สรุปข่าวประจำวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พุทธศักราช 2564

- ข่าวต้นชั่วโมง


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งประกาศเลื่อนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัดเข้าไปทำความเข้าใจแล้ว โดยวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ต้องให้บริการวัคซีนแก่ประชาชน โดยกระทรวงพร้อมเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ หน่วยบริการเร่งฉีดให้เร็ว จนไม่สอดคล้องกับจำนวนที่ได้รับ เมื่อหมดก็ต้องรอลอตใหม่เข้ามา นับเป็นความหวังดี ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมชาติของวัคซีนที่จะทยอยมา ก็ต้องจัดสรรให้ดี มิเช่นนั้นก็จะหมด ก่อนที่ลอตต่อไปจะลงมาถึง แต่ขอย้ำว่า คนไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงตามเป้าของรัฐบาลแน่นอน ส่วนการกระจายวัคซีนบริษัทแอสตราเซเนกา ที่ไทยเพิ่งได้รับมาจำนวนล้านแปดแสนล้านโดส ได้กระจายลงพื้นที่ต่างๆ แล้ว เพราะมีความต้องการสูง จากนี้ทางผู้ผลิตมีหน้าที่ส่งมอบให้ทันตามสัญญา และต้องหารือกับกรมควบคุมโรค เพื่อวางแผนการให้บริการแก่ประชาชนให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกโรงพยาบาลทั้ง 25 จุด ขณะนี้มีความพร้อมให้บริการประชาชนทุกแห่ง ทั้งในด้านระบบบริการ ด้านการบริหารจัดการวัคซีนในแต่ละจุด และการวางแผนการฉีดวัคซีน มีความพร้อมให้บริการแก่ประชาชนที่ลงทะเบียนจองฉีดวัคชีนในผ่านระบบ ไทยร่วมใจ ขอให้ประชาชนมาตามวัน เวลาสถานที่ที่นัดหมาย ตามที่ระบบส่ง sms ไปให้ และไม่ต้องกังวลว่ามาแล้วจะไม่ได้รับการฉีดวัคซีน พร้อมยืนยันว่า หากมาตามนัดจะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน โดยในวันที่ 7-14 มิถุนายน จะได้รับการฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ด้านศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานคร จากเดิมที่ตั้งเป้าการบริการฉีดวัคซีนทั้ง 25 แห่ง ให้สามารถบริการได้ 38,000-50,000 คนต่อวัน ขณะนี้สามารถเพิ่มศักยภาพรองรับประชาชนได้ 70,000 คนต่อวัน แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่จะได้รับการจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุขด้วย

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของประจำวันว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,671คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,984 คน แบ่งเป็นระบบเฝ้าระวังและบริการทางสาธารณสุข 1,095 คน และจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 889 คน ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 83 คน และ การตรวจคัดกรองเชิงรุกจากเรือนจำ 604 คน ส่งผลให้ผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 177,467 คน มีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,242 คน รวมทั้งหมด 126,517 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ในระบบการรักษาพยาบาล 49,714 คน แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 20,419 คน และโรงพยาบาลสนาม 29,295 คน มีอาการหนักอยู่ที่ 1,209 คน ใช้เครื่องช่วยหายใจ 361 คน โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 23 ราย ทำให้ผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 1,236 ราย ขณะเดียวกันพบว่า กลุ่มก้อนใหญ่ของการพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ จะอยู่ที่บริเวณชายแดนประเทศกัมพูชาที่มีผู้ป่วยถึง 76 คน ซึ่งมีทั้งจากการเดินทางผ่านแดนและผ่านจากช่องทางธรรมชาติ ทำให้เจ้าหน้าที่หารือกันในเรื่องของหน่วยงานความมั่นคงบริเวณชายแดนเกี่ยวกับการลักลอบเข้าเมืองแล้ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายแก่หัวหน้าชุดคณะอำนวยการและชุดเฉพาะกิจปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 5 ชุด ออกปฏิบัติการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม ดำเนินคดีกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองและลักลอบทำงาน และนายจ้างหรือสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวดังกล่าว รวมถึงผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศ หากตรวจพบนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกระทรวงมหาดไทย ดูแลในเรื่องการป้องกันความเสี่ยงร่วมกัน โดยให้สถานประกอบกิจการประเภทโรงงาน ปฏิบัติตามแนวทางทางการป้องกันโรค Good Factory practice หรือ GFP ด้วยการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มไทยสต๊อปโควิด-19 ซึ่งมีมาตรการหลัก 14 ข้อ แบ่งเป็นด้านการป้องกันโรค 8 ข้อ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม 6 ข้อ และเมื่อประเมินแล้วจะส่งข้อมูลกลับมาบนฐานข้อมูลออนไลน์ หากโรงงานไหนประเมินไม่ผ่านจะต้องมีการปรับปรุง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ โควิด-19 การให้วัคซีนเข็ม 1 และ 2 ต่างชนิดกัน โดยระบุว่า ในทางปฏิบัติ วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ จึงยังไม่แนะนำที่ให้เข็ม 1 และ 2 ต่างชนิดกัน แต่ตามหลักทฤษฎี ที่มีการใช้วัคซีนในเด็ก การใช้วัคซีนมีการสลับกันได้ และมีการศึกษามาแล้วขณะเดียวกันศูนย์ กำลังเริ่มดำเนินการวิจัย โดยขอทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และจะนำเสนอโครงการการวิจัย ซึ่งไม่น่าจะนานก็จะรู้ผล โดยเข็มแรกให้วัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 ให้วัคซีนของแอสตราเซเนกา และในทำนองกลับกัน เข็มแรกให้วัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มที่ 2 ให้ซิโนแวค ซึ่งการศึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในกรณีเมื่อฉีดเข็มแรกแล้วเกิดแพ้วัคซีน เข็ม 2 จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน หรือในกรณีที่วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งขาดแคลน ก็สามารถใช้อีกชนิดหนึ่งได้เลย ไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บวัคซีนไว้เข็ม 2 การบริหารวัคซีนจะง่ายขึ้นมาก ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบได้ 5 คน เชื่อว่ายังมีอีกมา จากข้อมูลที่ได้ จะเห็นว่า 4 คน ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และเข็ม 2 ได้รับแอสตราเซเนกาภูมิต้านทานที่ขึ้นสูงกว่าการได้รับวัคซีนชนิดเดียวซิโนแวค 2 ครั้ง และทำนองกลับกัน ก็เช่นเดียวกันมีเพียง 1 ราย ที่ได้รับแอสราเซเนกาแล้วเข็ม 2 ได้รับวันซีนซิแวคอีก 1 เดือนต่อมา ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นก็สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย การศึกษาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย หรืออาการข้างเคียงว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

นายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การค้าชายแดน หลังจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โรคระบาด และมีการปิดด่านชายแดน ขณะนี้ได้เศรษฐกิจรับผลกระทบอย่างมาก ส่งผลให้ตัวเลขการค้าลดลง เนื่องจากสินค้าไม่สามารถส่งออกได้ ส่งผลกระทบต่อมูลค่ายอดค้าชายแดนติดลบร้อยละ 8 คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 แสน 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ค่อนข้างเข้มงวด จึงทำให้ประชาชนเกิดความกังวล และไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกันปัจจุบันประเทศไทยเปิดทำการจุดผ่านแดน เพื่อการขนส่งสินค้าทั้งสิ้น 36 ด่าน จากที่มีอยู่ 97 แห่งทั่วประเทศ โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา แต่การค้าชายแดนก็ยังคงประสบปัญหาในเรื่องการขนส่งสินค้า ทำให้คาดการณ์ว่า ในปีนี้ยอดการค้าชายแดนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงถึงขั้นติดลบ

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงการกระจายวัคซีน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ว่า แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดีที่สุด คือการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 70 โดยเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าการรักษาผู้ป่วยและการเยียวยาประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐแบกรับในเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ สูงมากถึงประมาณรายละ 1 ล้านบาท ส่วนการตรวจหาเชื้อโควิด -19 มีค่าใช้จ่ายที่ประชาชนหรือภาครัฐต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อคน ดังนั้นหากมีการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วที่สุด จะส่งผลดีต่อการช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศกลับมาใกล้เคียงปกติได้มากขึ้นด้วย

เว็บไซต์ Worldometers รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันนี้พบผู้ติดเชื้อทั่วโลก 173,768,149 คน มีผู้เสียชีวิต 3,737,566ราย โดยอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล ฝรั่งเศส และตุรกี ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 80 ของโลก ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน เปิดเผยว่า ทางการไต้หวันกำลังเจรจากับบริษัทในสหรัฐ เพื่อเป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากที่ได้เจรจาลักษณะเดียวกันนี้กับบริษัทยุโรป หลังจากที่ทางการไต้หวันพยายามเร่งแผนการฉีดวัคซีน เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ส่วนสถาบันสุขภาพแห่งชาติของปากีสถานเผยแพร่แถลงการณ์ว่า ได้เริ่มการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับบริษัทแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเภสัชกรรมแห่งชาติของจีน และรัฐบาลเซเนกัล ได้ทำข้อตกลงกับกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพเบลเยียมเรื่องผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อใช้ในภูมิภาค คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปีหน้า นักวิเคราะห์ประเมินว่า สถาบันต้องระดมเงินให้ได้ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,220 ล้านบาท หากต้องการผลิตวัคซีนโควิดให้ได้ 300 ล้านโดสตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

(Live) รายการ สัตวแพทย์สนทนา