โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในสัตว์เลี้ยง
49,677 views
0
0

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในสัตว์เลี้ยง
โรคที่พบได้บ่อยช่วงหน้าฝน เกิดได้กับสุนัขทุกช่วงอายุ พบได้บ่อยในสัตว์ที่ไม่แข็งแรง เช่น ลูกสุนัข สุนัขอายุมาก สุนัขที่ร่างกายอ่อนแอ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง ไวต่อการติดโรคได้ง่าย

ระบบทางเดินหายใจ

ประกอบด้วย จมูก โพรงจมูก คอหอยน่วมจมูก หลอดลม หลอดลมขั้วปอด หลอดลมฝอย ปอด ถุงลม

อาการ

เริ่มตั้งแต่ไอ จาม ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ ไม่มีแรง น้้ามูก-น้้าตาไหล ลักษณะอาการที่รุนแรงมากขึ้นคือ น้ำมูกเริ่มข้น มีสีเข้มขึ้นตั้งแต่ ขาวขุ่น เหลืองและเขียว บางตัวอาจมีอาการหอบ หายใจกระแทก หายใจด้วยช่องท้อง สัตว์จะมีสุขภาพโทรมลง ไอรุนแรงขึ้น และอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากภาวะติดเชื้อในปอดที่เรียกว่า ปอดอักเสบ หรือ นิวโมเนีย (Pneumonia)

สาเหตุ

เกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส (อาจมีเชื้อราร่วมด้วยได้)

การติดต่อ

สามารถติดต่อได้โดยการรับเชื้อที่แพร่กระจายในอากาศโดย การหายใจเป็นหลัก ติดต่อจากการสัมผัส คลุกคลีกับสัตว์ป่วยโดยตรง เช่น รับเชื้อจากน้ำมูกของสัตว์ที่ป่วย จากการไอจามใส่กัน การเลียหน้าเลียตา ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้รวดเร็ว

การรักษา

สัตวแพทย์มักรักษาตามอาการของโรค

1. การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการเลือกใช้ยาในแต่ละกลุ่มจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาถึงชนิดหรือกลุ่มของเชื้อแบคทีเรีย น้้าหนักตัว และปริมาณยาที่สัตว์จะได้รับในแต่ละมื้อ ซึ่งควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนให้ยาทุกครั้ง
2. การให้ยาตามอาการ เช่น ยาลดอาการไอ ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้แก้ปวด ยาขับปัสสาวะ
3. การให้สารน้ำทดแทน ในกรณีที่สัตว์มีภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ หรือมีการการสูญเสียน้ำจากการอาเจียนหรือท้องเสียร่วม
4. การให้วิตามินและสารอาหารบำรุง
5. การให้ออกซิเจน เพื่อเพิ่มระดับของออกซิเจนในเลือดของสุนัข ในกรณีที่มีภาวะปอดชื้น หรือปอดติดเชื้อจนทำให้สัตว์เกิดภาวะหายใจลำบาก

การป้องกัน

โรคระบบทางเดินหายใจบางโรค เช่น หวัด หลอดลมอักเสบติดต่อ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หัดสุนัข สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนประจำปี นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพอนามัยของสุนัขให้แข็งแรง ให้อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
.
รายการ Pet Care onair
ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร และ สพ.ญ.ดร.ฉัตรวลี บุญธรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย