เพลง Holi ke Rang Ma
เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “มหาราช” (Maharaj) ออกอากาศเฉพาะทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2024 เป็นภาพยนตร์ที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยม และเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมาก กำกับโดย สิทธรรถ พี. มาลโหตรา (Siddharth P. Malhotra) ผู้แสดงนำฝ่ายพระเอกคือ ญุไนด์ ข่าน (Junaid Khan) บุตรชายของอะมีร์ ข่าน (Amir Khan) ผู้มีชื่อเสียง ฝ่ายตัวร้ายซึ่งก็คือมหาราชที่เป็นชื่อเรื่องด้วยนั้น แสดงโดย ชัยทีป อะห์ลาวัต (Jaideep Ahlawat)
เพลงดังกล่าวมีผู้ร้องหลายคน แต่ช่วงที่เราเปิดให้ฟังเป็นเสียงร้องของ เศรยา โกศล (Shreya Koshal) ฉากคือช่วงต้นของภาพยนตร์ เป็นเทศกาลโฮลีอันรื่นเริงสนุกสนาน ในศาสนสถานที่มีศัพท์เรียกว่า หเวลิ (Haveli) มีระบำหมู่ชายหญิงและสาดผงสีชมพูไปรอบ ๆ แต่ในเทศกาลรื่นเริงนี้กลับนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่จะกลายเป็นโศกนาฏกรรม ซึ่งเราจะเล่าให้ฟังในช่วงเนื้อหา
ที่เราเปิดเพลงนี้ก็เพราะเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะพูดโดยตรง สาเหตุที่เราเลือกเรื่องนี้มาพูดก็เพราะมีผู้ฟังรายการท่านหนึ่งซึ่งติดตามฟังรายการตลอดได้ขอหัวข้อเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้มาทางเฟซบุ๊ก เราทั้งสองมาพิจารณาเห็นว่า ในเมื่อกระแสภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังมาแรงจึงควรนำมาพูดถึงก่อนที่จะจืดไปเสีย ขณะเดียวกันต้องขอขอบพระคุณผู้ฟังท่านนี้ด้วย ที่นอกจากจะติดตามฟังรายการสม่ำเสมอยังช่วยเสนอแนะหัวข้อรายการด้วย และอย่างที่จำเป็นต้องพูดทุกครั้งก่อนที่จะกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องใดก็คือ ท่านใดที่ยังไม่ประสงค์จะถูกสปอยล์เนื้อหาภาพยนตร์ ก็สามารถหยุดฟังไว้ก่อน แล้วค่อยไปฟังย้อนหลังเอาบนเว็บไซต์ของสถานีวิทยุได้
คือคดีที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “คดีหมิ่นประมาทมหาราช ปี 1862” (Maharaj Libel Case 1862) ตัดสินโดยศาลสูงของบอมเบย์ ซึ่งรวมอยู่ในเขตปกครองบอมเบย์ของบริติชอินเดีย
รายละเอียดของคดีคือ ชทุนาถจี พรัชรตันจี มหาราช (Jadunathjee Barajratanjee Maharaj) ได้ยื่นฟ้องนานาภาย รุสตัมจี (Nanabhai Rustomji) และ กรสันทาส มูลจี (Karsandas Mulji) เนื่องจากได้ลงบทความทำลายชื่อเสียงของตนในหนังสือพิมพ์ชื่อ “สัตยประกาศ” (Satyaprakash) หรือ “แสงแห่งความจริง” ด้วยเหตุที่บทความดังกล่าวได้ตั้งคำถามต่อแนวปฏิบัติของศาสนาฮินดูนิกายวัลลภาจารย์ (Vallabhacharya) หรือปุษฏิมารค (Pushtimarg)
แนวปฏิบัติที่มีปัญหาดังกล่าวคือการที่ชทุนาถจี เจ้านิกายดังกล่าวในเวลานั้นใช้สถานะความเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ของตนในการหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ คือร่วมหลับนอนกับบรรดาสตรีที่เป็นสาวกผู้นับถือศรัทธาตนอย่างสุดจิตสุดใจ โดยการโน้มน้าวว่าเป็นการถวายร่างกายและวิญญาณต่อพระผู้เป็นเจ้า ขณะเดียวกันบรรดาสาวกที่เป็นชายก็ถูกโน้มน้าวด้วยว่าการนำญาติพี่น้องหญิงของตนไปถวายให้ชทุนาถจีร่วมหลับนอนด้วยนั้นถือเป็นความภักดี (Bhakti) ที่จะนำพาให้เข้าถึงพระเจ้า เพราะความที่เชื่อว่าตัวเจ้านิกายนั้นคือการแบ่งภาคของพระกฤษณะ
เหตุผลของการที่จะมีปฏิสัมพันธ์โดยเมถุนสังวาสนั้นก็ถือว่ามีปกรณัมรองรับอยู่ เพราะเป็นที่รู้กันว่าพระกฤษณะซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุนั้นมีชายามากนับหมื่นคน ตัวอย่างคือตำนานที่พระกฤษณะทรงแบ่งภาคเพื่อเสพสังวาสกับนางโคปี (หมายถึงหญิงเลี้ยงวัว) พร้อมกันหลาย ๆ คน
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการตีความของปกรณัมนี้ก็สามารถออกมาในแง่ที่ว่า พระกฤษณะได้มอบความสนิทชิดเชื้อในเชิงจิตวิญญาณให้แก่นางโคปีเหล่านั้นด้วยการเข้าไปประทับในใจของนางทุกคน หาใช่เรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางกายไม่ แต่นิกายปุษฏิมารคภายใต้การนำของชทุนาถจีกลับเลือกที่จะตีความตรงตามตัวอักษรเพื่อหาประโยชน์จากสาวก
ก่อตั้งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16 ผู้นำคนแรกชื่อว่า วัลลภะ (Vallabha) เขาเป็นผู้บูชาพระกฤษณะในฐานะเทพสูงสุด
กำเนิดของเขาเป็นพราหมณ์เชื้อสายเตลูกูทางอินเดียใต้ นิกายดังกล่าวจะส่งต่อตำแหน่งความเป็นผู้นำนิกายผ่านทางสายเลือด คือหลังจากที่วัลลภะถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1530 บุตรชายคนโตของเขาชื่อ โคปีนาถ (Gopinath) ก็ได้รับตำแหน่งผู้นำนิกาย โคปีนาถเสียชีวิตโดยที่บุตรชายของเขาก็เสียชีวิตตามไปในเวลาไล่เลี่ยกัน ตำแหน่งจึงตกแก่ วิฏฐลนาถ (Vitthalanath) น้องชายของโคปีนาถ ซึ่งวิฏฐลนาถมีบุตรชายเจ็ดคน แต่ละคนได้รับการแบ่งสรรอำนาจเท่า ๆ กันและเป็นทายาทสืบต่อนิกาย จึงได้แตกออกเป็นสำนักย่อยเจ็ดสำนัก แต่ละสำนักจะมีผู้นำที่ได้รับตำแหน่ง “มหาราช” (ราชาผู้ยิ่งใหญ่) หรือ “โคสวามี” (เจ้าของโค)
ในช่วงต้น นิกายปุษฏิมารคยังคงเจริญรุ่งเรืองไม่มีเรื่องเสื่อมเสีย ถึงกับได้รับการอุปถัมภ์จากจักรพรรดิราชวงศ์โมกุล แต่ต่อมาทั้งเจ็ดสำนักย่อยเกิดทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องสิทธิในการประกอบพิธีบูชาสูงสุด และประเด็นปลีกย่อยอีกหลายประเด็น ความขัดแย้งลุกลามใหญ่โตถึงกับแตกคอกัน บางสำนักจึงแยกตัวออกมาอยู่ตามท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ในสุรัต แคว้นคุชราต และในเมวารี แคว้นราชสถาน เป็นต้น
สำนักของชทุนาถจีที่มีปัญหาในภาพยนตร์เรื่องมหาราช เป็นสายราชสถาน จากนี้ไปเราจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์ ซึ่งอิงจากบุคคลและเหตุการณ์จริง แต่แน่นอนว่าตามสไตล์ภาพยนตร์ ก็จะต้องมีการเพิ่มเติมตัวละครลงไปบ้างเพื่อให้มีปมเรื่องราวที่สนุกสนานตื่นเต้น
เล่าถึงชายหนุ่มชื่อ กรสัน ซึ่งก็คือกรสันทาส มูลจี เขามีบุคลิกชอบคิดและตั้งคำถามต่อสังคมมาตั้งแต่วัยเยาว์ ครอบครัวของกรสันเป็นฮินดูนิกายไวษณพ หมายถึงนับถือพระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุด ตัวเขาเองก็ได้รับการปลูกฝังให้ศรัทธาพระเจ้ามาตั้งแต่เล็ก
ทว่ากรสันเป็นเด็กที่ช่างสงสัย ช่างซักถาม และตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติของศาสนา ผู้ใหญ่รอบตัวเขาบางทีก็ตอบคำถามไม่ได้
ตัวอย่างเช่น ขณะที่ประกอบพิธีอารตี ก็มีการซัดธัญพืชเข้าไปเผาในกองไฟ กรสันที่ยังเป็นเด็กน้อยก็ถามผู้ใหญ่ว่า ทำไมต้องทำเช่นนั้น เขาได้รับคำตอบว่า เป็นการส่งไปให้พระเจ้าเบื้องบน ซึ่งกรสันก็ถามกลับไปอย่างไร้เดียงสาว่า “แล้วไฟมันรู้หรือว่าพระเจ้าอยู่ที่ไหน” พ่อแม่เขาก็ได้แต่หัวเราะ
เด็กชายกรสันเติบโตมาด้วยความคิดเชิงตั้งคำถามกับสังคมตลอด เมื่อเขาเติบโตขึ้นมา สายตาของเขาจึงมองเห็นประเพณีอันล้าหลังและคร่ำครึมากมายที่เขาปรารถนาจะสร้างความเปลี่ยนแปลง
แม่ของกรสันเสียชีวิต ต่อมาพ่อของเขาแต่งงานใหม่และย้ายไป ลุงทางฝั่งแม่ หรือที่ภาษาฮินดีเรียกว่า มามา (Mama) จึงพาเขาย้ายไปอยู่บอมเบย์ ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในช่วงการปกครองของบริติชราช
ขณะนั้นบอมเบย์เต็มไปด้วยพ่อค้าผ้าจากคุชราต ส่วนใหญ่นับถือไวษณพนิกาย จึงมีศาสนสถานที่เรียกว่าหเวลิอยู่หลายแห่ง แห่งที่ใหญ่ที่สุดเป็นเขียนดูแลปกครองของชทุนาถจี ซึ่งในภาพยนตร์จะเรียกชื่อว่า “เจเจ” ก็น่าจะเป็นคำย่อของชทุนาถจีนั่นเอง เขาได้รับตำแหน่งมหาราชที่สืบทอดมาโดยสายเลือด ส่วนฝ่ายกรสันนั้น เขาอยู่ในเมืองนี้จนเติบโตขึ้นมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ แม้ว่าเขาจะเป็นฮินดูแต่ก็แตกต่างจากคนรอบข้างทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปนิสัยที่ไม่ถือเรื่องวรรณะ ในภาพยนตร์จะมีฉากหนึ่งที่กรสันหยิบอาหารจากมือคนนอกวรรณะมากิน ซึ่งโดยปกติเป็นเรื่องที่คนสมัยนั้นไม่ทำกัน
กรสันเป็นที่รู้จักในชุมชน เพราะเขามักจะเปิดปราศรัยเพื่อให้ชุมชนของเขาทบทวนเกี่ยวกับบางสิ่งที่ไม่ยุติธรรม เช่น การปฏิบัติต่อหญิงหม้าย ทั้งนี้ส่วนนึงเพราะเขาก็มีป้าที่เป็นหญิงหม้ายด้วย
และแล้ววันหนึ่งเขาก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์อยุติธรรมด้วยตนเอง กล่าวคือ ในเทศกาลโฮลีซึ่งเป็นฉากในเพลงที่เราเปิดไปตอนต้นรายการ คู่หมั้นของเขานามว่า กิโศรี (Kishore) ที่กำลังจะได้เข้าประตูวิวาห์กันในไม่ช้านั้น ได้ไปร่วมพิธีที่หเวลิ ซึ่งนำโดยมหาราชเจเจ รูปโฉมอันงดงามของเธอกลับไปต้องตาต้องใจเจเจ ผู้ซึ่งอาศัยฐานะสูงส่งของตนเองสำเริงสำราญกับสาวกหญิงอยู่เป็นประจำ โดยอ้างพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์บังหน้าในนาม “จรัณเสวะ” (Charan Seva) หลังจบพิธีกิโศรีจึงถูกเรียกตัวเข้าไปปรนนิบัติเจเจ ความศรัทธาของเธอทำให้เธอเต็มใจเข้าไป ด้วยความคิดว่าจะเป็นบุญอย่างมหาศาล
กรสันที่ตามหาคู่หมั้นของเขาไม่พบ ได้ทราบจากน้องสาวของกิโศรีว่า พี่สาวเธอได้เข้าไปถวายงานให้มหาราชเจเจ เขารีบบุกเข้าไปยังที่สถานที่ประกอบจรัณเสวะ ตอนแรกเขาถูกขัดขวาง แต่เมื่อยามเฝ้าประตูทราบว่าเขาเป็นคู่หมั้นกิโศรี ก็เชื้อเชิญให้เขาไปชมพิธี เพราะเข้าใจว่าเจเจเป็นผู้ศรัทธา และต้องการจะแบ่งส่วนบุญในฐานะสมาชิกครอบครัว แน่นอน สิ่งที่เจเจเห็นทำให้เขาปวดร้าวและโกรธแค้นอย่างที่สุด เขาประกาศตัดความสัมพันธ์กับคู่หมั้นของเขาในเวลาต่อมา หลังจากที่ทั้งสองวิวาทะกันอย่างรุนแรงเรื่องศาสนากับศรัทธา กรสันไม่อาจเข้าใจได้เลยว่าทำไมเธอจึงสยบต่อประเพณี ในที่สุดเขาก็ถอนหมั้นกับเธอ
กิโศรีคงจะรู้สึกอึ้งและสับสนอยู่ แทนที่จะปรับความเข้าใจและซ่อมความสัมพันธ์ เธอกลับไปหาเจเจ ซึ่งดูท่าว่าจะรักเอ็นดูเธอมาก แต่ในเวลาต่อมาปรากฏว่า เจเจกลับพยายามจะมีเพศสัมพันธ์กับน้องสาวของเธอด้วยอีกคนหนึ่ง ด้วยความโกรธกิโศรีจึงบุกเข้าไปเอาน้องสาวออกมา ทั้งคู่คุยกันและกิโศรีก็ร้องไห้ด้วยความเสียใจว่า สิ่งที่กรสันพูดนั้นถูกต้อง มหาราชเจเจเป็นเพียงนักบุญจอมปลอมที่แสวงหาประโยชน์จากสตรีผู้ศรัทธาเขาเท่านั้น
ข้างฝ่ายกรสันเอง แน่นอนว่าพอกลับบ้านไปวันนั้นก็ทะเลาะกับลุงใหญ่โต เพราะลุงเองก็เชื่อเหมือนกันว่าสิ่งที่กิโศรีกระทำกับเจเจนั้นเป็นบุญ ในที่สุดก็ถึงกับตัดขาดไล่เขาออกจากบ้าน กรสันต้องระหกระเหเร่ร่อนอยู่ข้างถนน และแล้วในคืนหนึ่งที่ฝนตกหนัก เขาก็ได้ช่วยเหลือผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกมหาราชเจเจให้รับประทานลัดดูผสมยาพิษเพื่อทำแท้ง เธอคือคนหนึ่งที่มีสัมพันธ์กับเจเจผ่านพิธีกรรมจนตั้งท้อง เจเจจึงต้องการกำจัดลูกในครรภ์ของเธอ
กรสันตระหนักแล้วว่าความเลวร้ายของมหาราชเจเจนั้นหนักหนาเกินกว่าจะรับได้ เพราะไม่ใช่เพียงอดีตคู่หมั้นของเขาที่เป็นเหยื่อ ยังมีหญิงอื่นร่วมชะตากรรมอีกหลายสิบ เขาจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม
กรสันได้ไปปรึกษากับผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อนารูจีว่าจะเขียนข่าวโจมตีเจเจ แต่เขาก็ได้รับตำหนิเรื่องที่เขาถอนหมั้นกับกิโศรี และบอกว่าหากจะปฏิรูปสังคม นอกจากที่จะทำให้คนอื่นได้รับรู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิดพลาด ก็จะต้องให้โอกาสเขากลับมาแก้ไขสิ่งนั้นด้วย
การที่กรสันถอนหมั้นกับกิโศรีนั้นเป็นเพียงทำให้รู้ว่าเธอผิดพลาด แต่เขาไม่ให้โอกาสเธอแก้ไขเลย กรสันจึงเข้าใจว่าเขาจะต้องปฏิรูปจากจุดเล็ก ๆ ใกล้ตัวเขาก่อน เขารีบร้อนออกมาเพื่อจะปรับความเข้าใจกับกิโศรี แต่เรื่องทั้งหมดสายไปแล้ว เขาได้พบว่ากิโศรีตัดสินใจจบชีวิตตนเองในบ่อน้ำ เธอได้เขียนจดหมายทิ้งไว้ให้กรสัน ขอร้องให้เขาช่วยเปิดโปงความเลวทรามของปิศาจในคราบนักบุญรายนี้ต่อสังคม
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามระหว่างกรสันผู้ขณะนั้นอยู่ในสภาพคนพเนจร กับมหาราชเจเจผู้ยิ่งใหญ่ มีสถานะเทียบเทียมเทพเจ้า
กรสันเข้าไปเผชิญหน้ากับมหาราชโดยตรง เพื่อที่จะประกาศสงครามกับเขา แต่มหาราชเปี่ยมไปด้วยอหังการ เชื่อมั่นว่าอย่างไรเขาก็ต้องชนะ เพราะความเชื่อมั่นในตัวของเขาถูกฝังอยู่ในสังคมจนถอนได้ยากแล้ว กรสันเริ่มเขียนข่าวโจมตีเจเจ แต่เจเจใช้วิธีสกปรกขัดขวางหลายอย่างเพื่อไม่ให้ข่าวออกสู่สายตามหาชน และในที่สุดก็ใช้วิธีนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องถึงโรงถึงศาล โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากเขา 50,000 รูปี (สมัยนั้นถือว่าเยอะ) ในฐานหมิ่นประมาทให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
มาถึงขั้นนี้ เนื่องจากสิ่งที่กรสันเขียนเกี่ยวกับเจเจได้หลุดรอดออกไปจนทำให้หลายคนตาสว่างขึ้นบ้างแล้ว จึงมีผู้คนมาเสนอตัวช่วยเหลือกรสันในการต่อสู้คดี โดยยินดีจะไปเป็นพยานให้ที่ศาล
ฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องคือเหตุการณ์ในศาล
เชื่อว่าผู้ชมทุกคนคงรู้สึกคล้ายกันคือหมั่นไส้เจเจที่มาปรากฏในศาลด้วยท่าทีวางอำนาจใหญ่โต มีขบวนแห่และมีผู้คนทอดกายบนถนนวางมือให้เขาเหยียบผ่านไป และเขาปฏิเสธการสาบานตนต่อหน้าพระคัมภีร์ภควัทคีตา แต่ว่าในที่สุดความยุติธรรมก็บังเกิด เมื่อมีหลักฐานเปิดโปงความชั่วร้ายของเจเจ และบรรดาเหยื่อของเขาต่างก็ลุกขึ้นสู้ด้วยคำให้การ และแล้วศาลบอมเบย์ก็ยกฟ้อง กรสันหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นไปเพื่อผดุงความถูกต้องในสังคม
สิ่งที่กรสันได้รับหลังจากที่ออกมาจากศาลคือเสียงปรบมือโห่ร้องสดุดีฉลองชัย ข้างฝ่ายมหาราชเจเจนั้น เขาเดินออกมาอย่างเหงาหงอยเซื่องซึม เป็นเพียงชายไหล่ห่อเหี่ยวคนหนึ่ง คอตกก้มมองพื้น หมดสิ้นซึ่งอำนาจใด ๆ เป็นภาพที่ขัดแย้งกับตอนที่เขาวางเขื่องเข้ามาในศาลอย่างยิ่ง ตรงนี้ต้องชมภาพยนตร์ที่สื่อภาพออกมาได้ดี ทำให้รู้สึกได้ถึงความพ่ายแพ้อย่างอัปยศ
[อาจารย์สุรัตน์สรุปทิ้งท้ายสิ่งที่ได้จากภาพยนตร์]
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ