วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
เพลง Yeh Hai Bombay Meri Jaan
เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ C.I.D. ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1956 ตัวย่อ C.I.D. มาจากคำเต็มว่า Criminal Investigation Department ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยราช โขสลา (Raj Khosla) อำนวยการผลิตโดยคุรุ ทัตต์ (Guru Dutt) ดารานำก็เช่นเทพ อานันท์ (Dev Anand) ชะกีลา (Shakila) วะฮีดา เราะห์มาน (Waheeda Rehman)
เพลงนี้ขับร้องโดยโมฮัมเหม็ด เราะฟี (Mohammed Rafi) และคีตา ทัตต์ (Geeta Dutt) แต่ส่วนที่เราเปิดให้ฟังเป็นเสียงชาย ขับร้องโดย เราะฟี จะแปลเนื้อหาให้ฟัง
Ae dil hai mushkil jeena yahan
โอ้ใจเอ๋ย ชีวิตที่นี่ยากลำบากเหลือ
Zara hatke zara bachke yeh hai Bombay meri jaan
ถอยออกไปและระวังเพราะนี่คือบอมเบย์ที่รักของฉัน
Kahin building, kahin traame, kahin motor, kahin mill
มีทั้งอาคาร รถราง รถยนต์ โรงสี
Milta hai yahan sab kuch ik milta nahi dil
คุณได้ทุกอย่างที่นี่ยกเว้นใจ
Insaan ka nahi kahin naam-o-nishaan
ที่นี่ไม่มีร่องรอยของความเป็นมนุษย์
ผู้ฟังหลายคนคงรู้สึกสงสัยแล้วว่าเมืองบอมเบย์หรือมุมไบช่างย่ำแย่เพียงนั้นหรือ คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ เพลงนี้ก็คล้ายกับเพลง “คิดถึงบ้าน” ที่ขับร้องโดยจรัล มโนเพ็ชร ที่เลือกเปิดเพลงนี้ก็เพราะเราจะพูดถึงนครมุมไบกัน
เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1995 รัฐบาลกลางของอินเดียอนุมัติตามคำขอของมลรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ให้เปลี่ยนชื่อจากบอมเบย์เป็นมุมไบ
ชื่อ มุมไบ มาจาก มุมบา หรือ มหาอัมบา ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าแม่ฮินดูผู้อุปถัมภ์ (กุลาเทวตา) มุมพเทวีแห่งชุมชนโกลีพื้นเมือง และมาจาก ā'ī ซึ่งแปลว่า “แม่” ในภาษามราฐี ซึ่งเป็นภาษาแม่ของชาวโกลี (Koli) และภาษาราชการของรัฐมหาราษฏระ
ตามเรื่องราวบางประการ เชื่อกันว่าชุมชนโกลี ซึ่งมาจากกาฐิยาวาร์ (Kathiawar) และคุชราตตอนกลาง เชื่อกันว่าได้บูชามุมบา เทพของพวกเขาจากกาฐิยาวาร์ ซึ่งการสักการะพระแม่ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม จำต้องแจ้งให้ผู้ฟังทราบว่า มีแหล่งข้อมูลอื่นด้วย ที่ไม่เห็นด้วยว่าชื่อของมุมไบได้มาจากเทพีมุมบา
เชื่อกันว่าชนเผ่าแรกสุดที่อาศัยอยู่ในเมืองมุมไบคือชนเผ่าโกลี (Koli) ซึ่งเป็นชนเผ่าชาวประมงอาทิวาสี (คำศัพท์ทางอินเดียที่ตรงกับ Aborigin หมายถึง เผ่าใด ๆ ที่อาศัยอยู่ตั้งแต่แรกเริ่ม) อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธมิได้ด้วยว่าเครื่องมือหินยุคหินเก่าที่พบในกานทิวลี (Kandivli) ในมุมไบมหานครประเทศ (MMR สมัยก่อนชื่อว่า Greater Mumbai) บ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีมนุษย์อาศัยอยู่มาก่อนแล้ว
เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลกับเปอร์เซียและอียิปต์เมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช จักรวรรดินี้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรของพระเจ้าอโศกในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราช และในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช จักรวรรดินี้เป็นที่รู้จักในชื่อเฮปเทน เซีย (Heptane Sia) ของปโตเลมี (Ptolemy) นักดาราศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ชาวอียิปต์โบราณเชื้อสายกรีก
ในศตวรรษที่ 6-8 เมืองนี้ถูกปกครองโดยชาวจาลุกยะ (Chalukyas) ซึ่งทิ้งร่องรอยไว้บนเกาะเอเลแฟนตา (Elephanta) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่าฆาราปุรี (Gharapuri)
เชื่อกันว่าวัดวาฬเกศวร (Walkeswar) ที่จุดมาลาบาร์ (Malabar) อาจสร้างขึ้นในสมัยการปกครองของราชวงศ์ศิลาหาร (Shilahara) จากชายฝั่งโกงกัณ (Konkan) ประมาณศตวรรษที่ 9–13
ภายใต้การปกครองของกษัตริย์วงศ์ยาทพ (Yadavas) แห่งเทวคีรี (Devagiri) ซึ่งในเวลาต่อมาคือเดาลาตาบาด (Daulatabad) ประมาณปี ค.ศ. 1187–1318 การตั้งถิ่นฐานของมหิกาวตี (Mahikavati) หรือมหิม (Mahim) บนเกาะบอมเบย์ (Bombay) ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้การโจมตีจากทางเหนือโดยราชวงศ์คัลญี (Khalji) แห่งฮินดูสถาน (Hindustan) ในปี ค.ศ. 1294 ปัจจุบันนี้ก็ยังพบลูกหลานของวงศ์ยาทพ ในมุมไบร่วมสมัย และคงไม่ผิดด้วยหากจะกล่าวว่า ชื่อสถานที่ส่วนใหญ่บนเกาะนี้มีมาตั้งแต่สมัยนั้น
ปี ค.ศ. 1348 เกาะนี้ถูกยึดครองโดยการรุกรานของกองกำลังมุสลิม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรคุชราต (Gujrat)
ความพยายามของโปรตุเกสในการยึดครองมาฮิมล้มเหลวในปี 1507 แต่ในปี 1534 สุลต่าน บาฮาดูร์ ชาห์ ผู้ปกครองรัฐคุชราต ได้ยกเกาะนี้ให้กับชาวโปรตุเกส
ปี ค.ศ. 1661 เกาะแห่งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษโดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการแต่งงานระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 (King Charles II) และแคทเธอรีนแห่งบราแกนซา (Catherine of Braganza) พระขนิษฐภคินีของกษัตริย์แห่งโปรตุเกส และในเวลาต่อมาทรงพระราชทานให้แก่บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ในปี ค.ศ. 1668
ในช่วงแรก หากเปรียบเทียบกับเมืองสำคัญอื่นๆ เช่น กัลกัตตา [Calcutta หรือโกลกาตา (Kolkata) ในปัจจุบัน] และมัทราส [Madras หรือ เจนไน (Chennai) ในปัจจุบัน] เมืองบอมเบย์หาใช่ทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัทอินเดียตะวันออกไม่ หากจะมีประโยชน์ต่อบริษัทอินเดียตะวันออกก็เพียงเพราะช่วยให้บริษัทรักษาความมั่นคงทางชายฝั่งตะวันตกได้เท่านั้น
ในช่วงเวลานั้นกลุ่มชนที่มีอำนาจมากคือ โมกุล (Mughals) ทางตอนเหนือ พวกมราฐา (Marathas) นำโดยฉัตรบดี ศิวจี (Chhatrapati Shivaji) ในพื้นที่โดยรอบและทอดยาวไปทางตะวันออกจากบอมเบย์ และเจ้าชายในเขตดินแดนในมลรัฐคุชราตทางตะวันตกเฉียงเหนือ
จำต้องตระหนักด้วยว่า พลังอำนาจทางเรือของอังกฤษมิอาจเทียบได้กับพวกโมกุล มราฐา โปรตุเกส และดัตช์ ซึ่งล้วนแต่มีความสนใจในภูมิภาคนี้

กล่าวคือ การเจริญเติบโตนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอำนาจที่เสื่อมลงของของโมกุล การแข่งขันชิงอำนาจระหว่างโมกุลกับมราฐา และความไร้เสถียรภาพในคุชราต นำไปสู่การผลักดันให้ช่างฝีมือและพ่อค้าไปที่เกาะบอมเบย์เพื่อหลบภัย และบอมเบย์ก็เริ่มเจริญเติบโตขึ้น
ปี ค.ศ. 1857 เป็นเวลาที่ทางเหนือของอินเดียประสบการต่อต้านบริษัทอินเดียตะวันออก ที่บอมเบย์มีการก่อตั้งโรงงานปั่นด้ายและทอผ้าแห่งแรก และในปี ค.ศ. 1860 เมืองนี้ได้กลายเป็นตลาดฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย
สงครามกลางเมืองอเมริการะหว่างปี ค.ศ. 1861-1865 ทำให้อังกฤษขาดฝ้ายนั้น ทำให้บอมเบย์เกิดการเจริญติบโตอย่างรวดเร็ว ทว่าหลังสงครามกลางเมืองของอเมริกาจบลง ราคาฝ้ายก็ตกต่ำ นำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตก เมื่อถึงเวลานั้น พื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองได้เปิดออกแล้ว และบอมเบย์ก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้านำเข้าที่เข้มแข็ง
การเปิดคลองสุเอซในปี ค.ศ. 1869 ซึ่งอำนวยความสะดวกทางการค้ากับอังกฤษและทวีปยุโรปอย่างมาก ก็มีส่วนทำให้บอมเบย์เจริญรุ่งเรืองเช่นกัน
เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น สภาพที่ไม่เป็นระเบียบ ความแออัดยัดเยียด และสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะก็ประจักษ์ขึ้น
ในปี ค.ศ. 1896 เกิดโรคระบาดขึ้น แต่ก็มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ หนึ่งในนั้นคือการสร้าง City Improvement Trust เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับการตั้งถิ่นฐาน และสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับชนชั้นช่างฝีมือ
โครงการสำคัญหนึ่งคือการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในแบ็คเบย์ (Back Bay) เพื่อเรียกคืนพื้นที่ 3,289 ไร่ ได้รับการเสนอในปี ค.ศ. 1918 แต่โครงการนี้ก็ไม่เสร็จสิ้นจนกว่าถนนเนตาจี สุภาส จันทร โบส (Netaji Subhas Chandra Bose) (มารีนไดฟ์) (Marine Drive) จากนะริมัน พอยต์ (Nariman Point) สู่มาลาบาร์ พอยต์ (Malabar Point) จะแล้วเสร็จ ถนนเส้นนี้นับเป็นทางหลวงวิ่งสองทางสายแรกในอินเดียหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ในช่วงหลังสงครามหลายปี การพัฒนาเขตที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองได้เริ่มขึ้น และการบริหารเมืองบอมเบย์ผ่านบริษัทเทศบาลได้ขยายไปยังชานเมืองของมหานครบอมเบย์
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางการเมืองทั้งขบวนการชาตินิยมอินเดียและกิจกรรมทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียใต้
ในปี ค.ศ. 1885 การประชุมครั้งแรกของพรรคแนชั่นเเนลคองเกรส หรือพรรคคองเกรส ซึ่งมุ่งเน้นขับไล่อังกฤษจนได้รับเอกราช ก็จัดขึ้นในเมืองบอมเบย์ ต่อมาในสมัยประชุมปี ค.ศ. 1942 พรรคคองเกรสได้ผ่านมติ “Quit India” ในที่สุดอินเดียก็ได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1947
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 ถึง 1960 บอมเบย์เป็นสถานที่เกิดเหตุประท้วงอย่างเข้มข้นเพื่อต่อต้านการมีสองภาษาในบอมเบย์ สองภาษาที่ว่าคือภาษามราฐีและภาษาคุชราตี การประท้วงดังกล่าวนำไปสู่การแบ่งรัฐออกเป็นมลรัฐคุชราตและมลมหาราษฏระ ในปี ค.ศ. 1960 และบอมเบย์ได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงของมลรัฐมหาราษฏระในปีนั้น
ประเด็นปัญหามัสยิดบาบรี (Babri) ในกรุงอโยธยาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1992 ก่อให้เกิดการจลาจลในเมืองบอมเบย์และทั่วอินเดีย ซึ่งกินเวลาจนถึงต้นปี ค.ศ. 1993 เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ไม่กี่ปีต่อมาเมืองนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมุมไบ ซึ่งเป็นชื่อเมืองในภาษามราฐี
ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 มุมไบประสบกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายหลายครั้ง สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดคือการทิ้งระเบิดรถไฟในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2006 และการล้อมสถานที่หลายแห่งในเมืองพร้อมกันในปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 รายในแต่ละเหตุการณ์
มุมไบยังคงเติบโตและเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21 ส่วนใหญ่เป็นเพราะความก้าวหน้าในภาคเทคโนโลยี ภายในทศวรรษที่สองของศตวรรษ ประชากรในมหานครมุมไบมีจำนวนเกือบ 20 ล้านคน โครงสร้างพื้นฐานของเมืองได้รับการปรับปรุงอย่างมากด้วยการก่อสร้างทางหลวงและสะพานใหม่ การขยายสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือ และการเปิดตัวระบบขนส่งสาธารณะใหม่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความแออัดยัดเยียด การจราจรติดขัด มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และความยากจนที่แพร่หลายยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ยังดำเนินอยู่
•
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio [1 ก.พ.68]
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ