อาหารเป็นยาตามหลักอายุรเวท
5,230 views
0
0

เพลง Ayurveda
เพลงที่เปิดไปเป็นเพลงแร็ป ชื่อว่า “Ayurveda” ออกอากาศครั้งแรกในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นผลงานเพลงที่สร้างสรรค์โดยศิลปินแร็ปชื่อ ปริเยศ ชังครา (Priyesh Jangra) เพลงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 กล่าวได้ว่ากำลังถึงจุดพีค คือในราวปลายปี 2020 ศิลปินผู้แต่งเพลงนี้คือปริเยศนั้นมีจุดประสงค์จะนำเสนอคุณประโยชน์ของเวชศาสตร์ทางเลือกแผนโบราณของอินเดียที่ช่วยป้องกันโรคได้ เพื่อให้ชาวอินเดียตระหนักว่าอินเดียก็มีดีโดยไม่ต้องไปพึ่งพาโลกตะวันตกมากนัก และที่สำคัญยังเป็นเพราะการเข้าถึงวัคซีนของคนตามพื้นที่ชนบทยังมีจำกัด จึงต้องเริ่มจากการพึ่งพาตนเองก่อน

ท่อนที่หยิบยกมาให้ฟังมีความเกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารเป็นยา นั่นหมายถึงการรับประทานอาหารที่มีสรรพคุณในการเสริมสร้างพลานามัยและสร้างภูมิคุ้มกันโรคอยู่แล้ว ทำให้ห่างไกลจากโรคโดยไม่ต้องรอให้ร่างกายป่วยแล้วไปรับประทานยาทีหลัง หรือที่หลายคนชอบพูดกันว่า “จงกินอาหารให้เป็นยา ไม่ใช่กินยาให้เป็นอาหาร”

อายุรเวท

เนื้อหาในครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่เราจะกล่าวเกี่ยวกับอายุษ (Ayush) หรือเวชศาสตร์อินเดียโบราณ โดยก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงกระทรวงอายุษแห่งอินเดียที่ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเวชศาสตร์ทางเลือกที่มีอยู่หลายแผนด้วยกัน และในสัปดาห์ถัดมาเราก็ได้เล่าเกี่ยวกับ โยคะ หรือตัว Y ในอายุษโดยสังเขป และในวันนี้เราจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับตัว A ที่มาจาก Ayurveda หรือที่คนไทยเรียกว่า อายุรเวท เป็นเวชศาสตร์ทางเลือกที่นิยมมากที่สุดในประเทศอินเดีย และมีที่มาจากคัมภีร์พระเวทในสมัยโบราณ

อายุรเวท มีที่มาจากคำภาษาสันสกฤตสองคำ

1. ayus (อายุส) หมายถึง การดำรงชีวิตหรือชีวิตที่ยืนยาว คนไทยนำคำศัพท์นี้มาใช้ในความหมายว่า อายุ หรือ age ในภาษาอังกฤษ ซึ่งก็มีรากศัพท์เกี่ยวข้องกับคำว่า อายุส ในภาษาสันสกฤตอีกเช่นกัน

2. ส่วนคำว่า เวท มาจากคำว่า veda หรือความรู้ เป็นที่มาของชื่อเรียกคัมภีร์พระเวท และคำว่า วิทยา หรือวิชา ในภาษาไทย อีกทั้งสัมพันธ์กับคำว่า ไวทยะ ที่คนไทยนำมาใช้เป็นคำว่า แพทย์ หมายถึงหมอรักษาโรคอีกด้วย เพราะแน่นอนว่าหมอรักษาโรคคือผู้ทรงความรู้ไว้ในตัวมหาศาล และคำนี้ยังสัมพันธ์กับคำว่า wit และ wisdom ในภาษาอังกฤษด้วย

เมื่อนำทั้งสองคำมาสมาสรวมกัน อายุรเวท สามารถแปลอย่างสั้นกระชับว่าความรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตหรือศาสตร์แห่งอายุยืนยาวนั่นเอง

อายุรเวทมีมานานเท่าไหร่แล้ว

แม้ว่าจะไม่ทราบปีที่เกิดแน่ชัด แต่ก็ประมาณการว่าศาสตร์นี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่าสองพันปี และไม่ทราบที่มาว่าใครแต่งตำราอายุรเวทขึ้น แต่นิยมนับถือกันว่าเป็นความรู้ที่เทวดาได้ถ่ายทอดให้บรรดาฤษี ซึ่งเป็นที่มาทำนองเดียวกับศาสตร์โบราณอื่น ๆ ของอินเดีย

ปัจจุบันมีการประมาณการว่า ในอินเดียและเนปาลมีผู้ปฏิบัติสอดคล้องกับหลักอายุรเวทถึงร้อยละ 80 ของประชากร อายุรเวทนั้นรวมองค์ความรู้อันหลากหลาย เช่นพูดถึงการใช้สมุนไพรรักษาโรค โภชนาการ การพักผ่อนนอนหลับ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งครอบคลุมวิธีการใช้ชีวิตประจำวันให้เกิดสมดุลภายใน

แนวคิดหลักของอายุรเวท

แนวคิดหลักของอายุรเวทเชื่อว่า ในร่างกายของมนุษย์ทุกคนหล่อเลี้ยงและดำเนินไปด้วยสมดุลของธาตุทั้งห้า แบ่งออกเป็นสามสภาวะ คือ

1. วาตะ ประกอบด้วยธาตุลมและอากาศธาตุหรือช่องว่าง อันหมายถึงการไหลเวียนต่าง ๆ ในระบบของร่างกาย และส่วนที่เป็นช่องว่างในร่างกาย
2. ปิตตะ ประกอบด้วยธาตุไฟและน้ำ หมายถึงอุณภูมิในร่างกายและระบบการย่อยการเผาผลาญให้เกิดพลังงาน
3. กผะ ประกอบด้วยธาตุดินและน้ำ หมายถึงส่วนประกอบที่เป็นมวลร่างกายทั้งเนื้อหนังและของเหลวต่าง ๆ

สามอย่างนี้รวมกันเรียกว่า “ตรีโทษ” (Tridosha) เมื่อใดที่เราเกิดไม่สบายเจ็บป่วยขึ้นมา หมายความว่าสภาวะใด ๆ ในสามสภาวะอาจกำเริบหรือบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องรักษาให้เกิดสมดุลปรกติดีอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องของธาตุในร่างกายที่ว่านี้ก็เป็นพื้นฐานของแพทย์แผนโบราณไทยเช่นกัน หากมีธาตุใดธาตุหนึ่งน้อยไป มากไป หรือผิดปกติไป ก็จะทำให้เกิดโรค แพทย์แผนไทยเรียกภาวะ ที่ธาตุน้อยไปว่า “หย่อน” เรียกภาวะที่ธาตุมากไปว่า “กำเริบ” และเรียกภาวะที่ธาตุผิดปกติไปว่า “พิการ” เมื่อรู้ว่าธาตุใดหย่อน กำเริบ หรือพิการ ก็จะให้ยาแก้ได้

อาหารเป็นยา แนวคิดสำคัญข้อหนึ่งในศาสตร์ของอายุรเวท

อันที่จริงแล้วก็จัดว่าเป็นพื้นฐานของอารยธรรมโบราณอื่น ๆ อีกมากด้วย ตัวอย่างเช่น ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) แพทย์กรีกโบราณ เมื่อประมาณสี่ศตวรรษก่อนคริสตกาลก็เคยกล่าวไว้ตามที่มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า

“Let food be thy medicine and medicine be thy food.”
“สูจงให้อาหารเป็นยา และยาเป็นอาหาร”

ข้อความนี้จัดว่ามีเหตุผลดี เพราะอาหารคือสิ่งที่ร่างกายบริโภคเป็นประจำทุกวัน ถือเป็นพื้นฐานเลยก็ว่าได้ของการดำรงชีวิตให้อายุยืนยาวและปลอดโรค อาหารจึงควรมีสรรพคุณในการป้องกันโรคหรือส่งเสริมระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และอาหารที่เกิดโทษหรือเป็นที่มาของโรคก็ไม่ควรรับประทาน

หากจะย้อนกล่าวถึงสมดุลของสภาวะทั้งสามคือ วาตะ ปิตตะ และ กผะ ทางอายุรเวทกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้ในสภาวะปรกติของร่างกายแต่ละคน สัดส่วนของตรีโทษในตัวของแต่ละคนก็ย่อมไม่เท่ากัน คนเราจึงมีบุคลิกที่แตกต่างกัน ตามแต่ว่าข้อใดจะหนักกว่าข้ออื่น

คนที่หนักไปทางวาตะก็จะเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว คนที่หนักไปทางปิตตะก็จะเป็นพวกเลือดร้อน คนที่หนักไปทางกผะก็จะเป็นพวกเนิบนาบสบาย ๆ

อายุรเวทแนะนำว่า การเลือกรับประทานอาหารใด ๆ ก็ไม่ควรไปส่งเสริมให้สภาวะใดที่หนักอยู่แล้วกลับหนักขึ้นไปอีก ตรงกันข้ามควรเลือกอาหารที่มีลักษณะลดสภาวะดังกล่าว

คนที่เป็นพวกวาตะควรรับประทานอาหารที่อุ่น นิ่ม และมีความฉ่ำ เช่น กล้วย เบอร์รี่ ผักต้ม ข้าวโอ๊ตต้ม หลีกเลี่ยงอาหารขม แห้ง และเย็น เช่น ผักดิบ ผลไม้แห้ง ไอศกรีม

คนที่เป็นพวกปิตตะควรรับประทานอาหารเบา เย็น และหวาน เช่น ผักสดผลไม้สดที่เบา ๆ และไม่มีแป้ง หลีกเลี่ยงอาหารหนัก เผ็ด และเปรี้ยว อย่างพวกพริก มันฝรั่ง ของดอง

คนที่เป็นพวกกผะเป็นพวกที่ร่างกายเผาผลาญไม่ค่อยดี ควรรับประทานอาหารที่เผ็ด เปรี้ยว และทำให้อิ่มเร็ว เช่น เครื่องเทศต่าง ๆ ผักผลไม้รสเปรี้ยว หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงอย่างพวกของทอดมัน ๆ หรือจังก์ฟู้ด

แน่นอนว่าหลักการดังกล่าวเป็นเพียงพื้นฐานคร่าว ๆ เท่านั้น ทางอายุรเวทเชื่อว่าหากรับประทานอาหารที่ทำให้ร่างกายเกิดความสมดุลก็จะช่วยให้เจ้าของร่างกายนั้นมีอายุยืนยาวปลอดโรค แนวคิดนี้แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการยืนยันด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ผู้คนจำนวนมากก็นำไปปรับประยุกต์ใช้

อาหารบางชนิดที่ทางอายุรเวทอินเดียถือว่ามีสรรพคุณทางยา

ฆี (Ghee) หรือเนยใส จัดว่าเป็นพื้นฐานของการปรุงอาหารอินเดีย
เกิดจากการสกัดส่วนไขมันบริสุทธิ์ออกจากเนยด้วยการตั้งไฟอ่อนแยกเอาน้ำมันออกมาจากน้ำและโปรตีน เนยใสเป็นหนึ่งในอาหารที่ส่งเสริมความกระปรี้กระเปร่าและอายุยืนที่ดีที่สุด ช่วยย่อยอาหารและทำให้เส้นประสาทสงบผ่อนคลาย เนยใสมีอัตราการดูดซึมสูง ทำให้เป็นสื่อที่ดีเยี่ยมสำหรับการส่งต่อสารอาหารที่ได้จากอาหารอื่นๆ ไปยังเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำให้ภิกษุฉันเนยใสเป็นประจำ เรียกว่าเป็นหนึ่งในเภสัช หมายถึงสามารถฉันได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งยามวิกาล สำหรับการนำมาใช้ในวัฒนธรรมอาหารอินเดีย ก็อย่างที่เรารับรู้กันคือเนยใสเป็นส่วนประกอบหลักในการปรุงอาหารโดยมาก ทั้งของคาวและของหวาน ดังนั้นคนอินเดียซึ่งส่วนใหญ่กินอาหารอินเดียแทบทุกวันอยู่แล้ว ก็จะได้รับเนยใสปริมาณหนึ่งทุกวันนั่นเอง

ขิง มักถูกเรียกว่าเป็น “ยาครอบจักรวาล”
ขิงช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยขับเหงื่อ ช่วยแก้หวัด แก้ไอ ขับเสมหะ ลดอาการจุกเสียด และมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกหลายประการมาก คนไทยเองก็จัดว่าขิงเป็นสมุนไพรชั้นเยี่ยมและเป็นเครื่องดื่มที่ควรดื่มเป็นประจำ สำหรับการใช้ขิงช่วยในการย่อยอาหาร ทางอายุรเวทแนะนำว่า ให้นำขิงสดฝานบางๆ ใส่น้ำมะนาวและเกลือ แล้วรับประทานครึ่งชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร และส่วนประกอบของอาหารอินเดียเองนั้นส่วนใหญ่ก็จะมีขิงผสมอยู่ และโรยหน้าด้วยขิงอยู่แล้วเป็นปรกติ เช่นหากเราเข้าไปรับประทานอาหารอินเดียแล้วสั่งแกงดาลสักถ้วย เราก็จะเห็นว่าร้านส่วนใหญ่จะมีขิงซอยเป็นเส้นบาง ๆ โรยหน้ามาด้วย นอกจากนี้ขิงยังเป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่งของชาอินเดียที่เรียกว่า มซาล่าจาย อีกด้วย

อามลา (Amla) หรือมะขามป้อมอินเดีย
ชื่อวิทยาศาสตร์ตรงกับ Phyllanthus emblica ลักษณะเป็นลูกกลมป้อมสีเขียว มีขนาดย่อมกว่าผลส้มเขียวหวานเล็กน้อย รสชาติฝาดแต่หลังรับประทานจะหวานในคอ มะขามป้อมจัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงที่สุด ในบรรดาผลไม้ทั้งหมด เพราะมะขามป้อมลูกเล็ก ๆ เพียงลูกเดียว ให้วิตามินซีสูงกว่าวิตามินซีสังเคราะห์ถึง 12 เท่า และมากกว่าน้ำส้มคั้นถึง 20 เท่า ประเทศไทยก็มีมะขามป้อมเช่นกันแต่มักจะลูกเล็กกว่าอินเดีย ปัจจุบันในอินเดีย มะขามป้อมจัดเป็นผลไม้ที่กำลังติดตลาด ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินซีที่มีปริมาณสูง ช่วยให้ฟื้นฟูจากความป่วยไข้ได้รวดเร็ว และยังมีสารเคมีที่ช่วยกระตุ้นให้ความจำดีขึ้น ช่วยย่อยอาหารและช่วยให้สายตาดีขึ้น ผลิตภัณฑ์จากมะขามป้อมจึงมีออกมามากมาย

นีม (Neem) หรือต้นสะเดาอินเดีย
ชื่อวิทยาศาสตร์ตรงกับ Azadirachta indica A.Juss. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 8-12 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของลำต้นจำนวนมาก บางต้นก็มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม เปลือกต้นลำเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องลึกตามยาว ที่สำคัญคือทุกส่วนของต้นมีรสขม และสามารถใช้ประกอบยาเพื่อแก้อาการหลายอย่าง เช่นแก้ไข แก้เจ็บคอ แก้อาการแพ้ ความที่ต้นสะเดาอินเดียในอายุรเวทโบราณมีสถานะเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่แก้สารพัดโรค และช่วยแม้กระทั่งพอกปิดบาดแผลเพื่อฆ่าเชื้อ ช่วยแก้โรคผิวหนังและเสริมความงามของผิวพรรณ สะเดาอินเดียจึงเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าสูงสุด มีผลิตภัณฑ์ออกมามากมายทั้งเป็นยาแคปซูล สบู่ หรือเป็นแป้งประทินผิว เป็นต้น

ผู้ฟังอาจสงสัยว่า แล้วรสขมขนาดนี้ จะสามารถนับว่าเป็นอาหารได้หรือ ขอบอกว่าดอกสะเดาอินเดียที่มีความขมน้อยกว่าใบเป็นส่วนผสมที่นิยมมากในอาหารอินเดียใต้ ภาษาทมิฬจะเรียกว่า เวปัมปู ใช้ทั้งแบบสดและแห้ง นำไปปรุงแกงรสัม (แกงน้ำใสรสชาติเปรี้ยว) แกงดาล และแกงอื่น ๆ อีกมาก ใช้เป็นรสขมที่แฝงอยู่ ในอาหารทางภาคเหนือก็อาจจะมีบ้างแต่น้อยกว่า ส่วนใหญ่ผสมในผักดองอินเดียรสจัดที่เรียกว่า pickle เรื่องที่น่าสนใจของสะเดาอินเดียคือ ครั้งหนึ่งคุณชวน หลีกภัยเคยเดินทางไปอินเดียกับคณะ คุณชวนได้พยายามนำต้นสะเดาอินเดียเข้ามาปลูก และได้เขียนเล่าเรื่องดังกล่าวไว้ในบันทึกการเดินทางของตนเองด้วย

กานพลู (clove) หรือทางภาษาฮินดีเรียกว่า Laung
เป็นดอกไม้รสเผ็ดร้อน มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและอินโดนีเซีย และนิยมใช้ในรูปแบบแห้งเพื่อเป็นเครื่องเทศผสมในอาหาร เวลารับประทานกานพลูจะทำให้ปากชาเล็กน้อย แม้มีรสชาติเผ็ดก็จริง แต่เมื่อสูดลมหายใจเข้าจะรู้สึกเย็นสดชื่น กานพลูช่วยระงับอาการปวดฟัน ลดอาการคลื่นเหียนวิงเวียนเมื่อใช้ร่วมกับขิงและกระวาน ซึ่งทั้งสามชนิดนี้เหมือนเครื่องเทศสามเกลออินเดียที่ปรากฏอยู่ในอาหารหลากหลายชนิดมากไม่เว้นแม้แต่ของขบเคี้ยว ขนมหวาน หรือมซาล่าจาย ขอกระซิบบอกด้วยว่า สรรพคุณลับอย่างหนึ่งของกานพลูคือมีผลเกี่ยวกับการบำรุงสุขภาวะทางเพศด้วย
.
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio Plus
ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ