ปริทัศน์เครื่องดนตรีอินเดีย
427 views
0
0

เพลง Raga Mala
ต้อนรับผู้ฟังเข้าสู่รายการด้วยเสียงอันไพเราะเสนาะโสตของพิณสิตาร์ (Sitar) จากฝีมือของบรมครู รวิ ศังกร (Ravi Shankar) ผู้เป็นตำนานตลอดกาลของอินเดีย ท่านได้จากไปใน ค.ศ. 2012 แต่เสียงดนตรีของท่านยังคงขับกล่อมชาวอินเดียมาตลอดจวบจนปัจจุบัน เรื่องที่ว่ารวิ ศังกร ยิ่งใหญ่เพียงใด กล่าวสั้น ๆ เลยว่าเกินขอบเขตนักดนตรีสิตาร์ทุกคนในอินเดีย ท่านได้รับรางวัลภารตรัตนะ ซึ่งเป็นอิสริยาภรณ์พลเรือนขั้นสูงสุดของอินเดีย เป็นเกียรติยศระดับเดียวกับที่ลตา มังเกศการ์ (Lata Mangeshkar) ก็ได้รับด้วย เรียกว่ามีแต่บุคคลระดับสุดยอดในพลเมืองอินเดียนับพันล้านเท่านั้นที่จะได้รับอิสริยาภรณ์นี้

เพลงที่ได้เปิดไปชื่อ ราคมาลา (Raga Mala) เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงของท่านรวิ ศังกร ในแคลิฟอร์เนียใต้ปี ค.ศ. 2011 เวลานั้นท่านมีอายุได้ 91 ปีแล้ว แต่ฝีไม้ลายมือในการแสดงยังคงจัดจ้านเป็นที่ฮือฮาของบรรดาผู้ฟังอยู่ดังที่เคยเป็นเสมอมา และสมควรกล่าวด้วยว่ารวิ ศังกร ยังคงอุทิศตนให้การแสดงดนตรีจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต คอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของท่านเกิดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012 ที่ลองบีช แคลิฟอร์เนีย ก่อนจะถึงแก่กรรมในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ที่แคลิฟอร์เนียนั่นเอง

สาเหตุที่เปิดเพลงนี้ในวันนี้ก็ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรีอินเดีย ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้พวกเราเคยนำเสนอไปครั้งหนึ่งในหัวข้อเกี่ยวกับกลองตัพลาโดยเฉพาะ ผมไปย้อนดูเว็บไซต์แล้วตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 [ตัพลา จังหวะ สีสัน จิตวิญญาณ] ฟังรายการได้ที่ >> https://curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=11895 ในเวลานั้นมีแฟนรายการบางคนเคยคุยมาหาผมด้วยว่าสนใจเรื่องเครื่องดนตรีชนิดอื่นด้วย แต่ในเวลานั้นเรามีหัวข้อต้องทำหลากหลายก็เลยยังไม่ย้อนกลับมาแตะเรื่องเครื่องดนตรีอื่น ๆ มาวันนี้จึงขอคุยสักหน่อย ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถลงรายละเอียดได้มากแต่ก็พอให้รู้จักแต่เพียงคร่าว ๆ ดังนั้นจึงตั้งชื่อหัวข้อว่า “ปริทัศน์เครื่องดนตรีอินเดีย”

ดนตรีอินเดีย (นาที 6)

เราทุกคนต่างก็รับรู้และเข้าใจบทบาทดนตรีอินเดียในฐานะสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อวงการบันเทิงอินเดีย กล่าวได้อย่างเต็มปากเลยว่า ดนตรีอินเดียนี่แหละแบกรับวงการบันเทิงของอินเดียทั้งประเทศไว้เลยก็ว่าได้ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะเป็นนาฏศิลป์ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ สื่อโฆษณา มิวสิกวิดีโอ ล้วนแต่จะต้องประกอบเสียงดนตรี และกล่าวได้ว่า วงการดนตรีอินเดียได้รับอิทธิพลจากตะวันตกค่อนข้างน้อย เพลงประกอบสื่อต่าง ๆ ที่กล่าวมายังคงใช้เครื่องดนตรีอินเดียเป็นหลัก แน่นอนว่ามีการผสมเครื่องดนตรีสากลอยู่บ้าง แต่จะเป็นในทำนองเครื่องประกอบที่ไม่โดดเด่นเท่ากับเครื่องเดินทำนองหลัก

ดังนั้นก็อยากจะให้ผู้ฟังรู้จักเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ ไว้บ้างพอให้จดจำได้เวลาได้ยินเสียงเพลงอินเดีย เนื่องจากหัวข้อเราเกี่ยวกับเครื่องดนตรี คงจะไม่สามารถพูดถึงเครื่องดนตรีชนิดนั้น ๆ โดยไม่ให้ฟังเสียงตัวอย่าง ฉะนั้นในรายการวันนี้เราจะขอเปิดแทรกเสียงเป็นระยะ ๆ หวังว่าทุกท่านคงจะได้รับความเพลิดเพลินไปด้วยในตัว

ประวัติและการจำแนกประเภทดนตรีอินเดีย

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ทุกเรื่องของอินเดียนั้นยาวนานมาก การจะให้พูดละเอียดคงเป็นไปไม่ได้ สำหรับเรื่องของดนตรีก็ยาวนานไม่แพ้เรื่องอื่น

มีบันทึกว่าดนตรีคลาสสิกของอินเดียเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคพระเวท โดยเป็นการผสมผสานศาสตร์สามประเภทที่ชื่อว่า วาทยะ (การขับร้อง) คีตะ (การบรรเลงท่วงทำนอง) และนฤตตะ (การร่ายรำ) เข้าด้วยกัน

ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นแล้วที่เสียงดนตรีกับการฟ้อนรำไม่อาจแยกขาดจากกันได้ และเมื่อพัฒนาสามสิ่งนี้รวมกันแล้ว ก็ให้ชื่อศาสตร์ว่า สังคีตะ คือการสอดประสานทำนอง โดยส่วน สัง- มาจากอุปสรรคภาษาสันสกฤต สัม- ที่หมายถึงร่วมกัน

ในเมื่อเกิดตั้งแต่ยุคพระเวท ก็แสดงว่ามีอายุยาวนานมากกว่าสามพันปี

ใช่ครับ เพราะหลักฐานในพระเวทชัดเจนว่ามีการบันทึกท่วงทำนองต่าง ๆ ในการขับร้องเพลงสวดเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคัมภีร์สามเวทได้แจกแจงเอาไว้อย่างละเอียด และในฤคเวทก็มีบางบทสวดที่ต้องใช้ทำนองเพลง ลงถ้าเรากล่าวถึงพระเวทเหล่านี้ก็คืออายุต้องกว่าสามพันปีแน่ ๆ แต่ในส่วนการผสมผสานจนออกมาเป็นศาสตร์ที่เรียกว่าสังคีตนั้นอาจจะเกิดหลังยุคแรกเล็กน้อย แต่ก็สันนิษฐานว่าไม่ต่ำกว่า 500 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว ๆ 2500 ปีก่อนนั่นเอง

ตรงนี้ตามที่ผมเข้าใจคือ ดนตรีอินเดียในสมัยแรกเริ่มต่างจากดนตรีคลาสสิกสมัยปัจจุบันมาก เพราะเคยได้ยินมาบ้างว่าดนตรีอินเดียคลาสสิกแบ่งออกเป็น

1.สำนักเหนือที่เรียกว่าฮินดูสตานี (Hindustani) สำนักที่เรียกว่าฮินดูสตานี มีอิทธิพลของทางเปอร์เซียเข้ามาผสมผสานมากหน่อย และเครื่องดนตรีบางชนิดก็จะได้รับมาจากทางเปอร์เซียโดยตรงเลยก็ว่าได้ กว่าจะมาเป็นดนตรีคลาสสิกในปัจจุบัน ก็มีวิวัฒนาการมาหลายยุคสมัยพอสมควร

2.สำนักฝ่ายใต้ที่เรียกว่าการ์นาติก (Carnatic) ในขณะที่ดนตรีการ์นาติกพัฒนาแยกสายของตัวเองและมีอิทธิพลต่อดนตรีในสุวรรณภูมิของเราไม่น้อยเลยทีเดียว

ถูกต้องแล้วครับ เราได้รับเครื่องดนตรีและท่วงทำนองหรือจังหวะมาจากอินเดียฝ่ายใต้ค่อนข้างมาก ตรงนี้ระหว่างที่กล่าวถึงเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ อาจจะมีรายละเอียดมากขึ้น แต่สำหรับดนตรีสมัยแรกเริ่มต่างจากดนตรีคลาสสิกปัจจุบันแน่นอน

สมัยแรก ๆ แบ่งออกเป็นสองชนิดคือ
1. คานธรวะ (Gandharva) เป็นการบรรเลงดนตรีในพิธีกรรมหรืองานต่าง ๆ ที่เป็นทางการ เพลงที่ใช้ก็จะมีระบบระเบียบและประพันธ์เอาไว้อย่างค่อนข้างตายตัว
2. คณะ (Gana) คือการบรรเลงดนตรีเพื่อความบันเทิงที่ไม่เป็นทางการ สอดแทรกสีสันมากหน่อยและอาศัยการด้นสดมาก โปรดสังเกตด้วยว่า คำว่า คานธรวะ มีรากเดียวกับคำว่า คนธรรพ์ หรือคนธรรพ ซึ่งเป็นอมนุษย์หมู่หนึ่งที่มีหน้าที่แสดงดนตรีขับกล่อมในสรวงสวรรค์ ในพระพุทธศาสนาแบบของบ้านเราก็มีกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง

เรื่องประวัติและพัฒนาการของดนตรีอินเดีย เราคงต้องยกให้เป็นเรื่องของสายวิชาการไปนะครับ เพราะนอกจากมีเยอะและยาวมากแล้วยังละเอียดจนกระทั่งเราแจกแจงไม่หมด เราจะทำหน้าที่เสนอเฉพาะความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องดนตรี ซึ่งหลายท่านคงอยากฟังเสียงกันแล้ว เพราะฉะนั้นจากนี้ไปเราจะพูดถึงเครื่องดนตรีสำคัญ ๆ บางชนิดที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ทั้งนี้ขอให้ทุกท่านเข้าใจก่อนว่า เราจะไม่กล่าวถึงกลองตัพลา เพราะว่าเคยพูดถึงไว้เป็นตอนยาวแยกต่างหาก ย้อนกลับไปฟังได้ทางเว็บไซต์ [ตัพลา จังหวะ สีสัน จิตวิญญาณ] ฟังรายการได้ที่ >> https://curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=11895

เครื่องดนตรีอินเดีย : เครื่องสาย

เครื่องสายของอินเดีย เรียกรวม ๆ ว่าวีณา (Veena) ซึ่งรากศัพท์สัมพันธ์กับคำว่า พิณ ในภาษาไทย

โดยทั่วไปคำว่าวีณาจะมีความหมายกว้าง หมายถึงเครื่องสายหลากหลายลักษณะในดนตรีคลาสสิกอินเดียซึ่งจะบรรเลงโดยการดีด แบ่งเป็นหลายลักษณะเช่น รุทรวีณา (Rudra Veena) สรัสวตีวีณา (Saraswati Veena) วิจิตรวีณา (Vicitra Veena) มยุรีวีณา (Mayuri Veena) และโมหันวีณา (Mohan Veena) เป็นต้น

เครื่องดนตรีที่จัดอยู่ในประเภทวีณา แท้จริงแล้วมีเป็นสิบ ๆ แบบ แต่ละแบบก็มีรูปร่างและเสียงแตกต่างกันไป และมีท่าบรรเลงแตกต่างกันหลายท่า บางประเภทก็วางแนวตั้ง บางประเภทก็วางเฉียงบ่า บางประเภทก็วางพื้นในแนวนอน ตัวอย่างของวีณาที่หลายท่านรู้จักดีคือสรัสวตีวีณา ซึ่งปรากฏในภาพพระแม่สรัสวดีนั่นเอง ลักษณะเป็นพิณเจ็ดสาย มีหย่องสำหรับกำกับเขตเสียง กะโหลกเป็นไม้ขนาดใหญ่ และมีน้ำเต้าถ่วงด้านหางเรียกว่า ตุมพะ (tumba) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของวีณาอีกหลายชนิด

วิจิตรวีณา (Vicitra Veena)
พิณชนิดที่เราอยากจะให้ท่านผู้ฟังได้ฟังเสียงคือ วิจิตรวีณา (Vicitra Veena) ซึ่งเป็นพิณอีกแบบที่มีเอกลักษณ์ มีตุมพะสองด้านที่มีขนาดเท่ากัน เวลาบรรเลงใช้วางนอนบนพื้น และใช้ลูกแก้วถูบนสายเพื่อให้เกิดเสียง ซึ่งสามารถเลื่อนไปบนสายเพื่อเบนหางเสียงให้เปลี่ยนแปลงได้ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเสียงพิณวิจิตรวีณา >> https://www.youtube.com/watch?v=GO4T2B46e2Y

สิตาร์ (Sitar)
ชิ้นต่อมาคือเสียงเครื่องดนตรีที่เราได้ฟังกันไปเมื่อต้นรายการนั่นเองครับ เรียกว่า สิตาร์ (Sitar) เครื่องดนตรีชนิดนี้มีสายทั้งหมด 19 สาย มีรูปทรงยาว คอตรง ส่วนกะโหลกจะค่อนข้างเล็ก ด้านหางจะมีตุมพะ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาขึ้นในภายหลัง อาจเป็นอิทธิพลจากวีณาแบบอินเดียอีกทีหนึ่ง เพราะมีหลักฐานว่าสิตาร์ในยุคแรก ๆ ยังไม่มีส่วนประกอบนี้ สิตาร์เป็นเครื่องสายที่ได้รับอิทธิพลจากอาหรับ-เปอร์เซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักคิดอิสลามที่เรียกว่าซูฟี (Sufism) อายุถือว่าค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีชิ้นอื่น คือเกิดขึ้นเมื่อประมาณช่วงศตวรรษที่ 18 และได้รับการพัฒนาจนเป็นรูปแบบปัจจุบันเมื่อประมาณช่วงศตวรรษที่ 19 ก็คือประมาณไม่เกิน 200 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและมีผู้หัดเล่นจำนวนมาก แทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนเครื่องสายดนตรีคลาสสิกอินเดียในความรับรู้ของคนทั่วไปสมัยปัจจุบัน เนื่องจากเราได้ยินเสียงสิตาร์ไปแล้วช่วงต้นรายการ เราจะไม่เปิดตัวอย่างเสียงให้ฟังอีก

สโรท (Sarod)
เครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซียมีชื่อว่า สโรท (Sarod) เป็นเครื่องสายที่พัฒนามาควบคู่กับสิตาร์ และเป็นที่รู้จักใกล้เคียงกัน มีสาย 25 สายและมีรูปร่างสั้นป้อมกว่าสิตาร์ ตรงส่วนหัวจะผายออกและเว้าเข้ามาตรงช่วงเอวคล้ายไวโอลิน ส่วนคอจะไล่จากกว้างไปหาแคบ ต่างจากสิตาร์ที่มีคอตรง และส่วนหางของสโรทจะงอนไปด้านหลัง เสียงของสโรทจะหนักก้องและสั้นห้วนกว่าสิตาร์ซึ่งจะออกไปทางโทนหวานละมุนกว่า ขอให้ฟังตัวอย่างเสียงดังต่อไปนี้ >> https://www.youtube.com/watch?v=cfsN51vb7tM

เครื่องดนตรีอินเดีย : เครื่องสี

เครื่องสีของอินเดียที่นิยมกันมากที่สุดเรียกว่า สารังคี (Sarangi) ซึ่งเป็นที่แพร่หลายทั้งในดนตรีปัญจาบ ราชสถาน สินธี รวมไปถึงปากีสถานและบังกลาเทศ สารังคีเป็นเครื่องดนตรีที่พัฒนาขึ้นมาช่วงราชสำนักโมกุล

คำว่า “สารังคี” มีที่มาจากภาษาเปอร์เซียเก่า มีความหมายว่า “ร้อยสีสัน” ทั้งนี้เพราะเครื่องดนตรีชนิดนี้สามารถเลียนแบบเสียงธรรมชาติและเสียงพูดของมนุษย์ได้ดี ลักษณะของเครื่องดนตรีเป็นกล่องป้อมสั้น และมีสายจำนวนมากประมาณ 35-37 สาย จึงต้องมีคอกว้างมากหากเทียบกับไวโอลินแบบตะวันตก ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเสียง >> https://www.youtube.com/watch?v=4vdFLCBhWHY

เครื่องดนตรีอินเดีย : เครื่องตีประกอบจังหวะ

ขอแนะนำเครื่องตีประกอบจังหวะของอินเดียอีกชนิดหนึ่งที่แตกต่างจากตัพลา นั่นคือ มฤทังคัม (Mridangam) หรือในภาษาทมิฬเรียกว่า ตัณณุไม (Tannumai)

กล่าวคือตะโพนหรือกลองสองหน้าแบบของอินเดียใต้นั่นเอง มฤทังคัมเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะหลักของดนตรีฝ่ายอินเดียใต้ที่เรียกว่า การ์นาติก ซึ่งเทียบได้กับกลองตัพลาในดนตรีฝ่ายฮินดูสตานี ลักษณะเป็นกลองยาวที่รูปทรงเรียวกว่าตะโพนของไทย ขึงหนังทั้งสองด้าน หน้าด้านหนึ่งจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าอีกด้าน เวลาบรรเลงจะวางนอนราบบนตักและใช้สองมือบรรเลงจากคนละด้าน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเสียง >> https://www.youtube.com/watch?v=9ijNpSz1E_o

เครื่องดนตรีอินเดีย : เครื่องเป่า

เราคงมีเวลาพอพูดถึงเครื่องดนตรีได้อีกอย่างเดียว และแน่นอนว่าเครื่องดนตรีที่เราคงจะละเว้นไม่ได้เลยคือ ขลุ่ยอินเดียที่เรียกว่า บานสุรี (Bansuri)

บานสุรีเป็นขลุ่ยไม้ไผ่ที่เป่าจากทางด้านข้าง มีสำเนียงอ่อนหวานหยาดเยิ้มและพลิ้วไหวเป็นคลื่น ขนาดของบานสุรีจะแตกต่างกันไปตามคีย์ ตั้งแต่ขนาดยาวใหญ่ซึ่งจะให้เสียงทุ้มต่ำ และขนาดเล็กเรียวซึ่งจะให้เสียงแหลมเล็ก เทพฮินดูที่มักจะปรากฏให้เห็นพร้อมขลุ่ยบานสุรีอยู่เสมอก็คือพระกฤษณะนั่นเอง ด้วยเหตุนี้พระกฤษณะจึงทรงมีอีกพระนามว่า เวณุโคบาล (Venugopal) แปลตรงตัวว่า เด็กเลี้ยงโคผู้เป่าขลุ่ย เรามาฟังตัวอย่างเสียงกันสักนิด >> https://www.youtube.com/watch?v=e9cefe-xD04

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เราแนะนำเครื่องดนตรีได้ไม่กี่ชิ้น เครื่องดนตรีอินเดียยังคงมีอีกมาก แต่เวลาของรายการเรามีจำกัด ก็ต้องขอลาท่านผู้ฟังไปก่อนเท่านี้ครับ

รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ