ประเพณีลอยกระทง
• คติในการลอยกระทงคือ ความรู้สึกเคารพบูชา ขอขมา และระลึกถึงคุณค่าของแม่น้ำลำคลอง ผนวกกับคติความเชื่อที่ว่าแม่น้ำมีพระแม่คงคาหรือวิญญาณประจำแหล่งน้ำที่คอยปกปักษ์รักษาสรรพสิ่ง
• ที่มาของประเพณีลอยกระทง มาจากไหน
นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าเป็นคติอินเดีย เพราะอินเดียก็มีการจุดประทีปลอยแม่น้ำคงคา บางกลุ่มเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นจากคนพื้นเมืองเอเชียอาคเนย์เองที่มีความเชื่อเรื่องวิญญาณประจำแหล่งน้ำอยู่แล้ว โดยไม่ต้องอาศัยต้นแบบของวัฒนธรรมไหน
• ประเพณีลอยกระทงพบเห็นได้ในดินแดนเอเชียอาคเนย์ และเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันคือ วันเพ็ญเดือนสิบสอง
• คำว่า ลอยพระประทีป เป็นคำราชาศัพท์ หมายถึง การลอยกระทงของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
• รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ว่า ราชสำนักสยามตั้งแต่โบราณถือว่าการลอยพระประทีปเป็นราชประเพณีสำคัญที่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ต้องปฏิบัติ ต่อท้ายพระราชพิธีสำคัญพิธีหนึ่งเรียกว่า “จองเปรียง” ความหมายและความสำคัญของพิธีนี้คืออะไร
• นักประวัติศาสตร์มีข้อถกเถียงกันว่า ตำนานนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อันที่จริงเป็นวรรณกรรมที่เพิ่งมาแต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่การลอยพระประทีปของพระมหากษัตริย์มีมานานแล้ว ปรากฏในหลักฐานอื่นๆ โดยเฉพาะคำให้การชาวกรุงเก่า
• นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า การลอยกระทงน่าจะเริ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากหากพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์ บ้านเมืองในสมัยสุโขทัยเป็นที่ดอน แหล่งน้ำมีอยู่จำกัด มีไว้ใช้อุปโภค-บริโภค ไม่เหมาะกับการนำกระทงไปลอย เทียบกันแล้ว จุดกำเนิดน่าจะเกิดในบ้านเมืองที่ตั้งถิ่นฐานใกล้ลุ่มแม่น้ำอย่างกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาถึงกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งบริบูรณ์ลุ่มน้ำและลำคลอง
• ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา พระราชนิยมเกี่ยวกับการลอยพระประทีปได้ลดขนาดลงมา และมักทำเป็นการส่วนพระองค์ ปฏิบัติอย่างเรียบง่าย