วันที่ 31 มีนาคม 2562
ท้าวเทพกระษัตรี สตรีแถวหน้าในประวัติศาสตร์ไทย
ท้าวเทพกระษัตรี เดิมชื่อ ท่านผู้หญิงจัน
คนส่วนใหญ่รู้จักท่านในฐานะ วีรสตรีศึกถลาง พ.ศ. 2328 (ส่วนหนึ่งของสงครามเก้าทัพ สมัยรัชกาลที่ 1) ทำให้ทัพพม่าถอยร่นออกจากเมือง
เมื่อไปดูประวัติของท้าวเทพกระษัตรี พบว่า ท่านเป็นผู้หญิงแถวหน้าที่มีความเป็นผู้นำไม่เพียงแต่เรื่องรบทัพจับศึก แต่มีบทบาทและความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในการบริหารราชการบ้านเมือง (ถลาง)
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
หลังจากที่หม่อมภักดีภูธร สามีคนแรกเสียชีวิต คุณหญิงจันได้สมรสกับคุณพระพิมลอัยา (ขัน) ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็น พระยาสุรินทราชาพิมลอัยา เจ้าเมืองถลาง (ต้นสกุล ณ ถลาง) แต่ด้วยความที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง คุณหญิงจันออกว่าราชการเมืองแทนสามี เรื่องนี้ทางกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ก็ทราบดี
คุณหญิงจันได้ถวายบุตรสาว (ทองมา) ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชธิดา 1 พระองค์ (พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอุบล) เท่ากับว่ามีสายสัมพันธ์กับราชสำนัก
ตรงนี้เองทำให้ทำไมคนถึงเรียกท่านว่า ท่านผู้หญิงจัน
ตามปกติ ภรรยาข้าราชการชั้นเจ้าเมืองหรือชั้นพระยาจะเรียก คุณหญิง
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งที่รัชกาลที่ 1 ทรงไว้วางพระทัยและโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจันทำคือ ติดต่อค้าขาย โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ
ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี บริษัทอินเดียตะวันออกมีความต้องการดีบุกจากคาบสมุทรภาคใต้และแหลมมลายู จึงได้ติดต่อเข้ามาที่เมืองถลางผ่านผู้แทนชื่อ กัปตันฟรานซิส ไลท์ (พระยาราชกปิตัน)
เมื่อพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าส่งกองทัพเก้าทางมาตีสยาม (สงครามเก้าทัพ) ทางหนึ่งคือ ถลาง เวลานั้นพระยาสุรินทราชาพิมลอัยาถึงแก่อนิจกรรมพอดี ท่านผู้หญิงจันจึงต้องรับหน้าที่แก้ไขปัญหาเพื่อให้รอดพ้นจากศึกถลาง
แต่จะทำอย่างไรในเมื่อกองกำลังมีน้อยกว่าทัพพม่า
ท่านผู้หญิงจันทำอุบาย ใช้ยุทธวิธีหลอกล่อ
กลางคืน ให้คนเดินออกจากเมือง กลางวัน ก็ให้คนเหล่านั้นเดินกลับเข้ามา ทำเหมือนมีกองกำลังสมทบเข้าเมืองเรื่อยๆ
อีกวิธีคือ ตัดเสบียงกองทัพพม่า เมื่อขาดเสบียง ในที่สุดพม่าก็ต้องยกทัพกลับ
ด้วยความที่อาวุธขาด จึงเอาไม้มาชุบดีบุก ทำให้เหมือนเป็นโลหะ
หลังจากเมืองถลางพ้นภัย รัชกาลที่ 1 พระราชทานปูนบำเหน็จ
ท่านผู้หญิงจัน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี
คุณมุก (น้องสาว) เป็น ท้าวศรีสุนทร
ท้าว เป็นบรรดาศักดิ์ขั้นสูงกว่า ท่านผู้หญิง
ท้าวเทพกระษัตรี สตรีแถวหน้าในประวัติศาสตร์
สมกับคำที่ว่า ดาบก็แกว่ง มือก็ไกว
บทบาทของผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14-15 โดยเฉพาะผู้หญิงในครอบครัวข้าราชการ มีบรรดาศักดิ์ มีอันจะกิน พบว่า ไม่ได้ถูกจำกัด ผู้หญิงสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรมากมาย ทำมาค้าขาย หาเลี้ยงครอบครัว บริหารจัดการบ้านเมืองได้เสมอหรือล้ำหน้าผู้ชาย
.
รายการไทยศึกษา
อ.วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ดินาร์ บุญธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย