โยคศาสตร์ : ปรัชญาโบราณ สู่ศาสตร์แห่งการดูแลสุขภาพ
1,350 views
0
0

เพลง Yoganiyoga
เพลงที่เปิดไปชื่อว่า “Yoganiyoga: India's Yoga Anthem” ออกอากาศครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 เป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์แห่งโยคะ จัดทำใต้การกำกับดูแลของ Center for Soft Power ประพันธ์ขึ้นในทำนองราคภรตะ (Raga Bharata) โดย ดร. ไมซอร์ มัญชุนาถ (Dr. Mysore Manjunath) ออกแบบท่าเต้นและกำกับการเต้นโดย รุกมิณี วิชยกุมาร (Rukmini Vijayakumar) เพลงนี้มีรูปแบบพิเศษคือผสมผสานดนตรีทั้งสำนักฮินดูสตานีของอินเดียเหนือ และสำนักกรรนาฏิกของอินเดียใต้เข้าด้วยกัน และยังใช้เครื่องดนตรีตะวันตกเช่นไวโอลิน เปียโน และฟลูต ประกอบด้วย จึงเป็นเพลงหลากสีสันและมีความเป็นพหุนิยม

กระทรวงอายุษของอินเดีย

เนื้อหาในครั้งนี้มีความสัมพันธ์กับตอนที่แล้ว ซึ่งกล่าวถึง กระทรวงอายุษของอินเดีย ที่ดูแลเกี่ยวกับการส่งเสริมการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย อันประกอบขึ้นจากหลายศาสตร์ด้วยกัน เพื่อความต่อเนื่องจึงขอทบทวนคำว่าอายุษที่เป็นชื่อกระทรวงอีกครั้ง กล่าวคือ คำว่า AYUSH นั้นมีที่มาจากอักษร 5 ตัว A-Y-U-S-H มีความหมายดังต่อไปนี้

1. A ย่อมาจาก Ayurveda หรืออายุรเวท เวชศาสตร์โบราณสาขาใหญ่ที่สุดของอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวข้องกับการรักษาโรค ยังเน้นการป้องกันด้วย เช่นการบริโภคอาหารให้เป็นยา
2. Y ย่อมาจาก Yoga & Naturopathy หรือโยคะและธรรมชาติบำบัด ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของชาวไทยและชาวโลก และเป็นเนื้อหาหลักของเราในวันนี้
3. U ย่อมาจาก Unani หรือยูนานี เวชศาสตร์ทางเลือกจากทางอาหรับ-เปอร์เซียและนิยมปฏิบัติในหมู่ชาวมุสลิม
4. S ย่อมาจาก Siddha หรือสิทธะ เวชศาสตร์ทางเลือกแผนอินเดียใต้ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเวชศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในอนุทวีป
5. H ย่อมาจาก Homeopathy หรือ โฮมีโอพาที เวชศาสตร์ทางเลือกที่รับจากโลกตะวันตกช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ผู้ให้กำเนิดคือ นพ. ซามูเอล ฮาเนอมันน์ แห่งเยอรมนี

เรื่องเกี่ยวกับศาสตร์อื่น ๆ นั้น หากมีโอกาสเราจะอธิบายขยายความโดยละเอียดให้ฟังในตอนอื่น ๆ ส่วนวันนี้ เราจะพูดเรื่องโยคะเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะโยคะถือเป็นศาสตร์ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมมากในระดับสากล และรัฐบาลอินเดียค่อนข้างประสบความสำเร็จมากในการส่งเสริมโยคะในหมู่ชาวโลก ในฐานะเป็นอำนาจอ่อน (Soft Power) ของอินเดีย ถึงกระทั่งมีสถาบันฝึกสอนโยคะอยู่ในเกือบทุกประเทศ และในประเทศไทยเองก็มีหลายแห่งที่มีชื่อเสียงไม่น้อย

ความหมายของคำว่า “โยคะ”

ในแง่ภาษา ศัพท์ โยคะ (yoga) ประกอบสร้างขึ้นจากธาตุสันสกฤตว่า √ยุชฺ (√yuj)

ตีความได้เป็นสองนัย โดยนัยหนึ่งมีความหมายไปในทางการรวม การสมาน หรือการเชื่อมต่อ (to unite, to connect) สำหรับนัยนี้ โยคะ หมายถึงการรวมหรือผสานจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกาย ส่วนอีกนัยหนึ่งมีความหมายไปในทางการจดจ่อ (to concentrate) เช่น ยุชฺ สมาเธา (yuj samadhau) หมายถึง สมาธิอันตั้งมั่น ซึ่งนัยที่สองนี้ นักวิชาการสมัยโบราณมักจะยอมรับว่าถูกต้องมากกว่า เพราะเป็นความหมายที่เลือกใช้มาอธิบายในโยคสูตรของท่านปตัญชลี ตำราแม่บทของโยคะซึ่งเป็นที่นิยมนับถือจวบจนปัจจุบัน คำนี้ยังโยงไปหาอีกคำหนึ่งที่คนไทยรู้จักดี คือ โยคี (yogi) หมายถึงผู้ปฏิบัติโยคะ

โยคะในทางประวัติศาสตร์

โยคศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นในบริเวณอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ประมาณอายุว่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี นักวิชาการบางคนกล่าวว่าถึง 10,000 ปี แต่โยคศาสตร์ชนิดนี้นั้น หาใช่แบบที่เรามักนึกถึงไม่ หากเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นของบรรดาฤษี

คำว่า “โยคะ” ปรากฏขึ้นในตัวบทศักดิ์สิทธิ์เป็นครั้งแรกคือในฤคเวท ต่อมาก็พัฒนาจากการที่บรรดาพราหมณ์และฤษีจดบันทึกความเชื่อและการปฏิบัติของตนไว้ในคัมภีร์เบ็ดเตล็ดในศาสนาฮินดูที่เรียกว่า “อุปนิษัท” (Upanishad)

คัมภีร์อุปนิษัทเหล่านี้นำความคิดการประกอบพิธีบูชามาจากฤคเวท และประยุกต์กับเรื่องภายในจิตใจ กล่าวคือเน้นการสละอหังการด้วยความรู้จักตนเอง ด้วยการปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่ากรรมโยคะ และด้วยภูมิปัญญา ซึ่งเรียกว่าชญานโยคะ นอกจากนี้ยังมีอีกตัวบทหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งและปรากฏคำว่าโยคะหรือโยคีอยู่หลายจุด รวมทั้งอธิบายกรรมโยคะและชญานโยคะไว้อย่างลึกซึ้งก็คือ ภควัทคีตา (Bhagavadgita) นั่นเอง หนังสือเล่มหนึ่งที่ช่วยให้เข้าใจภควัทคีตาได้ง่ายขึ้น คือ คีตาโพธ ของมหาตคานธี แปลเป็นภาษาไทยโดยกิตติพงศ์ บุญเกิด

สมัยต่อมา คือช่วงประมาณต้นคริสตศตวรรษที่ 2 เกิดคัมภีร์เล่มสำคัญชื่อโยคสูตรของมหาฤษีปตัญชลี ซึ่งเป็นคัมภีร์เล่มแรกที่อธิบายโยคะอย่างเป็นระบบ

โยคสูตรของปตัญชลีนี้ยังคงส่งอิทธิพลต่อโยคะสมัยใหม่อยู่เสมอ จึงพอเรียกได้ว่าปตัญชลีเป็นบิดาแห่งโยคศาสตร์ ไม่กี่ศตวรรษต่อมาโยคะก็ได้รับการถ่ายทอดผ่านสำนักต่าง ๆ ผ่านผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในบางสำนักก็คิดค้นปรับปรุงระบบการฝึกขึ้นใหม่ เช่น ตันตระโยคะ (Tantra Yoga) ซึ่งเริ่มเน้นท่วงท่าทางร่างกาย โดยมองว่าร่างกายนั้นเป็นตัวแปรสำคัญของการหลุดพ้น และนำมาสู่โยคะแบบที่เรียกว่า หฐโยคะ (Hatha Yoga) กล่าวคือโยคะในลักษณะที่เป็นที่รับรู้กันในหมู่ชาวตะวันตกทุกวันนี้นั่นเอง

หลังจากนั้นช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 โยคะก็เริ่มเผยแพร่สู่โลกตะวันตกโดยบรรดาครูโยคะและนักบวชจากอินเดีย

บุคคลแรก ๆ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ สวามีวิเวกานันท์ ผู้เดินทางไปร่วมการประชุมศาสนาโลกที่ชิคาโกในปี ค.ศ. 1893 และได้กล่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติหฐโยคะด้วย ในช่วงทศวรรษ 1920-1930 หฐโยคะก็กำลังเป็นที่นิยมในอินเดีย ในปี ค.ศ. 1924 เกิดโรงเรียนหฐโยคะแห่งแรกในไมซอร์ ก่อตั้งโดยกฤษณมาจารย์ (Krishnamacharya) ศิษย์เอกในสำนักนี้ที่มีชื่อเสียงมีอยู่สามคนคือ บี.เค.เอส. ไอเยงการ์ (B.K.S. Iyengar) ที.เค.วี. เทศิกาจาร (T.K.V. Desikachar) และปัตตภี โชอิส (Pattabhi Jois) นับจากช่วงดังกล่าว หฐโยคะแตกแขนงออกเป็นหลายสำนักและมีโรงเรียนใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย

โยคะนอกอินเดีย

ในสังคมภายนอกอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตกนั้น มักเป็นที่รับรู้กันว่า โยคะเกี่ยวข้องกับการฝึกฝนท่าต่าง ๆ ที่มีศัพท์เฉพาะของโยคะเรียกว่า “อาสนะ” ซึ่งเป็นท่ายืดเหยียดหรือดัดกายเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและผ่อนคลาย นอกจากนี้ท่าโยคะต่าง ๆ ที่ว่ายังช่วยให้เกิดพละกำลัง ความสมดุล และเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายไม่ให้เกิดความเหนื่อยล้าได้ง่าย

แม้แต่คนไทยก็มักจะรับรู้เกี่ยวกับโยคะในแง่มุมนี้มากกว่าแง่มุมอื่น เพราะเป็นสิ่งที่แสดงออกทางร่างกาย และมีความสวยงามดึงดูดสายตา นอกจากนี้ยังเป็นที่รับรู้ว่าช่วยบำบัดหรือแก้ไขอาการผิดปกติบางชนิดที่เกิดกับระบบระเบียบร่างกายของผู้ปฏิบัติด้วย

อย่างไรก็ดี อาสนะเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในแปดองค์ประกอบเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาทั้งแปดประการแล้วจะว่าเป็นทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจผสมผสานกัน แปดองค์ประกอบดังกล่าวมีอะไรบ้าง

แปดองค์ประกอบของโยคะ

1. ยมะ (yama) ซหมายถึง หลักการปฏิบัติตนทางจริยธรรม ซึ่งช่วยจำกัดการกระทำของร่างกายภายนอก
2. นิยมะ (niyama) ความสำรวมอดกลั้นของอินทรีย์ภายใน
3. อาสนะ (asana) ตามความหมายดั้งเดิมหมายถึงท่านั่งในการปฏิบัติสมาธิ เน้นการจัดระเบียบร่างกายให้เกิดสมดุลและง่ายต่อการทำให้จิตใจสงบ ดังนั้นท่านั่งสมาธิแบบของพุทธที่ทุกวันนี้เราปฏิบัติกันก็ถือเป็นอาสนะแบบหนึ่งของโยคะ
4. ปราณายามะ (pranayama) คือการควบคุมลมหายใจเข้าออกให้สม่ำเสมอ
5. ปรัตยาหาร (pratyahara) คือการถอนอินทรีย์ทั้งหลายออกจากการรับรู้โลกภายนอก เข้าสู่การพิจารณาภายใน
6. ธราณา (dharana) คือความจดจ่อตั้งมั่น
7. ธยาน (dhyan) คือคำว่า ฌาน ในภาษาไทยนั่นเอง หมายถึงการดำรงอยู่ในห้วงแห่งความสงบระงับ และนำไปสู่
8. สมาธิ (samadhi) ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในทางโยคะ หมายถึงสภาวะอันหลุดพ้นและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติโดยสมบูรณ์

(คำว่าสมาธิที่คนไทยใช้มักมีความหมายถึง ธราณา คือความจดจ่อตั้งมั่นในข้อ 6)

โยคะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอายุษได้อย่างไรดังที่กล่าวไว้แล้วว่าโยคะในปัจจุบันเน้นปฏิบัติอาสนะต่าง ๆ ซึ่งมีการเหยียดยืดและจัดระเบียบร่างกาย ตรงนี้เองที่เป็นการนำหลักอาสนะในโยคะโบราณมาใช้ในการดูแลสุขภาพภายนอก อย่างไรก็ดี บรรดาโรงเรียนสอนโยคะก็จะยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของการทำสมาธิและการควบคุมลมหายใจ

หากโยคะมีเพียงอาสนะคือท่าทางภายนอกแต่ประการเดียวก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นโยคะได้อย่างสมบูรณ์

และบางทีความรับรู้ของคนไทยสำหรับคนที่ยังไม่เคยปฏิบัติโยคะอย่างจริงจัง อาจมองกิจกรรมนี้เป็นเพียงการเหยียดยืดร่างกายเท่านั้นก็ได้ จึงมักมีสำนวนกล่าวว่า “เล่นโยคะ” ซึ่งสะท้อนความรับรู้บางประการว่าโยคะเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง และมองข้ามหลักการภายในไป

อย่างไรก็ตาม อาสนะถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเป็นเครื่องมือที่โยคะใช้ในการควบคุมจิตใจเพื่อให้สงบไปเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะอาสนะระดับสูงนั้นผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องมีจิตใจสงบอย่างมาก

อาสนะของโยคะ

อาสนะของโยคะมีในทุกอิริยาบถ ทั้งยืน นั่ง นอนหงาย นอนคว่ำ แต่ละอาสนะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งชื่อมักจะแสดงออกว่าท่าทางมีลักษณะอย่างไร

เราจะยกตัวอย่างบางอาสนะ ขอให้ท่านผู้ฟังเข้าใจข้อจำกัดของรายการวิทยุ ซึ่งไม่อาจปฏิบัติให้เห็นภาพได้ จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะท่าง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนเท่านั้น เนื่องจากเวลามีจำกัด เราไม่สามารถอธิบายท่าโยคะต่าง ๆ ไปมากกว่านี้ได้ เพราะท่าโยคะนั้นมีนับพันท่า

ท่าแรก ตาฑาสนะ (Tadasana) หรือท่าภูเขา
ท่านี้คือท่ายืนตรง ทิ้งแขนลงข้างตัว และหายใจตามปกติ หากนึกภาพตามไม่ออก ท่านี้คล้ายกับท่ายืนตรงเคารพธงชาติ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าเพียงเท่านี้ก็เป็นท่าโยคะด้วยหรือ ขอชี้แจงว่า อิริยาบถทุกชนิดเป็นท่าโยคะได้ถ้ามีองค์ประกอบของการควบคุมลมหายใจและดำรงสมาธิ โดยท่าภูเขาที่ว่านี้เป็นท่าที่หลายสำนักใช้เป็นท่าเริ่มต้นของท่ายืนอื่น ๆ และเป็นท่าผ่อนคลายระหว่างการปฏิบัติท่าอื่น ๆ

วฤกษาสนะ (Vrikshasana) หรือท่าต้นไม้
เป็นท่ายืนทรงตัวบนขาเดียว พนมมือชูขึ้นเหนือศีรษะและยืดแขนและกายขึ้นให้ตึง ส่วนขาอีกข้างนั้นแตะที่โคนขาด้านในให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่ฝืนร่างกาย ท่านี้เป็นท่ายืนหนึ่งในไม่กี่ท่าของโยคะที่เป็นที่นิยมมากที่สุด มักจะปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกิจกรรมปฏิบัติโยคะสาธารณะเช่นกิจกรรมวันโยคะสากล

มกราสนะ (Makarasana) หรือท่าจระเข้
เป็นท่านอนคว่ำ ลักษณะเหมือนจระเข้ที่นอนพังพาบ ผู้ปฏิบัติจะนอนคว่ำ ประสานแขนทั้งสองรองไว้ใต้หน้าผาก ทำลักษณะเดียวกับการฟุบหลับบนโต๊ะ ท่านี้ก็ใช้เป็นท่าผ่อนคลายเช่นกัน และนำไปสู่ท่าที่นิยมอีกท่าหนึ่งเรียกว่า ภุชังคาสนะ (Bhujangasana) หรือท่างูจงอาง การปฏิบัติคือ นอนคว่ำ ฝ่ามือสองข้างวางบนพื้น จากนั้นหยัดกายท่อนบนขึ้นและค้างไว้ ลักษณะเหมือนงูจงอางที่ชูคอแผ่แม่เบี้ย

ธนุราสนะ (Dhanurasana) หรือท่าคันธนู
เป็นท่านอนคว่ำเช่นกัน แต่จะพับเข่าทั้งสองให้ปลายเท้าชี้ขึ้น จากนั้นใช้มือทั้งสองเหยียดไปด้านหลังเพื่อจับข้อเท้า หยัดกายพร้อมกับยืดท่อนบนของขาให้ยกขึ้นสูง ค้างไว้ในลักษณะดังกล่าวโดยจุดศูนย์ถ่วงอยู่ที่ท้อง ซึ่งจะทำให้ร่างกายดูโก่งขึ้นจากพื้นเหมือนคันธนู และในขั้นสูงจากจะแปลงให้เป็นท่า ปูรณธนุราสนะ (Purnadhanurasna) หรือท่าคันธนูสมบูรณ์ โดยดึงส้นเท้าให้มาข้างหน้าจนกระทั่งมาแตะที่ศีรษะ

ศีรษาสนะ (Shirshasana) หรือ กปาลสนะ (Kapalasana)
หมายถึงท่าทรงตัวบนศีรษะหรือกบาลซึ่งหมายถึงส่วนบนของกะโหลก เป็นท่าที่เริ่มจากการวางศีรษะจรดพื้นโดยประสานมือรองไว้ จากนั้นค่อย ๆ ชูร่างกายส่วนล่างขึ้นจนกระทั่งตั้งตรงขนานพื้น จัดเป็นอาสนะที่ค่อนข้างยากและต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างมาก และยังขยายไปสู่ท่ายืนด้วยมือ เรียกว่า อโธมุขวฤกษาสนะ (Adho Mukha Vrikshasana) ที่เรียกอย่างง่าย ๆ ในวิชาพละว่าท่าหกสูงนั่นเอง

การปฏิบัติโยคะ

ในส่วนของประโยชน์ต่อสุขภาพ ท่าต่าง ๆ ก็อาจจะมีประโยชน์ในแง่มุมต่างกันไป เช่นช่วยการไหลเวียนโลหิต ช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง ปวดศีรษะ อาการจุกเสียด แก้ลมในร่างกายต่าง ๆ

หากจะเทียบกับสิ่งที่ใกล้เคียงกับโยคะในวัฒนธรรมไทยที่สุดก็คือ ท่าฤษีดัดตน ที่ปรากฏเป็นรูปหล่อสำริดอยู่ที่วัดโพธิ์นั่นเอง มีที่มาจากหฐโยคะโดยไม่ต้องสงสัย เพราะในโคลงฤษีดัดตนก็มีชื่อของฤษีสำคัญในอินเดียปรากฏอยู่ครบถ้วน

การปฏิบัติหฐโยคะที่ดีนั้นควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และควรคำนึงถึงข้อจำกัดของตนเอง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ว่าจะสามารถดูแลได้ว่าคนที่มีโรคใดหรืออาการเช่นใดให้หลีกเลี่ยงการปฏิบัติท่าใด สิ่งสำคัญที่ครูโยคะมักจะเน้นย้ำอยู่เสมอคือ การปฏิบัติใด ๆ ไม่ให้ฝืนร่างกายของตนเอง ให้ทำเท่าที่ขีดจำกัดของร่างกายจะกระทำได้ในขณะนั้น มิฉะนั้นอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี หากประสงค์จะทำท่าขั้นสูงก็ควรจะค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไปตามขั้นตอน และที่สำคัญคือทุกอิริยาบถจะต้องมีการควบคุมปราณและจิตใจให้สงบ หาไม่แล้วก็จะเป็นเพียงการเหยียดยืดร่างกายธรรมดาเท่านั้น
.
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio Plus
ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ