"คงคา" สายธาราแห่งชีวิต
22,990 views
0
0

เพลง Maano To Mei Ganga Maa Hoong
ขับร้องโดย Tripty Shakya และ Gomukh เพลงขึ้นว่า "Maano To Mei Ganga Maa Hoong, Na Maano To Mei Bahta Paani" แปลว่า ถ้าเชื่อก็คือคงคาที่เป็นแม่ ถ้าไม่เชื่อก็เป็นสายธาร

คงคา

เป็นแม่น้ำสายสำคัญในอินเดีย เป็นที่รู้จักดีในหมู่ชาวไทย มีสถานะที่นับถือกันว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายหนึ่งของชาวฮินดู สาเหตุที่คนไทยรู้จักแม่น้ำสายนี้ดีก็เพราะชื่อแม่น้ำคงคาปรากฏอยู่ในวรรณกรรมที่มาจากอินเดียจำนวนมากรวมทั้งวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วย แม่น้ำสายนี้ได้รับการกล่าวถึงมากเสียจนกระทั่งชื่อ "คงคา" ในภาษาไทยกลายเป็นคำไวพจน์ของคำว่าแม่น้ำโดยทั่วไป คือหมายถึงแม่น้ำได้ทุกสาย

กระนั้นก็ตามในอินเดียเมื่อกล่าวถึงคงคาจะหมายถึงแม่น้ำคงคาสายเดียว และหากออกเสียงตามภาษาไทยว่า "คงคา" คนอินเดียจะไม่รู้จักเพราะห่างจากเสียงเดิมไปไกลมาก

Ganga หรือ The Ganges

แม่น้ำสายนี้มีชื่อในภาษาสันสกฤตและฮินดูสตานีว่า Ganga และเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Ganges

สาเหตุที่ไทยเราออกเสียงเป็นตัว ค นั้น เป็นเพราะเราใช้วิธีถ่ายทอดตัวอักษรภาษาสันสกฤตมาตรง ๆ และอ่านตามเสียงพยัญชนะภาษาไทย ตัว g ในภาษาสันสกฤตตรงกับ ค ของไทย ไม่เพียงแต่เท่านั้น ตัวอักษรเสียงก้องอื่น ๆ ยังกลายเป็นเสียงไม่ก้องไปตาม ๆ กัน เช่น j ในคำว่า Jaipur เราอ่าน

แม่น้ำคงคา

เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่อันดับสามของโลก เป็นรองเพียงแม่น้ำแอมะซอนและแม่น้ำคองโก

มีความยาวประมาณ 2,525 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่บริเวณแถบตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย ในมลรัฐอุตตรขัณฑ์ ไหลลงมาทางใต้ จากนั้นลัดเลาะไปทางฝั่งตะวันออก ผ่านอินเดียเหนือเลียบเมืองสำคัญต่างๆ เช่น ฤษีเกศ หริทวาร กานปูร์ พาราณสี อัลลาฮาบาด โกลกาตา เป็นต้น ตัดเข้าสู่บังกลาเทศ และลงสู่มหาสมุทรที่บริเวณอ่าวเบงกอล

สายน้ำแห่งคงคาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนจำนวนนับล้านคนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ และเป็นส่วนสำคัญในความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรม ชาวอินเดียนับถือคงคาว่าเป็นเทวีพระองค์หนึ่ง ดังนั้นก่อนที่จะไปสู่เรื่องอื่นๆ ขอให้ณัฐช่วยขยายความส่วนของปกรณัมสักเล็กน้อย

คงคาเทวีหรือพระแม่คงคา

คือรูปแบบบุคคลาธิษฐานของแม่น้ำคงคา เป็นเทวีสำคัญองค์หนึ่งของฮินดูที่มักปรากฏพระวรกายเป็นหญิงสาว ทรงภูษาสีขาวบริสุทธิ์ ทรงพาหนะมกรหรือในภาษาไทยเรียกว่า จระเข้ นั่นเอง (ไม่ใช่มังกร)

พระแม่คงคาเป็นเทวียุคบรรพกาล ปรากฏพระนามอยู่ตั้งแต่ในฤคเวทในฐานะแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ และต่อมายังมีเรื่องราวเพิ่มเติมอีกมากในตัวบทหลังพระเวทเช่นปุราณะต่างๆ และมหากาพย์ทั้งสองเรื่องคือรามายณะและมหาภารตะ

ตามตำนานที่ได้รับความนิยมกัน ถือกันว่าพระแม่คงคาเป็นบุตรีแห่งท้าวหิมวัต ซึ่งเมื่อได้ยินชื่อเราคงนึกออกทันทีว่าเกี่ยวข้องกับคำว่าหิมพานต์ กล่าวคือเทือกเขาหิมาลัยนั่นเอง ทั้งนี้จัดว่าชอบกลอยู่เพราะแม่น้ำคงคาไหลมาจากบริเวณเทือกเขานี้ นอกจากนี้พระแม่คงคายังเป็นเชษฐภคินีคือพี่สาวของพระแม่ปารวตี ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นชายาของพระศิวะ ที่ในไทยนิยมนับถือในนามพระอุมานั่นเอง (ซึ่งอันที่จริงอุมาเป็นปางหนึ่งของปารวตี)

จากเรื่อง "บ่อเกิดรามเกียรติ์" พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงพรรณนาเรื่องการลงสู่โลกของแม่น้ำคงคาไว้โดยละเอียด ซึ่งต้องกล่าวว่าเป็นเพียงตำนานเดียวในหลายๆ ตำนาน

เนื้อความโดยย่อคือแรกเริ่มเดิมทีพระแม่คงคาสถิตอยู่บนสวรรค์ ต่อมามีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่าสัคร มีพระโอรสหกหมื่นองค์ ซึ่งในที่นี้ขอตัดย่อเรื่องแต่เพียงว่าได้ไปวิวาทกับฤษีนามว่ากบิลซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์ จนถูกสังหารเสียด้วยไฟทั้งสิ้นหกหมื่นคน ด้วยความที่มีบาปมากจึงจำเป็นต้องใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์จากคงคามารดชำระเถ้าอังคารจึงจะพ้นบาปได้ขึ้นสวรรค์ เป็นเหตุให้ลูกหลานรุ่นต่อมาๆ ของท้าวสัครต้องพยายามบำเพ็ญตบะขอพรจากพระพรหม เพื่อเชิญพระแม่คงคาลงมาจากสวรรค์ให้ได้ และไปสำเร็จเอาในรุ่นที่ 4 ที่ชื่อว่าภคีรถ

พระพรหมได้เสด็จลงมาด้วยพระองค์เองและประทานพรให้ตามขอ แต่ด้วยความที่สายน้ำคงคาเชี่ยวกรากนัก ถ้าลงมาทั้งอย่างนั้นก็คงจะท่วมโลกพินาศหมด จึงต้องทูลเชิญพระศิวะมาช่วยชะลอแรงน้ำไว้ก่อนจะตกถึงโลกมนุษย์ ครั้นพระแม่คงคาเสด็จไหลมา พระศิวะทรงรับไว้ด้วยชฎา หมายถึงมวยเกศที่มุ่นอยู่บนพระเศียร พระแม่คงคาก็ไหลวนอยู่ในมวยเกศนั้นก่อนจนพระศิวะทรงปล่อยให้ไหลหยาดออกมาเป็น 7 สาย อันกลายเป็นแม่น้ำต่าง ๆ กันในโลกมนุษย์ ตำนานเรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนมาก หากประสงค์จะอ่านให้ได้รสชาติก็ควรไปอ่านในต้นฉบับพระราชนิพนธ์

ความเชื่อเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชำระล้างบาปได้

จากความเชื่อดังกล่าว จึงเป็นที่นับถือกันว่าน้ำคงคาเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชำระล้างบาปได้ บรรดาชาวฮินดูที่ญาติพี่น้องเสียชีวิต หลายครอบครัวถือคติว่าจะต้องนำเถ้าอังคารไปโปรยลงสู่แม่น้ำคงคาเพื่อชำระวิญญาณของผู้ตายให้บริสุทธิ์และเข้าใกล้โมกษะคือความหลุดพ้นยิ่งขึ้น

ภาพจำในแง่ลบ

ความรับรู้เกี่ยวกับแม่น้ำคงคาในแง่นี้อาจสร้างความไม่สบายใจให้แก่ชาวไทยอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีภาพจากสื่อออกมาว่าชาวอินเดียจำนวนมากประกอบพิธีศพโดยก่อจิตกาธานริมฝังแม่น้ำคงคา เมื่อเผาศพแล้วก็ลอยไปเลย ซึ่งดูแล้วอาจจะขัดกับหลักสุขอนามัยอยู่บ้าง ทำให้ชาวไทยจำนวนมากมีภาพจำเกี่ยวกับแม่น้ำคงคาในแง่ลบ

ยิ่งในช่วงโควิดระบาด เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวออกมาว่ามีศพผู้เสียชีวิตกว่าวันละ 300 ศพถูกขนย้ายมาประกอบพิธีริมฝั่งคงคาที่เมืองพาราณสี ก็เป็นภาพที่สร้างความไม่สบายใจให้คนภายนอกที่ได้พบเห็นอยู่พอสมควร เพราะแม่น้ำคงคาไม่เพียงใช้ประกอบพิธีศพ ยังเป็นสถานที่ใช้อาบน้ำชำระร่างกาย และนำน้ำมาอุปโภคบริโภคอีกด้วย แน่นอนว่าการดื่มน้ำหรืออาบน้ำคงคานั้นทำคนละจุดกับบริเวณที่เผาศพ แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็คงอดเชื่อมโยงกันไม่ได้

กุมภเมลา

ในบรรดาพิธีกรรมต่างๆ ที่ประกอบริมฝั่งแม่น้ำคงคานั้น ยังมีพิธีกรรมสำคัญที่เรียกว่า กุมภเมลา เป็นพิธีแสวงบุญที่บรรดานักบวชสาธุ สันยาสี โยคี มุนี หลากหลายนิกายมารวมตัวกันเพื่อสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ในคงคา

ก่อนช่วงโควิดระบาด กุมภเมลาถือเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่ดึงดูดนักแสวงบุญมาสู่อินเดียมาก ครั้นเมื่อเกิดสภาวะโรคระบาดพิธีกุมภเมลาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ที่จำเป็นต้องตระหนักและเรียนรู้เพื่อแก้ไขและป้องกันต่อไป

ลักษณะพิเศษของแม่น้ำคงคา

โดยสรุปแล้ว สารพัดกิจกรรมที่ชาวอินเดียประกอบในแม่น้ำคงคา ทั้งการลอยอังคาร อาบน้ำ ซักผ้า ชำระล้าง ไปจนถึงพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ มากมาย ทำให้แม่น้ำคงคาได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่ปนเปื้อนมลพิษมากที่สุดสายหนึ่ง

กระนั้นก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้ค้นพบว่าน้ำคงคามีลักษณะพิเศษยิ่งคือมีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำสูงและยังมีจุลินทรีย์ที่ฆ่าเชื้อต่างๆ ได้อย่างชะงัด ซึ่งจุลินทรีย์ดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีปริมาณของเสียมากขึ้น กล่าวง่ายๆ คือ ยิ่งคนทำแม่น้ำสกปรกมากเท่าไร แม่น้ำคงคาจะยิ่งฟื้นฟูตัวเองเข้าสู่สภาพปกติได้เร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้หมายความว่า เราจะไม่มีความจำเป็นต้องรักษาความสะอาดเวลาไปเที่ยวแม่น้ำคงคานะครับ
________________
รายการปกิณกะอินเดีย
สุรัตน์ โหราชัยกุล และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย