มหาราชาผู้ประเสริฐ พึงจดจำในนามของมนุษยชาติ
188 views
0
0

เพลง Insaan
Insaan แปลว่ามนุษย์ จัดทำโดยปิยุศ ปันวาร์ (Piyush Panwar) เปิดตัวครั้งแรกวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2022

ที่มา (นาที 3.30)

เราทั้งสองบังเอิญไปเจอเรื่องดีเรื่องหนึ่ง อ่านแล้วรู้สึกชอบ จึงไปทำการบ้าน สืบค้นเรื่องนี้อย่างละเอียดเท่าที่จะทำได้ เพื่อมาเล่าให้ผู้ฟังได้ทราบกันในรายการปกิณกะอินเดีย

เรื่องที่เราจะเล่าให้ฟังในวันนี้ นับเป็นบทหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองที่แทบจะถูกลืมเลยก็ว่าได้

มหาราชาผู้ประเสริฐ

เรื่องนี้เกี่ยวกับมหาราชาทรงนามว่าทิควิชัยสิงห์จี รณชิตสิงห์จี ชเฑชา (Digvijaysinhji Ranjitsinhji Jadeja) พระองค์ทรงได้รับฉายาว่าเป็น “มหาราชาผู้ประเสริฐ” หรือ The Good Maharaja

อะไรทำให้พระองค์ได้รับฉายานี้ ก่อนจะตอบคำถามข้อนี้ เราทั้งสองขอพรรณนาชีวประวัติของพระองค์โดยสังเขปเสียก่อน ทั้งนี้เราจะขอใช้ราชาศัพท์แบบลำลอง ตามธรรมเนียมการใช้ราชาศัพท์กับเจ้านายต่างประเทศ เพื่อเข้าใจง่าย ต่อจากนี้ไปเราจะขอเรียกพระองค์ว่ามหาราชาชเฑชา รวมทั้งในช่วงเวลาที่พระองค์ยังไม่ได้เป็นมหาราชาด้วย

มหาราชาชเฑชาประสูติที่สโทฑาร์ (Sadodar) เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1895 เป็นช่วงที่อังกฤษยังครองอินเดียอยู่

มหาราชาชเฑชาทรงเป็นนัดดาของนักเล่นคริกเก็ตชื่อดัง เค.เอส. รณชิตสิงห์จี (K.S. Ranjitsinhji) ปิตุลา (ลุง) ผู้เป็นมหาราชาด้วย

มหาราชาชเฑชาทรงได้รับการศึกษาที่ราชกุมารวิทยาลัย ราชโกฎ (Rajkumar College Rajkot) ในเมืองเสาราษฏระ (Saurashtra) หลังจากนั้นก็ที่มาลเวิร์น คอลเลจ (Malvern College) ตามด้วยยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (University College London) สถาบันการศึกษาสองแห่งหลังนี้อยู่ที่อังกฤษ

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว มหาราชาชเฑชาก็เสด็จกลับอินเดีย ทรงได้รับยศร้อยโทในกองทัพบริติชอินเดียในปี ค.ศ. 1919 และทรงเป็นทหารอาชีพนานกว่าสองทศวรรษ ทรงออกจากทหารในปี ค.ศ. 1931 ทว่าพระองค์ทรงยังได้รับการเลื่อนตำแหน่งกิตติมศักดิ์ในกองทัพอินเดียจนปี ค.ศ. 1947 ปีที่อินเดียประกาศอิสรภาพ ยศกองทัพกิตติมศักดิ์สูงสุดของพระองค์คือยศพลโท

สองปีหลังจากที่พระองค์ทรงออกจากทหาร ปิตุลาที่เป็นนักเล่นคริกเก็ตและเป็นมหาราชาก็สิ้นพระชนม์ มหาราชาชเฑชาก็ทรงขึ้นสืบทอดตำแหน่งมหาราชา

ฉายา The Good Maharaja

ครั้นเมื่อเป็นมหาราชาแล้ว พระองค์ก็ทรงสานต่อนโยบายการพัฒนาและการบริการสาธารณะของลุง

ฉายา “The Good Maharaja” เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1942 เมื่อพระองค์ทรงก่อตั้งแคมป์เด็กโปแลนด์ขึ้นในชัมนครพาลาจาฑี (Jamnagar-Bkachadi) สำหรับเด็กชาวโปแลนด์ผู้ลี้ภัย เด็กเหล่านี้ถูกนำออกจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

แคมป์นี้มีอยู่จนถึงปี ค.ศ. 1945 เมื่อเด็กเหล่านี้ถูกย้ายไปอยู่ที่วาฬิวเฑ (Valivade) เมืองโกลหาปูร์ (Kolhapur) สถานที่ตั้งแคมป์ดังกล่าว ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาเขตขนาด 750 ไร่ของโรงเรียน ไสนิกพาลาจาฑี (Sainik Balachadi)

ช่วงเวลาหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวโปแลนด์มากกว่า 6,000 คน ที่เข้ามาหลบภัยในอินเดีย มหาราชาชเฑชาทรงรับเด็กจำนวน 1,000 คนเป็นการส่วนตัว ซึ่งเป็นการกระทำที่ดี ทำให้คนอื่น ๆ เริ่มทำตามพระองค์

มหาราขาชเฑชาได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่จำเป็นให้แก่เด็ก ๆ เหล่านี้ ทว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พระองค์ได้มอบบ้านให้แก่พวกเขาท่ามกลางที่บ้านเกิดของเด็กเหล่านี้ต้องประสบความหายนะจากสงคราม

หนังสือพิมพ์ Indian Express ได้สัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หนึ่งในบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ชื่อ รี้บกา (Rybka) หนึ่งในสามผู้รอดชีวิตจากครอบครัวที่มีสมาชิกทั้งหมด 9 คน เธอบอกหนังสือพิมพ์ Indian Express ทางโทรศัพท์ว่า เมื่อนึกถึงวันที่สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้น “เราคิดว่าเราจะต้องอดตายหรือแข็งตาย... เราสูญเสียพ่อแม่ และไม่มีใครต้องการเรา” เธอบอกว่าคนเดียวที่ทำให้เธอรอดมาได้ คือ มหาราชาชเฑชา

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ อ้างในเว็บไซต์ Indian Express กล่าวถึงจิตแพทย์ชื่อ เคนเนธ รอบบินส์ (Kenneth Robins) ซึ่งเป็นนักวิชาการเชี่ยวชาญเรื่องชาวต่างชาติในอินเดีย รอบบินส์ระบุว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1942 ถึง 1948 ผู้คนมากกว่า 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กได้รับการพักพิงที่พาลาจาฑี กล่าวกันว่ามหาราชาชเฑชาต้อนรับพวกเขาเสมือนลูกของพระองค์ โดยกล่าวว่า “you are no longer orphans, from now on you are Nawanagarians” แปลเป็นไทยคือ “เจ้าไม่ใช่เด็กกำพร้าอีกต่อไป นับแต่นี้ไปเจ้าจะเป็นชาวนวนคร”

จัตุรัสมหาราชาผู้ประเสริฐ (Good Maharaja Square) กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์

การกระทำของมหาราชาชเฑชาได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1989 เมื่อโปแลนด์ได้รับเอกราช รัฐบาลโปแลนด์ตั้งชื่อจัตุรัสในกรุงวอร์ซอ (Warsaw) ตามพระนามของมหาราชาชเฑชา

นายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย ในระหว่างการเยือนโปแลนด์เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้เยี่ยมชม “จัตุรัสมหาราชาผู้ประเสริฐ” หรือ “Good Maharaja Square” พร้อมด้วยอนุสรณ์สถานอีกสองแห่งที่อุทิศให้แก่ผู้คนและสถานที่ในอินเดียที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์กว่า 6,000 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ดังที่คาดคิดไว้ การไปเยือนของนายกรัฐมนตรีโมดีได้จุดประกายความสนใจในประวัติศาสตร์บทที่ถูกลืมนี้ ชาวอินเดียจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามมหาราชาผู้มีพระทัยงดงามองค์นี้คือใคร และเหตุใดพระองค์ทรงรับเด็กกำพร้าชาวโปแลนด์เหล่านี้ไว้ด้วย

เว็บไซต์ทางการของโปแลนด์แห่งหนึ่ง ตีพิมพ์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง เช่น เว็บไซต์ระบุว่า มหาราชาแห่งนวนครได้ทรงเสนอว่า เด็ก ๆ ชาวโปแลนด์เหล่านี้ควรอาศัยอยู่ใกล้ตำหนักฤดูร้อนของพระองค์

เว็บไซต์ของโปแลนด์กล่าวถึงความมุ่งมั่นของมหาราชาชเฑชาว่า “มหาราชาทรงมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นการส่วนพระองค์ในการก่อสร้างนิคมนี้ เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ พระองค์โปรดให้ปลูกป่าและเสริมความอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นกล้วยและมะละกอและดอกไม้ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงชักชวนสภาเจ้าชายแห่งอินเดียให้สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์”

มหาราชาชเฑชามักจะเสด็จไปเยี่ยมเด็ก ๆ ทรงเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในนิคม เมื่อพลเอก ฟวาดิสวาฟ สิคอร์สกี (Władysław Sikorski) กราบบังคมทูลถามพระองค์ว่าพวกเขาจะตอบแทนความเมตตาของพระองค์ได้อย่างไร มหาราชาชเฑชาตรัสว่า “ในโปแลนด์ที่ได้รับอิสรภาพ ให้ตั้งชื่อถนนในวอร์ซอตามชื่อเราก็ได้" ปัจจุบัน ในเขตโอโฮต้า (Ochota) ของวอร์ซอ มีจัตุรัสมหาราชาผู้ประเสริฐ (Skwer Dobrego Maharadży) และอนุสาวรีย์ที่รำลึกถึงพระองค์ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

รำลึกถึงมหาราชาผู้ใจดี

มหาราชาชเฑชาสิ้นพระชนม์ที่นครบอมเบย์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1966

ปี ค.ศ. 2016 ห้าสิบปีหลังจากพระองค์สวรรคต ทางการโปแลนด์มีมติว่าด้วยการรำลึกถึงมหาราชาผู้ใจดีสำหรับการช่วยเหลือเด็กและผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ตามคำสั่งของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโปแลนด์ มหาราชาผู้ใจดีทรงได้รับรางวัล “Commander's Cross of the Order of Merit of the Republic of Poland” เพื่อเป็นเกียรติแด่ความดีอันโดดเด่นของพระองค์ในการสนับสนุนลูกหลานของผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์

รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ