รายการดนตรีคลาสสิกแต่ละคืนประกอบด้วยบทเพลงคลาสสิกไพเราะจากหลายยุคหลายสมัยของวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก และมีการบรรยายรายละเอียดของเพลงในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำเข้าสู่บทเพลง
คืนวันอังคาร นำเสนอบทเพลงสำหรับเดี่ยวเครื่องดนตรี และการบรรเลงของวงดนตรีกลุ่มเล็ก (chamber music) เช่น piano sonata, violin sonata, string trio, string quartet ฯลฯ
คืนวันพฤหัสบดี นำเสนอรายการพิเศษประจำสัปดาห์ เช่น รายการระลึกถึงและเฉลิมฉลองให้นักประพันธ์เพลง ในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดของนักประพันธ์เพลงท่านนั้นๆ นอกจากนี้ยังเสนอรายการพิเศษในหัวข้อต่างๆที่น่าสนใจ เช่น water music, mountain music, bird songs, mysterious galaxy & universe ฯลฯ
คืนวันอาทิตย์ นำเสนอบทประพันธ์เพลงขับร้องเป็นหลัก เช่น เพลงเด่นพร้อมเรื่องราวของละครอุปรากร (opera), เพลงขับร้องทางศาสนา (oratorio, missa, cantata) และเพลงขับร้องประสานเสียง (choral music)
______________________
ประวัติรายการดนตรีคลาสสิก
รายการดนตรีคลาสสิกของสถานีวิทยุจุฬาฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาประมาณ 50 ปี โดยเริ่มออกอากาศหลังจากสถานีวิทยุจุฬาฯ ก่อตั้งได้ไม่นาน (สถานีวิทยุจุฬาฯ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2508)
ผู้จัดทำรายการระยะแรกคือ คณาจารย์จุฬาฯ และอาจารย์ดนตรีที่มีใจรักในดนตรีคลาสสิก อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์ไขแสง ศุขวัฒนะ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมัยสารท สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และอาจารย์ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ (ศิลปินแห่งชาติ)
ปี พ.ศ. 2511 อาจารย์ชัชวาลย์ ทาสุคนธ์ และ อาจารย์สมโภช รอดบุญ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ ได้รับช่วงดำเนินการต่อมา ในปี พ.ศ. 2531 อาจารย์สมโภช ถึงแก่กรรม ทางสถานีได้ดำเนินการต่อมาโดยได้รับความร่วมมือจากบุคคลากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านของจุฬาฯ
ปี พ.ศ. 2533 สีส้ม เอี่ยมสรรพางค์ และ สดับพิณ รัตนเรือง รับช่วงดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2538 ทางรายการได้ออกจุลสาร Music of the Masters และเปิดรับสมาชิกรายการ ปัจจุบัน เนื้อหาของจุลสาร (ประกอบด้วยรายการเพลงแต่ละคืน บทความดนตรีและเกร็ดความรู้ดนตรีที่น่าสนใจ) ได้เปลี่ยนมานำเสนอบน platform online เพื่อให้สะดวกและเข้าถึงผู้อ่านและผู้ฟังได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการลดการใช้กระดาษเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
ผู้ดำเนินรายการประจำสถานีวิทยุจุฬาฯ
ผู้เชี่ยวชาญดนตรีคลาสสิก