กาญจนบุรี
จากเมืองหน้าด่าน เส้นทางเดินทัพพม่า สู่ปราการสำคัญทางเศรษฐกิจ
กาญจนบุรี
จากเมืองหน้าด่าน เส้นทางเดินทัพพม่า สู่ปราการสำคัญทางเศรษฐกิจ
เมืองกาญจนบุรี ก่อนจะมีสถานะเป็นจังหวัดกาญจนบุรีเช่นปัจจุบัน เคยดำรงสถานะเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรสยาม
เมืองกาญจนบุรีในสมัยอยุธยามีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่าน โดยเฉพาะเมื่อเกิดสงครามไทย-พม่า ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช กระทั่งถึงคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310
เนื่องจากเป็นเมืองแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นเส้นทางเดินทัพของกองทัพพม่า (หงสาวดี) โดยเข้ามาทาง ด่านพระเจดีย์สามองค์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสังขละบุรี)
พม่าต้องยึดเมืองกาญจนบุรีให้ได้ก่อน ก่อนที่จะเดินทัพต่อเพื่อยึดเมืองราชบุรี สุพรรณบุรี และเข้ากรุงศรีอยุธยา
เมืองกาญจนบุรีในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้มีอาณาเขตกว้างใหญ่ดังเช่นที่เป็นจังหวัดกาญจนบุรี
กาญจนบุรีเมื่อครั้งกระโน้นไม่ได้อยู่ตรงอำเภอเมืองเช่นปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่ตรงเชิงเขาชนไก่ ริมแม่น้ำแควใหญ่ ชัยภูมิดี มองเห็นกำลังข้าศึก แต่ค่อนข้างกันดาร
สมัยต้นรัตนโกสินทร์ สงครามเก้าทัพ สมรภูมิสำคัญอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยกกองทัพรับทัพหลวง กำลังพลนับแสนของพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่า ที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ในที่สุดกองทัพไทยได้รับชัยชนะ
สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองกาญจนบุรีลงมาที่ ปากแพรก จุดที่แม่น้ำแควน้อย-แควใหญ่บรรจบกัน เป็นแม่น้ำแม่กลอง และให้ก่อกำแพงล้อมเมืองปากแพรกเป็นเมืองกาญจนบุรีใหม่
เกิดคำถามว่า ในเมื่อเกิดสงครามกับพม่าน้อยลง เหตุใดจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองกาญจนบุรี
คำตอบคือ ความสำคัญไม่น่าอยู่ที่การศึกสงครามอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ต้องไม่ลืมว่า เหนือเมืองกาญจนบุรีขึ้นไปอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าเขาจากเทือกเขาตะนาวศรี เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ
ปากแพรก จุดรวมของแม่น้ำแควน้อย (ไทรโยค) และแควใหญ่ (ศรีสวัสดิ์) เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้า ลงมาแม่น้ำแม่กลอง ลงไปสู่บ้านเมืองตอนใต้ ราชบุรี สมุทรสงคราม ทำให้ผู้คนจากตอนในและริมฝั่งทะเลได้ติดต่อกัน
กาญจนบุรี ไม่เพียงเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยังแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
แม้แต่ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ฉากสำคัญก็เกิดขึ้นที่กาญจนบุรี
รายการไทยศึกษา
วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ดินาร์ บุญธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย