ถึงมาทำงานให้กับหน่วยงานเทศบาลของเมือง แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีบางอย่างเปลี่ยนไป คนเดินเท้าเริ่มหยุดเพื่อช่วยเหลือ แม่ค้าเอาของมาให้ คนแปลกหน้ารู้สึกประทับใจกับการอุทิศตนอย่างไม่หยุดยั้งของเขา จึงเริ่มแบ่งปันเรื่องราวของเขา
สิ่งที่บิลโฮร์ทำ ได้เปลี่ยนทัศนคติของผู้คน
สิ่งที่มหัศจรรย์ยิ่งคือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคน จากการที่แรกเริ่มผู้คนจ้องมองและตั้งคำถามว่าทำไมผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งถึงมาทำงานให้กับหน่วยงานเทศบาลของเมือง มาถึงจุดที่เปลี่ยนแปลงไปจนคนเดินเท้าเริ่มหยุดเพื่อช่วยเหลือเขาคนขายของแถวที่บิลโฮร์เดินถมหลุมก็เอาของมาให้ คนแปลกหน้ารู้สึกประทับใจและเล่าเรื่องราวการอุทิศตนของเขาสู่กันฟังจนกลายเป็นข่าวที่ทั้งสำนักข่าวในอินเดียและต่างประเทศให้ความสนใจมากไม่น้อยทีเดียว
สิ่งที่เริ่มต้นจากการต่อสู้กับความเศร้าโศกและความโกรธของชายคนหนึ่งที่สูญเสียลูกชายวัย 16 ปี ในที่สุดก็กลายเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่าขบวนการใด ๆ ที่มุมไบไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป
และแล้วบิลโฮร์ก็ได้รับฉายาว่า “Pothole Dada” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้มอบหมายให้เขาในฐานะเจ้าหน้าที่ แต่โดยพลเมืองที่เขาปกป้อง เรื่องราวของเขาไม่ใช่แค่เรื่องการซ่อมแซมถนนอีกต่อไป มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดชอบ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนในแต่ละวันปฏิเสธที่จะรอการเปลี่ยนแปลงและต้องหันมาเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง
ที่ตามมาอีกคือโซเชียลมีเดียเริ่มกลายเป็นเครื่องขยายเสียงของเขา รูปภาพและวิดีโอของเขาที่กำลังเติมหลุมบ่อถูกเผยแพร่ทางออนไลน์ ทำให้ภารกิจของเขากลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ที่ตามมาคือ อาสาสมัครเริ่มเข้าร่วมกับเขา ตั้งชื่อกลุ่ม WhatsApp ว่า “Pothole Killers” ทำให้ผู้คนสามารถรายงานเรื่องหลุมบ่อบนถนนที่อาจเป็นภยันตรายได้แบบเรียลไทม์ หลายคนที่เคยเดินผ่านหลุมบ่อเหล่านี้ มาบัดนี้ไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป
แม้ว่าแรงกดดันจากสาธารณะจะเพิ่มขึ้น แต่ทางการก็ยังตอบสนองช้า เร็วกว่าเดิมแต่ก็ยังช้าอยู่ ดังนั้นชาวมุมไบจำนวนไม่น้อยจึงรีบถมหลุมบ่อบนถนนก่อน เพราะสิ่งที่บิลโฮร์ได้ทิ้งไว้ให้ผู้คนคิดก็คือ ทุกวันที่รอคอยระบบราชการก็อาจจะเป็นอีกวันที่ใครจะสูญเสียชีวิต ดังนั้นบิลโฮร์จึงดำเนินต่อไป ไม่ใช่เพราะตนต้องทำ แต่เพราะเขารู้ว่าถ้าเขาหยุด พ่ออีกคนอาจต้องทนกับความสูญเสียที่เขาต้องเผชิญอยู่ทุกวัน
ล่าสุดนี้ เทศบาลมุมไบเริ่มตอบสนองด้วยการปรับปรุงการบำรุงรักษาถนนและความรับผิดชอบที่มากขึ้น แต่ภารกิจของบิลโฮร์ยังไม่สิ้นสุด เพราะการต่อสู้ของบิลโฮร์ไม่ใช่เรื่องการได้รับการยอมรับ แต่เป็นเรื่องของการป้องกันโศกนาฏกรรมอีกครั้ง และจนกว่าถนนในมุมไบจะปลอดภัยสำหรับทุกคน เขาจะเดินหน้าต่อไปทีละหลุม
สิ่งที่บิลโฮร์ไม่ปล่อยไม่ละวางคือ ไม่บ่นว่าถนนนี้ควรได้รับการซ่อมบำรุง แต่ตั้งคำถามว่า ฉันทำอะไรได้หรือเปล่า
คนส่วนใหญ่มองว่าปัญหาใหญ่เกินกว่าจะแก้ได้ แต่ชายคนหนึ่งมองเห็นภารกิจส่วนตัว เขาไม่ใช่นักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหว เขาไม่ได้รอให้ใครมารับผิดชอบ แต่เขากลับหยิบพลั่วขึ้นมาและเริ่มถมหลุมบ่อทีละหลุม ไม่ใช่เพราะหน้าที่แต่เพราะรัก รักลูกชายที่ถูกปล้นชีวิตด้วยความประมาทเลินเล่อ•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio [8 มี.ค.68]
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ