การทำบุญตักบาตรของคนไทย ธรรมเนียมที่เปลี่ยนไปตามเวลา
4,606 views
0
0

การทำบุญตักบาตรของคนไทย ธรรมเนียมที่เปลี่ยนไปตามเวลา
การทำบุญตักบาตร ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องละเอียดละอ่อน

• ย้อนรอยการบิณฑบาตและใส่บาตรตั้งแต่ครั้งกระนั้น (พุทธกาล) กระทั่งถึงครั้งกระนี้ (สังคมไทยปัจจุบัน) ความหมายที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
• ตามพระวินัย พระสงฆ์รับอาหารสดและอาหารแห้งที่ยังไม่ปรุงไม่ได้ แล้วธรรมเนียมการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งของคนไทยได้มาแต่ใด

บัญญัติไว้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล

พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเรื่องการบิณฑบาตของพระสงฆ์ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลว่าเป็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ พระสงฆ์ต้องเป็นภิกขุหรือภิกขาจารคือผู้ขอ เพื่อให้ญาติโยมที่มีศรัทธาได้ทำทาน ขอในสิ่งอันจะบังเกิดให้พุทธศาสนิกชนมีทานบารมี พุทธศาสนิกชนจะได้อานิสงส์จากการเป็นผู้บำรุงพระสงฆ์ให้สามารถดำรงพุทธศาสนาสืบต่อไปได้ บุญบารมีเกิดจากตรงนี้

ขณะเดียวกันพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ด้วยว่าการบิณฑบาตขออาหารจากญาติโยม ไม่ใช่ไปเรียกร้องให้เขานำอาหารอันประณีตหรืออาหารที่อยากรับประทานมาให้ แต่เป็นการออกไปขออาหารที่เขายินดีให้ตามแต่กำลัง พระสงฆ์เป็นเพียงผู้รับ ที่สำคัญต้องไม่มีการเก็บไว้ ต้องรับประทานให้หมดไปเป็นมื้อเป็นคราว

พระวินัยบัญญัติไว้ พระสงฆ์ทำอาหารฉันเองไม่ได้

การบิณฑบาตเป็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ เป็นไปตามพระวินัย นอกจากว่ามีเหตุอันควรให้ไม่สามารถออกบิณฑบาตได้

ทุกวันนี้จะเห็นว่าตามวัดมีโรงครัว มีได้ แต่ไม่ใช่พระสงฆ์ที่ทำครัว ผู้ที่จะเข้ามาทำอาหารต้องเป็นฆราวาสที่ปวารณาตนเพื่อเข้ามาปรุงอาหารถวายพระสงฆ์

การตักบาตรสมัยพุทธกาล

เมื่อพระสงฆ์เดินผ่าน อุบาสก อุบาสิกาต้องนิมนต์พระสงฆ์มานั่งรอในบ้าน จากนั้นรับบาตรของท่านเข้ามาในครัวเพื่อบรรจุอาหารลงในบาตร

จากที่ปรากฏในพระสูตร ครั้งนั้นไม่มีการแยกอาหารเหมือนเช่นทุกวันนี้ แต่จะรวมอาหารที่ได้รับแต่ละบ้านลงในบาตร ที่สำคัญพระสงฆ์ฉันอาหารในบาตรนั้นเลย การฉันจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากในการต้องเตรียมภาชนะแยกใส่อาหารภายหลัง

เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนไทย

ธรรมเนียมการถวายอาหารบิณฑบาตแบบแยกข้าวแยกกับข้าว ไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อได แต่ปรากฏร่องรอยที่สืบค้นได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ มีการนำอาหารห่อกระทงใบตองใส่บาตรพระสงฆ์

ของปากบาตร = ของบนฝาบาตร

ธรรมเนียมไทยสมัยอยุธยา ข้าวใส่ในบาตร ส่วนกับข้าวที่ห่อกระทง พระสงฆ์จะหงายฝาบาตรเพื่อให้วางกับข้าวบนฝาบาตร จึงมีศัพท์ที่ใช้เรียกของที่วางบนฝาบาตรว่า "ของปากบาตร"

สมัยรัตนโกสิทนร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ของปากบาตรเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เป็นกับข้าว เพิ่มมาเป็นยา เครื่องใช้ไม้สอย ดอกไม้ธูปเทียน

รายการไทยศึกษา
อ.วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ดินาร์ บุญธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย