จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้อนรับผู้นำการศึกษาทั่วโลก แสดงศักยภาพพัฒนาวัคซีนและหลากหลายนวัตกรรมสู้ COVID-19

- ข่าวต้นชั่วโมง


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้อนรับผู้นำทางการศึกษาจากทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาทางไกล จัดโดยสมาคมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASAIHL) ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในหัวข้อ “COVID-19: the Global New Reality” ในงานดังกล่าวมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศนำเสนอมุมมองต่อผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือโลกในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ผ่านไป

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทำหน้าที่แก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรมของจุฬาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ซึ่งล่าสุดได้พัฒนาก้าวหน้าจนสามารถทดลองฉีดในลิงได้เป็นที่แรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผลงานนวัตกรรมจากจุฬาฯ เพื่อสู้ COVID-19 มากมาย เช่น ‘Chula Baiya Strip Test’ ระบบตรวจคัดกรองเชื้อ COVID-19 เบื้องต้นแบบรวดเร็วที่สุดของไทย ‘หุ่นยนต์ปิ่นโต กระจก และนินจา’ ที่ช่วยดูแลผู้ป่วยได้หลากหลายรูปแบบ ลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการติดเชื้อ ‘ชีลด์พลัส โพรเทคติ้ง สเปรย์’ ที่ใช้ฉีดหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันเชื้อ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งที่ขาดแคลนและมีราคาสูง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและลดความเสี่ยงแก่คนไทย”

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีน COVID-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ วิทยากรในการประชุมสัมมนาทางไกลครั้งนี้ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ว่า ได้เลือกใช้เทคโนโลยี mRNA ในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งจากการทดลองในหนูพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลเป็นอย่างดี //และล่าสุดได้เริ่มมีการทดลองวัคซีนในลิง ซึ่งคาดว่าปลายเดือนมิถุนายน น่าจะทราบผลเบื้องต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวัคซีน และยาแก่สังคมไทยมายาวนาน ด้วยความเชื่อมั่นว่า ‘ประเทศไทยไม่ควรรอซื้ออย่างเดียว แต่ควรเป็นผู้ร่วมสร้างด้วย’ ครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 จนถึงขั้นทดลองฉีดในลิงได้เป็นแห่งแรกในไทย ทั้งนี้เทคโนโลยีใหม่ที่ใช้พัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับมหาวิทยาลัยระดับโลกคือ University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา และองค์กรพันธมิตร โดยได้รับทุนวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อการสรรสร้างนวัตกรรมเพื่อดูแลสังคมไทย

(Live) รายการ สุขกันเถอะเรา