ปริศนาวัดวรเชษฐาราม 2 แห่ง จ.อยุธยา วัดใดคือวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถสร้างถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
7,117 views
0
0
ปรากฏชื่อ วรเชษฐาราม

"วรเชษฐาราม" ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดาร มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา (รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ) ในฐานะเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งสำคัญในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีซากวัดอยู่ 2 วัด ใช้ชื่อเดียวกัน ทุกวันนี้ในทางประวัติศาสตร์ยังระบุไม่ได้ว่าวรเชษฐาราม (ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร) คือวัดไหนกันแน่
1. วัดวรเชษฐาราม (ในพระนคร)
2. วัดวรเชตุเทพบำรุง หรือวัดวรเชษฐ์นอกเมือง (นอกพระนคร)

หมายเลข 26 และ 33
การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเหตุการณ์สร้างวัดว่าเกิดขึ้นภายหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว โดยที่กล่าวถึงการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า เสด็จสวรรคตที่เมืองหาง

เรื่องนี้เคยมีนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ต่อมามีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่าน่าจะเป็นเมืองที่มีชื่อว่า หางหลวง ปัจจุบันเป็นเมืองร้างในเขตรัฐฉาน ประเทศพม่า

เหตุที่เสด็จสวรรคตไกลพระนครขนาดนั้นเพราะอยู่บนเส้นทางเดินทัพไปตีเมืองตองอู ศูนย์กลางอาณาจักรพม่าในเวลานั้น หลังจากที่สมเด็จพระเอกาทศรถ (พระอนุชา) รับราชสมบัติต่อมา จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมศพกลับกรุงศรีอยุธยา

หลักฐานที่แตกต่าง

สมัยอยุธยาตอนต้น-กลาง มีธรรมเนียมการสร้างวัดทับลงบนที่ถวายพระเพลิง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระมหากษัตริย์ที่สวรรคต

จดหมายเหตุคำให้การชาวกรุงเก่า
สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อย่างไรก็ตามนี่เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่มี เนื่องจากไม่มีพระราชพงศาวดารฉบับใดกล่าวถึงการสร้างพระเมรุมาศเลย

หลังจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้น คำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวอีกว่าสมเด็จพระเอกาทศรถโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่นั้นสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ให้รายละเอียดการสร้างวัด แต่ไม่มีตรงไหนบอกว่าสร้างวัดตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพียงแต่เรียกพระอารามว่า "พระวรเชษฐารามมหาวิหาร" ความตอนหนึ่งกล่าวว่า "สมเป็นอรัญญวาสี" (วัดป่า)

ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าวรเชษฐ์ไหนกันแน่

มีนักประวัติศาสตร์อยุธยาน้อยมากที่จะกล้าฟันธงว่าวัดวรเชษฐารามอยู่ตำแหน่งไหนกันแน่

อ.ประยูร อุลุชาฎะ แสดงความเห็นที่เป็นแรงสนับสนุนให้เชื่อว่า น่าจะเป็นวัดวรเชษฐ์นอกพระนครมากกว่า
เพราะในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า "ทรงสร้างเป็นวัดฝ่ายอรัญญาวาสี" ดังนั้นจึงควรอยู่ตำแหน่งของกลุ่มวัดฝ่ายอรัญญวาสีซึ่งอยู่นอกเมือง

เมื่อพิจารณาจากขนาดของวัดนอกพระนครที่ใหญ่กว่า พระปรางค์องค์ใหญ่ที่อาจสร้างให้เหมือนพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นแผ่นดินที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประสูติ ทรงพระเจริญวัยขึ้น และทรงมีความผูกพันกับเมืองพิษณุโลก

ปริศนาที่ยังคงถกเถียง

วัดวรเชษฐ์ทั้งในและนอกพระนคร ไม่พบจารึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ระบุได้ว่า วรเชษฐ์ไหนคือที่ที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างถวาย เหลือแต่ซากปรักหักพัง แม้แต่การศึกษาทางโบราณคดีพบว่าถาวรวัตถุทั้งสองวัดอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน

รายการไทยศึกษา
อ.วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ดินาร์ บุญธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย