3 ข้อสะท้อนจากประชุมร่วมเอกชนทั้ง 21 ประเทศ เร่งแก้ไข เงินเฟ้อ ขาดแคลนอาหาร และภาวะโลกร้อน

- ข่าวต้นชั่วโมง


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (เอแบค) ปี 2022 เปิดเผยว่า ในที่ประชุมร่วมกันระหว่างเอกชนทั้ง 21 ประเทศ ได้มีข้อสะท้อนเดียวกัน ใน 3 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ได้แก่ 1.เงินเฟ้อ ที่เป็นปัญหาจากราคาพลังงานแพง ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้งที่รายได้ยังไม่กลับมามากนัก 2.การขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะประเทศยากจน และ 3.ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งมองว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการจัดการแก้ไขเร็วที่สุด เพราะส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของประชาชน

นายเกรียงไกร กล่าวว่า บนเวทีนี้ เราได้หารือถึงแนวทางการแก้ไข และได้นำเสนอหลากหลายแนวทางภายใต้หัวข้อแต่ละเรื่อง อาทิ ปัญหาพลังงาน ที่ได้คุยกันว่า ทำอย่างไรจึงจะเจอทางออกในปัญหานี้ ซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่เป็นต้นเหตุของการปรับขึ้นราคาพลังงานต่างๆ นั้น มองว่าควรต้องทำให้ประเทศที่มีปัญหาระหว่างกันสามารถเจรจาถึงสันติได้ กลับมามีความไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกครั้ง เพราะหากความกดดันในเรื่องดังกล่าวนี้หมดไป ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากราคาพลังงานแพงขึ้น ก็จะคลี่คลายลงตามอย่างรวดเร็วด้วย
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเอเปค 2022 ภาคเอกชนก็คาดหวังถึงเรื่องการลงทุนที่จะฟื้นตัวดีขึ้น การนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่สายตาต่างชาติ โดยเฉพาะการที่ใช้เวทีของประเทศไทยในการคลี่คลายปัญหาระดับโลกต่างๆ ทำให้ในเรื่องการยอมรับความเป็นประเทศไทย จะได้รับการยอมรับจากต่างชาติมากยิ่งขึ้น
สำหรับเรื่องของขวัญปีใหม่ 2566 นั้น ในส่วนของภาคเอกชนยังเป็นตัวแทนสะท้อนเสียงของประชาชน ซึ่งของขวัญที่ต้องการจากรัฐบาลคือ การช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ เพราะต้นทุนทั้งสินค้าและบริการที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีความเดือนร้อนในการใช้ชีวิตประจำวันมาก ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องการการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเร็วที่สุด รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กมากๆ หรือไมโครเอสเอ็มอี อาทิ การช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ เพราะยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากเท่าที่ควร

(Live) รายการ โลกใหม่กับวิจัยสังคม