ส่งเสริมและยกระดับการพัฒนาสินค้าพลาสติกชีวภาพ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศและขยายตลาดใหม่ไปยังต่างประเทศ

- ข่าวต้นชั่วโมง


ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมส่งเสริมและยกระดับการพัฒนาสินค้าพลาสติกชีวภาพ จากมันสำปะหลังและเป็นสักขีพยานเอ็มโอยู ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับห้างค้าปลีก กลุ่มเกษตรกรและหน่วยงานด้านวิจัยว่า ปัจจุบันเกษตรกรถือว่า ราคามันสำปะหลังดีขึ้นมาก ในอดีตกิโลกรัมละ 1 บาทกว่า วันนี้กว่า 3 บาทแล้ว เกินราคาประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาทต่อเนื่องมาเป็นปีแล้ว ต้องยอมรับความจริงว่าผลผลิตในประเทศเทียบกับความต้องการใช้ยังไม่พอ โดยผลผลิตในประเทศประมาณ 35 ล้านตัน/ปี แต่ความต้องการใช้ 42 ล้านตัน/ปี ยังขาด 6-7 ล้านตัน/ปี แต่ช่วงหัวมันสำปะหลังสด ออกพร้อมกันเยอะ ราคาจะตก การเตรียมการด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญ จะช่วยให้ราคามันสำหรับเกษตรกรในประเทศมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน จึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกร เพื่อขยายตลาดมันเส้นและแป้งมันในต่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ รวมทั้งขยายตลาดใหม่ ซึ่งสำเร็จในหลายตลาด อาทิ ตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย ฟิลิปปินส์ เพื่อทดแทนตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่แต่ไม่มีเสถียรภาพ

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ล่าสุดฟิลิปปินส์กำลังเดินทางมาเจรจารอบสุดท้ายซื้อมันสำปะหลังประมาณ 3-4 ล้านตัน จะมีส่วนช่วยยกระดับราคาในประเทศให้สูงขึ้น สำหรับเดือนมกราคม 2566 ตนจะไปประชุมที่นครราชสีมา เพราะเป็นเมืองหลวงของมันสำปะหลังของประเทศ ไทยกำหนดจัดงาน World Tapioca Conference 2023 เดือนมกราคม 2566 จะเป็นอีกงานที่ส่งเสริมภาพลักษณ์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง โดยปี 2565 ตั้งเป้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทุกรูปแบบ มูลค่า 130,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% สำหรับไบโอพลาสติก เป็นอีกนโยบายต้องช่วยกันปรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนอกจากแบบดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์จากไบโอพลาสติกเป็นอีกช่องทางนำเงินเข้าประเทศ ปัจจุบันเราเน้นการส่งออกมันสำปะหลัง และส่งออกไบโอพลาสติกเม็ดเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อ คือผลิตภัณฑ์ขั้นต้นและขั้นกลาง
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ต่อไปนี้เราจะเน้นผลิตภัณฑ์ขั้นปลายมากขึ้น แทนที่จะส่งแบบเม็ดก็จะส่งเป็นถุงพลาสติก หลอดดูด จาน สินค้าต่างๆ หลากหลายรูปแบบจากไบโอพลาสติก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มีการลงนามเอ็มโอยูระหว่าง 11 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันวิจัยและพัฒนารวมทั้งเกษตรกร จะช่วยกันพัฒนาต่อไป
“ให้สามารถทำเงินให้ประเทศช่วยชาวไร่มันสำปะหลังที่เป็นต้นน้ำของเราต่อไป หวังว่าอนาคตจะสามารถส่งออกไบโอพลาสติกจากมันสำปะหลังให้ได้ 1,000 ล้านบาทในปี 67 ซึ่งอินเดียจะเป็นตลาดใหญ่ของเราในอนาคต เพราะมีนโยบาย “plastic ban” จะไม่ใช้ถุงพลาสติกจากปิโตรเคมี ถุงไบโอพลาสติก จะเป็นตลาดใหญ่ เพราะอินเดียมีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน จะมีตลาดใหญ่รออยู่ข้างหน้า เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้อยู่ต้นน้ำของเรามีรายได้ที่ดีขึ้นต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) และสินค้าแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลังแบบครบวงจร ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร ทั้ง 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จํากัด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จํากัด (มหาชน)

(Live) รายการ โลกใหม่กับวิจัยสังคม