วันที่ 8 มิถุนายน 2567
เพลง Dil Todne Wale…”
เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Son of India ฉายในปี ค.ศ. 1962 ดารานำภาพยนตร์เรื่องนี้คือกมลชิต (Kamaljit) สิมี คเรวาล (Simi Garewal) ซายิด ข่าน (Sajid Khan) และกุมกุม (Kumkum) เพลงนี้ขับร้องโดยลตา มังเคศการ์ (Lata Mangeshkar) และโมฮัมเหม็ด รอฟี (Mohammed Rafi)
ทำไมเปิดเพลงนี้ ก่อนจะอธิบายว่าทำไมต้องเปิดเพลงนี้ ผมลองแปลท่อนที่เปิดไปให้ฟังก่อนดีกว่า แปลคร่าว ๆ ได้ว่า
Dil Todne Wale
โอ้ คนทำลายหัวใจเอ๋ย
Tujhe Dil Dhoond Raha Hai
หัวใจของข้าตามหาเจ้าอยู่
Awaaz De Tu Kaun Si Nagri Mein Chhupa Hai
ขอเสียงหน่อย ไปหลบซ่อนอยู่ ณ ที่ใดเล่า
ผู้ฟังหลายคนคงผูกเนื้อหาของเพลงนี้เข้ากับหัวข้อของเราในวันนี้ได้แล้ว นั่นคือ หลังจากที่พอทราบเรื่องผลเลือกตั้งแล้ว ทั้งนายราหุล คานธี (Rahul Gandhi) แห่งพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส (Indian National Congress) นายอรวินท์ เกชริวาล (Arvind Kejriwal) แห่งพรรคอาม อาดมี (Aam Aadmi Party) และนายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) แห่งพรรคภารตียา ชนตะ (Bharatiya Janata Party) คงอกหัก และคงตามหาเหตุผลที่ทำให้ตนต้องอกหัก ซึ่งในช่วงท้ายของรายการเราในวันนี้ผมจะพยายามวิเคราะห์ให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น
•
ก่อนเข้าเรื่องในวันนี้ผมขอขอบพระคุณท่านภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ นักวารสารชาวไทยคนสำคัญคนหนึ่ง และนักแปลชาวไทยคนสำคัญ ที่บอกกับผมว่าชอบฟังรายการวิทยุปกิณกะอินเดีย ท่านภาณุบอกผมในงานรับรางวัลสุรินทราชาในวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ทุกประโยค [ที่เราทั้งสองได้นำเสนอ] มีความหมายที่เป็นประโยชน์ทั้งหมด
เมื่อเทียบกับนักการเมืองอีก 2 คน โมดีมาจากครอบครัวหรือภูมิหลังที่ด้อยโอกาสกว่า โมดีชอบเล่าให้ฟังอยู่บ่อยครั้งว่า ตนเคยเป็นเด็กขายน้ำชาอยู่ที่สถานีรถไฟในมลรัฐคุชราต (Gujrat)
ชื่อเต็มของนายโมดีคือ นเรนทระ ทาโมทรทาส โมดี (Narendra Damodardas Modi) เกิดวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1950
โมดีเกิดและเติบโตในเมืองวัฑนคร (Vadnagar) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมลรัฐคุชราต โมดีสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เมื่ออายุ 18 ปี เขาได้สมรสกับหญิงชื่อชโศทาเบน (Jashodaben) แต่ทั้งคู่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน โมดีไม่ต้องการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ยอมรับต่อสาธารณะเมื่อจำเป็น
เขาเริ่มรู้จักราษฏรียสวยัมเสวกสงฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sangh, RSS) องค์กรชาตินิยมฮินดูที่สำคัญ เมื่อเขาอายุเพียง 8 ขวบ
มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ในปี ค.ศ. 1971 โมดีเป็นพนักงานเต็มเวลาของ RSS ในมลรัฐคุชราต และด้วยการทำงานกับ RSS เขาจึงมีเส้นทางเข้าสู่พรรคภารตียา ชนตะ ในปี ค.ศ. 1985
ณ พรรคการเมืองแห่งนี้ โมดีได้ทำงานอยู่ในหลายตำแหน่งก่อนจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคในปี ค.ศ. 2001
ในปี ค.ศ. 2001 โมดีได้รับการแต่งตั้งเป็นมุขมนตรีแห่งมลรัฐคุชราต และได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภานิติบัญญัติไม่นานหลังจากนั้น
สมัยที่เป็นมุขมนตรีมลรัฐคุชราต ก็บริหารจัดการเศรษฐกิจแบบล้ำหน้ามาก ๆ ทว่าข้อเสียของการบริหารของโมดี ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน ดัชนีด้านสุขภาพ ความยากจน และการศึกษาในมลรัฐไม่ดีขึ้นแบบเศรษฐกิจ
อีกประเด็นที่สำคัญคือ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า โมดีนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจลาจลในคุชราต ทำให้ชาวมุสลิมและชาวฮินดูต้องปะทะกัน ผู้คนเสียชีวิตไปประมาณ 1,000 คน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ทีมสืบสวนพิเศษที่ได้รับแต่งตั้งโดยศาลสูงสุดของอินเดียในปี ค.ศ. 2012 ไม่พบหลักฐานที่จะดำเนินคดีกับโมดีได้
ในการเลือกตั้งโลกสภาครั้งที่ 16 คือเมื่อปี ค.ศ. 2014 โมดีชนะการเลือกตั้งอย่างสำคัญ คือได้ที่นั่งให้พรรคภารตียา ชนตะ ทั้งหมด 282 ที่นั่งจาก 543 ที่นั่ง นับได้ว่าเป็นประวัติการณ์เลยก็ว่าได้ หลังจากนั้นก็ชนะเลือกตั้งโลกสภาอีกครั้งในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโลกสภาครั้งที่ 17 ครั้งนั้นได้ที่นั่งทั้งหมด 303 ที่นั่งจาก 543 ที่นั่ง
ใช่ครับ น่าจะห่างไกลจากที่คาดหวัง
ดังที่ผมได้พูดไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ในปี ค.ศ. 2014 ได้มากถึง 282 ที่นั่ง ในปี ค.ศ. 2019 ได้มากถึง 303 ที่นั่ง ทั้งสองครั้งจากจำนวน 543 ที่นั่ง ดังนั้น ก็ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง อาจจะกล่าวได้ด้วยว่า ผิดหวังอย่างชัดเจน
เราไม่มีทางรู้ได้อย่างแม่นยำเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น นี่คือสิ่งที่การเลือกตั้งสร้างความตื่นเต้นให้ผู้คนที่รอฟังผลเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เราอาจจะวิเคราะห์ได้ และสิ่งที่ผมกำลังพูดต่อจากนี้ไปก็เป็นมุมมองของผมเท่านั้น ผมคิดว่าผลเลือกตั้งที่ออกมาแบบนี้ มีมูลเหตุทั้งหมด 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่
ข้อแรก โมดีและสมาชิกพรรคภารตียา ชนตะ มั่นใจเกินไป ความนิยมชมชอบในพรรคภารตียา ชนตะ หรือตัวโมดีเป็นที่รับรู้ของผู้คนจำนวนไม่น้อยว่าออกอาการเหลิง ขอยกตัวอย่างเช่น การพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกพร้อมกับป้ายกำกับด้วยถ้อยคำว่า “400 Paar” หมายความว่า “ทะลุ 400 ที่นั่ง” ถูกรับรู้ว่าเป็นอาการเหลิง
ข้อที่สอง สัมพันธ์กับข้อแรก นอกจากจะถูกมองว่าเหลิงแล้ว หลายคนยังคิดต่ออีกว่า ปล่อยให้ฝ่ายค้านสูญพันธุ์หรือตายหายจากไปไม่ได้ ประชาธิปไตยอินเดียจะแข็งขันก็ต่อเมื่อ สถาบันหลักของประเทศและระบบตรวจสอบยังปฏิบัติภารกิจได้ มิฉะนั้น สิ่งที่ผู้ร่วมสร้างประเทศได้ทำไว้ตั้งแต่การต่อสู้เรียกร้องเอกราชจนถึงหลังการได้รับเอกราชก็จะสูญเสียไปหมด
ข้อที่สาม เกี่ยวกับวัฒนธรรมเอ็นดูหรือเห็นอกเห็นใจ คือเริ่มสงสารราหุล คานธี ที่แลดูจะเทียบกับโมดีไม่ได้เลย ผมว่าหลายคนหันไปเชียร์มวยรอง ประเด็นราหุล คานธี เคยพูดไว้แล้วในครั้งก่อน การถูกตั้งชื่อว่า “ปัปปุ” (Pappu) ซึ่งในบริบทนี้หมายถึง “คนเซ่อ” หลัง ๆ มา ก็มีคนเริ่มเห็นอกเห็นใจราหุล คานธี มากขึ้น ยิ่งตอนที่น้องสาวราหุล คานธี ออกมาช่วยพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส หาเสียงอย่างเต็มที่ เธอก็มีข้อความเด็ดที่กินใจไม่น้อยเลย เช่น เธอเคยถามในคำปราศรัยของเธอว่า มันยุติธรรมหรือที่จะไปเรียกพี่ชายเธอว่า “ปัปปุ” ราหุล คานธีก็มีวุฒิการศึกษา ก็เคยทำงานมาก่อน และก็ตั้งใจทำงานอย่างแข็งขันด้วย มันแฟร์หรือที่จะไปเรียกพี่ชายเธอแบบนั้น การหาเสียงที่ชนะใจคนไม่น้อยอีกก็เช่น การที่ราหุล คานธีกล่าวถึงครอบครัวของเขาในลักษณะคำถามว่าคุณย่าก็โดนยิง คุณพ่อก็โดนระเบิด ทั้งคุณย่าและคุณพ่อก็ทำงานเพื่อประเทศชาติมิใช่หรือ พวกเขาก็ไม่ได้หยุดหย่อนที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติไม่ใช่หรือ
ข้อที่ 4 นางโซเนีย คานธี (Sonia Gandhi) และคณะทำงานของพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส ได้วางแผน และทำงานกับประชาชนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น งานนี้ผมว่าอีกสักพักใหญ่คงมีวรรณกรรมดี ๆ ให้เราอ่านกัน และจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า คนท้องถิ่นที่พรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส สรรหามาช่วยงานมีลักษณะรายละเอียดอย่างไรบ้าง เข้าหาประชาชนอย่างไร หลังจากผลเลือกตั้งปรากฏ คือ พรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรสได้คะแนนเกือบ 2 เท่าจากครั้งที่แล้ว คือจาก 52 ที่นั่งในปี ค.ศ. 2019 มาเป็น 99 ที่นั่งในปีนี้ นายราหุล คานธีกล่าขอบคุณคณะทำงานในท้องถิ่นต่าง ๆ คือเน้นแล้วเน้นอีก
ข้อที่ 5 เป็นเรื่องของโลกทุนนิยมแห่งความจริง ปฏิเสธมิได้ว่า อินเดียได้พัฒนาไปมากในช่วง 10 ปีที่โมดีเป็นนายกรัฐมนตรี ดังที่เราเคยกล่าวไว้ในรายการของเราหลายตอนแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนานี้ ประชาชนจำนวนไม่น้อยรายได้ไม่พัฒนาทันค่าครองชีพที่พุ่งเร็วขึ้น ความเหลื่อมล้ำทำให้หลายคนใช้คะแนนเสียงของตนสื่อว่าตนรู้สึกโกรธเพราะตนประสบความยากลำบาก
ผมมองว่า 5 ข้อนี้สำคัญมาก แต่ในอนาคตการศึกษาวิจัย หรือการสำรวจอาจจะทำให้เรารู้มากกว่านี้ก็ได้
แน่นอนนายโมดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปเป็นสมัยที่สาม และผมใคร่ชวนนึกถึง 6 ข้อดังต่อไปนี้
ข้อที่ 1 ประชาธิปไตยของอินเดียมีความเข้มแข็งมากขึ้น ความสมบูรณ์ของกระบวนการขออาณัติจากชาวอินเดียกว่า 600 กว่าล้านคน ที่ลงคะแนนจริงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรต้องสงสัย ประชาชนอินเดียได้เปล่งเสียงดังออกมาแล้ว พวกเขาได้กล่าวอย่างชาญฉลาดในการมอบอำนาจให้รัฐบาลแล้ว แต่ขอเลือกฝ่ายค้านที่เข้มแข็งกว่าเดิมด้วย
ข้อที่ 2 ยุครัฐบาลผสมของอินเดียกลับมาอีกครั้งแล้ว รัฐบาลจะเหลิงอำนาจไม่ได้
ข้อที่ 3 รัฐบาลนำโดยกลุ่มพันธมิตรที่เรียกว่า National Democratic Alliance ด้วยจำนวน 293 ที่นั่งจะปฏิรูปอินเดียต่อไปด้วยเสถียรภาพ เพราะจะต้องรับฟังพรรคที่ร่วมรัฐบาลในประเด็นทางสังคมมากขึ้น
ข้อที่ 4 ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส จะค้านรัฐบาลได้อย่างสมศักดิ์ศรี
ข้อที่ 5 ผลการเลือกตั้งของอินเดียครั้งนี้มีแนวโน้มสูงที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการบริหารจัดการของรัฐบาลกลาง คือน่าจะมุ่งเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเน้นที่ "สวัสดิการดิจิทัล" สำหรับผู้คนที่ยังไม่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาอินเดียหรืออินเดียใหม่ของโมดี
ข้อที่ 6 เรื่องราวทางเศรษฐกิจของอินเดียยังคงเหมือนเดิม โดยคาดว่าจะเน้นไปที่การจ้างงาน การจัดการเงินเฟ้อ และการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น ที่น่าจะเห็นแน่ ๆ คือ ด้านการผลิต ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ด้านการปฏิรูปการเกษตร และงานสำหรับเยาวชน
นายอรวินท์ เกชริวาล อกหักชัดเจน น่าจะได้แค่ 3 ที่นั่ง ได้ที่นั่งในปัญจาบ (Punjab) ที่เดลีไม่ได้สักที่ เสียที่นั่งในเดลีให้พรรคภารตียา ชนตะหมดเลย
สำหรับราหุล คานธี ผมมองว่าอนาคตยังล่อแหลมอยู่ การได้ที่นั่งเพิ่มจาก 52 เป็น 99 อาจจะมองเป็นความสำเร็จก็ได้ แต่หากมองในแง่ที่ว่าพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรสคือพรรคที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย การได้มาซึ่ง 99 ที่นั่งก็ยังถือว่าน้อยมาก
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ