วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565
เพลง Farukhabad Kaida
เป็นหนึ่งในชุดการบรรเลงเดี่ยวกลองตัพลา (Tabla ออกเสียง ตับลา แต่การสะกดด้วยตัว พ ตามรูปอักษรอาจดูสวยงามกว่า) ของสำนักฟารุคาบาด โดย Sharanpal Singh Asees เพลงในวันนี้เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ผู้ฟังสังเกตเสียงเครื่องดนตรีประกอบจังหวะอย่างชัดเจน แน่นอนว่าผู้ฟังที่ติดตามรายการเรามาตลอดต้องคุ้นหูมาก เพราะจิงเกิ้ลเปิดรายการของเราก็เป็นเสียงเครื่องดนตรีประกอบจังหวะชนิดนี้
________________
อ.สุรัตน์: ก่อนอื่นอยากจะเล่าด้วยว่า เมื่อนานมาแล้วคุณณัฐเคยไปเรียนเล่นตัพลาอยู่ระยะหนึ่งกับอาจารย์ชื่อ อุสตาด วาสี อาเหม็ด ข่าน ซึ่งรัฐบาลอินเดียส่งมาเป็นตัวแทนเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียเมื่อ ปี ค.ศ. 2012 สาเหตุที่คุณณัฐประทับใจอยากเรียนก็เพราะเห็นการแสดงของอุสตาดในงานเปิดศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธี และทอดพระเนตรการแสดงด้วย
ณัฐ: ใช่ครับ หลังจากงานดังกล่าว ผมได้ไปติดต่อเรียนตัพลาที่ศูนย์วัฒนธรรมอินเดีย ขณะนั้นยังอยู่ที่อาคารจัสมิน อโศก แต่ด้วยกิจกรรมที่มากมายจึงมีเวลาไปเรียนได้ไม่มากนัก เรียนจบขั้นพื้นฐานได้ประมาณสามสี่ชุด เคยขึ้นเวทีแสดงแบบงู ๆ ปลา ๆ สองครั้ง แล้วอาจารย์ก็เดินทางกลับอินเดียไป
อ.สุรัตน์: หลังจากนั้นอาจารย์วาสียังเคยให้เกียรติมาร่วมแสดงในงานของศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาฯ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้เอง เราได้ทราบข่าวว่าอาจารย์วาสีถึงแก่กรรม นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งเพราะท่านเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือสูงส่งคนหนึ่ง
ตัพลามีลักษณะเป็นกลองชุด พื้นฐานที่สุดประกอบด้วยกลองสองใบ
กลองเทรเบิล (เสียงแหลม) หนึ่งใบ ขนาดเล็กกว่า เรียกว่า ดายัน หรือ ดาหินา (แปลตรงตัวว่า ทางขวา) หรือตัพลา มีรูปทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 ซม. มักทำจากไม้เนื้อแข็ง ให้เสียงใสกังวาน มีหน้าที่เดินจังหวะหลัก
กลองเบส (เสียงทุ้ม) หนึ่งใบ ที่มีชื่อเรียกว่าบายัน (แปลตรงตัวว่า ทางซ้าย) หรือดุกกี หรือดักกา มีรูปทรงเหมือนบาตรพระขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลองประมาณ 20 ซม. มักทำจากโลหะ ให้เสียงทุ้มลึก มีหน้าที่เพิ่มเนื้อเสียงให้หนักแน่นและมีสีสันมากขึ้น
กลองทั้งสองใบขึงด้วยหนังวัว การบรรเลงตัพลาต้องอาศัยกลองทั้งสองข้างบรรเลงสอดประสานกันด้วยเทคนิคต่าง ๆ ผู้เล่นส่วนใหญ่จะเล่นกลองดายันด้วยมือขวาและบายันด้วยมือซ้าย แต่ก็มีบ้างที่สลับกันเพราะความถนัดมือของแต่ละคน
แม้ปัจจุบันตัพลาจะเป็นเครื่องดนตรีที่แพร่หลายมาก จนหลายคนมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของกลองอินเดีย
ทว่าขนบดนตรีที่ใช้ตัพลาเป็นเครื่องประกอบจังหวะหลักนั้นคือดนตรีสำนักเหนือหรือที่เรียกว่าฮินดูสตานีมิวสิก ส่วนดนตรีสำนักใต้หรือการ์นาติกมิวสิก มักใช้กลองยาวสองหน้าที่เรียกว่ามริดังกัมหรือตันนุไม ถึงตรงนี้ก็เกิดคำถามว่า ประวัติความเป็นมาของตัพลานี้มีมาอย่างไร
เช่นเดียวกับเรื่องราวอื่น ๆ อีกมากในอินเดีย คือมีทฤษฎีหลากหลายและยังไม่มีข้อยุติ อย่างไรก็ดี มีความคิดสองกระแสหลัก
กระแสแรกบอกว่า ตัพลาเป็นของอินเดียเอง พัฒนามาจากกลองคู่แบบโบราณที่ชื่อ ปุสการ์ โดยอ้างหลักฐานมาจากภาพสลักหินที่ถ้ำภาเช (Bhaje) ที่มีอายุกว่าสองพันสองร้อยปี แสดงภาพหญิงกำลังเล่นกลองคู่ และยังมีภาพกลองลักษณะเดียวกันในถ้ำอื่นอีกหลายถ้ำ เช่นถ้ำมุกเตศวรและภูพเนศวร แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้ชัดเจนว่ากลองโบราณที่ว่านี้ใช้วัสดุเดียวกันหรือบรรเลงเพลงแบบเดียวกันกับตัพลาในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานในคัมภีร์นาฏยศาสตร์ที่กล่าวถึงการทำวงกลมสีดำบนหนังกลองที่เรียกว่า สยาหิ (syahi) ซึ่งเกิดจากการนำแป้งเปียกผสมวัตถุดิบอื่น ๆ (หลายอย่างเป็นความลับ) นำมาทาบนหนังกลองเป็นวงกลม ซึ่งสร้างความแตกต่างในน้ำเสียงอย่างมีนัยสำคัญ สยาหินี้มิได้มีอยู่บนกลองทุกประเภท แต่ที่สำคัญคือใช้กับกลองตัพลาด้วย
อีกกระแสหนึ่งระบุว่ากลองตัพลามีที่มาจากชาวมุสลิมในสมัยโมกุล โดยอาศัยหลักฐานว่าคำเรียก ตัพลา มาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับว่า ฏ็อบล์ ที่แปลว่ากลอง และยังมีหลักฐานว่าพวกทหารมุสลิมที่เข้ามารุกรานบริเวณอนุทวีปนั้น มีกลองคู่ที่ใช้ตีข่มขวัญศัตรู (ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้หน้าตาเหมือนกลองตัพลาปัจจุบันสักเท่าไหร่) ขณะที่บางคนก็ว่า นักดนตรีมีชื่อของราชสำนักโมกุลเป็นผู้ประดิษฐ์ตัพลาขึ้นโดยการตัดแยกกลองอินเดียสองหน้าที่ชื่อ ปขาวัช (Pakhavaj) ออกเป็นสองใบแยกกัน ซึ่งหมายความว่า ตัพลาไม่ได้นำเข้ามาจากขนบดนตรีอาหรับ แต่เกิดขึ้นในอินเดียโดยนักดนตรีโมกุล อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีหลังไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือนัก และไม่ว่าจะมีความเป็นมาอย่างไรก็ตาม ตัพลาก็เพิ่งจะได้รับการพัฒนามาจนถึงรูปแบบปัจจุบันเมื่อราวศตวรรษที่ 18 นี้เอง
เท่าที่ทราบมา ดนตรีหรือนาฏศิลป์อินเดียมักจะแบ่งแยกเป็นสำนักต่าง ๆ
เช่นในครั้งที่เราเชิญน้องแพรมาอธิบายเรื่องการเต้นกถัก เธอก็กล่าวถึงคำหนึ่งว่า ฆรานา (gharana) ซึ่งดูจะมีรากศัพท์ร่วมกับคำว่า ghar ที่แปลว่าบ้านเรือน ในที่นี้หมายถึง school หรือสำนักของดนตรีหรือนาฏศิลป์ฝั่งอินเดียเหนือ ซึ่งสืบทอดสไตล์ที่แตกต่างกัน เข้าใจว่าตัพลาเองก็มีฆรานาต่าง ๆ เช่นกัน
1. เดลีฆรานา เป็นสำนักที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เกิดในช่วงต้นศตวรรษที่ 18
2. อัชราฑาฆรานา เป็นสำนักที่แตกแขนงออกมาจากเดลีฆรานาอีกทีหนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มีลีลาใกล้เคียงกัน
3. ลัคเนาว์ฆรานา เป็นสำนักที่พัฒนาจังหวะร่วมกับการเต้นรำกถัก ถ้าผู้ฟังจำได้ ตอนที่น้องแพรมาอธิบายเรื่องกถัก จะมีสำนักหนึ่งในสามที่เรียกว่าลัคเนาว์ฆรานา
4. เบนาเรสฆรานา เบนาเรสคือพาราณสีนั่นเอง เกิดช่วงปลายศตวรรษที่ 18 มือตัพลามีชื่อเสียงของสำนักนี้ส่วนใหญ่เป็นฮินดู ต่างจากสำนักอื่นที่มีศิลปินมุสลิมจำนวนมาก
5. ปัญจาบฆรานา เกิดช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นสำนักของศิลปินชื่อก้องโลกอย่างอุสตาด อัลลา ราขา ที่แสดงคู่กับบัณฑิตรวิ ชังเกอร์นักเล่นพิณสิตาร์ และลูกชายของราขา คือ อุสตาด ซากีร์ ฮุสเซน ที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก
6. ฟารุคาบาดฆรานา เป็นสำนักใหม่ที่สุด เกิดช่วงศตวรรษที่ 19 อุสตาด วาสี อาเหม็ด ข่านก็มาจากสำนักนี้ด้วย
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ เท่าที่สังเกตจากการชมการแสดงตัพลาแต่ละครั้ง จะเห็นว่า เทคนิคในการแสดงมีหลากหลายมาก ทำให้เกิดเสียงต่าง ๆ กันได้เป็นสิบแบบ จากการใช้กลองเพียงสองใบ นอกจากนี้ เวลาที่แสดงมักจะมีช่วงหนึ่งเสมอที่นักดนตรีจะแสดงการท่องจังหวะเป็นพยางค์ต่าง ๆ และตีกลองตามจังหวะนั้น ช่วยอธิบายได้ไหมครับว่าการท่องจังหวะเหล่านี้สัมพันธ์กับเทคนิคการเล่นอย่างไร
การท่องจังหวะที่ว่านี้ เรียกเป็นภาษาฮินดีว่า โบล ซึ่งมีรากศัพท์สัมพันธ์กับคำว่า โบลนา ที่แปลว่า พูด
ณ ที่นี้เป็นการใช้พยางค์ต่าง ๆ มาแสดงวิธีการตี โดยพยายามเลียนเสียงที่เกิดจากการตีแต่ละแบบนั่นเอง เวลาท่องจะถูกจัดลงในห้องจังหวะเป็นตัวคุมอีกที จังหวะเหล่านี้จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันเช่น ตีนตาล 16 จังหวะ เอกตาล 12 จังหวะ ฌัปตาล 10 จังหวะ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น กลองมือขวา จะมีโบลที่ประกอบด้วยเสียง ต หรือ น เป็นหลัก เป็นต้นว่า นา ตา ติน เต ตี ตุน เตเร ซึ่งเกิดจากการตีที่ตำแหน่งต่างกัน เช่นตรงกลางสยาหิ หรือขอบนอกของกลอง ลักษณะการตีที่ต่างกัน เช่นตีแบบหยุดนิ้วให้เกิดเสียงห้วน ๆ หรือตีแบบปล่อยนิ้วให้เกิดเสียงสะท้อน เป็นต้น กลองมือซ้ายที่เป็นเบสจะมีเสียง ก ค ฆ เป็นหลัก เช่น กา เค เฆ ขึ้นอยู่กับว่าจะตีให้เกิดเสียงก้องสะท้อนหรือไม่ และถ้าตีรวมกันทั้งสองมือ จะใช้เสียง ธ เช่น ธา ธิน นอกจากนี้ยังมีโบลชุดสี่ตัว เป็นต้นว่า เตเรเกเต ตีเรกีตา เกิดจากการตีสลับนิ้วหรือมืออย่างเร็ว ตรงนี้ถ้าอธิบายจะยาวมากเพราะมีรายละเอียดแต่ละตัวต่างกัน แต่ขอสรุปสั้น ๆ ว่า การเรียนตัพลาหรือการถ่ายทอดตัพลาตัวต่อตัวนั้น คนบอกไม่ต้องอาศัยกลองเลย สามารถบอกด้วยโบลและให้อีกฝ่ายตีตามได้อย่างถูกต้อง
ตัวอย่างท่องโบลแบบง่าย ๆ จังหวะตีนตาล 16
(1) Dha Ti Dha Ghe Ne Dha Terekete Dha Ti Dha Ghe Dhin Na Gi Ne, Ta Ti Ta Ke Te Ta Terekete Dha Ti Dha Ghe Dhin Na Gi Ne
(2) Dha Ti Dha, Dha Ti Dha, Dha Ti Dha Ghe Dhin Na Gi Ne, Dha Ti Dha Ghe Ne Dha Terekete Dha Ti Dha Ghe Dhin Na Gi Ne
(3) Dha Ti Dha Ghe Ne Dha Terekete Dha, Terekete Dha, Terekete Dha, Dha Ti Dha Ghe Ne Dha Terekete Dha Ti Dha Ghe Dhin Na Gi Ne
________________
รายการปกิณกะอินเดีย
สุรัตน์ โหราชัยกุล และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย