สำนักงานกองทุนประกันสังคมเล็ง ปรับเพดานค่าจ้าง

- ข่าวต้นชั่วโมง


กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดข้อเสนอของสำนักงานกองทุนประกันสังคมเกี่ยวกับการสร้างเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม ว่าจะต้องปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างหรือไม่ ปัจจุบันเพดานค่าจ้างสูงสุดที่ใช้คำนวณเงินสะสมและสมทบไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และหากปรับเพดานเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้กองทุนมีรายรับมากขึ้นตามไปด้วย และผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากฐานเพดานที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ประเด็นเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม อาจกลายเป็นความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต เนื่องจากหากกองทุนประกันสังคมมีเงินไม่เพียงพอในการจ่ายให้กับสมาชิก รัฐบาลมีภาระต้องให้งบประมาณเข้ามาสนับสนุน

ส่วนการปรับอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีการประเมินสถานะกองทุนชราภาพพบว่า อัตราเงินสมทบกรณีชราภาพที่กองทุนประกันสังคมควรจัดเก็บเฉลี่ยสูงถึง 15.66% ของเพดานเงินเดือนสูงสุด ในขณะที่ปัจจุบันมีการจัดเก็บเงินสมทบเพียง 6% ของเพดานเงินเดือนสูงสุด โดยเป็นการคำนวณจากเงินสมทบในกรณีชราภาพ (บำนาญ) ที่ลูกจ้างจ่าย 450 บาทต่อเดือน และนายจ้างสมทบอีก 450 บาท รวม 900 บาท คิดเป็น 6% ของเพดานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท
สำหรับกองทุนชราภาพเป็น 1 ใน 3 กองทุนของกองทุนประกันสังคม โดยกรณีลูกจ้างมีค่าจ้างตามเพดานสูงสุด ที่กำหนด คือ 15,000 บาท ลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 750 บาทต่อเดือน ซึ่งใน 750 บาท จะแบ่งส่งเข้ากองทุนรักษาพยาบาลและชดเชยกรณีเสียชีวิต 1.5% ของ 15,000 บาท หรือ 225 บาท, กองทุนเพื่อชดเชยการว่างงาน 0.5% หรือเท่ากับ 75 บาท และเข้าสู่กองทุนชราภาพ (กองทุนบำนาญ) 3% หรือ 450 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2563 กองทุนประกันสังคมมีรายได้รวม 294,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 3.27% และปีงบประมาณ 2564 มีรายได้ 271,000 ล้านบาท ลดลง 7.78% เนื่องจากการลดลงของรายได้จากเงินสมทบตามมาตรา 33 หรือสมาชิกกองทุนประกันสังคมภาคบังคับ และ 39 (ภาคสมัครใจ) ของกองทุนประกันสังคม จากมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

(Live) รายการ โลกใหม่กับวิจัยสังคม