วันที่ 18 พฤษภาคม 2567
เพลง Sajni
แปลเป็นไทยคือ “สุดที่รัก บุคคลอันเป็นที่รักอย่างสุดซึ้ง” เพลง “Sajni” เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Laapataa Ladies ที่เราจะพูดถึงในวันนี้ เพลงนี้ขับร้องโดยอริชิต สิงห์ (Arijit Singh) เนื้อร้องประพันธ์โดยประศันต์ ปาณเฑย์ (Prashant Pandey) ที่เลือกเปิดเพลงนี้ก็ไม่มีเหตุผลอื่นใด เว้นแต่เรากำลังจะพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้
แม้วันนี้สังคมไทยจะพูดถึง Heeramandi ซีรีส์ 8 ตอนกันมากมาย แต่เราสองคนก็มีนิสัยที่อาจจะไม่ดีบ้าง คือเราเชื่อว่าอะไรที่น่าสนใจก็ควรนำมาเล่าสู่กันฟัง และเรื่องที่เรานำมาเล่าก็ไม่จำเป็นเสมอที่จะต้องเป็นเรื่องที่นิยมชมชอบโดยสังคมแต่อย่างเดียว
ก่อนจะพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง Laapataa Ladies ใคร่แจ้งท่านผู้ฟังที่ไม่ประสงค์จะถูก “spoiled” ว่าหากท่านต้องการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนแล้วค่อยมาฟังรายการเราย้อนหลัง ณ ขณะนี้ท่านก็หยุดฟังได้เลย แต่หากท่านไม่สนใจเรื่องการถูก “spoiled” ก็ฟังต่อได้เลย
เข้าฉายในปี 2024 และไม่นานมานี้ก็เข้าสู่ Digital Streaming เช่น Netflix เรียบร้อยแล้ว
ดารานำภาพยนตร์เรื่องนี้คือนีตานศี โคยัล (Nitanshi Goel) สปรรษ ศรีวาสตวะ (Sparsh Shrivastav) ประติภา รันตา (Pratibha Ranta) อภัย ดูเบย์ (Abhay Dubey) ฉายา กะฑัม (Chhaya Kadam) รวิ กิศัน (Ravi Kishan)
ชวนสังเกตว่า ชื่อที่กล่าวมาทั้งหมด ต่างก็ไม่ใช่ดาราชื่อดังแห่งวงการภาพยนตร์บอลลีวูด บางคนเคยเล่นละครหรือแสดงภาพยนตร์ท้องถิ่น บางคนก็ครั้งแรกเลย
นับว่าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากคนหนึ่งของอินเดีย นอกจากเป็นผู้กำกับแล้ว เธอยังเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ด้วย
ในแวดวงการภาพยนตร์ เธอเป็นสมาชิกคณะกรรมการ “Mumbai Academy of the Moving Image” ด้วย นอกจากวงการภาพยนตร์ กิรัน ราว ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “Paani Foundation” หรือแปลเป็นไทยแบบตรงตัวเลยคือ “มูลนิธิน้ำ” ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อต่อสู้กับภัยแล้งในมลรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra)
ผลงานของกิรัน ราว ในแวดวงภาพยนตร์มีอยู่ไม่น้อย เธอเคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังชื่อ Lagaan: Once Upon a Time in India ฉายในปี ค.ศ. 2001 เคยเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ชื่อ Dhobi Ghaat ฉายในปี ค.ศ. 2010
อาจจำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ฟังทราบว่า ก็เพราะ Lagaan เธอถึงตกหลุมรักกับอะมีร์ ข่าน (Aamir Khan) ในที่สุดทั้งสองก็แต่งงานกันในปี ค.ศ. 2005 ประมาณ 3 ปี หลังจากที่อามีร์ ข่านหย่ากับเรณา ดัตตา (Rena Dutta) ภรรยาคนแรกในปี ค.ศ. 2002
ทั้งคู่มีลูกชายคนหนึ่งชื่ออาซาด ราว ข่าน (Azad Rao Khan) เกิดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2011 มีลูกแบบผ่านการตั้งครรภ์แทน เรื่องของชื่อลูก เว็บไซต์แห่งหนึ่งระบุว่า ชื่อบุตรชายคนนี้ตั้งตามชื่ออับดุล กาลาม อาซาด (Abul Kalam Azad) หนึ่งในผู้นำขบวนการเอกราชของอินเดียเพื่อต่อต้านการปกครองของอังกฤษในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20
วันที่ 3 กรกฎาคม 2021 กิรัน ราว และอามีร์ ข่าน ได้ประกาศการตัดสินใจหย่าร้างหลังจากแต่งงานกันมา 15 ปี ผ่านแถลงการณ์ร่วมโดยทั้งคู่ขอบคุณครอบครัวและเพื่อนฝูงที่ให้การสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งคู่ระบุว่าจะเลี้ยงดูลูกชายต่อไปในฐานะผู้ปกครองร่วม
ดัดแปลงมาจากเรื่องราวที่เขียนโดยพิปลาพ โคสวามี (Biplab Goswami) ผู้เขียนบทคือเสน่หา เทศาอี (Sneha Desai) ซึ่งเขียนบทเพิ่มเติมจากฉบับของทิวยนิธิ ศรรมา (Divyanidhi Sharma)
เนื้อเรื่องของ Laapataa Ladies หรือหญิงที่สูญหาย หรือไม่เป็นที่ทราบกันว่าอยู่ไหน หรือหญิงที่หลงทาง มีใจความดังนี้
ในปี ค.ศ. 2001 ทีปัก (Deepak) ซึ่งเป็นชาวนากำลังเดินทางกลับไปยังหมู่บ้านของเขาพร้อมกับเจ้าสาวคนใหม่ของเขาที่ชื่อผูล (Phool) พวกเขาขึ้นรถไฟโดยสารที่อัดแน่นไปด้วยคู่รักคู่บ่าวสาวอีกหลายคู่ เจ้าสาวทุกคนจะสวมชุดสีเดียวกันและคลุมหน้าด้วยผ้าคลุมหน้าตามธรรมเนียม ทีปักหลับไปและตื่นขึ้นมาในตอนกลางคืน พบว่าถึงที่หมายแล้ว ในความมืดและความสับสนจากการรีบเร่งที่จะจากไป เขาลงจากรถพร้อมกับเจ้าสาวผิดคน และผูลถูกทิ้งไว้บนรถไฟ
ครอบครัวของทีปักยินดีต้อนรับทั้งคู่ แต่กลับต้องตกใจเมื่อรู้ว่าเป็นเจ้าสาวผิดคน เจ้าสาวผิดคนที่ว่านี้มีชื่อจริงว่า ชายา (Jaya) แต่เธอตั้งชื่อปลอมและโกหกว่าเธอมาจากไหน
ขณะเดียวกันที่สถานีอื่นผูลตระหนักถึงความสับสนวุ่นวาย แต่นายสถานีไม่สามารถช่วยเธอได้ เนื่องจากเธอไม่รู้ชื่อหมู่บ้านของทีปัก เธอยืนกรานว่าจะไม่กลับบ้านพ่อแม่ เพราะเธอกลัวว่าจะทำให้ครอบครัวของเธอต้องอับอาย และแล้วเธอจึงตัดสินใจอยู่ที่สถานีเผื่อทีปักจะมาตามหา ในระหว่างที่เธออยู่ที่สถานีรถไฟ เธอได้รับความช่วยเหลือจากมัญชุ มาย (Manju Mai) ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการร้านน้ำชาและขนมบนชานชาลา
ทีปักตามหาผูลอย่างไม่หยุดหย่อน แจ้งความกับตำรวจชื่อ ศยาม มโนหาร (Shyam Manohar) ทว่ามโนหารคิดว่าชายาอาจจะเป็นหัวขโมย เขาติดตามเธอ เห็นเธอขายเครื่องประดับ ใช้โทรศัพท์มือถือและซื้อตั๋วรถโดยสาร ในขณะเดียวกันชายาก็เริ่มเป็นมิตรกับครอบครัวของทีปัก และแสดงความรู้อันน่าประหลาดใจเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์
ที่ชายาซื้อตั๋วโดยสารก็เพราะเธอกำลังจะหนีออกจากหมู่บ้าน แต่เธอรู้สึกสงสารทีปักที่มุ่งมั่นจะตามหาผูล ด้วยเหตุนี้ชายาจึงขอให้พี่สะใภ้ของทีปัก ผู้ซึ่งมีพรสวรรค์ทางศิลปะวาดภาพเหมือนของผูลเพื่อช่วยในการค้นหา จากนั้นเธอก็ทำโปสเตอร์ภาพเหมือนและกระจายไปทั่ว ขณะเดียวกันผูลก็ทำงานที่ร้านขายน้ำชาและเรียนรู้ที่จะเป็นอิสระ
นายตำรวจมโนหารเมื่อคิดว่าชายาเป็นพวกมิจฉาชีพอยู่ในกลุ่มโจร มโนหารจึงจับกุมเธอ อย่างไรก็ตาม อีกไม่นานทั้งมโนหารและทีปักก็ทราบว่า ชายาแม้จะได้แต่งงานกันชายคนหนึ่งชื่อประทีป (Pradeep) แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการแต่งงานที่ขัดกับความประสงค์ของเธอ ประทีปเป็นคนไม่ดี จิตใจเหี้ยม แต่งงานกับชายาเพียงเพราะตนต้องการแต่สินสอดเท่านั้น ในขณะที่ชายาต้องการประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์และได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในเมืองเดห์ราดูน (Dehradun) แล้ว เมื่อเธอลงจากรถไฟโดยไม่ได้ตั้งใจกับดีปัก เธอจึงตัดสินใจที่จะใช้โอกาสนี้เพื่อหนีประทีปและเติมเต็มความฝันของเธอ เธอขายเครื่องประดับเพื่อชำระค่าเล่าเรียนและซื้อบัตรโดยสารเพื่อไปเรียนที่เดห์ราดูน
ประทีปมาถึงสถานีตำรวจเพื่อไปหาชายา เขาทำร้ายเธอต่อหน้าตำรวจและขู่ว่าจะขอสินสอดทั้งหมดจากแม่ของเธอ มโนหารกล่าวว่าการกระทำของเขาถือเป็นความผิด และเนื่องจากชายาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เธอจึงไม่สามารถถูกบังคับให้ไปกับใครได้ เขาขู่ว่าจะตั้งข้อหาประทีป เว้นแต่เขาจะอยู่ห่างจากชายา และเพราะโปสเตอร์ที่ชายาจัดทำ ในที่สุดผูลก็สามารถหาทีปักพบ ชายาซึ่งตอนนี้เป็นอิสระจากประทีปแล้ว จึงออกไปศึกษาต่อที่เดห์ราดูน
ก่อนเวลารายการจะจบลง เราต้องพูดเรื่องสภาพสังคมอินเดียในเรื่องผู้หญิงด้วย
เริ่มต้นที่ชื่อภาพยนตร์ คำว่า “Laapataa Ladies” ในที่นี้อาจหมายถึงผู้หญิงที่สูญหายหรือหลงทางก็ได้ ผู้กำกับตั้งชื่อได้อย่างฉลาดหลักแหลมมาก เพราะผู้หญิงอินเดียส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือชนบทมักอยู่ในการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด คือจะอยู่ในสายตาตลอด ดังนั้นเวลาที่เขาสูญหายหรือหลงทาง ก็เป็นไปได้ว่าเขาประสงค์จะทำเช่นนั้น
ภาพยนตร์ Laapataa Ladies เน้นให้ความสำคัญเรื่องกับผู้หญิงในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองและหยิบยกประเด็นความเสมอภาคทางเพศได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ไม่คลุมเครือ ในขณะเดียวกันก็หาใช่ภาพยนตร์เรียกร้องสิทธิสตรีแบบร้องเสียงกรี๊ดหรือโหยหวนไม่ คือลงตัวมาก ๆ และมีความตลกขบขันไม่น้อยเลยทีเดียว
หญิงสองคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ตกอยู่ในวิกฤติร้ายแรง วิกฤตินี้ก็ใช่ว่าตนเป็นมูลเหตุเสียเมื่อไหร่ แต่ทั้งสองเรียนรู้ในสังคมที่แม้ว่าชายจะเป็นใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากหลักเหตุผลหรือหลักศีลธรรมจรรยาไม่ ทั้งสองเรียนรู้ด้วยตนเองตามวิถีของตน เหมือนกับว่าทั้งสองรู้ดีว่ามีหนทางในการแก้ปัญหา พวกเธอเรียนรู้ในแบบของตัวเองว่ามีวิธีต่าง ๆ ที่จะขจัดความมืดมิดรอบตัวพวกเธอเพื่อยุติปัญหา กล่าวอย่างเรียบง่ายคือ กิรัน ราว กำลังบอกผู้ชมภาพยนตร์ว่าผู้หญิงมีศักยภาพในการคิด ในการเอาตัวรอด ในการแก้ปัญหา ไม่ต่างอะไรจากเพศชาย
สิ่งที่ถือว่าเป็นความอัจฉริยะของกิรัน ราว คือดำเนินตามเนื้อเรื่องอย่างฉลาดหลักแหลม โดยชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงสองคนนี้เหมือนกันในความต่าง นั่นคือ คนแรกคือชายาผู้ซึ่งมีเหตุผลของตนอย่างชัดเจนที่จะศึกษาต่อด้านเกษตรอินทรีย์ ส่วนคนที่สองซึ่งดูผิวเผินเหมือนคนไม่ฉลาด ไม่มีทางเลือก แต่จริง ๆ แล้วตนก็รู้ว่าตนต้องการอะไร และได้ใช้ความมีเหตุมีผลในการที่จะแก้ปัญหา และทั้งสองก็ดูจะเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะในตอนจบทั้งสองก็เจอกัน และทั้งสองก็มีความสุขต่อการตัดสินใจของตน
ความอัจฉริยะของกิรัน ราว อีกประการคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีแต่ความสดชื่นและสว่างสดใส ฉะนั้นแล้วจึงไม่เคยตกอยู่ในภาวะภยันตรายที่จะจมปักอยู่กับประเด็นสำคัญที่กล่าวถึง คำบ่งชี้ง่าย ๆ คือสิทธิของผู้หญิงที่ถูกปล้นความฝันหลังแต่งงาน และถูกปกปิดด้วยวิธีการง่าย ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้พูดอะไรที่รุนแรงเป็นพิเศษ แต่การแสดงออกถึงข้อกังวลต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว ทำให้แลดูแล้วไม่ใช่ภาพยนตร์เรียกร้องสิทธิสตรี สิ่งที่ภาพยนตร์กำลังสื่อสารคือจะต้องทำอะไรและเดินหน้าต่อไป
ที่ผมคิดว่าน่าจะอัจฉริยะที่สุดคือ การสนทนาระหว่างความเป็นสากลนิยมกับวัฒนธรรมสัมพัทธ์ คือภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ชวนให้เรามองอะไรเป็นขาวดำหมด ไม่ใช่มองว่าหลักสากลนิยมเป็นเรื่องผิดถูก หรือวัฒนธรรมสัมพัทธ์เฉพาะเจาะจงของชาวอินเดียจำนวนมากเป็นเรื่องผิดถูก หากแต่ชวนให้เรามองภาพออกว่า ทั้งสากลนิยมว่าด้วยสิทธิสตรี และวัฒนธรรมสัมพัทธ์ว่าด้วยความเป็นใหญ่ของชายแบบในสังคมอินเดียและหลายประเทศในเอเชียนั้น แท้จริงแล้วขัดเกลาซึ่งกันและกัน สังคมอินเดียคงไม่ทิ้งวัฒนธรรมตนเองทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด
อินเดียกำลังทะยานขึ้นมาเป็นมหาอำนาจสำคัญของโลก การเป็นมหาอำนาจนี้ไม่ได้มาด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี หรือการทหารแต่อย่างเดียว การปรับตัวในเรื่องผู้หญิงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะย่อมหมายถึงผู้หญิงที่มีโอกาส ผู้หญิงที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ ภาพยนตร์อินเดียวันนี้ก้าวหน้ามากขึ้นอย่างรวดเร็ว เราชาวไทยต้องคิดเรื่องนี้ให้ดี เราจะถอดบทเรียนจากเขาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หรือเราจะดำเนินความสัมพันธ์กับเขาอย่างไร เพื่อว่าเราจะได้เข้าไปมีส่วนได้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเขา ต้องช่วยกันคิดเพื่อมิให้ประเทศไทยหยุดนิ่ง หากแต่วิวัฒน์ไปในทางสร้างสรรค์และยั่งยืน
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ