ทัศนศึกษาอยุธยา ชุด "การเมืองอยุธยา"
2,455 views
0
0

417 ปีของราชธานีศรีอยุธยา การเมืองเป็นบริบทที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์อยุธยา มีทั้งช่วงเวลาที่บ้านเมืองเจริญและเสื่อมถอย ในเวลานั้น เป็นยุคสมัยที่พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางในระบบการบริหารราชการแผ่นดิน หรือศูนย์กลางทางการเมือง เป็นผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางทางการเมือง แต่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์เพียงคนเดียวที่มีอำนาจ เนื่องจากถูกแวดล้อมด้วยพระราชวงศ์ ดังนั้นทิศทางการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองอยุธยาจึงมีจุดสนใจอยู่ที่กษัตริย์และราชวงศ์

ราชวงศ์อยุธยา 5 ราชวงศ์

ราชวงศ์อยุธยาเพิ่งมาแบ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 การเมืองอยุธยาจึงยืนอยู่บน 5 ราชวงศ์นี้
1. วงศ์เชียงรายหรือราชวงศ์อู่ทอง
2. วงศ์สุพรรณภูมิ
3. วงศ์สุโขทัย
4. วงศ์ปราสาททอง
5. วงศ์บ้านพลูหลวง

ฉากสำคัญในการเมืองอยุธยา

"การแย่งชิงอำนาจ" คือฉากสำคัญในการเมืองอยุธยา โดยเฉพาะการล้มบัลลังก์กษัตริย์องค์เดิม จากนั้นเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางก็ขึ้นมาแทน กล่าวได้ว่า สถานะกษัตริย์อยุธยาบอบบางมาก ถูกท้าทายได้ง่าย มีคนหลายกลุ่มจ้องที่จะช่วงชิงสถานะนี้ เพราะสถานะกษัตริย์เป็นที่มาของอำนาจและสิทธิในการตัดสินใจต่างๆ ของบ้านเมือง รวมถึงอำนาจในการควบคุมเมืองการค้าและเศรษฐกิจอย่างอยุธยา

ทัศนศึกษาอยุธยา ชุด การเมืองอยุธยา

1. สถานที่ที่ควรเริ่มต้นที่แรกคือ พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นศูนย์กลางอำนาจของราชอาณาจักร อันเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่ใดไปไม่ได้นอกจาก พระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา หรือก็คือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (ทั้งเขตพุทธาวาสและเขตราชมณเฑียร) สัญลักษณ์ทางการเมืองแสดงถึงสถานภาพของกษัตริย์อยุธยา ในฐานะประธานฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร

2. การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองมักสะท้อนผ่านฉากสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์อยุธยา ช่วงเวลาที่น่าสนใจช่วงหนึ่งคือ ช่วงท้ายของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ไปจนถึงการขึ้นมาสู่อำนาจของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระนามเดิมว่า พระเทียรราชา (ก่อนหน้านั้นพระเทียรราชาต้องต่อสู้กับขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์) บริเวณคลองสระบัว คือพื้นที่ในการต่อสู้กัน มีรายละเอียดปรากฏชัดเจนในพระราชพงศาวดาร

3. ประตูมงคลสุนทร อยู่เขตพระราชฐานชั้นนอก มีความสำคัญคือในการรัฐประหารทุกครั้ง ขุนนางที่ต้องการยึดอำนาจจากกษัตริย์ต้องฟันประตูนี้เข้าไปก่อน เพราะตรงนี้คือกองบัญชาการ

4. วัดโคกพระยา สถานที่ใช้ในการสำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดิน แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันเนื่องจากยังไม่พบร่องรอยหลักฐานที่แน่ชัด เพียงแต่ปรากฏชื่อในพงศาวดาร

รายการไทยศึกษา
อ.วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ดินาร์ บุญธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย