ประกาศผลทีมชนะเลิศ โครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 4
"วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับสถานีวิทยุจุฬาฯ จัดโครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 4 “Decode the Pipeline : Electrify the future รวมพลังคิด(ส์) การนำเสนอผลงานารอบชิงชนะเลิศ (Pitcing)"
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับและสรุปผลการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ ที่ผ่านมา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ จัดการประกวดนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมรอบชนะเลิศ (Final Pitching) ภายใต้โครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 4 “Decode the Pipeline : Electrify the Future รวมพลังคิด(ส์) ฝ่าวิกฤตพลังงาน”เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา อาคารมงกฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับและสรุปผลการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ ที่ผ่านมา
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กล่าวว่าสถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ ในฐานะสื่อมวลชนตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ทั้งด้านการศึกษาและเผยแพร่ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ (awareness) ผ่าน รายการ Envi Insider หนึ่งในรายการวิทยุของสถานีฯ โดยมีคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และแขกรับเชิญ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาและจากหลากหลายภาคส่วนมาร่วมรายการ เพื่อแพร่ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนทั่วไป นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างสถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการจัด โครงการ ENVI Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Decode the Pipeline: Electrify the Future รวมพลังคิด(ส์) ฝ่าวิกฤตพลังงาน” โดยมีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา และส่งเสริมให้นักเรียนนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนผ่านการทำโครงงานนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566

ทีมที่ได้รับรางวัลในการนำเสนอผลงาน (Pitcing)

จากการคัดเลือกผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนกว่า 800 ทีมจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีเพียง 20 ทีมเท่านั้นที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก และได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ จังหวัดสระบุรีเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ได้มีการคัดเลือกให้เหลือ 8 ทีมผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ และได้เข้าร่วมกิจกรรมเหลาคม (sharpening session) เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นก่อนเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) แต่ละทีมได้นำเสนอโครงงานนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของตนเองและตอบคำถามจากคณะกรรมการรวมเป็นเวลา 10 นาที โดยผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศมีรายละเอียดดังนี้
– รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ทีม MVSK SMA BOYZ จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ซึ่งได้นำเสนอนวัตกรรม “ทุ่นลอยน้ำไดนาโม” สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายหาญพล พรหมสมบัติ นายศักดิ์นที อ่อนรักษ์ และ นายจักรวัฒน์ ชูเกิด โดยมีครูสมศักดิ์ คงสกุล เป็นครูที่ปรึกษา
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ทีม ACS ENVI YAISON จากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท ซึ่งได้นำเสนอนวัตกรรม “ฉนวนกันความร้อนจากใยสน” สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายเสฏฐนันท์ พลคำ นายกรวิชญ์ สุรฤทธิ์โยธิน และนายศิวัจน์ เวชสวัสดิ์ โดยมี ครูเดชา ขันธจิตต์ เป็นครูที่ปรึกษา
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ทีมเอิ้ดเอิ้ดพร้อมติด จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท ซึ่งได้นำเสนอนวัตกรรม “เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานคลื่นสำหรับเรือประมง” สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายพันธุ์ธัช ปราการรัตน์ นางสาวโรสลิล เมฆทวีพงศ์ และนายภัทรพล สีเที่ยงธรรม โดยมี ครูนาอีม บินอิบรอเฮง เป็นครูที่ปรึกษา
– รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท ได้แก่ ทีม Care Energy Care World จากโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ กาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้นำเสนอนวัตกรรม “ร่ม Solar Cell ติดพัดลม” สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายนัทธพงศ์ เทพบุรี นางสาวกฤติยาภรณ์ แซ่อึ้ง และนางสาวกัญญาวีร์ กาญจนกุล โดยมี ครูสุกัญญา นาคอ้น เป็นครูที่ปรึกษา และทีม INFINIX จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้นำเสนอนวัตกรรม “การผลิตไฟฟ้าจากลมของแอร์ คอมเพรสเซอร์” สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายธีรภัทร สอาดสุด นายอติคุณ ชัยวรรณะ และ นายโชติวัฒนา ทองสะอาด โดยมี ครูกฤติพงศ์ วชิรางกุล เป็นครู ที่ปรึกษา

ศ.ดร.สุพจน์ เตชะวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวแสดงความยินดีและกล่าวปิดโครงการฯ

หลังจากการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ศ.ดร.สุพจน์ เตชะวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวแสดงความยินดีและกล่าวปิดโครงการฯ สรุปได้ว่า จากการดำเนินโครงการฯ ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจและศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการเรียนรู้และนำเสนอแนวคิดและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งประเด็นความยั่งยืนเป็นสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการฯ นี้ นอกเหนือจากความยั่งยืนแล้ว สิ่งสำคัญที่จะมีบทบาทสำคัญในวันข้างหน้าคือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับแนวคิดและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ นักเรียนได้นำเสนอในครั้งนี้ หากทีมใดต้องการต่อยอดนวัตกรรมของตนเอง ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้เตรียมทุนการศึกษาสำหรับการพัฒนาต่อยอดโครงงานฯ ของนักเรียนด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และสถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นี้จะพัฒนาและต่อยอดแนวความคิดของทีมตนเองไปสู่การปฏิบัติ อันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่ Thailand Inclusive Growth ไปด้วยกันต่อไป

สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 MHz.
อาคารวิทยพัฒนา ชั้น 7 จุฬาฯ ซอย 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
Contact Center0-2218-3970-74
E-mail Addresscuradio@chula.ac.th
Line Messenger@curadio
ติดตาม Chula Radio Plus ได้ทุกช่องทาง
รับฟังรายการสดได้ทาง