จับตาการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศบิมสเทค 2024
209 views
0
0

เพลง “หยาดเพชร”
ครั้งนี้นับว่าพิเศษจริง ๆ ที่เราเปิดเพลงไทยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอินเดียเลย นั่นคือเพลง “หยาดเพชร” ของครูชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติและปูชนียบุคคลแห่งวงการเพลงไทยลูกกรุง ซึ่งได้จากพวกเราไปในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 สิริอายุ 91 ปี เราจึงขอนำเพลงนี้มาเปิดเพื่อระลึกถึงท่าน เราได้เปิดเป็นความยาวถึงสองนาทีเพราะเพลงนี้เป็นเพลงที่ขับร้องติดต่อกันยาวทั้งเพลง เราไม่ประสงค์จะให้เสียงอันไพเราะของครูชรินทร์ต้องสะดุดลงกลางท่อน

เพลง “หยาดเพชร” ประพันธ์เนื้อร้องโดยครูชาลี อินทรวิจิตร และทำนองโดยครูสมาน กาญจนะผลิน ทั้งสองท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ ครูชาลีแต่งเพลงหยาดเพชรขึ้นเพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เงิน เงิน เงิน” ในปี พ.ศ. 2508 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ทรงกำกับ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์ ส่วนครูชรินทร์เล่นเป็นพระรองในเรื่องเดียวกัน ครูชาลีเผยว่าเพลงหยาดเพชรนี้ครูชรินทร์ขอให้ช่วยแต่ง สื่อความในใจถึงเพชรา เชาวราษฎร์ ซึ่งขณะนั้นครูชรินทร์หลงรักอยู่เงียบ ๆ และในที่สุดทั้งคู่ก็ได้สมรสกันในปี พ.ศ. 2518 ใช้ชีวิตร่วมกันจนครูชรินทร์ถึงแก่กรรมเมื่อไม่กี่วันมานี้

ตลอดชีวิตของครูชรินทร์ นันทนาคร ท่านได้ฝากผลงานเสียงอันอมตะไว้ถึงประมาณ 1,500 เพลง เพลงที่โด่งดังและติดหูนอกจากเพลงหยาดเพชรแล้ว ก็มีอาทิ เรือนแพ ท่าฉลอม แสนแสบ ผู้ชนะสิบทิศ อาลัยรัก ทาษเทวี สักขีแม่ปิง ฯลฯ นามสกุล “นันทนาคร” ของท่านเป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีความหมายว่า “ผู้มอบความรื่นรมย์แก่ชาวเมือง” ซึ่งก็เหมาะสมกับตัวท่านทุกประการ

BIMSTEC (นาที 6.10)

เนื้อหาหลักของเราในวันนี้มีนัยสำคัญต่อประเทศไทยเราอย่างมาก ก่อนหน้านี้ผู้ฟังหลายท่านอาจทราบมาว่าการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศบิมสเทค (BIMSTEC Summit) จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 2-4 กันยายน 2567 แต่ ณ ขณะนี้จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากมีการปรับคณะรัฐมนตรี การประชุมดังกล่าวจำต้องเลื่อนออกไป แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นแน่นอน

การประชุม BIMSTEC จะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้รับฟังวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศภาคีสมาชิกบิมสเทคทั้งหมด 7 ประเทศ อันได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการร่วมพัฒนาภูมิภาคอ่าวเบงกอลให้เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ อันจะนำมาสู่โอกาสในการลงทุนและความร่วมมือด้านอื่น ๆ อีกมากมายหลายด้าน

เรื่องความเป็นมาของบิมสเทค เราเคยกล่าวไว้ในตอนอื่น ๆ บ้างแล้ว ดังนั้นเราจะไม่กล่าวซ้ำในที่นี้อีก แต่สิ่งหนึ่งที่อยากชวนผู้ฟังตระหนักไว้ก็คือ ภูมิภาคอ่าวเบงกอลเป็นตลาดขนาดมหึมาที่มีประชากรถึงกว่า 1,700 ล้านคน (เพราะลำพังอินเดียก็ 1,400 ล้านคนแล้ว) เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมากสำหรับการลงทุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพราะฉะนั้นการเข้าใจบิมสเทคก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ทั้งนั้นในฐานะคนไทย เราควรรับรู้และภาคภูมิใจด้วยว่า ในความร่วมมือนี้ ประเทศไทยจัดเป็นผู้เล่นสำคัญอันดับต้น ๆ อาจจะเรียกว่าสูสีกับพี่ใหญ่อินเดียเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้เพราะความร่วมมือบิมสเทคก็เกิดขึ้นจากประเทศไทยด้วย คือเกิดจากปฏิญญากรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2540 และล่าสุดประเทศไทยก็รับช่วงตำแหน่งประธานบิมสเทคมาจากศรีลังกาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเราก็ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน

ความเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ ของภาคีสมาชิก

สำหรับความเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ นั้น ภาคีสมาชิกทุกประเทศล้วนแต่มีความรับผิดชอบเป็นผู้นำในด้านที่ถนัดแตกต่างกันไป

1. บังกลาเทศ เป็นผู้นำด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนา ผลักดันความตกลงเขตการค้าเสรีบิมสเทค
2. ภูฏาน เป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อมเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ
3. อินเดีย เป็นผู้นำด้านความมั่นคง การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางทะเล
4. เมียนมา เป็นผู้นำด้านความร่วมมือการเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร
5. เนปาล เป็นผู้นำด้านการติดต่อระหว่างประชาชน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว
6. ศรีลังกา เป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
7. ไทย เป็นผู้นำด้านความเชื่อมโยง โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม

เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับบิมสเทคที่กรุงนิวเดลี วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2567

นั่นคือ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 (2nd BIMSTEC Foreign Ministers’ Retreat) (ครั้งแรกจัดขึ้นในกรุงเทพฯ 17 ก.ค. 2566)

เป็นการประชุมเตรียมความพร้อมจัดการประชุมผู้นำกลุ่มบิมสเทคในเดิมกำหนดไว้ในเดือนกันยายนนี้ ประธานการประชุมคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย นายเอส. ชัยศังกร ท่านผู้นี้เราได้เคยนำเสนอประวัติไว้อย่างละเอียดแล้ว ส่วนตัวแทนฝ่ายไทยคือนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย

วันที่ 12 กรกฎาคม ท่านชัยศังกรได้นัดพบปะหารือทวิภาคีกับท่านมาริษ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นโอกาสดีของอินเดียกับไทยในการทบทวนความก้าวหน้าหลาย ๆ ด้านจากความร่วมมือทวิภาคีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชัยศังกรได้ให้ข้อมูลว่า บทสนทนาอันเข้มข้นเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระของทั้งสองเน้นหนักเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง การค้าและการลงทุน รวมไปถึงความเชื่อมโยงทางการเงิน การท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน

ชัยศังกรได้โพสข้อความลงในเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) ว่า “รู้สึกยินดีที่ได้พบปะพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ... ในฐานะเพื่อนบ้านทางทะเล พวกเรามีสายสัมพันธ์ด้านอารยธรรมและมีผลประโยชน์ร่วมกัน ... พวกเราได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องระหว่างภูมิภาคอินเดียอาเซียน อินโดแปซิฟิก และความร่วมมือกับสหประชาชาติด้วย”

ตามข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ณ วันที่ 14 กรกฏาคม ระหว่างการพบปะครั้งนี้ รัฐมนตรีทั้งสองท่านได้ทบทวนความคืบหน้าในด้านความร่วมมืออื่นๆ ครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความร่วมมือด้านสุขภาพ วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน นอกจากนี้รัฐมนตรีทั้งสองยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน และเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในเวทีระดับย่อย ภูมิภาค และพหุภาคี อันเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศอินเดียยังเสริมด้วยว่า ไทยเป็นพันธมิตรสำคัญของอินเดียในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นโยบาย “Act East” ของอินเดีย ซึ่งดำเนินมาเป็นปีที่ 10 แล้วนั้นสอดคล้องกับนโยบาย “Act West” ของไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางทะเลของอินเดียเช่นกัน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นอกจากอาเซียนและบิมสเทคแล้ว ไทยยังเป็นพันธมิตรสำคัญของอินเดียในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขงคงคา (MGC) การเจรจาความร่วมมือแห่งเอเชีย (ACD) สมาคมริมมหาสมุทรอินเดีย (IORA) และกลยุทธ์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและไทยโดดเด่นด้วยความร่วมมือทวิภาคีที่แข็งแกร่งในหลายภาคส่วน รวมถึงการป้องกันประเทศและการค้า ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศในเดือนมกราคม ค.ศ. 2012 ความคิดริเริ่มด้านความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศที่ดำเนินอยู่ประกอบด้วยการลาดตระเวนทางทะเลร่วมกันของกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ การเจรจาประจำปีของเจ้าหน้าที่ การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในสถาบันของกันและกัน รวมถึงการฝึกซ้อมทางทหารไตรภาคีและพหุภาคี

การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นหลายเท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ. 2022 มูลค่าการค้าทวิภาคีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทอินเดียรายใหญ่ในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่ม Tata – Tata Steel Thailand และ Tata Consultancy Services, Aditya Birla Group, Tech Mahindra, Kirloskar Brothers Ltd., L&T, Bajaj Auto, NRB Bearing, Ranbaxy, Camper Pharmaceuticals Coforge Ltd, Usha Siam Steel Industries PLC, KEC International, Kalpataru Power Transmission Ltd., Desmond International และ Apollo Tyres

บริษัทชั้นนำของไทยในสาขาการแปรรูปทางการเกษตร การก่อสร้าง ยานยนต์ และวิศวกรรม ต่างก็มีธุรกิจที่เติบโตและมั่นคงในอินเดีย บริษัทไทยที่มีชื่อเสียงบางแห่งที่ดำเนินกิจการในอินเดีย ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยซัมมิท นีล ออโต้ จำกัด บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) (ผู้ผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเมลามีน) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC)

ในการประชุมเตรียมความพร้อมดังกล่าวนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายนเรนทระ โมดี ได้เข้ามาพบปะรัฐมนตรีทุกประเทศด้วย

โมดีเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของอินเดียในการสร้างบิมสเทคที่สันติ มั่งคั่ง ยืดหยุ่นและปลอดภัย และเน้นย้ำถึงความสำคัญของภูมิภาคอ่าวเบงกอลต่อนโยบาย Neighbourhood First และ Look East ของอินเดีย ตลอดจนวิสัยทัศน์ SAGAR เพื่อความมั่นคงและการเติบโตของทุกประเทศในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีโมดีได้หารือกับกลุ่มรัฐมนตรีทุกประเทศเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในหลากหลายสาขา เช่น การเชื่อมโยง พลังงาน การค้า สุขภาพ การเกษตร วิทยาศาสตร์ ความมั่นคง และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน

ท่านได้เน้นย้ำถึงบทบาทของบิมสเทคในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม และได้รับรองอย่างชัดเจนหนักแน่นว่า อินเดียจะสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่จะมาถึง ซึ่ง ณ ขณะนั้นเนื่องจากได้เตรียมการไว้แล้ว ตัวของท่านมาริษเองก็ได้แสดงความพร้อมของไทยในฐานะประธานบิมสเทคในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวเช่นกัน

แน่นอนว่าไม่ว่าการประชุมจะเกิดขึ้นในวันใด พวกเราในฐานะคนไทยควรต้องจับตามองการประชุมครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ