กลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไทย (เอฟไอที) ยังไม่พบการยกเลิกจองการเดินทางท่องเที่ยว แม้มีสถานการณ์ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย

- ข่าวต้นชั่วโมง


เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนตกหนัก จนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยนั้น ประเมินในภาพการท่องเที่ยว พบว่า ขณะกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไทย (เอฟไอที) ยังไม่พบสัญญาณการยกเลิกจองการเดินทางท่องเที่ยว เพราะน้ำท่วมยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงยังไม่กระทบต่อพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงการโปรโมชั่นในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ของผู้ประกอบการ ทั้งภาคโรงแรมที่พัก สายการบิน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ถือเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวต่อเนื่อง แต่หากฝนยังตกสะสมเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวได้ เพราะรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการลดลง ทั้งยังมีผลกระทบต่อการจ้างงานด้วย

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า จากการติดตามการท่องเที่ยวในประเทศ พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 มีอัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยสะสม จานวน 102 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยแล้ว จำนวนกว่า 566,506 ล้านบาท โดยททท. คาดว่า หากสิ้นไตรมาส 3/2565 จะมีการเดินทางของคนไทยสะสม ไม่น้อยกว่า 117 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ ไม่น้อยกว่า 642,660 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2565 ททท.จะสามารถส่งเสริมตลาดในประเทศให้เดินทางท่องเที่ยวได้ไม่น้อยกว่า จำนวน 160 ล้านคน-ครั้ง
และสามารถสร้างรายได้กว่า 656,000 ล้านบาท ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ของตลาดไทยเที่ยวไทยทั้งปีนี้
“ตอนนี้เป็นถือช่วงโลว์ซีซั่น แต่ก็มีการเดินทางของคนไทยกลุ่มองค์กร หรือหน่วยงาน อาทิ กลุ่มอบรม ประชุม สัมมนา ที่นิยมเดินทางในช่วงนี้ เพราะอัตราห้องพักที่ต่ำกว่าเทียบกับช่วงฤดูกาลอื่น บวกกับเป็นช่วงของการบริหารจัดการงบประมาณในงวดสิ้นปีงบประมาณนี้ โดยคาดว่าแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก อาทิ กาญจนบุรี-สุพรรณบุรี นครนายก-ปราจีนบุรี ชลบุรี-จันทบุรี สมุทรสงคราม-ราชบุรี และหัวหิน-ชะอา อาจได้รับผลกระทบจากการเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้บ้าง” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะอุทกภัยในบางพื้นที่ โดยสัญญาณชัดเจนมาจาก ปริมาณฝนตกที่มากกว่าปกติ และปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่มีระดับสูงใกล้เคียงปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย โดยพื้นที่เสี่ยงได้แก่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมซ้ำ ซึ่งอาจสร้างความเสียหาย ต่อหน่วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ ครัวเรือน โรงงาน เครื่องจักร สินค้าเกษตร และภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำท่วมสามารถสร้างความเสียหายได้หลากหลายประเภทมาก
กว่าภัยแล้งด้วย โดยคาดว่าพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในปี 2565 จะครอบคลุมพื้นที่กว่า 5.3 ล้านไร่
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ความเสี่ยงแบ่งตามภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ เผชิญความเสี่ยงสูงหากฝนตกใต้เขื่อน ที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำฝนสูงมากกว่าค่าเฉลี่ย 10-20% สร้างความเสียหายต่อหน่วยเศรษฐกิจได้ ภาคกลางและภาคตะวันออก แม้มีฝนตกหนัก และมีน้ำทะเลหนุน เกิดน้ำท่วมขังบางพื้นที่ แต่ก็เป็นเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว รวมถึงมีหน่วยงานในพื้นที่มีการเฝ้าระวัง และเตรียมการป้องกันเหตุน้ำท่วมบ้างแล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเสี่ยงสูงในบริเวณน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งคาดการณ์ในช่วงเดือนกันยายน 2565 จะมีฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนภาคใต้ เผชิญความเสี่ยงทั้งจากพายุหมุนเขตร้อน และอิทธิพลของพายุเขตร้อนตามฤดูกาลของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำให้ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ภาคใต้อาจมีฝนตกชุก มากกว่าปกติถึง 5-10% จึงมีความเสี่ยงจากน้ำท่วมฉับพลัน และคลื่นลมแรง

(Live) รายการ โลกใหม่กับวิจัยสังคม