เป็นประตูอยู่บนกำแพงพระนคร ที่เรียกว่า ประตูช่องกุด ตำแหน่งเดิมของประตูผี (ของกรุงรัตนโกสินทร์) อยู่พื้นที่บริเวณหน้าวัดเทพธิดาราม ปัจจุบันประตูผีถูกรื้อไปพร้อมกับกำแพงพระนครแล้ว
เป็นประตูอยู่บนกำแพงพระนคร ที่เรียกว่า ประตูช่องกุด ตำแหน่งเดิมของประตูผี (ของกรุงรัตนโกสินทร์) อยู่พื้นที่บริเวณหน้าวัดเทพธิดาราม ปัจจุบันประตูผีถูกรื้อไปพร้อมกับกำแพงพระนครแล้ว
ชื่อประตูผี เป็นประตูให้ผีออก หมายถึงประตูที่ใช้หามศพออกไป เหตุที่ต้องเอาศพออกมา เนื่องจากเป็นประเพณีโบราณของบ้านเมือง พื้นที่ภายในพระนคร (ถ้าไม่ใช่ชนชั้นปกครอง) จะไม่ให้ปลงศพ (ทำให้ศพสูญสลาย) ในเมือง
ประตูผีของกรุงรัตนโกสิทนร์อยู่ฝั่งตะวันออก (เนื่องจากทิศตะวันตกเป็นแม่น้ำ) พอออกประตูผีไปก็เจอป่าช้าวัดสระเกศ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่มาก่อนสร้างกรุงเทพฯ พอซากศพทั้งหลายทิ้งก่ายกองตรงนั้น ก็มีแร้ง หรือพนักงานเทศบาลธรรมชาติมาช่วยจัดการ ที่เรียกกันต่อมาว่า แร้งวัดสระเกศ
ประตูผี คือประตูให้ผีออกอย่างเดียว ไม่รับเข้ามาอีก กลยุทธ์ไม่ให้ผีกลับเข้าเมือง ตามคติความเชื่อคนอุษาคเนย์เชื่อว่า ผีย่อมกริ่งเกรงต่อพระพุทธคุณ จึงต้องให้ประตูผีอยู่ในแนวเดียวกับศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์ของพระนคร นั่นคือ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยที่พระพักตร์ของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) หันออกทางทิศตะวันออก (สมัยก่อนเรียก พระแก้วเฝ้าประตู) เมื่อประตูผีตรงกับหลักศักดิ์สิทธิ์ของพระนคร ผีจึงกลับเข้าเมืองไม่ได้
ประตูผีหมดบทบาทลงเมื่อแนวกำแพงพระนครหมดบทบาท ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แนวกำแพงพระนครมีหน้าที่เป็นแนวป้องกันพระนคร เนื่องจากในเวลานั้นยังมีศึกเสือเหนือใต้ยกมาประชิดเมือง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อสงครามเปลี่ยนรูปแบบ กำแพงไม่ใช่เครื่องป้องกันอีกต่อไป ทรงมีพระราชดำริว่า กรุงเทพฯ ชั้นในเล็กไปแล้ว จึงมีการขยายพระนคร แนวกำแพงค่อยๆ ลดบทบาทลง พอมาถึงรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนมากขึ้น การสัญจรทางถนนมีความสำคัญแทนที่ จึงมีการรื้อกำแพงพระนคร เหลือเพียงบางแห่งไว้เป็นอนุสรณ์ เช่น บริเวณหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร เหลือป้อม 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระอาทิตย์ (ป้อมพระสุเมรุ) ปัจจุบันประตูผีถูกรื้อไปพร้อมกับกำแพงพระนครแล้ว
รายการไทยศึกษา
อ.วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ดินาร์ บุญธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย