พิธีเปิด "มหาวิทยานาลันทา" ใหม่
397 views
0
0

เพลง Mere Bharat ke Kanthahar
มีสถานะเป็นเพลงประจำมลรัฐพิหาร เสียงร้องของอุทิต นารายัณ (Udit Narayan) และอัลกา ยาคินิก (Alka Yaginik) เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงความเป็นมาอันศักดิ์สิทธิ์ของบริเวณมลรัฐพิหารในสมัยอินเดียโบราณ ทั้งความเกี่ยวข้องกับรามายณะของวาลมีกิ นครเวสาลี แหล่งเผยแผ่พุทธศาสนา และศาสนาเชนของท่านมหาวีระ

หากท่านตั้งใจฟังจะได้ยินชื่อ “นาลันทา” ในเนื้อเพลงวรรคหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ชัดเจนว่า Tu Nalanda ka gyanadeep! “เจ้าคือแสงสว่างแห่งความรู้ของนาลันทา” ซึ่งจะเป็นหัวข้อหลักที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้นั่นเอง ทว่า “นาลันทา” ในหัวข้อวันนี้จะเน้นมหาวิทยาลัยนาลันทาแห่งใหม่ที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เพิ่งทำพิธีเปิดไป อย่างไรก็ดีเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงปฐมบทของเรื่องราวทั้งหมด คือนาลันทาแห่งเดิม

นาลันทาแห่งเดิม (นาที 4.10)

ชื่อ “นาลันทา” คงเป็นชื่อที่คุ้นหูผู้ฟังกันอยู่ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพราะท่านที่สนใจด้านพุทธศาสนาคงได้ยินได้ฟังมาว่า นาลันทามหาวิหาร คือมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มหาวิหารแห่งนี้ตั้งอยู่ ณ จุดที่โบราณเคยเป็นแคว้นมคธ ปัจจุบันอยู่ในมลรัฐพิหาร ณ เมืองราชคีร์ (Rajgir) ซึ่งเป็นชื่อสมัยใหม่ของเมืองราชคฤห์ ที่พวกเราคงคุ้นเคยดีอยู่แล้ว

เดิมทีสถานะของนาลันทาเป็นวิหารของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ในระหว่างช่วงอายุอันยาวนานคือประมาณต้นคริสตศตวรรษที่ 5 ถึง 13 นาลันทาเคยถูกใช้เป็นสถานศึกษาศาสตร์ของฮินดู เช่น พระเวท โชยติศะ (ดาราศาสตร์) ตรรกศาสตร์ด้วย จนสมัยต่อมาจึงกลายเป็นวิทยาลัยของพุทธศาสนานิกายมหายาน นับว่านาลันทามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการอินเดียช่วงต้นศตวรรษที่ 5 และ 6 ซึ่งนักวิชาการจำนวนมากเรียกว่าเป็น “ยุคทองของอินเดีย”

นาลันทาก่อตั้งในช่วงปี ค.ศ. 427 โดยจักรพรรดิกุมารคุปต์ที่ 1 แห่งราชวงศ์คุปตะ และได้รับการอุปถัมภ์จากบรรดาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์คุปตะเรื่อยมาจนสมัยราชวงศ์ปาละ

ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 8 – 12 เมื่ออาณาจักรปาละล่มสลาย บรรดาพระภิกษุมหายานในสถาบันแห่งนี้ได้รับการอุปถัมภ์ต่อโดยกษัตริย์ตระกูลปีฐีปติ (Pithipati) ซึ่งเป็นตระกูลปกครองอาณาบริเวณรอบ ๆ พุทธคยาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 11 – 13 และเมื่อถึงช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 13 นาลันทาก็ถูกโจมตี ปล้นและเผาทำลายบางส่วนโดย มูฮัมหมัด ภักติยาร์ คัลญี (Muhammad Bhatiyar Khalji) ผู้นำกองกำลังทหารชาวเติร์ก-อัฟกัน ที่เข้ามารุกรานอินเดียและตั้งราชวงศ์ปกครองส่วนหนึ่งของเบงกอลเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ช่วงเวลานั้นเขาทำลายสถานศึกษาทางพุทธศาสนาและสังหารพระภิกษุไปมากมาย สำหรับกรณีนาลันทา เขาได้เผาทำลายห้องสมุดขนาดใหญ่ที่รวมคัมภีร์อันมีค่าไว้จำนวนมหาศาล จัดเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่

หากจะกล่าวถึงบรรดานักวิชาการทางพุทธศาสนาสำคัญ ๆ ที่เคยศึกษาและสืบทอดวิชาการในนาลันทา คงต้องกล่าวถึง อารยภัต นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ พระเจ้าหรรษวรรธนะผู้ปกครองอาณาจักรกันเนาชะแห่งอินเดียเหนือ พระเจ้าธรรมปาละผู้ปกครองอาณาจักรเบงกอลและเป็นจักรพรรดิองค์ที่สองแห่งราชวงศ์ปาละ พระภิกษุนาคารชุนะ พระเถราจารย์รูปสำคัญแห่งนิกายมหายาน ซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากในทางเอเชียตะวันออกด้วย

และที่จะเว้นกล่าวถึงไม่ได้เลยคือ พระภิกษุเสวียนจั้ง ผู้เคยเดินทางจาริกแสวงบุญมายังวิทยาลัยแห่งนี้ ดังที่เคยนำเสนอเอาไว้ในรายการปกิณกะอินเดีย ออกอากาศเมื่อ 9 ธ.ค. 2566 และด้วยเหตุนี้จะมีนัยสำคัญอันเชื่อมโยงถึงนาลันทาแห่งใหม่และความสัมพันธ์กับจีนด้วย ดังจะวิเคราะห์ในช่วงท้ายรายการ

นาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดจริงหรือ

ฟังมาถึงตอนนี้หลายคนอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาในใจตงิด ๆ ว่า ช้าก่อน นาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดจริงหรือ เท่าที่เคยได้ยินมา โดยเฉพาะในตัวบทเก่าแก่ทางพุทธศาสนา มักจะปรากฏชื่อสถานศึกษาที่มีนามว่า ตักศิลา เรียกได้ว่าในสมัยพุทธกาลใคร ๆ ก็จบศิลปศาสตร์จากสถานศึกษาแห่งนี้ รวมไปถึงพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติหลายต่อหลายชาติในชาดกหลายเรื่อง ย่อมเห็นได้ชัดไม่ใช่หรือว่าตักศิลาต้องเก่าแก่กว่านาลันทามาก น่าจะเรียกว่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในโลก

นี่เป็นประเด็นคำถามที่ชวนคิดมาก และในฐานะของสถานศึกษา ตักศิลานั้นเก่าแก่มากจริง อาจย้อนประวัติกลับไปได้ไม่ต่ำกว่า 6 ศตวรรษก่อนคริสตกาล ซึ่งก็คือร่วมสมัยของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ก่อนอื่นขอแจ้งด้วยว่าปัจจุบันซากปรักหักพังของตักศิลาไม่ได้อยู่ในอินเดีย แต่ไปตกอยู่มลรัฐปัญจาบของฝั่งปากีสถาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่อินเดียเข้าไปฟื้นฟูอะไรไม่ได้

แต่หากกล่าวถึงคำถามเมื่อสักครู่ ขอวิเคราะห์เป็นเชิงเปรียบเทียบว่า นาลันทานั้นเป็นมหาวิทยาลัยในนิยามสมัยใหม่อย่างครบถ้วน มีทั้งห้องเรียน ห้องสมุด หอพักนักศึกษา และหอพักอาจารย์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่ปรากฏในตักศิลาที่เป็นเพียงหมู่บ้านของอาจารย์ผู้สอน และเวลาสอนก็มักทำกันในบ้านส่วนตัว

นอกจากนี้ตักศิลาไม่มีการเรียนการสอนที่เป็นระบบกลางระบบเดียว ไม่มีหลักสูตรกลาง การสอบ หรือการประสาทปริญญา ในขณะที่นาลันทามีสิ่งเหล่านี้ครบครัน

ฉะนั้นหากกล่าวในเชิงนิยามสมัยใหม่ระบบของนาลันทาจึงเป็นไปตามเกณฑ์มหาวิทยาลัยมากกว่า

นาลันทาแห่งใหม่

และแล้วก็มาถึงเรื่องนาลันทาแห่งใหม่ นายกรัฐมนตรีโมดีได้ทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยนาลันทาแห่งใหม่ไปในวันที่ 19 มิถุนายน 2024

โดยความดำริของการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทาต้องย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2006 โดยประธานาธิบดี เอพีเจ อับดุลกะลาม (โปรดสังเกตด้วยว่าท่านเป็นมุสลิม) นับตั้งแต่ดำริข้อนี้เป็นต้นมา ก็นำพาอีกหลายประเทศเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประเทศจากเอเชียตะวันออก คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ปฏิเสธมิได้เลยว่าประเทศเหล่านี้เป็นหนี้บุญคุณนาลันทาอย่างมากในเชิงพุทธศาสนานิกายมหายาน เพราะบรรดาภิกษุต้นสายของมหายานสำนักต่าง ๆ ที่เผยแพร่ไปทางเอเชียตะวันออกก็ได้รับการศึกษาที่นาลันทา ในส่วนมิตรประเทศอื่น ๆ ที่ร่วมมือกันก็เช่น ศรีลังกา ไทย กัมพูชา ลาว พม่า ภูฏาน เวียดนาม บังกลาเทศ เป็นต้น

สามารถกล่าวได้ว่า การขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูนาลันทาโดยกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย มีฐานอยู่บนวิสัยทัศน์อันกว้างขวางในการกระชับความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศเอเชียตะวันออก ซึ่งนับว่าเป็นวิสัยทัศน์ประการสำคัญของนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East)

วิทยาเขตของนาลันทาใหม่

ก่อนหน้านี้ได้รับชมวิดีโอแนะนำวิทยาเขตของนาลันทาใหม่ ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างขวางและมีอาคารต่าง ๆ มากมายที่ใช้งานได้อย่างค่อนข้างครบครัน ข้อมูลกล่าวว่าอาคารในมหาวิทยาลัยนาลันทาใหม่จะมีมากกว่า 200 หลัง อยู่บนพื้นที่ 455 เอเคอร์

เดิมทีเป็นพื้นที่กสิกรรมในเมืองราชคีร์ แล้วรัฐบาลของมลรัฐพิหารได้มอบพื้นที่ส่วนดังกล่าวให้ก่อสร้างมหาวิทยาลัย ขณะนี้แม้ว่าบางส่วนอาจจะยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็จะตามมาในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตามเมื่อได้ชมลักษณะหน้าตาของสถาปัตยกรรมก็ทำให้รู้สึกถึงแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไม่มากก็น้อย

ใช่ครับ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราจะเห็นว่าอาคารของนาลันทาใหม่หลายหลังออกแบบเป็นลักษณะอิฐแดงลดหลั่นเป็นชั้น ๆ แต่ถ้าจะถามว่า อันนี้คือการฟื้นฟูศิลปะแบบดั้งเดิมขนานแท้หรือไม่ ขอตอบเลยว่าไม่ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติเอาเสียเลย ที่จะก่อสร้างอาคารเลียนแบบของเดิม เพราะว่าการทำงานของอาคารสมัยใหม่จำเป็นต้องใช้ระบบสมัยใหม่ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า เครื่องทำความเย็นความร้อนต่าง ๆ สิ่งที่จะทำได้ก็คือ เก็บความรู้สึกของดั้งเดิมเอาไว้บางส่วน

แต่สิ่งที่เราควรจะสนใจมากกว่าในที่นี้คือทั้งวิทยาเขตมีระบบพลังงานที่ยั่งยืน กล่าวคือใช้ระบบพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด

คำว่า “ทั้งหมด” ในที่นี้ใหญ่โตสักเพียงไร ภายในวิทยาเขตมีพื้นที่สิ่งก่อสร้างครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ตารางฟุต ซึ่งรวมพื้นที่สวนและแมกไม้ถึงกว่า 300 เอเคอร์ ถนนยาวที่เชื่อมต่อบริเวณต่าง ๆ ในวิทยาเขตมีความยาวรวมกว่า 12.5 กิโลเมตร และมีพื้นที่น้ำถึงกว่า 100 เอเคอร์ อาคารต่าง ๆ มีระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่พร้อมสรรพ และตกแต่งภายในแบบสมัยใหม่ ลองคิดดูว่าทั้งหมดนี้บริหารจัดการด้วยพลังงานสะอาด จึงต้องนับว่าเป็นความพยายามที่น่าทึ่งและน่ารักอย่างยิ่ง

ประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เชิดชูเป็นอันดับต้น ๆ คือ “Net Zero Green Campus”

คำว่า Net Zero ในที่นี้อธิบายอย่างง่ายก็คือ ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศเท่าไร ก็ต้องขจัดออกไปในปริมาณที่เท่ากัน ผลรวมของการมีผลต่อโลกร้อนจึงเท่ากับศูนย์นั่นเอง

นาลันทาอาจจะเป็นมหาวิทยาลัยเขียวที่เป็นระบบ Net Zero ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ ทั้งการใช้พลังงานที่ก่อกำเนิดโดยแผงโซล่าร์เซลล์ โรงงานไฟฟ้าชีวมวลและแก๊สชีวภาพ ซึ่งหลัก ๆ ใช้สร้างความร้อนความเย็นภายในตัวอาคาร และการบริหารจัดการน้ำและขยะที่ล้วนแต่ตั้งอยู่บนหลักการ Net Zero ซึ่งจากนี้ต่อไปแน่ใจได้เลยว่าวิทยาเขตดังกล่าวจะต้องกลายเป็นแม่แบบในการก่อสร้างมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในอนาคตด้วย

แน่นอนว่าแม้แต่วัสดุก่อสร้างและผังอาคารก็ต้องเอื้ออำนวยต่อการลดปริมาณการใช้พลังงานให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่นการใช้อิฐ ไม่ได้ผ่านการเผาจากเตาอิฐแบบทั่วไป แต่ใช้วิธีนำดินเหนียวมาอัดเป็นก้อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ และออกแบบช่องว่างให้ลมโกรกภายในตัวอาคารเพื่อให้ทนต่อความร้อนได้ดียิ่งขึ้น จะได้ลดการใช้เครื่องทำความเย็น รวมทั้งคำนวณไปไกลขนาดที่ว่าสภาพภูมิประเทศต้องปรับให้เหมาะสมและปลูกพืชช่วยสร้างความชุ่มชื่นและลดอุณหภูมิเพื่อไม่ให้ร้อนอบอ้าว ทำให้ความต้องการในการดื่มน้ำลดลงด้วย

อาคารเรียนในมหาวิทยาลัยนาลันทาใหม่

ในส่วนของอาคารเรียน มีห้องเรียนไม่ต่ำกว่า 40 ห้องที่มีความจุแตกต่างกันตั้งแต่ประมาณ 25 ที่นั่งไปจนถึงประมาณ 300 ที่นั่ง ศูนย์การสอบ ศูนย์วิรัชกิจ ห้องสำนักงานของเจ้าหน้าที่ ห้องแล็บ และยังมีห้องประชุมเล็กสำหรับอภิปรายเป็นกลุ่มย่อยรวมทั้งห้องประชุมใหญ่ที่จุประมาณ 100 ที่นั่งอยู่อีกหลายห้อง

ด้านใต้ของมหาวิทยาลัยจะมีหอประชุมขนาดใหญ่และหอพักนักศึกษาทั้งชาวอินเดียและนานาชาติ

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ สนามอัฒจันทร์ (Amphitheatre) ที่จุคนได้กว่า 2,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ใจกลางน้ำ ในเวลากลางคืนจะมีทัศนียภาพที่สวยงามมากจากดวงไฟหลากสีที่ติดตั้งไว้ในบริเวณอัฒจันทร์ และยังมีเวทีย่อยรูปวงกลมที่จุประมาณ 100 ที่นั่งอยู่รอบ ๆ รวม 11 แห่ง สำหรับการแสดงหรือนั่งจับกลุ่มพูดคุยหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งแบบกลุ่มเล็ก ๆ

อาคารสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่จะเว้นกล่าวถึงเสียมิได้เลย ย่อมเป็นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยนาลันทา

ปัจจุบันหอสมุดกลางนาลันทายังคงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะมีพื้นที่รวมไม่ต่ำกว่า 17,000 ตารางเมตร จุหนังสือกว่า 300,000 เล่ม และเข้าใช้งานได้ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3,000 คน อาคารที่กำลังก่อสร้างนั้นจะมีความสูงห้าชั้น เป็นทรงคล้ายสถูปแบบมีโดมอยู่ใจกลาง และแบ่งออกเป็นสี่ปีก เส้นผ่าศูนย์กลางเฉพาะส่วนยอดโดมคือ 81 เมตร เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์คงจะกลายเป็นขนาดสิ่งก่อสร้างโดมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และคงไม่นานเกินรอ เพราะว่าขณะนี้การก่อสร้างเสร็จไปแล้วเกินกว่า 75% และกำลังเร่งมือก่อสร้างเพื่อให้ทันส่งมอบสิ้นปีงบประมาณนี้ เมื่อเสร็จแล้วคงจะเป็นสถานที่ที่นักวิชาการหลายคนอยากจะไปเยือนแน่นอน

อาคารอีกหลังหนึ่งที่กำลังก่อสร้างและจะมีบทบาทสำคัญไม่น้อยก็คือ หอโยคะ จะเป็นอาคารรูปวงกลมสองชั้น ซึ่งบริเวณชั้นล่างจะเป็นโถงอเนกประสงค์ความจุประมาณ 500 คน ชั้นสองจะเป็นพื้นที่ว่างสำหรับรวมตัวปฏิบัติโยคะ มีความจุ 266 เสื่อ การออกแบบของอาคารมีผังสัมพันธ์กับจุดจักระทั้ง 7 ในการปฏิบัติโยคะ ขณะนี้ก่อสร้างไปแล้วประมาณ 80%

[ผู้ฟังหลายคนคงสนใจไม่น้อย เพราะจากที่เราจัดงานโยคะในวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นได้ว่าความสนใจโยคะในประเทศไทยมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ]

[อาจารย์สุรัตน์มีบทวิเคราะห์เพิ่มเติมเรื่องนัยสำคัญของการสร้างมหาวิทยาลัยนาลันทาในครั้งนี้]

ขอนำคำกล่าวที่สวยงามของนายกโมดีมาอ่านให้ทุกท่านฟัง

ज्ञान नहीं मिट सकता
नालंदा यह केवल नाम नहीं है ।
नालंदा एक पहचान है, एक सम्मान है।
नालंदा एक मूल्य है, मंत्र है, गौरव है, गाथा है ।
नालंदा उद्घोष इस सत्य का,
कि आग की लपटों में पुस्तकें भले जल जाएं
लेकिन आग की लपटें ज्ञान को नहीं मिटा सकतीं।

ปัญญาไม่มีวันดับสิ้น
นาลันทาใช่แต่เพียงนามหนึ่งเท่านั้น
นาลันทาคือเอกลักษณ์ คือเกียรติยศ
นาลันทาคือคุณค่า คือมนตรา คือศักดิ์ศรี คือตำนาน
นาลันคือคำประกาศแห่งสัจธรรมข้อนี้ว่า
แม้ตำราทั้งหลายจะมอดไหม้ไปในเปลวอัคคี
แต่เปลวอัคคีก็มิอาจทำลายปัญญาให้สิ้นไปได้

รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ